วันศุกร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2553

กรมการกงสุลจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพสตรีอีสาน

นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล

กรมการกงสุลจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพสตรีอีสาน

นางสาวมุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2553 ว่า ในปีงบประมาณ 2553 กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศมีแผนที่จะจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพสตรีอีสานที่สมรสกับชาวต่างชาติก่อนการย้ายถิ่นไปต่างประเทศ (กรณีหญิงไทยย้ายถิ่นฐานไปประเทศเยอรมนี) โดยกำหนดจะจัดทำโครงการในระหว่างช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2553 ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น

วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการดังกล่าวเพื่อพัฒนารูปแบบการเสริมสร้างศักยภาพสตรีอีสานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการย้ายถิ่นไปต่างประเทศ กรณีประเทศเยอรมนี โดยโครงการจะเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มทักษะด้านภาษาเยอรมันตามหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันเกอร์เธให้สามารถสื่อสารได้ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายขั้นพื้นฐาน วัฒนธรรม สิทธิต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อสมรสไปอยู่ต่างประเทศ การเข้าถึงช่องทางการช่วยเหลือ ความสามารถในการปรับตัวและสร้างสัมพันธภาพกับบุคคล และความสามารถในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อย้ายถิ่นไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ

กลุ่มเป้าหมายของโครงการเน้นเฉพาะสตรีที่มีถิ่นพำนักอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีความประสงวค์จะย้ายถิ่นตามสามีชาวเยอรมันไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนี โดยในรุ่นนี้จำกัดจำนวนผู้เข้าโครงการไว้เพียง 30 คน

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสมัครได้โดยตรงที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ ผู้อำนวยการโครงการ ที่ กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ 043- 202861 โทรสาร 043-203050 Email: dusaya@yahoo.com

รองอธิบดีกรมการกงสุลเปิดเผยว่าโครงการนี้หน่วยงานรับผิดชอบหลักได้แก่กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีอีก 5 หน่วยงานได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ เครือข่ายหญิงไทยในเยอรมนี สถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย และสถาบันเกอร์เธ ประจำประเทศไทย

สำหรับวิชาที่จะเปิดให้การฝึกอบรมประกอบด้วย ทักษะภาษาเยอรมันตามหลักสูตรการเรียนการสอนของสถาบันเกอร์เธ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมเยอรมัน ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายครอบครัวเยอรมัน การปรับตัวและการสร้างสัมพันธภาพกับสมาชิกครอบครัวสามี การดูแลสุขภาพตนเองความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสถานะวีซ่าแต่ละประเภทและการเข้าถึงช่องทางช่วยเหลือเมื่ออยู่ในต่างประเทศ ทักษะการใช้อินเตอร์เนต ทักษะเพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการประกอบอาชีพเสริม (การดูแลผู้สูงอายุและการเลี้ยงดูเด็กเล็ก การทำอาหาร/ของว่างไทย การนวดแผนไทย) การบริหารจัดการเงิน

วันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552

แล้วก็ถึงเวลาพักครึ่งเวลาเพื่อดื่มกาแฟและหารือนอกรอบต่อ
ผู้ร่วมการประชุมท่านนี้เป็นนายตำรวจที่คร่ำหวอดในวงการค้ามนุษย์มานาน ทุกคนอยากฟังท่านเวลาที่ท่านจับไมโครโฟน
ก่อนนำเสนอต้องหารือกันให้แน่ใจก่อน
ผู้เข้าร่วมการประชุมเคร่งเครียดกับการนำเสนอเอกสารและข้อมูลที่จัดเตรียมมาโดยขอให้เจ้าหน้าที่ของฝ่ายเลขานุการช่วยอำนวยความสะดวก
ประธานการประชุมกำลังเคร่งเครียดกับข้อวิจารณ์ร่างรายงานและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมการประชุม โดยฝ่ายเลขานุการพิมพ์ข้อเสนอต่างๆขึ้นบนจอด้านหน้าประธาน

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552
กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์เป็นเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำรายงานสถานการณ์และการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2552 ที่โรงแรมภูใจใส รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัด เชียงราย ระหว่างวันที่ 20 – 22 เมษายน 2553 โดยเชิญผู้แทนจากส่วนราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

รายงานสถานการและการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นข้อกำหนดของกฎหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ต้องจัดพิมพ์เสนอคณะรัฐมนตรีเป็นประจำทุกปี และรายงานประจำปีพ.ศ. 2552 จะเป็นรายงานฉบับแรกที่จัดทำขึ้นภายหลังจากที่มีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างเป็นทางการ

กระทรวงการต่างประเทศเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและช่วยเหลือคนไทยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในต่างแดน พร้อมทั้งมีการรายงานเฝ้าระวังการใช้แรงงานไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

