วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวันมอบวัสดุอุปกรณ์การเรียนและอุปกรณ์การกีฬาให้โรงเรียนในบรูไน






สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวันมอบวัสดุอุปกรณ์การเรียนและอุปกรณ์การกีฬาให้โรงเรียนในบรูไน


สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 ระหว่างเวลา 10.00 น.  11.30 น. นายอภิชาติ เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ได้ทำพิธีมอบสิ่งของเครื่องใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนและกีฬาแก่โรงเรียนระดับประถมศึกษา Sekolah Rendah Bendahara Sakam Bunut เขตบันดาร์เสรีเบกาวัน ได้แก่ 
         1) เครื่องปรับอากาศขนาด 2.5 hp (ประมาณ 20,000 บีทียู) 1 เครื่อง สำหรับใช้ใน Asean Room ของโรงเรียน 
         2) หนังสือและสื่อการเรียนการสอนสำหรับห้องสมุด 
       3) เสื้อ กางเกงและอุปกรณ์การกีฬา อาทิ ไม้ฮอกกี้ ลูกฟุตบอล ลูกบาสเกตบอล ไม้แบดมินตันแลอื่นๆ มูลค่ารวม 1,996 ดอลลาร์บรูไน ( ประมาณ 47,904 บาท)
ผู้เข้าร่วมในพิธีได้แก่ ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่จาก สอท. ส่วนฝ่ายบรูไน ได้แก่ Cikgu Haji Zakaria bin Hj Duraman เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของบรูไน-มัวรา เขต 3 ( Senior Education Officers of Brunei- Muara District Zone III  ) คณะเจ้าหน้าที่ประถมการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการบรูไน ผู้อำนวยการโรงเรียน ครูอาจารย์ และนักเรียน ทั้งหมดจำนวน ประมาณ 40 คน และมีผู้สื่อข่าวจากสำนักต่างๆ ร่วมทำข่าว

เอกอัครราชทูตได้กล่าวในพิธีมอบสิ่งของบริจาคแก่โรงเรียนว่า โรงเรียนฯ และสถานเอกอัครราชทูตเป็นเพื่อนบ้านที่ดีมาเป็นเวลานาน สถานเอกอัครราชทูตจึงมีความยินดีที่ได้มอบสิ่งของบริจาคเหล่านี้ให้แก่ทางโรงเรียนฯใน วันนี้ โดย สถานเอกอัครราชทูตมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมบรูไนและพร้อมที่จะมี ส่วนร่วมในการพัฒนาเยาวชนบรูไนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อไป

อนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตได้ใช้งบประมาณเชิงรุกที่ได้รับจัดสรรจากกระทรวงการต่างประเทศไปในการ นี้เพื่อสร้า้งสายสัมพันธ์และการเข้าถึงประชาชนและสังคมบรูไนโดยรวม สำหรับโรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามที่ทำการสถานเอกอัครราชทูตมีนักเรียนประมาณ 300 คน ครูอาจารย์ 30 คน เคยได้รับรางวัลจากทางการบรูไนมามากมาย และล่าสุดได้แสดงความประสงค์ที่จะเป็นโรงเรียนพี่น้องกับโรงเรียนระดับประถม ศึกษาของไทย

พายุไต้ฝุ่นนานมาโดลขึ้นที่ไต้หวันแล้ว คนไทยปลอดภัย


พายุไต้ฝุ่นนานมาโดลขึ้นที่ไต้หวันแล้ว คนไทยปลอดภัย

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2554 พายุไต้ฝุ่นนานมาโดลได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งทางใต้ของไต้หวันเมื่อเวลา 04.20 น. ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคใต้ในเขตเกาสง ไถหนาน ผิงตงไถตง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเขตอี๋หลาน ฮวาเหลียน ทำให้มีฝนตกหนักและน้ำท่วมบางพื้นที่ อาทิ เขต ผิงตง ไถตง และฮวาเหลียน

ทางการไต้หวันอพยพประชาชนจำนวนกว่าหมื่นคนในเขตผิงตง ไถตง ไถหนาน และเจียอี้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงจากดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก ไปยังพื้นที่ปลอดภัยและประกาศหยุดโรงเรียนทั่วไต้หวัน 1 วันในวันที่ 29 สิงหาคม 2554 รวมทั้งหยุดงานในพื้นที่เขตเกาสง ไถหนาน ผิงตง ไถตง อี๋หลาน ฮวาเหลียน เผิงหู และจินเหมิน

พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากพายุไต้ฝุ่นนานมาโดล ได้แก่ เขตเกาสง มีคนไทยประมาณ 3,700 คน เขตไถหนานมีคนไทยประมาณ 6,600 คน เขตผิงตงมีคนไทยประมาณ 447 คน เขตไถตง มีคนไทย 4 คน อี๋หลานมีคนไทยประมาณ 460 คน ฮวาเหลียน มีคนไทยประมาณ 450 คน เขตเผิงหูและจินเหมินมีคนไทย 2 คน

สำนักงานการค้าฯ ได้ตรวจสอบกับสำนักงานแรงงานไทเป สำนักงานแรงงานเมืองเกาสง และสมาคมคนไทยในไต้หวัน (เมืองไถจง) แล้ว ในชั้นนี้ยังไม่พบความเสียหายหรือผลกระทบต่อคนไทยในพื้นที่ดังกล่าว

พายุนานมาโดลที่อ่อนกำลังลงเคลื่อนตัวออกจากไต้หวันเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 29 สิงหาคม 2554 คาดว่าจะขึ้นฝั่งประเทศจีนวันที่ 31 สิงหาคม 2554 เวลาประมาณ 02.00 น.

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูจัดงานพิธีถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 79 พรรษา ณ วัดต้าสือ (วัดมหาเมตตา)







สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตูจัดงานพิธีถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 79 พรรษา ณ วัดต้าสือ (วัดมหาเมตตา)
 
            ด้วยเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู ร่วมด้วยนาง Qin Lin นายก สมาคมมิตภาพจีนกับต่างประเทศ มณฑลเสฉวน ได้จัดงานพิธีถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 79 พรรษา ณ วัดต้าสือ (วัดมหาเมตตา) โดย ในงานประกอบด้วยการสวดถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ การถวายเครื่องจตุปัจจัยไทยทานแก่พระสงฆ์ และการร่วมลงนามถวายพระพรจากผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะ ทีมประเทศไทย และชาวไทยที่พำนักในมณฑลเสฉวน

            ใน โอกาสนี้ สกญฯ พร้อมด้วยผู้ร่วมงานได้ร่วมกันถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และรับประทานอาหารร่วมกัน อนึ่ง สกญฯ ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ ณ บริเวณด้านหน้า สกญฯ  

สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์เยี่ยมแรงงานไทย 300 คน ที่หอพักสปอร์ต ฮับ








สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์เยี่ยมแรงงานไทย 300 คน ที่หอพักสปอร์ต ฮับ

            เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2554 นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ และนางกาญจนา วงศ์สุวรรณ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา
(ฝ่ายแรงงาน) พร้อมด้วยข้าราชการจากสถานเอกอัครราชทูตฯ สำนักแรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์ (สนร.) และแพทย์หญิงจันทร ภักดีไทย ซึ่งเป็นแพทย์อาสาสมัคร ได้เข้าเยี่ยมแรงงานไทยประมาณ 300 คน ที่หอพักแรงงาน Sports Hub โดยนาย Jose Decastro ผู้อำนวยการบริษัท Bouygues Construction นาย Mathieu Tommy Martin ผู้จัดการด้านการบริการทั่วไป และนางสาว Elaine Gan ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ให้การต้อนรับและนำคณะเยี่ยมชมห้องพักและพื้นที่บริเวณหอพัก ซึ่งมีแรงงานไทยพักอยู่ประมาณ 500 คน  หลัง จากนั้น ออท. ได้กล่าวทักทายแรงงานชาวไทย และกล่าวขอบคุณชาวไทยที่ได้เข้ามาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้ามาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก และได้ประชาสัมพันธ์ให้กรอกรายละเอียดแบบรายงานตัวคนไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในกรณีเหตุการณ์ฉุกเฉิน ทำให้สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถติดต่อแรงงานชาวไทย และประชาสัมพันธ์ข้อแนะนำสำหรับคนไทยในเหตุการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ สนร. ได้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ของผู้ใช้แรงงานในสิงคโปร์ และปิดท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพรับคำปรึกษาจากแพทย์หญิง จันทรฯ

