วันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและคณะเดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการ






พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและคณะเดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๐ - ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔


เมื่อวันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ 2554 พลเอกทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพร้อมภริยา และคณะ ได้เดินทางเยือนบรูไนดารุสซาลามอย่างเป็นทางการ

ภารกิจสำคัญของ ผบ.สส. และคณะในระหว่างการเยือน คือ การเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 ระหว่างเวลา 14.00 –14.20 น. ณ พระราชวังนูรุลอิมาน คณะของ ผบ. สส. ประกอบด้วยพลเอกพิรุณ แผ้วพลสง รองผบ. สส. พลโทสุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ เจ้ากรมข่าวทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และนายธวัช สุมิตรเหมาะ อุปทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมบรูไน และ ผบ. สส. บรูไนเข้าร่วมด้วย ในโอกาสนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Darjah Paduka Keberanian Laila Terbilang Yang Amat Gemilang Darjah Pertama (D.P.K.T.) แก่ ผบ. สส.

สมเด็จพระราชาธิบดีทรงรับสั่งสอบถามเรื่องต่างๆ อาทิ การเยือนบรูไนของ ผบ. สส. ความร่วมมือระหว่างกองทัพไทย-บรูไน สถานการณ์โดยรวมในประเทศไทย รวมทั้งเหตุการณ์ความขัดแย้งบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และทรงมีพระราชประสงค์ให้ไทยและกัมพูชาหาแนวทางแก้ปัญหาโดยสันติวิธี ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนางภรณี จักกาบาตร์ ภริยา ผบ. สส. พร้อมด้วย น.ส. พิมพ์เดือน นาควิโรจน์ เลขานุการโทของสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีบรูไนด้วย

ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ ผบ.สส. ยังได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมบรูไน และผู้บัญชาการทหารสูงสุดบรูไนด้วย อันจะมีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป

ไทยกับบรูไนมีความร่วมมือทางทหารที่ใกล้ชิด โดยล่าสุดกองทัพบรูไนได้ส่งนายทหาร 2 นายเข้าร่วมการฝึกคอบร้า โกลด์ ที่ประเทศไทย และในปี 2554 จะมีการดำเนินกิจกรรมที่สำคัญร่วมกันอีกหลายโครงการ สำหรับการเยือนของ ผบ.สส. ครั้งนี้ บรูไนได้ให้การต้อนรับ ผบ. สส. และคณะอย่างสมเกียรติ โดยได้จัดให้มีพิธีตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ การจัดนายทหารติดตาม จัดรถนำและยานพาหนะ รวมทั้งการจัดเลี้ยงอาหารค่ำ

ที่มา: ภาพและข่าวจากสถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย (Asian Film Festival) ครั้งที่ 4

 ท่านกงสุลใหญ่ชาลีฯ กำลังกล่าวคำปราศรัยต้อนรับผู้เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชียครั้งที่ 4
 แขกที่มาร่วมงาน
ท่านกงสุลใหญ่ชาลี สกลวารีมอบบัตรโดยสารเครื่องบินแก่ผู้โชคดี
 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย (Asian Film Festival) ครั้งที่ 4




เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ระหว่างเวลา 19.00 – 23.00 น. สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้นำภาพยนตร์ไทย เรื่อง ความจำสั้น แต่รักฉันยาว (Best of Times) เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชีย (Asian Film Festival) ครั้งที่ 4 ณ สถานกงสุลใหญ่บรูไน ณ เมืองเจดดาห์ ซึ่งอุปถัมภ์สถานที่ โดยมีผู้เข้าชมทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ประมาณ 250 คน ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดฉายภาพยนตร์สั้นเรื่องภูเก็ต เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยให้กับสายการบินกาตาร์ที่สนับสนุนรางวัลบัตรโดยสารเครื่องบินเส้นทางเจดดาห์ – ภูเก็ต จำนวน 2 ที่นั่งโดยการจับสลากในโอกาสดังกล่าว รวมทั้งสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้จัดเลี้ยงอาหารไทยแก่ผู้เข้าชมโดยทั่วกันด้วย

ชมรมกงสุลใหญ่เอเชีย (Asian Consuls General Club – ACGC) ซึ่งมีสมาชิก 13 ประเทศ ได้ร่วมกันจัดงานเทศกาลภาพยนตร์เอเชียเป็นปีที่ 4 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกให้ชาวต่างชาติได้รับรู้โดยผ่านทางการรับชมภาพยนตร์

ที่มา: ข่าวและภาพจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข้อมูลจำนวนแรงงานไทยในลิเบีย


ข้อมูลจำนวนแรงงานไทยในลิเบีย




จำนวนแรงงานไทยทั้งหมด 18,843 คน โดยแบ่งเป็นแรงงานผ่านบริษัทจัดหางาน 30 บริษัท จำนวน 10,548 คน และไม่ผ่านบริษัทจัดหางาน 8,295 คน (เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง)

1. แรงงานไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับโดยการช่วยเหลือของรัฐบาลไทยมีจำนวน 1,773 คน

2. แรงงานที่ไม่ประสงค์จะเดินทางกลับไทยโดยจะอยู่ในแคมป์งานต่อไป 2,036 คน (จากการสอบถามบริษัทจัดหางานโดยกรมการจัดหางาน)

3. บริษัทเป็นฝ่ายดำเนินการอพยพออกมาแล้ว 3,338 คน (ณ วันที่ 26 ก.พ. 54 เวลา 18.20 น.)