กระทรวงการต่างประเทศช่วยเหลือส่งกลับแรงงานไทยที่ตกค้างในลิเบีย

เมื่อออกพ้นด่านตรวจคนเข้าเมืองมาแล้ว คณะแรงงานไทยพบกับท่านรองอธิบดีกรมการจัดหางานสุเมธ มโหสถ ซึ่งกล่าวต้อนรับแรงงานไทย และสอบถามปัญหาต่างๆของคนงาน และให้คำแนะนำการติดต่อกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเพื่อติดตามเงินค่าจ้างค้างชำระจากนายจ้าง และสมัครไปทำงานต่างประเทศต่อไป ในโอกาสเดียวกันนี้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์ผู้แทนคณะแรงงานไทยเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ในระหว่างที่ตกค้างอยู่ในประเทศลิเบีย และการช่วยเหลือของทางการ ซึ่งผู้แทนแรงงานไทยกล่าวขอบคุณสถานทูตไทยที่ให้การช่วยเหลือคณะเป็นอย่างดีจนสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้โดยปลอดภัย
เสร็จแล้วกรอกแบบฟอร์มเข้าเมืองขาเข้าเพื่อมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ใครมีข้อสงสัยสอบถามได้
เช็กชื่อแล้ว เชิญให้คณะนั่งลงเพื่อรับแจกแบบฟอร์มรายงานตัวให้แก่แรงงานไทยทุกคนและกรอกพร้อมกันตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
เมื่อแรงงานไทยเดินทางมาถึงเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจำนวนและรายชื่อของทุกคนในบริเวณสนามบิน

กระทรวงการต่างประเทศช่วยเหลือส่งกลับแรงงานไทยที่ตกค้างในลิเบีย

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 นายสุวิทย์ สุทธิจิระพันธ์ และนายวิทิต เภาวัฒนาสุข เจ้าหน้าที่การทูตชำนาญการ กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมพร้อมด้วยสื่อมวลชนไปรับแรงงานไทยจำนวน 15 คนที่เดินทางกลับจากประเทศลิเบีย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

แรงงานไทยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานไทยจำนวน 200 คน ที่ตกค้างอยู่ในประเทศลิเบียภายหลังจากที่เดินทางไปทำงานในประเทศลิเบียโดยผ่านนายหน้าจัดหางานอย่างถูกกฎหมาย แต่เมื่อทำงานครบสัญญาจ้าง 2 ปี นายจ้างล้มละลายไม่มีเงินเสียภาษีแก่ทางการลิเบีย ทางการลิเบียจึงไม่สามารถออกวีซ่าให้แรงงานไทยกลุ่มดังกล่าวเพื่อเดินทางกลับประเทศไทยได้

สถานทูตไทยประจำประเทศลิเบียได้เจรจากับทางการลิเบียเพื่อขอให้ออกวีซ่าให้แรงงานไทยเดินทางกลับประเทศ และพร้อมกับเจรจากับนายจ้างเพื่อขอให้รับผิดชอบค่าจ้างที่คงค้างแรงงานไทยและจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินส่งคนงานทั้งหมดเดินทางกลับประเทศ ไทยตามสัญญา ปรากฏว่าฝ่ายนายจ้างขอให้ทางการไทยออกเงินซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินส่งแรงงานไทยกลับประเทศไปก่อนแล้วจะชดใช้เงินคืนให้ภายหลัง

กระทรวงการต่างประเทศจึงประสานกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเพื่อใช้เงินกองทุนช่วยเหลือคนหางานในต่างประเทศ ซึ่งในที่สุดกระทรวงแรงงานฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนฯ เพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยดังกล่าว โดยขอให้กระทรวงการต่างประเทศใช้เงินราชการทดรองจ่ายเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยไปก่อนเป็นเงิน 7 ล้านบาทแล้วกระทรวงแรงงานฯ จะจ่ายเงินจากกองทุนคืนให้ภายหลัง

ขณะนี้แรงงานไทยกลุ่มนี้เดินทางกลับประเทศไทยเกือบหมดแล้ว คงเหลืออยู่ในประเทศลิเบียเพียง 6 คน ซึ่งสมัครใจอยู่ต่อเพื่อทำงานกับนายจ้างใหม่

สถานกักกันไทเปจัดงานเทศกาลวันสงกรานต์ให้ผู้ถูกกักกันชาวไทย

ผู้แทนสำนักงานการค้าฯ กล่าวขอบคุณประธานแทนผู้ถูกกักกันไทย
แล้วก็รดน้ำกันนน ขนมาเป็นโอ่งจริงๆ
ฟ้อนเซิ้งที่เตรียมมาแสดงให้ประธานและผู้เข้าร่วมงานชม
กำลังรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และคนที่เคารพรัก
ท่านอธิบดีเซี่ย หลี่ คุง (ขวามือ ผูกเน็กไท) ประธานในงานและคุณโสรัช สุขถาวร ผู้แทนสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ชุดไทยซ้ายมือ) กำลังมอบของขวัญให้แก่ผู้ถูกกักกัน

สถานกักกันไทเปจัดงานเทศกาลวันสงกรานต์ให้ผู้ถูกกักกันชาวไทย


สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2553 สถานกักกันไทเปได้จัดงานเทศกาลวันสงกรานต์ให้แก่ผู้ถูกกักกันชาวไทย โดยมีนายเซี่ย หลี่ คุง อธิบดีสำนักตรวจคนเข้าเมืองเป็นประธานในงานดังกล่าว และได้เชิญผู้แทนสำนักงานการค้าฯ เข้าร่วมงานเทศกาลด้วย