ใน การเยี่ยมแรงงานไทยครั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯได้แจกจ่ายยาสามัญประจำบ้าน และเสปรย์ตะไคร้หอมกันยุงให้แก่แรงงานไทย ซึ่งออท. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสหน้า สถานเอกอัครราชทูตฯจะจัดอุปกรณ์กีฬามาแจกจ่าย เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมกีฬาที่หอพักแรงงาน ทำให้ร่ายกายแข็งแรงและจิตใจแจ่มใส



วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ถาม-ตอบเกี่ยวกับเนื้อวัวปนเปื้อนรังสี

ถาม-ตอบเกี่ยวกับเนื้อวัวปนเปื้อนรังสี

 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการการบริโภคเนื้อในประเทศญี่ปุ่น ตามที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์แจแปน ไทม์ส ดังนี้ 

หากบริโภคเนื้อวัวปนเปื้อนรังสีจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

     -ไม่เป็นอันตราย เว้นแต่จะบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

     -การบริโภคเนื้อวัวปนเปื้อนรังสี 1 กก. นั้น จะทำให้ได้รับรังสีประมาณ 82.65 ไมโครซีเวิร์ด โดยสารกัมมันตรังสีซีเซียมจะคงอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง หากบริโภคอาหารที่มีซีเซียม รังสีครึ่งหนึ่งจะคงอยู่ในร่างกายหลัง 9 วันสำหรับทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี แต่จะอยู่ในร่างกายนานกว่านั้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น หากอายุ 50 ปี ซีเซียมจะเหลืออยู่ในร่างกายครึ่งหนึ่งหลังบริโภคไปแล้ว 90 วัน

     -ทั้งนี้ การเดินทางด้วยเครื่องบินเที่ยวเดียวจากกรุงโตเกียวไปยังนครนิวยอร์กจะทำให้ร่างกายได้รับรังสี100 ไมโครซีเวิร์ด

รัฐบาลจำกัดมิให้มีรังสีในเนื้อสัตว์เกินปริมาณเท่าใด

     -รัฐบาลญี่ปุ่นห้ามให้มีรังสีซีเซียมเกิน 500 เบคเคอเรลต่อ กก. ในเนื้อสัตว์ ไข่ และปลา ซึ่งเป็นปริมาณเท่ากับที่สหภาพยุโรปและประเทศไทยจำกัดเช่นกัน ทั้งนี้ ปริมาณรังสีที่จำกัดของสิงคโปร์และฮ่องกงอยู่ที่ 1,000 เบคเคอเรล / กก. สหรัฐฯ อยู่ที่ 1,200 เบคเคอเรล / กก. และเกาหลีใต้และไต้หวันอยู่ที่ 370 เบคเคอเรล / กก.

     -อนึ่ง ไม่มีขีดจำกัดสำหรับไอโอดีนกัมมันตรังสีในเนื้อและไข่ เนื่องจากค่าครึ่งชีวิตของไอโอดีนมีระยะเวลาเพียง 8 วัน (ต่างจากซีเซียมซึ่งกินระยะเวลา 30 ปี) ช่วงเวลาที่อาหารได้รับไอโอดีนจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภคน่าจะใช้เวลานานกว่า 8 วัน (ข้อมูลจากคู่มือ “อาหารและรังสี” โดยหน่วยงานดูแลผู้บริโภค) นอกจากนี้ กระทรวงเกษตร การประมง และการป่าไม้ญี่ปุ่น ยังมีประกาศว่าไอโอดีนในเนื้อวัวที่พบมีปริมาณไม่เกิน 50 เบคเคอเรล / กก.