4. แรงงานที่เหลือจำนวน 11,696 คน โดยส่วนหนึ่งยังคงทำงานอยู่และส่วนหนึ่งบริษัทจะทำการอพยพต่อไป



****************************************************************

ข้อมูลศูนย์ติดตามสถานการณ์ในลิเบีย

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554

ความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย


ความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย




กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งความคืบหน้าและการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยในลิเบีย ดังนี้

1. ขณะนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงงานได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งที่พักพิงชั่วคราวขึ้นที่เมืองตูนิส ประเทศตูนิเซียแล้ว เพื่อคอยอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางออกจากลิเบียไปยังเมืองตูนิส ประเทศตูนิเซีย

2. เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานอำนวยความสะดวกด้านการเข้าเมืองบริเวณชายแดนอียิปต์-ลิเบีย เพื่อรอรับและให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางออกจากลิเบียมาถึงบริเวณชายแดนดังกล่าว

3. เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส กรุงราบาต และกรุงมาดริด ได้ออกเดินทางไปเมือง Djerba ประเทศตูนีเซียแล้ว เพื่อรอรับและให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่เดินทางออกจากลิเบียทางบก

4. กระทรวงการต่างประเทศได้จัดหาเรือเพื่อไปรับแรงงานไทยที่กรุงตริโปลีแล้ว โดยจะนำไปส่งที่เมืองตูนิสและกรุงโรม ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการในต้นสัปดาห์หน้า

5. ล่าสุด แรงงานไทยได้เดินทางออกจากลิเบียไปถึงประเทศต่าง ๆ อย่างปลอดภัยแล้ว ประมาณ 1,876 คน และอยู่ระหว่างการข้ามแดนตูนิเซีย - ลิเบียประมาณ 520 คน และอียิปต์ – ลิเบีย ประมาณ 347 คน รวมถึงกำลังรอที่จะลงเรือจากเมืองเบนกาซีประมาณ 1,000 คนไปประเทศที่สาม (อียิปต์หรือลิเบีย – รอยืนยัน) โดยขณะนี้มีแรงงานไทยเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว 34 คน

26 กุมภาพันธ์ 2554

ที่มา : ข่าวสารนิเทศ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สารแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์



สารแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์


ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับรุนแรงขนาด 6.3 ริกเตอร์ บริเวณเมืองไคร้สต์เชิร์ช เมื่อวันที่ 22กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 12.51 น. ทำให้อาคารบ้านเรือนพังเสียหาย และมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว นั้น

ในการนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้มีข้อความแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ และปลัดกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ ตามลำดับ ดังนี้

1. สารแสดงความเสียใจของนายกรัฐมนตรีถึงนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์

BEGIN

Excellency,

On behalf of the Royal Thai Government and people of Thailand, I would like to extend my heartfelt condolences and sincere sympathy to all New Zealanders affected by the earthquake which struck the city of Christchurch and surrounding areas in the early afternoon of 22 February 2011. We are deeply grieved by the continuing rise in death toll and number of those injured. Our thoughts and prayers are with your people during this difficult time.

Your Excellency’s dedication to promptly respond and effectively control the situation over the past earthquake incident in the very same areas last year has been evident. Thailand is truly confident that New Zealand’s experience and preparedness in disaster management will bring rapid recovery to the affected areas and its people. Nevertheless, in this hour of tragedy and loss, Thailand stands ready to provide New Zealander friends with assistance and support.

Accept, Excellency, the renewed assurances of my highest consideration.

Abhisit Vejjajiva

Prime Minister of the Kingdom of Thailand

END.



2. สารแสดงความเสียใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์

BEGIN

Dear Minister McCully,

It is with profound sadness to learn that Chirstchurch and its surrounding areas were again struck by a powerful earthquake, causing loss of lives and massive damage to properties.

I would like to extend my sincere condolences and sincere sympathy to those who lost their loved ones in this disaster and hope their livelihood will be soon restored to normalcy. The Royal Thai Government stands ready to provide any assistance we can to New Zealand through close coordination between our authorities concerned. Our thoughts and prayer are with all New Zealanders.

With warmest regards,

Sincerely yours,

Kasit Piromya

Minister of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand

END.


3. สารแสดงความเสียใจของปลัดกระทรวงการต่างประเทศถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์

BEGIN

Dear John,

I have learned with deep sadness of the most recent earthquake incident that has caused tragic loss of lives and casualties as well as serious damages to properties in the city of Christchurch and nearby areas.

In this time of grief, I wish to extend my sincere sympathy to the bereaved families of the victims in this tragic incident. My heart also goes to those injured and I wish them rapid recovery. I am certain that with resilience and strong spirit of solidarity for which the New Zealanders are known for, the affected areas will soon be rehabilitated and restored.

With my best wishes and warmest personal regards,

Theerakun Niyom

Permanent Secretary

END.

22 กุมภาพันธ์ 2554

ที่มา : ข่าวสารนิเทศ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คำเตือน: การเดินทางไปสาธารณสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย


คำเตือน: การเดินทางไปสาธารณสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย


โดยที่สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียได้เพิ่มระดับความรุนแรงและเกิดเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ นั้น

กระทรวงการต่างประเทศขอแจ้งเตือนผู้ประสงค์จะเดินทางไปยังประเทศลิเบียให้หลีกเลี่ยงหรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายสู่ภาวะปกติ

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน

กระทรวงการต่างประเทศ
22 กุมภาพันธ์ 2554

สอท. ณ กรุงโคลัมโบ จัดพิธีกรรมทางศาสนาเนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา

 ท่านทูตทินกร กรรณสูตร จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธ
 ท่านทูตเดินทักทายแขกที่มาร่วมงาน
 งานนี้มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมประมาณ 90 คน หน้าตาสดชื่น ยิ้มแย้มแจ่มใสอิ่มบุญ
 รับศีลรับพรจากพระสงฆ์
เลี้ยงพระสงฆ์ 5 รูปจากวัดทีปทุตตามารามที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 ในโอกาสวันมาฆบูชา