ประธานกล่าวเปิดงานว่า ทางการไต้หวันให้ความสำคัญในการดูแลผู้ถูกกักกันโดยเฉพาะในด้านของจิตใจและเห็นความสำคัญของเทศกาลวันสงกรานต์ซึ่งเป็นปีใหม่ของคนตไทย จึงได้จัดงานขึ้นสำหรับผู้ถูกกักกันชาวไทย ในการนี้ นายโสรัช สุขถาวร เลขานุการเอกปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายคุ้มครองและดูแลคนไทยซึ่งเป็นผู้แทนสำนักงานการค้าฯ ได้กล่าวขอบคุณทางการไต้หวันแทนผู้ถูกกักกันชาวไทยทุกคน หลังจากนั้นตัวแทนผู้ถูกกักกันทุกคนได้รดน้ำดำหัวประธานและแขกรับเชิญผู้มาร่วมงาน และมีการแสดงของผู้ถูกกักกันหญิงรวมทั้งการเล่นน้ำสวงกรานต์ของผู้ถูกกักกันทุกคน

ผู้ถูกกักกันชาวไทยทุกคนมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสที่ได้มีโอกาสเล่นนน้ำในวันสงกรานต์ซึ่งช่วยผ่อนคลายความคิดถึงบ้าน ในโอกาสดังกล่าวสำนักงานการค้าฯ ได้นำสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันไปมอบเป็นของขวัญให้แก่ผู้ถูกกักกันชาวไทยทั้งชายและหญิงทุกคน ทั้งนี้สำนักงานการค้าฯ มีกำหนดจะไปเยี่ยมผู้ถูกกักกันชาวไทยในสถานกักกันไทเปตามแผนงานประจำปีของสำนักงานการค้าฯ อีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน 2553

วันพุธที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553

การช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างในยุโรปกรณีประเทศต่างๆปิดน่านฟ้า

การช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างในยุโรปกรณีประเทศต่างๆปิดน่านฟ้า

การระเบิดของภูเขาไฟ Eyjafjallajokull ในประเทศไอซ์แลนด์เมื่อวันที่ เมษายน 2553 ส่งผลให้เถ้าถ่านภูเขาไฟที่พ่นออกมาถูกกระแสลมพัดกระจายครอบคลุมน่านฟ้าทั่วทวีปยุโรป ประเทศต่างๆจึงประกาศปิดน่านฟ้ายุโรปเป็นเวลานานถึง 7 วันสายการบินต่างๆทั่วโลกจึงต้องยกเลิกเที่ยวบินจำนวนมาก ผู้โดยสารที่มีกำหนดเดินทางออกหรือเข้ายุโรปในช่วงเวลาดังกล่าวจึงติดค้างอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลกโดยไม่มีกำหนดว่าจะสามารถเดินทางได้เมื่อใด สร้างความโกลาหลไปทั่วทุกมุมโลก

เหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อผลกระทบต่อคนไทยจำนวนหนึ่งที่เดินทางไปท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ในแถบยุโรป ทำให้คนไทยตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ตามกำหนดเวลาเดิม กระทรวงการต่างประเทศจึงได้สั่งการให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่คนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งความช่วยเหลือที่สถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ดำเนินการเป็นไปในรูปแบบต่างๆ เช่น การจัดหาที่พักชั่วคราว การแจกจ่ายอาหารสำหรับผู้ตกค้าง ให้ยืมเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ตกทุกข์จากเหตุการณ์ดังกล่าว อำนวยความสะดวกในการจองตั๋วเครื่องบิน หรือแม้กระทั่งการขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในออกตรวจลงตราให้กับคนไทยที่ติดค้างเป็นกรณีพิเศษ เป็นต้น

ในการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มคนไทยที่ติดค้างอยู่ตามประเทศต่างๆนั้น โดยที่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุฉุกเฉินไม่คาดคิดล่วงหน้ามาก่อน ดังนั้นสถานทูตและสถานกงสุลไทยจึงพยายามดำเนินการตามที่ทรัพยากรของสำนักงานจะอำนวย โดยสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่งทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่จัดตั้งเป็นศูนย์เฉพาะกิจรับโทรศัพท์ร้องขอความช่วยเหลือของคนไทยซึ่งส่วนมากเป็นนักท่อเที่ยวที่เดินทางไปพักผ่อนในช่วงหยุดยาวระหว่างสงกรานต์ โดยคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ แม้ว่าจะมีหัวหน้าทัวร์ให้การดูแล แต่ในสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวจากทุกแห่งทั่วโลกที่เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในยุโรปประสบปัญหาไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศได้ตามกำหนดการพร้อมกัน ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับแผนและอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกทัวร์ได้ ในในจุดนี้เองที่สถานทูต/สถานกงสุลใหญ่สามารถเข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยให้ข้อสนเทศและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในยามฉุกเฉิน

สถานทูตหลายแห่งในยุโรป อาทิ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลีได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำที่สนามบินเพื่อคอยสอบถามกลุ่มคนไทยที่ติดค้างอยู่ที่สนามบินว่ามีปัญหาอะไร ต้องการความช่วยเหลืออะไร และสถานทูตจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง สถานทูตไทยที่อิตาลีได้นำอาหารติดไปด้วยเมื่อเจ้าหน้าที่จะไปสนามบิน และอาหารที่นำติดตัวไปเป็นประโยชน์ช่วยให้คนไทยที่ติดค้างอยู่ที่สนามบินได้รู้สึกผ่อนคลาย และมีความรู้สึกอบอุ่นใจที่มีหน่วยงานของรัฐไปติดตามดูแล