เนื้อไก่และเนื้อหมูของญี่ปุ่นปลอดภัยหรือไม่

     -น่าจะมีความปลอดภัยกว่าเนื้อวัวญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ต้องมีการตรวจอย่างละเอียด ทั้งนี้ อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่และสุกรนั้น ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศซึ่งอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด ต่างจากฟางข้าวซึ่งบางครั้งทิ้งไว้กลางแจ้ง (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร การประมง และการป่าไม้ญี่ปุ่น)

นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมปลอดภัยหรือไม่

     -น่าจะปลอดภัยกว่าเนื้อเพราะสามารถตรวจวัดรังสีในขั้นตอนการผลิตนมก่อนจัด จำหน่ายได้ และนมที่มีรังสีเกินกำหนดมักถูกตรวจพบก่อนการจัดจำหน่ายออกสู่ตลาดด้วย (ข้อมูลจากกองควบคุมนมและผลิตภัณฑ์จากนม กระทรวงเกษตร การประมง และการป่าไม้ญี่ปุ่น)

ข้อมูลจาก The Japan Times, July 23, 2011

ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวhttp://www.thaiembassy.jp/rte3/index.php?option=com_content&view=article&id=1155:2011-08-10-01-11-49&catid=36:press-release&Itemid=92 

ไฟป่าในกรีซ คนไทยปลอดภัย


ไฟป่าในกรีซ คนไทยปลอดภัย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ รายงานว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในประเทศกรีซ ดังนี้

  1. จากภาวะอากาศร้อนจัดและมีกระแสลมแรงทั่วประเทศกรีซตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าพร้อมกันในหลายพื้นที่ โดยในวันจันทร์ ที่ 22 สิงหาคม 2554 ได้เริ่มเกิดไฟไหม้ป่าขึ้นในเขตเอฟรอส ด้านตะวันออกของกรีซ (บริเวณชายแดนกรีซ-ตุรกี) เขตเมโซลองงี และเขตมานี ตอนกลางและตอนใต้ของเกาะเปโลโปนิซี และต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 เกิดไฟไหม้ป่าอีกในเขตกลีฟาดา ใกล้กรุงเอเธนส์
  2. ในขณะที่กระแสลมยังเร็วและแรงอย่างต่อเนื่อง ไฟป่าในเขตเอฟรอส และเมโซลองงียังไม่มีทีท่าจะสงบลงได้ จนที่สุดรัฐบาลกรีซตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินบนพื้นที่ทั้งสองแห่ง รวมทั้งขอรับความช่วยเหลือจากสเปนและฝรั่งเศส เป็นเครื่องบินดับเพลิง 6 ลำ และกระทรวงคุ้มครองพลเรือนได้ออกประกาศเตือนภัยในเขตที่อาจจะเกิดไฟป่าได้อีกหลายเขต เช่นเขต Attica Eastern Sterea, Evia, Peloponisi และเกาะต่างๆในทะเลเอเจียน
  3. เหตุการณ์ไฟป่าในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เป็นพนักงานดับเพลิง ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีไฟป่าและบริเวณใกล้เคียงได้รับการช่วยเหลืออพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยแล้ว สำหรับคนไทยที่อาศัยอยู่ในกรีซ จากการตรวจสอบเบื้องต้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่พบว่ามีคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตที่มีไฟป่าแต่อย่างใด

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม จัดกงสุลสัญจร


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม จัดกงสุลสัญจร

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน รายงานว่า เมื่อวันที่ 20-21 สิงหาคม 2554 สถานเอกอัครราชทูตได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรครั้งที่ 4 ประจำปีงบประมาณ 2554 ที่เมืองซุนสวาล์ล โดยได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่นให้ใช้พื้นที่โรงเรียนเมดยอร์กการ์สโคเลน ซึ่งตั้งอยู่กลางเมืองซุนสวาวล์ลและสะดวกสำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปรับบริการ

ในการให้บริการครั้งนี้มีผู้ขอรับบริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 65 ราย จดทะเบียนราษฎร์และทะเบียนครอบครัว 7 ราย และขอรับคำปรึกษาด้านกงสุลจำนวน 30 ราย

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ใช้โอกาสดังกล่าวประชาสัมพันธ์เชิญชวนชุมชนไทยให้ไปร่วมกิจกรรมที่สถานเอกอัครราชทูตจัดขึ้นในช่วงปลายปี 2554 เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาศมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หังทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีกิจกรม 2 รายการได้แก่ 1) โครงการด้วยเกล้า ชาวไทยทั่วโลกน้อมใจภักดิ์รักในหลวง วันที่ 15 ตุลาคม 2554 ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจัดร่วมกับชุมรมแทนคุณแผ่นดินแม่ และสถานีโทรทัศน์ TGN 2) พิธีถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสำหรับคนไทยในสวีเดน

แม้ว่าในการจัดกงสุลสัญจรครั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตจะใช้ระบบการนัดหมายล่วงหน้าสำหรับผู้ที่มีความประสงค์จะขอนัดทำหนังสือ้เดินทางเพื่อให้การให้และรับบริการเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามสถานเอกอัครราชทูตฯ พบว่าการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ประสบอุปสรรคเนื่องจากผู้มาขอทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์หลายรายมีเอกสารมายื่นไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะเอกสารเกี่ยวกับการปกครองบุตร (ป.ค. 14) แม้ว่าสถ่านเอกอัครราชทูตได้แจ้งล่วงหน้าอย่างชัดเจนรวมทั้งย้ำให้ผู้ร้องทราบตอนโทรศัพท์มานัดหมายแล้วก็ตาม จึงทำให้เจ้าหน้าที่กงสุลต้องใช้เวลาในการชี้แจงและบางกรณีทำให้ผู้ร้องไม่พอใจที่ไม่สามารถยื่นเอกสารเท่าที่มีอยู่

สำหรับการให้คำปรึกษางานทางด้านกงสุลนั้น  คำถามร้อยละ 80 เกี่ยวข้องกับการถือหนังสือเดินทาง 2 เล่มทั้งของไทยและสวีเดน โดยเฉพาะการใช้ 2 เล่มคู่กันเวลาเดินทางจากสวีเดนไปประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงระเบียบและแนวปฏิบัติโดยเน้นว่าสำนักตรวจคนเข้าเมืองให้เลือกใช้หนังสือเดินทางเล่มใดเล่มหนึ่งเท่านั้นในการเดินทางแต่ละครั้ง ส่วนประเด็นอื่นที่ได้รับการสอบถามจากชุมชนไทยแห่งนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานทะเบียนราษฎรและทะเบียนครอบครัว การขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร การขอต่ออายุบัตรประจำตัวประชาชน เป็นต้น

ผู้มาร่วมกิจกรรมกงสุลสัญจรต่างชื่นชมและพอใจที่สถานเอกอัครราชทูตออกไปให้บริการถึงถิ่นพำนัก ทำให้ผู้รับบริการประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังเป็นโฮกาสที่ชุมชนไทยได้สอบถามและรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในเรื่องต่างๆ และขอร้องให้สถานเอกอัครราชทูตจัดกิจกรรมกงงสุลสัญจรต่อเนื่องทุกปี


ไทยให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบทุพภิกขภัยในแอฟริกา




ไทยให้ความช่วยเหลือประเทศที่ประสบทุพภิกขภัยในแอฟริกา

           เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554  ณ กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบเงินจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,500,000 บาท) ให้แก่โครงการอาหารโลก (World Food Programme – WFP) โดยมีนาย Kenro Oshidari  ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคของโครงการอาหารโลกประจำประเทศไทยเป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศที่ประสบทุพภิกขภัยในภูมิภาคจงอยแอฟริกา (Horn of Africa)

          ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่า รัฐบาลไทยว่าพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ที่เดือดร้อน โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความช่วยเหลือของไทยในครั้งนี้จะไปถึงประชาชนที่ได้ รับความเดือดร้อนโดยตรง

          ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลและประชาชนไทยที่ให้ความ ช่วยเหลือประเทศต่างๆ ที่ประสบภัย และขอบคุณความร่วมมือและการสนับสนุนที่ดีกับ WFP เสมอมา และกล่าวว่าปัญหาการขาดแคลนอาหารในแอฟริกาเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญ และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา บริเวณอนุภูมิภาคจงอยแอฟริกาและพื้นที่ใกล้เคียง อันประกอบด้วย ประเทศโซมาเลีย เอธิโอเปีย จิบูตี รวมถึงบางส่วนของเคนยาและยูกันดาได้ประสบภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนและมีรายงานว่าประชาชนกว่า 2 ล้านคนได้อพยพออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว

         การที่ไทยมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ประเทศที่ประสบภัยครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงไมตรีจิตต่อมิตรประเทศในแอฟริกาแล้ว ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของไทยในการเป็นสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศที่ มีความรับผิดชอบและพร้อมจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างสังคมโลกให้ เป็นสังคมที่สันติและมีความยั่งยืน