สอท. ณ กรุงโคลัมโบ จัดพิธีทางศาสนาเนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 นายทินกร กรรณสูต เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบเป็นประธานในการประกอบพิธีทางศาสนาโดยพระสงฆ์จำนวน 5 รูปจากวัดทีปทุตตามาราม ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ เนื่องในโอกาสวันมาฆบูชา โดยมีเจ้าหน้าที่ในทีมประเทศไทยและประชาชนชาวไทยและครอบครัวที่อาศัยอยู่ใน ศรีลังกาเข้าร่วมประมาณ 90 คน โดยผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมมิตรภาพและความเข้มแข็งในชุมชนไทยในศรีลังกา



ออท. ณ กรุงอาบูดาบี เลี้ยงต้อนรับธงชัย ใจดี

 ท่านทูตสมชัยฯ ต้อนรับคุณธงชัยฯที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต
 ท่านทูตสมชัยฯ และครอบครัวพร้อมด้วยท่านอัครราชทูตที่ปรึกษาสุรพล มณีพงษ์ถ่ายภาพร่วมกับคุณธงชัย ใจดีที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต
 ถ่ายไว้เป็นที่ระลึกสำหรับโปรกอล์ฟที่นำธงชาติไทยมาโบกสบัดในสนามกอล์ฟและรายการแข่งขันที่มีชื่อเสียงระดับโลก
ท่านทูตสมชัย จรณะสมบูรณ์และภริยาไปให้กำลังใจคุณธงชัย ใจดีถึงขอบสนาม
 
ออท. ณ กรุงอาบูดาบี เลี้ยงต้อนรับธงชัย ใจดี



นายสมชัย จรณะสมบูรณ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2554 เพื่อเป็นเกียรติแก่นายธงชัย ใจดี ซึ่งเดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขัน Abu Dhabi HSBC Golf Championship ที่กรุงอาบูดา บี ระหว่างวันที่ 20 – 23 ม.ค. 2554 พร้อมอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้ นอกจากนี้ ออท. และ ขรก. สอท. ได้ไปให้กำลังใจแก่นายธงชัยฯ ที่สนามแข่งขันด้วย

ซึ่ง ผลการแข่งขันปราฏกว่า นายธงชัยฯ ได้อันดับที่ 46 จากผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 126 คน ด้วยคะแนน -3 ได้รับเงินรางวัล 9,430 ยูโร อนึ่ง Abu Dhabi HSBC Golf Championship เริ่ม ขึ้นเมื่อปี 2549 จนปัจจุบันเป็นหนึ่งในรายการแข่งขันภายใต้ PGA European Tour ที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมอย่างมากจาก นักกอล์ฟชั้นนำของโลก โดยในปี 2553 และ 2554 นายมาร์ติน คายเมอร์ นักกอล์ฟชาวเยอรมัน เป็นผู้ชนะการแข่งขันของรายการนี้

กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบเยี่ยมลูกเรือประมงพรานทะเล 14

 ท่านกงสุลใหญ่ทอมวิชย์ ชาญวรรค์ ฟังลูกเรือเล่าประสบการณ์ที่ยากลำบากครั้งหนึ่งในชีวิตด้วยความตั้งใจ
 ท่านกงสุลใหญ่สนทนาให้กำลังใจลูกเรือไทยทั้ง 4 คน
 และจับเข่าคุยสอบถามเรื่องราวอย่างจริงใจ
 มื้อนี้อร่อย !
 ชาวเรือก็อยู่ก็กินกันแบบนี้ ลูกเรือชาวไทยและพม่ากำลังรับประทานอาหาร วันนี้ทุกคนสุขใจเพราะมีผู้ใหญ่ที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไปดูแลเยี่ยมเยียน
ท่านกงสุลใหญ่ทอมวิชย์ ชาญสรรค์ ท่านรองกงสุลธีระพงษ์ วนิชชานนท์ น.อ.บัญชา บัวรอด ผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงนิวเดลีและคุณส่องแสง ปทะวานิช กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท พี.ที. อินเตอร์ฟิชเชอรี่ถ่ายภาพร่วมกับลูกเรือชาวไทย 4 คนเป็นที่ระลึกเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ที่สถานีตำรวจเยลโลเกต เมืองมุมไบ

กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบเยี่ยมลูกเรือประมงพรานทะเล 14


เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 นายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ นายธีรพงษ์ วนิชชานนท์ รองกงสุลใหญ่ฯ และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลฯ พร้อมกับ น.อ. บัญชา บัวรอด ผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงนิวเดลี และนายส่องแสง ปทะวานิช กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท พี.ที. อินเตอร์ฟิชเชอรี ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจ Yellow Gate เพื่อเยี่ยมเยียนและ ดูแลสภาพร่างกายและจิตใจลูกเรือประมงพรานทะเล 14 จำนวน 20 คน ประกอบด้วยลูกเรือชาวไทย 4 คน และชาวพม่า 16 ซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ที่สถานีตำรวจระหว่างรอให้ปากคำในคดีโจรสลัดโซมาเลีย ภายใต้ศาลอินเดีย

ลูกเรือประมงไทย ได้แก่ นายโพธิ์ชัย พร้อมบัวป่า นายศิริภพ วานนท์ นายจำนง นามแสง นายจำรัส ลาดบาศรี และลูกเรือพม่าอีก 16 คนได้เดินทางบนเรือพรานทะเล 14 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 พร้อมกับเรืออีก 2 ลำ ได้แก่ เรือพรานทะเล 11 และ 12 มุ่งหน้าไปประเทศจิบูติเพื่อทำการประมง แต่เรือทั้ง 3 ลำได้ถูกโจรสลัดโซมาเลียจับและนำไปใช้เป็นเรือแม่ในการนำส่งน้ำมันและน้ำ ดื่มให้แก่เรืออื่นๆ ที่โจรสลัดปล้นเป็นเวลา 9 เดือนจนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 เรือรบอินเดียได้ยิงเรือพรานทะเล 14 ระหว่างที่โจรสลัดโซมาเลียใช้เรือในการปล้นเรือสินค้าอินเดีย และได้ช่วยชีวิตลูกเรือประมงและได้นำมาสอบปากคำเพื่อประกอบคดีโจรสลัด โซมาเลียที่เมืองมุมไบ