การให้ความช่วยเหลือลักษณะดังกล่าวของสถานทูตเป็นการนำความช่วยเหลือไปมอบให้แก่คนไทยที่เดือดร้อน ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุก ไม่รอให้ผู้เดือดร้อนต้องเดินทางไปขอรับความช่วยเหลือที่สำนักงาน เพราะในห้วงเวลาดังกล่าว เป็นการลำบากสำหรับคนไทยที่เดินทางเป็นคณะจะสามารถเดินทางไปที่ต่างๆได้โดยสะดวก

นอกจากนั้นในการช่วยเหลือคนไทยที่ติดค้างในยุโรปครั้งนี้มีบางสถานทูตที่สามารถประสานนำชุมชนไทยเข้ามาช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อน อาทิ สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งภายหลังเกิดปัญหาการปิดน่านฟ้าในวันที่ 17 เมษายน 2553 สถานทูตได้ส่งเจ้าหน้าที่กงสุลเข้าไปประสานกับวัดพุทธาราม (เมืองวาลแวกซ์) วัดพุทธวิหาร (เมืองลานสเมียร์) และมูลนิธิไทย กรุงอัมสเตอร์ดัม และตกลงร่วมกันจัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือชั่วคราว ณ วัดพุทธวิหาร โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นจุดรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยาน Schiphol และเป็นจุดที่พักให้แก่ผู้ที่ไม่มีที่พักในย่านกรุงอัมสเตอร์ดัมและเมืองใกล้เคียง โดยมีกรรมการวัดฯและกรรมการมูลนิธิไทยคอยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าหน้าที่กงสุล และประสานขอความร่วมมือจากคนไทยในกรุงอัมสเตอร์ดัมที่พร้อมจะให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่คนไทยที่ยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้

ศูนย์ประสานงานดังกล่าวนี้เป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับชุมชนไทยในท้องถิ่น เพื่อนำศักยภาพและความมีน้ำใจแบบไทยๆเข้ามารองรับปัญหาฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือคนไทยผู้เดือดร้อนอย่างทั่วถึง และผลจากการที่ดำเนินงานในลักษณะของเครือข่ายดังกล่าวคนไทยที่เข้าไปรับบริการของศูนย์ดังกล่าวต่างรู้สึกขอบคุณน้ำใจของคนไทยและขอบคุณท่านทูตที่ให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม

การที่ชุมชนไทยในเนเธอร์แลนด์สามารถดำเนินการช่วยเหลือโดยช่วยกันดูแลว่ามีคนไทยตกค้างอยู่เท่าไหร่ เมืองใดบ้าง และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้กับคนไทยผู้ตกค้างให้ได้มีที่พักอาศัยชั่วคราว จัดหาอาหารไปเลี้ยงคณะคนไทย ถือเป็นการให้ความช่วยเหลือที่เปี่ยมด้วยน้ำใจของชุมชนไทยในเนเธอร์แลนด์ และการทำงานเชิงรุกไม่รอให้คนไทยเข้ามาขอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวช่วยให้คนไทยที่ติดค้างได้รับความช่วยเหลือตามที่ต้องการ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานดังกล่าวจึงเป็นการช่วยเหลือที่เข้าถึงผู้ได้รับความเดือดร้อน

การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของชุมชนไทยในเนเธอร์แลนด์ดังกล่าวไทยทำให้เชื่อได้ว่าในอนาคตไม่ว่าคนไทยจะประสบปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ก็จะได้รับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำคัญคือคนไทยในเนเธอร์แลนด์ที่พยายามช่วยเหลือคณะคนไทยที่ติดค้างอยู่ที่สนามบินประเทศเนเธอร์แลนด์ทำงานดังกล่าวในขณะที่ตนเองก็อาจจะวิตกอยู่ด้วยเช่นกันว่าภาวะเถ้าภูเขาไฟกระจายครอบคลุมทวีปยุโรปจะบรรเทาเบาบางลงเมื่อใด และจะส่งผลกระทบอะไรตามมาบ้าง แต่ความวิตกดังกล่าวไม่ได้กีดกั้นธารน้ำใจของผู้คน นับว่าเป็นจิตใจอาสาสมัครที่น่านับถือยิ่ง

วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

ไม่มีคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน

ไม่มีคนไทยบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล แถลงเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศไต้หวันเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 เวลา 10.59 น. สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ตรวจสอบกับสำนักงานแรงงานประจำกรุงไทเป และสำนักงานแรงงานประจำเมืองเกาสงแล้ว ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผลกระทบใดๆ ต่อคนไทยในเขตพื้นที่ที่สำนักงานแรงงานไทยตั้งอยู่

แผ่นดินไหวดังกล่าวมีจุดศูนย์กลางห่างจากเกาะหลานหยวี่ (Lanyu) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะไต้หวัน ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 190.4 กิโลเมตร ระดับความลึก 20 กิโลเมตร ความแรงของการสั่นสะเทือนวัดได้ 6.6 ริกเตอร์

ปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในไต้หวันประมาณ 67,600 คน

ไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวในรัฐออสเตรเลียตะวันตก

ไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บจากแผ่นดินไหวในรัฐออสเตรเลียตะวันตก


นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2553 ว่าตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวที่เมืองคาลกูรลี รัฐออสเตรเลียตะวันตกเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2553 เวลาประมาณ 08.17 น. แรงสั่นสะเทือนวัดได้ 5.0 ริกเตอร์นั้นสถานทูตไทยในออสเตรเลียได้ตรวจสอบกับสมาคมไทยในรัฐออสเตรเลียตะวันตกแล้วไม่ปรากฏว่ามีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาระบุว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวนับว่ารุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ และสามารถรู้สึกแรงสั่นสะเทือนได้ไกลหลายร้อยกิโลเมตรจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในครั้งนี้ส่งผลให้โรงเรียน ที่พักอาศัย โรงแรม และอาคารสำนักงานหลายร้อยแห่งบริเวณเมืองคาลกูร์ลีได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้การประกอบการของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในบริเวณนั้นทั้งหมดต้องถูกระงับชั่วคราว ทางการออสเตรเลียตะวันตกแถลงว่าไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ มีแต่ผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยเพียง 2 คน

อธิบดีกรมการกงสุลแถลงด้วยว่ากระทรวงการต่างประเทศถือเป็นภารกิจที่จะต้องติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆทั่วโลกเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาให้บริการกงสุลสัญจรที่เมืองไมอามี

สถานทูตไทยในสหรัฐอเมริกาให้บริการกงสุลสัญจรที่เมืองไมอามี

นายดอน ปรมัตวินัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาแถลงว่า เมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 3-4 เมษายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตันได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปให้บริการแก่คนไทยที่วัดพุทธรังษี เมืองไมอามี มลรัฐฟรอริดา ซึ่งมีคนไทยพำนักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไปรับบริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ รับรองเอกสาร และลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกอาณาจักรประมาณ 400 คน

การให้บริการครั้งนี้สถานทูตได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือเป็นอย่างมากจากสำนักงานส่งเสริมการค้าไทย ณ เมืองไมอามี คณะสงฆ์ ชุมชนไทย และสมาคมไทยในพื้นที่ในการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนการให้บริการโดยการจัดหาอาสาสมัครมาช่วยงาน ซึ่งทำให้การให้บริการในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงได้เป็นอย่างดี

การบริการกงสุลสัญจรที่สถานทูตจัดขึ้นมีผลตอบรับที่ดี ได้รับความชื่นชมจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รู้จักวัดและผู้นำชุมชนท้องถิ่น ซึ่งทุกคนชื่นชมโครงการกงสุลสัญจรเป็นอย่างมาก และขอให้สถานทูตไปให้บริการกงสุลสัญจรที่เมืองไมอามีทุกปี

สถานทูตไทยในสิงคโปร์จัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ข้อเท็จจริงการใช้ชีวิตและการทำงานของคนไทยในสิงคโปร์

สถานทูตไทยในสิงคโปร์จัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ข้อเท็จจริงการใช้ชีวิตและการทำงานของคนไทยในสิงคโปร์

นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสิงคโปร์ แถลงว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์ร่วมกับสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานและแม่บ้านไทยในสิงคโปร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2546 ได้จัดพิมพ์หนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการใช้ชีวิตและการทำงานของคนไทยกลุ่มต่างๆในสิงคโปร์ จำนวน 2 เรื่องคือ “คนไกลบ้าน: คำให้การของคนไทยในประเทศสิงคโปร์”จำนวน 5,000 เล่ม และ “โรคไหลตายกับสุขภาพแรงงานไทยในสิงคโปร์” จำนวน 2,000 เล่ม

“คนไกลบ้าน: คำให้การของคนไทยในประเทศสิงคโปร์” เป็นหนังสือประเภทเรื่องสั้นรวบรวมเรื่องเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์จริงการใช้ชีวิตและการทำงานในสิงคโปร์ที่เขียนขึ้นโดยแรงงาน หญิงบริการ และหญิงไทยที่สมรสกับชาวสิงคโปร์/ชาวต่างชาติ เนื้อหาแบ่งออกเป็นสี่ตอนคือ 1) ชีวิตและชุมชนแรงงานไทยในสิงคโปร์ 2) ชีวิตต้องสู้ของสาวไทย 3) บันทึกเหงื่อของคนขายแรง 4) บันทึกแม่บ้านไทย รวมทั้งสิ้น ๒๒ บท มีผู้เขียน ๒๑ คน

สำหรับหนังสือ “โรคไหลตายกับสุขภาพแรงงานไทยในสิงคโปร์” เป็นรายงานการประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับโรคไหลตายที่สถานทูตจัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2552 เพื่อรวบรวมข้อมูลสุขภาพของแรงงานไทยในสิงคโปร์ด้านสภาพความเป็นอยู่ การดูแลสุจภาพกายและสุขภาพจิต การจัดการตนเองและการดูแลเพื่อนร่วมงานในกรณีเจ็บป่วยหรือมีอุบัติเหตุ โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลจากมุมมองของแรงงาน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับทางการไทยให้ความช่วยเหลือและพัฒนาการดูแลสุขภาพแรงงานไทย และเป็นข้อเสนอแนะ ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานด้านคุ้มครองดูแลแรงงานไทยในต่างประเทศ