แถลงการณ์กรณีเหตุระเบิดในกรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย


 แถลงการณ์กรณีเหตุระเบิดในกรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย


          ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดขึ้นที่อาคารที่ทำการขององค์การสหประชาชาติใน กรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย นั้น

          รัฐบาลไทยขอประนามการก่อเหตุรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่สหประชาชาติและประชาชนผู้ บริสุทธิ์ ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทย ได้มีสารแสดงความเสียใจถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไนจีเรียและ เลขาธิการสหประชาชาติด้วยแล้ว


ประกาศเตือนคนไทยเกี่ยวกับพายุเฮอริเคนไอรีน


ประกาศเตือนคนไทยเกี่ยวกับพายุเฮอริเคนไอรีน


     ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งเตือนผ่านทวิตเตอร์ @MFAThai_PR_TH เกี่ยวกับเหตุการณ์พายุเฮอริเคนไอรีนพัดเข้าชายฝั่งมลรัฐทางตะวันออกของ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554 นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำเตือนให้คนไทยที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว หรือประสงค์จะเดินทางไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออก โปรดติดตามสถานการณ์พายุเฮอริเคนไอรีนและผลกระทบต่างๆ อย่างใกล้ชิด

     ทั้ง นี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กได้ประสานติดต่อกับชุมชนไทยเป็นระยะๆ แล้ว หากประสบปัญหาหรือต้องการขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ + 1 301 919 9641 หรือ + 1 202 944 3600 ต่อ 9 และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์กที่หมายเลขโทรศัพท์ + 1 718 358 3876 หรือที่ทวิตเตอร์ @ThaiEmbDC และ @PiriyaKhempon

สถานการณ์พายุเฮอริเคน “ไอรีน” ในสหรัฐฯ


สถานการณ์พายุเฮอริเคน “ไอรีน” ในสหรัฐฯ


          ตามที่ได้เกิดสถานการณ์พายุเฮอริเคน “ไอรีน” พัดเข้าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554 นั้น

          กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ดังนี้

         1. พายุเฮอริเคนดังกล่าวได้อ่อนกำลังไปมาก และกำลังเข้าสู่นครนิวยอร์กและคาดว่าจะผ่านพ้นนครนิวยอร์กเข้าสู่บริเวณ เมืองบอสตัน ต่อไป

         2. ทางการนครนิวยอร์กได้ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ และเริ่มอพยพคนในเขตที่ไม่ปลอดภัยไปยังศูนย์อพยพ 95 แห่งตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา รวมถึงสั่งปิดระบบการขนส่งมวลชน และสนามบินทุกแห่ง โดยทางการนครนิวยอร์กมีความกังวลใน ๓ ประเด็นใหญ่ คือ ก) ปริมาณน้ำฝนที่จะทำให้น้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณโซน A ซึ่งอยู่ต่ำระดับน้ำทะเล เช่น บริเวณ Battery Park และตามชายฝั่ง ข) ลมแรงที่จะพัดวัสดุชนกระจกแตกและทำให้คนบาดเจ็บ และลมแรงที่จะเป็นอันตรายต่อการคมนาคม ค) กระแสไฟดับที่จะทำให้คนติดค้างอยู่ในตึกสูง โดยขณะนี้ ทางการนครนิวยอร์กได้ระดมกำลังทหาร (national guards) ประมาณ 2,000 คนมาช่วยกู้ภัยแล้ว

         3. สำหรับคนไทยในนครนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และบอสตัน มีประมาณ 15,000 คนส่วนใหญ่ทำธุรกิจร้านอาหาร นักธุรกิจ แพทย์พยาบาล และนักเรียน นั้น สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประสานเครือข่ายช่วยเหลือคนไทย ได้แก่ กลุ่มแพทย์ไทย สมาคมคนไทย ตลอดจนวัดไทยทั้งหมด 7 แห่งในเขตที่ได้รับผลกระทบให้ร่วมกันประสานกับสถานกงสุลใหญ่ฯ ในการช่วยเหลือดูแลคนไทยที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และให้แจ้งสถานกงสุลใหญ่ฯ ทันทีเมื่อต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ชุมชนไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตควีนส์ ซึ่งไม่ใช่เขตอพยพ จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