นับตั้งแต่วันที่ลูกเรือไทยพรานทะเล 14 ทั้ง 20 คนได้มาถึงเมืองมุมไบวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554 สถานกงสุลใหญ่ฯ น.อ. บัญชา บัวรอด ผู้ช่วยทูตทหารประจำกรุงนิวเดลี และนายส่องแสง ปทะวานิช ได้เดินทางไปดูแลสภาพร่างกายและจิตใจ รวมทั้งจัดเตรียมเรื่องที่นอน อาหาร และยารักษาบาดแผล พร้อมทั้งให้ความร่วมมือในส่วนของการดำเนินคดีกับโจรสลัดโซมาเลีย ซึ่งทางการอินเดียแจ้งว่าน่าจะใช้เวลา 10 วันก่อนที่ลูกเรือจะสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ อยู่ระหว่างการติดตามเรือพรานทะเล 11 ซึ่งได้รับแจ้งจากทางการอินเดียว่าได้ยึดคืนมาแล้ว โดยทางการอินเดียได้ช่วยลูกเรือไทยและพม่าจำนวน 24 คน และกำลังนำลูกเรือและเรือพรานทะเล 11 มาเมืองมุมไบ ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯ จะดูแลอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลือลูกเรือทั้ง 44 คนต่อไป

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ บริจาคเงินให้ YES

ท่านเอกอัครราชทูตมาริษ เสงี่ยมพงษ์มอบเงินบริจาคในนามของรัฐบาลไทยแก่ ดร.สิทธัทถะ รานจิต ประธานองค์กร YES


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ บริจาคเงินให้ YES


เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554 นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกาฐมาณฑุ ได้เป็นตัวแทนรัฐบาลไทย ในการบริจาคเงินจำนวน 250,000 รูปี ให้กับองค์กร Youth Eye Service (YES) สำหรับการผ่าตัดตาต้อกระจก ไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมี ดร. สิทธัทถะ รานจิต ประธานองค์กร YES เป็นผู้รับมอบ

สกญ.ณ เมืองดูไบ มอบเงินบริจาคให้กับมูลนิธิเพื่อสตรีและเด็กแห่งรัฐดูไบ

 ท่านกงสุลใหญ่มอบเช็กเงินสดจำนวน 200,000 บาทแก่มูลนิธิ
มูลนิธิมอบของที่ระลึกให้แก่ท่านกงสุลใหญ่
ท่านกงสุลใหญ่ปสันน์ เทพรักษ์และคณะได้รับการต้อนรับจากมูลนิธิ


สกญ.ณ เมืองดูไบ มอบเงินบริจาคให้กับมูลนิธิเพื่อสตรีและเด็กแห่งรัฐดูไบ


เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 นายปสันน์ เทพรักษ์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ พร้อมด้วยข้าราชการสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางไปที่มูลนิธิเพื่อสตรีและเด็กแห่งรัฐดูไบ และเข้าพบมาดาม อัฟรา อัลบัสตี (Madame Afra Al Basti), CEO ของมุลนิธิ โดยมีดร. โมนา อัล บาฮาร (Dr. Mona Al Bahar), Deputy CEO for Care & Community Services และดร. อัซฮาร โมฮัมเม็ด อาบูอาลี (Dr. Azhar Mohammed Abuali), Director for Care & Rehabilitation ร่วมให้การต้อนรับ

ในโอกาสนั้น กงสุลใหญ่ ณ กรุงดูไบ ได้มอบเงินบริจาคจำนวน 200,000 บาท หรือ 23,937.76 ดีแรมห์ ให้กับผู้บริหารของมูลนิธิเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูสตรีและเด็กที่ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์

เงินบริจาคดังกล่าวนี้ ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศ โดยใช้เงินงบประมาณภายใต้งบโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ประจำประจำปี 2554

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน


ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์รายงานว่า วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2554) เวลา 12.51 น. เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เมืองไคร้สต์เชิร์ช ความสั่นสะเทือนวัดได้ 6.3 ริกเตอร์ เป็นผลให้อาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย และทางการนิวซีแลนด์ได้สั่งปิดสนามบิน ต่อมามีรายงานว่าจากการตรวจค้นซากผู้เสียชีวิต 65 ราย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานกับเครือข่ายคนไทยในไคร้สต์เชิร์ชแล้วพบว่าวัดพุทธสามัคคีซึ่งตั้งอยู่ในไคร้สต์เชิร์ชไม่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ แต่ยังไม่มีรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ออกประกาศแจ้งให้คนไทยทราบวิธีปฏิบัติในกรณีฉุกเฉินดังนี้

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองไคร้สต์เชิร์ช


ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ ที่เมืองไคร้สต์เชิร์ช เมื่อเวลา 12.50 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 นั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแจ้งให้ทราบถึงวิธีปฏิบัติในกรณีฉุกเฉิน ดังต่อไปนี้


1. ในกรณีฉุกเฉิน กรุณาโทรศัพท์แจ้งที่หมายเลข 111 เพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของนิวซีแลนด์

2. แจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบ ที่หมายเลข 04-4768616 หรือ 021-403576