วัตถุประสงค์ในการจัดพิมพ์หนังสือทั้งสองเล่มนี้ก็เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์ชีวิตของแรงงานและแม่บ้านไทย ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของชุมชนคนไทยในสิงคโปร์ ให้คนไทยในสังคมทั่วไปได้รับทราบว่า ชีวิตการทำงานในต่างประเทศไม่ได้มีแต่ความสะดวกสบาย หากยังต้องเผชิญหน้ากับการทำงานกับนายจ้างและเพื่อนร่วมงานต่างชาติ การแก่งแย่งแข่งขัน การเอารัดเอาเปรียบค่าจ้างแรงงาน การที่ครอบครัวของตนเองต้องแตกแยกซึ่งเป็นผลจากการที่ใช้ชีวิตห่างบ้านและครอบครัวเป็นเวลานาน รวมทั้งปัญหาสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพเช่น โรคไหลตาย โดยให้เรื่องราวต่างๆเป็นเครื่องเตือนสติกับคนไทยที่คิดจะไปทำงานที่สิงคโปร์หรือในต่างประเทศได้ตระหนักและรับรู้ถึงข้อเท็จจริงและปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

การจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าวเป็นความคิดริเริ่มของสมาคมเพื่อนแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่ต้องการพัฒนาสมาคมและสมาชิกให้มีการดำเนินงานที่เป็นระบบ และมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม รวมทั้งแสดงออกให้สังคมไทยรับทราบว่า แรงงานและแม่บ้านไทยในสิงคโปร์มีศักยภาพในตนเองและไม่ได้เป็นภาระต่อสังคมแม้จะมีฐานะยากจนและด้อยการศึกษา ซึ่งสถานทูตเห็นพ้องกับแนวทางดังกล่าวและเห็นว่าการให้การสนับสนุนจะเป็นการเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยให้สมาคมฯ และแรงงานไทยสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีคุณค่าและมีตัวตนในสังคมสิงคโปร์ สอดคล้องกับนโยบานเสริมสร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็ง

การจัดพิมพ์หนังสือทั้งสองเล่มดังกล่าวได้รับความร่วมมือและช่วยเหลืออย่างดียิ่งจาก ดร. พัฒนา กิติอาษา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ที่รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการหนังสือคนไกลบ้านฯ และจัดทำรายงานเรื่องโรคไหลตายฯ ดร.พัฒนาฯ ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาสมาคมฯ และทำงานร่วมกับสถานทูตและสำนักงานแรงงานไทยประจำสิงคโปร์ มาตั้งแต่ปี 2547 ในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยและคนไทยตกทุกข์ในสิงคโปร์ทั้งที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการค้าประเวณีข้ามชาติ ท่านผู้นี้เป็นบุคคลที่รู้จักและยอมรับในหมู่คนไทยทั้งในกลุ่มแรงงาน แม่บ้าน และนักวิชาการ

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับหนังสือได้โดยตรงที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ โดยส่งจดหมายพร้อมแสตมป์ 5 บาท จ่าหน้าซองตามที่อยู่ข้างล่างนี้ โดยระบุไว้ที่มุมซองว่า (ขอหนังสือ)

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารกรมการกงสุล
เลขที่ 123 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ
แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทร. 0-2575-1047 ถึง 51 (สายตรง)
โทร. 0-2981-7171 ถึง 99 (ต่อหมายเลขภายใน)
โทรสาร. 0-2575-1052
E-mail : consular02@mfa.go.th

วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร

ท่านเอกอัครราชทูตวีรชัย พลาศรัย กล่าวปราศรัย ทักทายครอบครัวคนไทยที่ Hubertushuis เมืองเกลีน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างนำคณะออกเยี่ยมเยียนชุมชนคนไทย ตามโครงการกงสุลสัญจร เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553
ครอบครัวคนไทยที่เมืองเกลีนเดินทางมารับบริการกงสุลสัญจรของสถานทูต ณ กรุงเฮก
กำลังตั้งใจฟังคำปราศรัยของท่านทูตวีรชัยฯ
คนที่รอรับบริการจับกลุ่มสนทนา งานกงสุลสัญจรเป็นโอกาสที่ชุมชนไทยได้สังสรรค์สนทนา
ท่านทูตวีรชัยฯ เป็นกันเองกับทุกคน
ผู้มาร่วมงานกงสุลสัญจรที่วัดพุทธาราม เมืองวอลวิคประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 กำลังสนใจกับการกรอกแบบฟอร์ม
งานนี้ปลื้ม เพราะคนไปก็ตั้งใจให้บริการ ผู้รับบริการก็ยิ้มแย้มแจ่มใส พอใจที่หน่วยงานของรัฐมาให้บริการถึงที่ ไม่ต้องเสียเวลาไป
กิจกรรมกงสุลสัญจร มีจุดประสงค์ในการที่จะออกไปเยี่ยมเยียนชุมชนไทยที่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งสถานทูต เพื่อสอบถามสารทุกข์สุกดิบ พร้อมกับประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาล และเพื่อนำบริการของรัฐไปบริการให้ประชาชนถึงที่พำนักอาศัย