        4. สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนไทยในเขตนครนิวยอร์กและบอสตันขึ้นที่บ้าน ของกงสุลใหญ่ฯ โดยให้คนไทยโทรสอบถามหรือขอความช่วยเหลือที่โทรศัพท์หมายเลข + 1 718 358 3876 นอกจากนั้น ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพายุและการติดต่อขอความช่วยเหลือทาง Twitter เป็นระยะๆ

       5. คาดว่าระบบการคมนาคมขนส่งและสนามบินน่าจะเปิดดำเนินการเป็นปกติในวันจันทร์ ที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่งและเป็นระยะๆ ด้วย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2554




สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญจัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2554

       เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญพร้อมด้วยชุมชนไทยในกัมพูชา จัดงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2554 ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยได้กราบทูลเชิญสมเด็จพระอัคคมหาสังฆราช เทพ วงศ์ และพระภิกษุสงฆ์รวม 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถวายสังฆทานรวมทั้งถวายภัตตาหารเพลแก่พระภิกษุสงฆ์เพื่อถวายเป็นพระราช กุศล จากนั้น ข้าราชการฯและชุมชนไทยพร้อมใจกันถวายพระพร และรับประทานอาหารร่วมกัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบออกเยี่ยมพบปะและสอบถามสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนคนไทยในรัฐกัว





 
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบออกเยี่ยมพบปะและสอบถามสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนคนไทยในรัฐกัว

            เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2554 นายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ไปเยี่ยมพบปะและสอบถามสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนคนไทยที่รัฐกัว ซึ่งเป็นรัฐที่เล็กที่สุดของอินเดียและเป็นรัฐที่ได้รับรายได้หลักจากการ ท่องเที่ยว ชาวไทยในรัฐกัวมีอยู่ประมาณ 60 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองปานาจีและเมืองมาเกา โดยประกอบอาชีพเป็นพนักงานนวดสปา พนักงานร้านเสริมสวย และพ่อครัว/พนักงานที่โรงแรม Taj Holiday Village และโรงแรม Holiday Inn

            กสญ.ฯ และคณะได้พบปะกับนายกมล สินสุวงศ์วัฒน์ ผู้จัดการโรงงานประกอบเตียงนอนทำจากกากมะพร้าวซึ่งเป็นบริษัทของนาย Melwyn Camara นัก ธุรกิจชาวอินเดีย นายกมลฯ เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนไทยที่รัฐกัว และได้เปิดบ้านพักของตนซึ่งอยู่ชั้นบนของโรงงานเป็นสถานที่เพื่อให้ สกญ.ฯ พบปะกับชาวไทย ในโอกาสดังกล่าว กสญ.ฯ ได้กล่าวเปิดงาน โดยได้แสดงความยินดีที่ได้เดินทางมาพบปะคนไทย เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่และสอบถามปัญหาที่คนไทยประสบในการอาศัยอยู่ที่รัฐ กัว ซึ่งการดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยเป็นภารกิจที่ สกญ.ฯ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากนี้ กสญ.ฯ ขอให้คนไทยใช้โอกาสดังกล่าวในการซักถามเกี่ยวกับปัญหาที่ประสบอยู่ตลอดจนขอ ให้ใช้บริการด้านกงสุลของ สกญ.ฯ ด้วย

            กสญ.ฯ ได้รับแจ้งจากชุมชนคนไทย ว่า คนไทยส่วนใหญ่ในรัฐกัวประกอบอาชีพพนักงานสปา และพนักงานเสริมสวย ปัญหาหลักที่คนไทยประสบเกี่ยวเนื่องกับกฎระเบียบของอินเดียในการตรวจลงตรา ประเภททำงาน (employment visa) ซึ่งทำให้พนักงานคนไทยประสบปัญหาในการขอรับการตรวจลงตราประเภททำงานจากทางการอินเดีย