3. ติดต่อเพื่อนชาวไทย แจ้งเบอร์โทรศัพท์/ที่อยู่ ของตนเอง เพื่อสามารถให้ข้อมูลแก่สถานเอกอัครราชทูตฯ ในกรณีที่จำเป็น


4. ญาติที่เมืองไทย หากประสงค์จะติดต่อสอบถามข้อมูลคนไทยที่ไคร้สต์เชิร์ช สามารถแจ้งเบอร์โทรศัพท์ติดต่อได้ที่อีเมล์ consular@thaiembassynz.org.nz เพื่อให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ติดต่อและแจ้งกลับไป


จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะโทรศัพท์ติดต่อจากประเทศไทยไปยังสถานเอกอัครราชทูตฯ ตามหมายเลขที่แจ้งไว้ข้างต้นสามารถติดต่อได้โดยกดหมายเลข 001+664+4768616 หรือ 001+6421+403576

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวาจัดบริการกงสุลสัญจรในเมืองเลมิงตัน

แล้วก็ถึงคิวรับบริการ
หางแถว ปลายคิวก็นั่งรอไปก่อน
กรอกแบบฟอร์ม ใครไม่รู้ก็ถามกันไป คนไทยทั้งนั้น
ที่กรอกแบบฟอร์มเสร็จก็เข้าคิวรอที่โต๊ะ
แรงงานไทยที่มารับบริการกงสุลสัญจร
ไปเยี่ยมแรงงานไทยที่แค้มป์เมืองแชททัม-เค้นท์
อาสาสมัครในพื้นที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้มารับบริการกงสุลสัญจรที่เมืองเลมิงตัน เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวาจัดบริการกงสุลสัญจรในเมืองเลมิงตัน



เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา ได้เปิดบริการกงสุลสัญจร ตั้งแต่เวลา 09.00-18.30 น. มีแรงงานไทยในเมืองเลมิงตัน (Leamington) และเมืองใกล้เคียงยื่นขอทำหนังสือเดินทาง 92 ราย ขอ CI 1 ราย ออกสูติบัตร 2 ราย จดทะเบียนสมรส 1 ราย นอกจากนี้ มีคนไทยขอคำปรึกษาเกี่ยวกับงานนิติกรณ์ ข้อมูลการว่าจ้างแรงงาน ปัญหาและข้อข้องใจต่างๆ รวมทั้งเรื่องการนำญาติจาก ปทท.ไปทำงานในแคนาดา 22 ราย

การให้บริการกงสุลครั้งนี้ และในหลายครั้งที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับการสนับสนุน อำนวยความสะดวก จากอาสาสมัครคนไทยทั้งในท้องถิ่นและที่เดินทางมาจากนครโทรอนโต เช่น ประสานงานกับนายจ้างเรื่องสถานที่ให้บริการ ดูแลเอกสารของคนงาน และจัดลำดับการเข้ารับบริการ นอกจากนี้ ยังได้จัดให้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ไปเยี่ยมแรงงานไทยที่ไปชุมนุมที่แคมป์คนงานไทยที่เมืองแชททัม-เค้นท์ (Chatham-kent) ซึ่งห่างจากจุดบริการประมาณ 80 กิโลเมตร เพื่อรับการฝึกอบรมเรื่องสุขภาพ การป้องกันโรคติดต่อ ความปลอดภัยในการทำงาน ความรู้เรื่องสวัสดิการและกฎหมายท้องถิ่น ซึ่งในโอกาสนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้มีโอกาสชี้แจงนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับการปกป้องสิทธิประโยชน์ของคนไทยในต่างแดน ให้ความรู้เรื่องงานกงสุล ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และได้แนะนำให้คนไทยรวบรวมรายชื่อ ที่อยู่และหมายเลขติดต่อเพื่อสถานเอกอัครราชทูตฯสามารถให้การช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหาได้ทันท่วงที

จากการสอบถามนางปิยรัตน์ แวนคูเวอร์แดน (อาสาสมัครที่ช่วยเหลือแรงงานไทยแถบพื้นที่ตะวันตก) ทราบว่ามีแรงงานไทยประมาณ 300-450 คนในเมืองเลมิงตัน (Leamington) และเมืองใกล้เคียง ส่วนใหญ่ทำงานในโรงเพาะพืชผัก และว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาปัญหาแรงงานภาคเกษตรไทยลดลงได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากมีการเพิ่มระเบียบการว่าจ้างที่รัดกุมและคนงานที่มาใหม่ส่วนใหญ่เคยทำงานในแคนาดามาก่อนแรงงานไทยสุขสบายดี ส่วนปัญหาคนงานก็มีบ้างโดยเฉพาะการแอบพำนักและทำงานอยู่ในแคนาดาโดยผิด ก.ม เพื่อจะได้ขยายเวลาการประกอบอาชีพให้ยาวขึ้น

การจัดกงสุลสัญจรครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อคนไทย/แรงงานไทยที่อยู่ห่างไกลจากกรุงออตตาวาเป็นระยะทางถึง 900 กิโลเมตร ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ใช้การเดินทางทางรถยนต์ประมาณ 10 ชั่วโมง มีผู้รับการบริการกว่า 100 คน ไม่ต้องเดินทางมาที่ สอท. และ สถานเอกอัครราชทูตฯ  เสียค่าใช้จ่ายเพียงประมาณ 1,200 เหรียญสหรัฐอเมริกา (ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก น้ำมันรถยนต์)

ที่มา: ภาพและเรื่องจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา

วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ข้อควรรู้เมื่อไปทำงานในสิงคโปร์


ข้อควรรู้เมื่อไปทำงานในสิงคโปร์



สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานในเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย แต่ก็เป็นที่ตระหนักกันดีว่าสิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่เคร่งครัดต่อกฎหมายและระเบียบวินัย อาทิ กฎจราจร การข้ามถนน การทิ้งขยะ การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ

ข้อควรทราบสำหรับผู้ที่เดินทางไปทำงานในสิงคโปร์

- ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยสามารถเดินทางเข้าประเทศสิงคโปร์ได้โดยไม่ต้องขอรับการตรวจลงตรา (วีซ่า) และได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ได้ 14 วัน การพำนักเกินเวลาที่กำหนดเป็นการผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน เฆี่ยน 3 ที ปรับสูงสุด 6,000 ดอลลาร์สงคโปร์ และห้ามเข้าสิงคโปร์อีกต่อไป

- ผู้ถือเดินทางเข้าสิงคโปร์คสรถือหนังสืเดินทางที่มีอายุไม่น้อยกว่า 6 เดือน ก่อนวันหมดอายุ

- ผู้ประสงค์จะเข้าไปทำงานในสิงคโปร์ ควรตรวจสอบข้อมูลกับกระทรวงแรงงานไทยเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง การทำงานโดยไม่ได้ขออนุญาตทำงานจากทางการสิงคโปร์จะถูกดำเนินคดี

- การลักลอบเข้าประเทศสิงคโปร์และประกอบอาชีพขายบริการเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีโทษหนัก

- การลักลอบนำยาเสพติด อาวุธปืน และสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆเข้าประเทศ มีโทษหนักและโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

ทางการไต้หวันเข้มงวดการสมรสอำพราง


ทางการไต้หวันเข้มงวดการสมรสอำพราง



สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าไทย ไทเป รายงานว่า ปัจจุบันทางการไต้หวันเข้มงวดการจดทะเบียนสมรสระหว่างหญิงไทยกับชายชาวไต้หวันในลักษณะสมรสอำพราง

จากสถิติหญิงไทยจำนวนมากนิยมแต่งงานกับชายชาวไต้หวันเพื่อต้องการใบถิ่นที่อยู่และทำงานในไต้หวัน อาทิ งานนวดแผนไทย งานบริการอื่นๆ โดยจะต้องจ่ายค่าตอบแทนในการหาคู่ให้จดทะเบียนสมรส และค่าจัดหางานเป็นเงินประมาณ 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ขบวนการค้ามนุษย์

การจดทะเบียนสมรสอำพรางกับชาวไต้หวัน เมื่อถูกจับกุมเจ้าหน้าที่จะตั้งข้อหาแจ้งความเท็จเพื่อให้มีการจดทะเบียนสมรส ปลอมแปลงเอกสารและทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเตือนหญิงไทยที่ถูกชักชวนจากขบวนการค้ามนุษย์ให้เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันโดยใช้วิธีการสมรสอำพรางว่า ท่านอาจจะต้องสูญเสียเงินโดยไม่มีโอกาสที่จะทำงานหรือพำนักอยู่ในไต้หวันเลย

เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

นายสมชัย จรณสมบูรณ์
เอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี


เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์


คนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อประสบเหตุฉุกเฉินขึ้นกับตนเอง อาทิ การถูกจับกุม หรือการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี มีคำแนะนำดังนี้
การจับกุมดำเนินคดี

บุคคลสัญชาติไทยที่ตกเป็นผู้ต้องหาไม่ว่ากรณีใดๆ หากไม่สามารถให้การเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอาหรับได้อย่างถูกต้องและชัดเจน สามารถร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ติดต่อขอล่ามจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี หรือสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ได้ทันที ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าคดีที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ความช่วยเหลือคนไทยมักเกี่ยวกับการเสพสุราและการทะเลาะวิวาท

การเกิดอุบัติเหตบนท้องถนน

เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จะต้องโทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่หมายเลข 999 ทันที โดยแจ้งรายละเอียดสถานที่เกิดอุบัติเหตุ ระดับความรุนรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้นำรถพยาบาลมาด้วยหากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อได้รับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาถึงสถานที่เกิดเหตุอย่างรวดเร็วเมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำรายงานอุบัติเหตุและทำแผนที่การเกิดอุบัติเหตุ แล้วจะมอบใบรายงานอุบัติเหตุให้แก่ทั้งผู้เสียหายและผู้ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อนำไปแสดงต่อบริษัทประกันสำหรับซ่อมรถยนต์ต่อไป ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุอาจถูกจับกุมดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะพิจารณาจากความรุนแรงของอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียหายที่เกิดขึ้น

หมายเลขโทรศัพท์สำคัญ

ตำรวจ / รถพยาบาล 999
ดับเพลิง 997
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี +971 2 642 1772
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ +971 4 348 9550



ที่มา: หนังสือ อยู่อย่างไรในยูเออี ตีพิมพ์ กันยายน 2552

เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในอิหร่าน


เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในอิหร่าน


กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน ว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในกรุงเตหะราน

ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ติดต่อชุมชนไทยที่อาศัยอยู่ในอิหร่านเพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ และขอให้คนไทยในอิหร่านใช้ความระมัดระวังในการเดินทางออกจากบ้าน และหลีกเลี่ยงไม่เดินทางเข้าไปในบริเวณการชุมนุม อนึ่ง ยังไม่ปรากฏว่ามีคนไทยได้รับความเสียหาย หรือบาดเจ็บ จากการชุมนุมดังกล่าว

17 กุมภาพันธ์ 2554

ที่มา: ข่าวสารนิเทศ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คำเตือน: การเดินทางไปภูมิภาคตะวันออกกลาง


คำเตือน: การเดินทางไปภูมิภาคตะวันออกกลาง


ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงในหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง อาทิ ลิเบีย เยเมน บาห์เรน อิหร่าน เป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต นั้น