สถานทูตไทยที่ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร
ฯพณฯนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตไทยประจำเนเธอร์แลนด์นำคณะข้าราชการและลูกจ้างประจำสถานเอกอัครราชทูตออกทำกิจกรรมกงสุลสัญจรที่วัดพุทธาราม เมืองวอลวิก เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2553 และที่ Hubertushuis เมืองเกลีน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2553 วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าวก็เพื่อออกไปเยี่ยมเยียนชุมชนไทยที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง โดยนำบริการด้านทะเบียนราษฎร์และหนังสือเดินทางไปให้บริการแก่ชุมชนไทยถึงถิ่นพำนักอาศัย ทำการลงทะเบียนคนไทยที่พำนักอยู่ในท้องถิ่นดังกล่าว และประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลให้ชุมชนไทยทราบ

ปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์จำนวน 14,000 คน มีวัดไทย 2 วัด และมีสมาคมคนไทย 4 สมาคม

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยที่มาเลเซียจัดกิจกรรมให้ความรู้และเพิ่มทักษะในการดำรงชีวิตของหญิงไทยในมาเลเซีย

สถานทูตไทยที่มาเลเซียจัดกิจกรรมให้ความรู้และเพิ่มทักษะในการดำรงชีวิตของหญิงไทยในมาเลเซีย


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียร่วมกับชมรมคนไทยในมาเลเซีย (Thai Club) ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนในมาเลเซียได้จัดกิจกรรมเสวนาประสบการณ์ชีวิตของหญิงไทยที่แต่งงานกับชายมาเลเซีย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 เวลา 10.00-12.30 น. ณ ห้องราชพฤกษ์-บุหงารายา อาคารสำนักงานสถานเอกอัครราชทูต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้และทักษะในการดำรงชีวิตให้แก่คนไทยในมาเลเซียในเชิงมาตรการป้องปราม (preventive measure) ก่อนที่จะเกิดปัญหาต่างๆ

การเสวนาดำเนินการโดยอาจารย์สมหมาย รัตนพิทักษ์นายกชมรมคนไทยในมาเลเซีย และผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตจริงในมาเลเซียทั้งสิ้น ได้แก่ คุณบังอร ลิม-แม่บ้านที่สามีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในเม็ดเลือด ต้องเลี้ยงดูลูกเล็กๆสามคน ไม่มีเงิน ไม่รู้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษามาเลเซีย ความรู้ระดับมัธยมปีที่ 2 คุณมณฑา อ่อนยัง-สามีไปได้เมียใหม่กับมุสลิมจึงต้องอย่าขาดกับคุณมณฑาโดยอัตโนมัติทั้งๆที่มีลูกสาวเล็กๆกำลังน่ารัก 2 คนเพราะคุณมณฑาไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาตามสามี และ ดร.กอบเกื้อ สุวรรณทัต-ติดตามสามีไปประชุม(และเที่ยว)ที่อิตาลี คืนนั้นตอนตี3 ยังคุยกันดีๆ วางแผนหลังเกษียณ พอ 6 โมงเช้าสามีหมดสติ โคม่า และเสียชีวิต 7 วันต่อมา นำศพกลับมาฝังที่มาเลเซียแล้ว จัดการเรื่องมรดกตามกฎหมายครอบครัวมุสลิม

ในการเสวนามีการให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการใช้ชีวิตในมาเลเซีย ข้อกฎหมายอิสลามต่างๆ ตลอดจนสิทธิและความคุ้มครองจากหน่วยงานมาเลเซีย และนวทางดำเนินการเมื่อประสบปัญหาหรือพบผู้ประสบปัญหา

มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังการเสวนาจากบริเวณกรุงกัวลาลัมเปอร์และพื้นที่ใกล้เคียงจำนวนกว่า 40 คน

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามยุทธศาสตร์สร้างเครือข่ายระหว่างภาครัฐกับชุมชนไทยและนักศึกษาไทยในมาเลเซียของสถานเอกอัครราชทูตประจำปีงบประมาณ 2553

แผ่นดินไหวในทะเลฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 เมษายน 2553 คนไทยปลอดภัย


แผ่นดินไหวในทะเลฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 เมษายน 2553 คนไทยปลอดภัย

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า ตามที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวความสั่นสะเทือนวัดได้ 7.8 ริกเตอร์ บริเวณฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเมื่อเช้าวันนี้ (7 เมษายน 2553) เวลาประมาณ 05.15 น. โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ความลึก 46 กิโลเมตร บริเวณเกาะ Simeulue อยู่(ห่างจากกรุงจาการ์ตาประมาณ 1,500 กิโลเมตร) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา แผ่นดินไหวดังกล่าวทำให้ไฟฟ้าในตัวเมืองอาเจะห์ (ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวไปทางตอนเหนือประมาณ 500 กิโลเมตร) ดับลง และหลังเกิดเหตุสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอินโดนีเซียได้ออกคำเตือนภัยจากคลื่นสุนามิบริเวณชายฝั่งทะเลใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหว แต่ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 8.00 น. สำนักงานอุตุนิยมวิทยาได้ยกเลิกประกาศแจ้งเตือนดังกล่าว

โดยที่จุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวห่างจากเมืองเมดาน ซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 30-50 คน สถานทูตไทยประจำอินโดนีเซียจึงได้ประสานกับสถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ ณ เมืองเมดานตรวจสอบผลกระทบต่อคนไทยจากเหตุแผ่นดินไหว และได้รับแจ้งว่าไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าว และอาคารบ้านเรือนในตัวเมืองเมดานไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีสื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะ Simeulue ได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 คนและอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายเล็กน้อย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตและสภาพการณ์บนเกาะดังกล่าวได้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ประเทศอินเดีย คนไทยปลอดภัย