            ใน โอกาสดังกล่าว จนท. สกญ.ฯ ได้ตอบข้อซักถาม อาทิ การจัดทำสูติบัตร การจดทะเบียนสมรส การมอบอำนาจ เป็นต้น และได้ให้บริการด้านกงสุลแก่ชาวไทย รวมทั้ง กสญ.ฯ ได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คนไทย  ทั้งนี้ ชุมชนคนไทยได้แสดงความยินดีที่ กสญ.ฯ และคณะได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนที่รัฐกัว 

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม







สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม

            สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครโฮจิมินห์ ร่วมกับสหพันธ์องค์กรมิตรภาพ นครโฮจิมินห์ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 7 สิงหาคม 2554 ณ ศูนย์วัฒนธรรมเยาวชน นครโฮจิมินห์

            ภาย ในงานได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ประกอบด้วย นิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและ เวียดนาม นิทรรศการภาพถ่ายการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมไทย การสาธิตและประชาสัมพันธ์อาหารไทย การแข่งขันตอบปัญหาเกี่ยวกับประเทศไทย การแสดงนาฏศิลป์ไทย และการขับร้องเพลงไทย

            การจัดกิจกรรมสำคัญในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการเฉลิมฉลองครบรอบ 35 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในปีนี้ ที่จะช่วยส่งเสริมและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามให้มีความแน่น แฟ้นมากขึ้นแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้แก่เยาวชนเวียดนามซึ่งจะเข้า ร่วมกิจกรรมครั้งนี้กว่า 400 คน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น

วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นโยบายการจ้างงานต่างชาติของเกาหลีใต้


นโยบายการจ้างงานต่างชาติของเกาหลีใต้

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่า ตามที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ประเทศผู้ส่งออกแรงงานต่างชาติภายใต้ระบบอนุญาตจ้างงาน(Employment Permit System-EPS) อีก 14 ประเทศโดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียนคือฟิลิปปินส์และเวียดนามได้ร่วมผลักดันรัฐบาลเกาหลีใต้ให้พิจารณาทบทวนระยะเวลาการจ้างงานภายใต้ระบบ EPS ซึ่งกำหนดให้แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไปทำงานได้คราวละไม่เกิน 3 ปี และนายจ้างสามารถต่อสัญญาจ้างได้อีก 1 ครั้ง ไม่เกิน 2 ปี ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้แรงงานที่ทำงานครบ 5 ปีแล้ว ต้องกลายเป็นแรงงานลักลอบทำงานผิดกฎหมาย นั้น

กระทรวงการจ้างงานและแรงงานเกาหลีใต้ยืนยันท่าทีเกี่ยวกับการจ้างงานระบบภายใต้ EPS ว่ากระทรวงการจ้างงานจะไม่พิจารณาเกี่ยวกับการต่อระยะเวลาในการทำงานเพิ่ม เพราะได้กำหนดระยะเวลาในการทำงานโดยพิจารณาให้สอดคล้องตามกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายสัญชาติ กฎหมายควบคุมการเข้าเมือง อย่างไรก็ตามกระทรวงจ้างงานฯ กำหลังพิจารณาปรับปรุงขั้นตอน re-entry (สำหรับแรงงานที่ยังอายุไม่ถึง 40 ปี ที่ครบสัญญาจ้างและประสงค์จะเดินทางกลับเข้าไปทำงานที่เกากลีใต้อีกครั้งหนึ่ง)ให้ง่ายขึ้น เช่น ยกเว้นการสอบภาษาเกาหลี ฯลฯ  

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

นักเรียนชั้นประถมศึกษาเยี่ยมชมทำเนียบเอกอัครราชทูต


















นักเรียนชั้นประถมศึกษาเยี่ยมชมทำเนียบเอกอัครราชทูต

            เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 นางอุมาพร ฟูตระกูล ภริยาเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตได้บรรยายเกี่ยวกับประเทศไทยและ วัฒนธรรมไทยให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาจำนวน 12 คน และผู้ปกครอง
           การเยี่ยมชมทำเนียบเอกอัครราชทูตครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวัฒนธรรมต่างชาติสำหรับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน "The 3rd Children's International Speech Contest" ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 28 สิงหาคม 2554 ณ เอบิสึ การ์เดนเพลส

ที่มา: ภาพและเรื่องจากเว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว http://www.thaiembassy.jp/rte3/index.php?option=com_content&view=article&id=1167&catid=41&Itemid=93