โดยที่ขณะนี้ การชุมนุมประท้วง ยังคงดำเนินอยู่หรือมีความสงบในระดับหนึ่งแต่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรง กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแจ้งเตือนว่า หากจำเป็นต้องเดินทางไปภูมิภาคดังกล่าว ขอให้ตรวจสอบสถานการณ์และพัฒนาการของเหตุการณ์ก่อนการเดินทาง และเมื่อเดินทางถึงแล้ว ขอให้หลีกเลี่ยงสถานที่ซึ่งมีความเสี่ยงโดยเฉพาะพื้นที่และสถานที่ซึ่งมีการชุมนุม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน


กระทรวงการต่างประเทศ
19 กุมภาพันธ์ 2554

วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การรับรองเอกสารสมรสตามหลักศาสนาอิสลาม


การรับรองเอกสารสมรสตามหลักศาสนาอิสลาม




การรับรองเอกสารการจดทะเบียนสมรสตามหลักศาสนาอิสลามสามารถดำเนินการได้ดังนี้

1. ผู้ร้องนำทะเบียนสมรสตามหลักศาสนาอิสลามไปให้สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยออกหนังสือรับรองการสมรสก่อน

2. ผู้ร้องนำหนังสือรับรองการสมรสดังกล่าวมาให้กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ รับรองลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจลงนามของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

ผู้ที่สงสัยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมจากกองสัญชาติและนิติกรณ์ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ consular04@mfa.go.th  โทรศัพท์ 02-575-1056-9 โทรสาร 02-575-1054

คนไทยในไซปรัสปลื้มกิจกรรมกงสุลสัญจร ตระหนักว่าคนไทยไม่ถูกทอดทิ้ง

กรุงนิโคเซีย นครหลวงของไซปรัส

คนไทยในไซปรัสปลื้มกิจกรรมกงสุลสัญจร ตระหนักว่าคนไทยไม่ถูกทอดทิ้ง



สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรมรายงานว่า ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 4 กุมภาพันธ์ 2554 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปให้บริการงานด้านกงสุลและทำหนังสือเดินทางแก่คนไทยพำนักอยู่ในประเทศไซปรัส โดยจัดที่สำนักงานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ กรุงนิโคเซีย

ในโอกาสดังกล่าวมีคนไทยมาขอรับการออกสูติบัติไทย 5 ราย ทำหนังสือเดินทาง 8 ราย และปรึกษาปัญหาต่างๆ จำนวน 39 ราย โดยมีแรงงานไทย จำนวน 8 คนเดินทางมาร้องทุกข์ว่าไม่ได้รับค่าล่วงเวลาจากนายจ้าง ซึ่งคณะฯ ได้เชิญนายจ้างมาให้ข้อเท็จจริงเพื่อแก้ไขปัญหา

ในการออกไปให้บริการกงสุลสัญจรที่ไซปรัสในครั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ถือโอกาสเดินทางไปตรวจสอบสถานะบริษัท Real View Construction ซึ่งประสงค์จะนำคนงานไทยไปทำงานจำนวน 420 คน

ปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในประเทศไซปรัสประมาณ 200 คน ส่วนใหญ่มีหนังสือเดินทางของไซปรัสด้วย จากการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ไปเยี่ยมเยียนในครั้งนี้พบว่าชาวไทยในไซปรัสมีความปราบปลื้มที่ได้รับรู้ว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากทางการ และเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่คนไทยในไซปรัสเป็นอย่างดี

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องมรดกของผู้ตาย


นายฤทธิชัย ทับสุวรรณ

กงสุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์ฟิร์ต


การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องมรดกของผู้ตาย




เมื่อเร็วๆนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับการสอบถามจากศาลเยอรมันกรณีบุคคลสัญชาติไทยเสียชีวิตในเยอรมนีมีมรดกเป็นห้องชุดและมิได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ โดยศาลสอบถามว่าควรใช้กฎหมายมรดกของไทยหรือของเยอรมนีในการพิจารณาคดีมรดก การเลียงลำดับทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลัง การสละมรดกหรือขอไม่รับมรดก ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯได้สอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ขอเรียนสรุปให้พี่น้องชาวไทยที่สนใจรับทราบดังนี้

1. มรดกเท่าที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ในกรณีที่ผู้ตายเป็นบุคคลสัญชาติไทยเสียชีวิตในเยอรมนี จึงควรใช้กฎหมายเยอรมันในการพิจารณาคดีมรดก

2. การเลียงลำดับทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629 กำหนดว่าทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกมีอยู่ทั้งสิ้น 6 ลำดับ โดยแต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดังต่อไปนี้ คือ

- ผู้สืบสันดาน

- บิดามารดา

- พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

- พี่น้องร่วมบิดาหรือพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน

- ปู่ ย่า ตา ยาย

- ลุงป้าน้าอา

3. การสละมรดกหรือการไม่รับมรดก

ทายาท ไม่ว่าจะเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพิน้ยกรรมที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย เมื่อไม่ประสงค์จะรับมรดก กฎหมายเปิดช่องให้สละมรดกได้ โดยการสละมรดกต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด มิฉะนั้นแล้วการสละมรดกก็จะไม่มีผลตามกฎหมายแต่อย่างใด

การสละมรดกกระทำได้ก็ต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้ว ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1619 กำหนดว่าผู้ใดจะสละหรือจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งสิทธิอันจะมีภายหน้าในการสืบมรดกของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นไม่ได้ หากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วการสละมรดกจะกระทำเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ว่า ห้ามการสละมรดกเมื่อเจ้ามรดกตายไปแล้วนานเท่าใด และการสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1615 วรรคแรกบัญญัติไว้

วิธีและแบบในการสละมรดกนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1612 กำหนดให้การสละมรดกต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความ

การสละมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่นั้น หนังสือต้องมีข้อความแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งว่าสละมรดก และทายาทต้องลงลายมือชื่อของตนในหนังสือสละมรดก โดยเป็นไปตามแบบและพิธีการสละมรดก ตามแบบ พ.ก. 6 และพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้แก่ นายอำเภอ ตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2481 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495

สำหรับการสละมรดกโดยการทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น สัญญาประนีประนอมยอมความที่จะเป็นการสละมรดกต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 และ 851 ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปของสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย กล่าวคือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะมีขึ้น การทำสัญญาประนีประนอมยอมความจึงต้องมีข้อพิพาทหรืออาจจะมีข้อพิพาทเรื่องมรดก (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2332/2524) สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาสองฝ่ายจึงต้องมีคู่สัญญาและคู่สัญญาต้องเป็นทายาททั้งสองฝ่าย ดังนั้นการสละมรดกโดยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต้องอาศัยการแสดงเจตนาของทายาทสองฝ่าย ลำพังการแสดงเจตนาสละมรดกเพียงฝ่ายเดียวไม่เข้าลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การสละมรดกจึงไม่มีผลตามกฎหมาย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1610/2513)

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตร 1612 กำหนดว่าการสละมรดกจะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ และเมื่อสละมรดกแล้วจะถอนการสละมรดกไม่ได้



นายฤทธิชัย ทับสุวรรณ
กงสุล
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์ฟิร์ต



ที่มา: วารสารชาวไทย ฉบับประจำเดือนมกราคม 2554

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสสนับสนุนศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชน

กงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญมอบเช็กเงินสดแก่คุณนงเยาว์ วรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิสสนับสนุนศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 กงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญ ได้มอบเช็คเงินสดจำนวน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่คุณนงเยาว์ วรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือชุมชนไทยในนครลอสแอนเจลิส ทั้งในด้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของรัฐ และอื่น ๆ มาเป็นเวลากว่า 16 ปี การสนับสนุนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และให้ความรู้แก่ชุมชนไทยเกี่ยวกับการปฏิรูประบบประกันสุขภาพสหรัฐ ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2553 เพื่อให้ชุมชนไทยตระหนักและเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากกฎหมายดังกล่าว


นอกจากนั้น กงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญ ยังได้หารือกับผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชนเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายและระบบความร่วมมือภายในชุมชน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนไทย ที่ประสบความลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดวางระบบอาสาสมัครและการส่งเสริมบทบาทของ ภาคธุรกิจในการช่วยเหลือสังคม


ที่มา: ภาพและเรื่องจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส http://www.thaiconsulatela.org/index.aspx

ปรับแก้: 19 ก.พ. 2554

วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำนครซอลเล็ก ซิตี้


การแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำนครซอลเล็ก ซิตี้

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันรายงานว่า สถานเอกอัครราชทูตฯได้แจ้งเรื่องการแต่งตั้งนายแพทย์ สก็อตต์ เอฟ ฮันเซน(Mr. Scott F. Hansen, MD) ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำนครซอลเล็กซิตี้ มลรัฐยูทาห์ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้ความเห็นชอบและขึ้นทะเบียนนายแพทย์ฮันเซน ในรายชื่อคณะกงสุลของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว

รายละเอียดสำหรับการติดต่อนายแพทย์ฮันเซนมีดังนี้

- Mr. Scott F. Hunsen, MD

- ที่ทำงาน: LDS Hospital, 8th Avenue and C Street, Salt Lake City, Utah 84143

- หมายเลขโทรศัพท์: +1-801-408-1901

- ที่พำนักปัจจุบัน: 7865 S Tynedale Ct, Sandy, Utah 84093, 801-943-4341

- หมายเลขโทรศัพท์มือถือ: +1-801-656-7952

- ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์: scptt.f.hansen@imail.orgm หรือ scotthansen@gmail.com

สำนักงานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ตั้งอยู่ที่ห้องปฏิบัติงานทั่วไป (Administrative Office) ของโรงพยาบาลที่นายแพทย์ฮันเซนทำงานอยู่โดยมีนาง Cris Cross ผู้ช่วยของนายแพทย์ฮันเซนที่โรงพยาบาลปัจจุบันเป็นผู้ช่วยงานที่เกี่ยวข้องของสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ด้วย ทั้งนี้หมายเลขโทรศัพ์ติดต่อของนาง Cross คือ +1-801-408-1838

สถานเอกอัครราชทูตฯ รายงานด้วยว่า ปัจจุบันมีคนไทยในมลลรัฐยูทาห์ประมาณ 2,000 คน โดยประมาณ 500 คนพำนักอยู่ในนครซอลเล็กซิตี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียน และมีชาวอเมริกันที่เคยเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะมิชชันนารีหรือเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยและสามารถพูดภาษาไทยได้จำนวนมากถึงประมาณ 2,000 คน

วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

แถลงการณ์ของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศอียิปต์


นายธานี ทองภักดี
อธิบดีกรมสารนิเทศ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

แถลงการณ์ของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศอียิปต์

1. ประเทศไทยยินดีกับการแสดงออกซึ่งความต้องการการเปลี่ยนแปลงของประชาชนสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

2. ไทยหวังว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านที่สงบสันติและราบรื่นเพื่อให้เป็นไปตามความปรารถนาของประชาชนอียิปต์ที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตย ความก้าวหน้า และความเจริญรุ่งเรือง

3. ประเทศไทยหวังที่จะที่จะได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ของอียิปต์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์แห่งมิตรภาพและความร่วมมืออันใกล้ชิดและยาวนานระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป
**********************
12 กุมภาพันธ์ 2554

ที่มา ข่าวสารนิเทศ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