แผ่นดินไหวที่หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ประเทศอินเดีย คนไทยปลอดภัย

นายมนชัย พัชนี ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 ว่า ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวใกล้กับหมู่เกาะอันดามันและนิโคบาร์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2553 ความสั่นสะเทือนวัดได้ 6.4 ริกเตอร์ นั้น สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองกัลกัตตาได้ติดต่อสอบถามทางการอินเดียแล้ว ทราบว่าลูกเรือไทย 3 คนได้แก่ นายทวี อรรถกิจทวี นายสำลี ธนาคุณและนายลิขิต สร้อยสังวาลย์ ซึ่งถูกกักขังอยู่ในหมู่เกาะอันดามันระหว่างเวลาดังกล่าวปลอดภัยดี

สำหรับความคืบหน้าของคดีลูกเรือไทยทั้งสามคน ขณะนี้ทางการอินเดียยังไม่ได้ยื่นข้อกล่าวหาต่อศาล และยังอยู่ในระหว่างการเตรียมการยื่นฟ้องคดี ทั้งนี้นายทวีฯ ได้ว่าจ้างทนายความเพื่อเตรียมสู้คดีไว้ด้วยแล้ว

นายมนชัยฯ แถลงว่าสถานกงสุลใหญ่ฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมลูกเรือไทยทั้งสามคนภายในเดือนเมษายน ศกนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากทางการอินเดีย

วันอังคารที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์จัดกงสุลสัญจรที่เมืองตาอีฟ

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์จัดกงสุลสัญจรที่เมืองตาอีฟ


ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2553 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปที่เมืองตาอีฟ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากใองเจดดาห์ 200 กิโลเมตรโดยมีสำนักงานแรงงานในต่างประเทศร่วมด้วย เมืองตาอีฟ มีคนไทยพำนักอยู่ประมาณ 600 คน ซึ่งระหว่างที่เปิดให้บริการมีคนไทยไปขอรับบริการด้านกงสุล (หนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ ทะเบียนราษฎร์ และการรับรองเอกสารต่างๆ) รวมทั้งขอคำปรึกษาในเรื่องต่างๆเช่น ปัญหาแรงงานและปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายท้องถิ่น เช่นระเบียบปฏิบัติในเรื่องถิ่นที่อยู่ รวมทั้งโครงการเปิดสอนภาษาไทยในเมืองตาอีฟด้วย รวม 76 ราย

ก่อนหน้านี้สถานกงสุลใหญ่ได้จัดกงสุลสัญจรมาแล้ว 2 ครั้งสำหรับปีงบประมาณ 2553 โดยครั้งแรกระหว่างวันที่ 4-5 มีนาคม 2553 และครั้งที่สองระหว่างวันที่ 11 มีนาคม 2553 ทั้งสองครั้งจัดขึ้นที่เมืองมักกะห์ ซึ่งอยู่ห่างจากเจดดาห์ 80 กิโลเมตร และมีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ประมาณ 8,000 คน ผลปรากฏว่าในการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรทั้งสองครั้งมีคนไทยในเมืองมักกะห์ไปขอรับบริการด้านกงสุลและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของท้องถิ่น รวม 230 ราย

ผลจากการที่สำนักงานกงสุลใหญ่ออกไปให้บริการแก่พี่น้องคนไทยในเมืองมักกะห์และเมืองตาอีฟถึงถิ่นพำนักอาศัยดังกล่าว คนไทยในเมืองทั้งสองต่างแสดงความพอใจและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากยังมีคนไทยในเมืองทั้งสองดังกล่าวอีกจำนวนมากที่ไม่มีใบถิ่นที่อยู่ (Iqamah / Resident Permit) ที่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปขอรับบริการที่สำนักงานสถานกงสุลใหญ่เมืองเจดดาห์ได้ คนไทยในเมืองทั้งสองยังได้ขอร้องให้สถานกงสุลใหญ่จัดกงสุลสัญจรในลักษณะนี้อีกในโฮกาสต่อๆไป

โครงการกงสุลสัญจรเป็นกิจกรรมในกรอบยุทธศาสตร์การทูตเพื่อประชาชน มีเป้าหมายที่จะนำบริการของรัฐไปมอบให้แก่ประชาชนถึงประตูบ้าน ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยที่มีถิ่นพำนักห่างไกลจากสำนักงานสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ และอีกส่วนหนึ่งเพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้เยี่ยมเยียนประชาชนที่อยู่ในท้องที่ห่างไกล สอบถามสภาพความเป็นอยู่ และให้ความช่วยเหลือหากคนไทยเหล่านั้นร้องขอ

ปัจจุบันมีสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่อีกหลายแห่งทั่วโลกจัดทำโครงการกงสุลสัญจรในลักษณะนี้ เพื่อขยายการบริการไปสู่ชุมชนไทยในท้องที่ห่างไกลจากเมืองที่สำนักงานตั้งอยู่

ไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บจากกรณีการก่อวินาศกรรมวางระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินกรุงมอสโก

กองดอกไม้ที่มีผู้นำไปวางที่สถานีรถไฟใต้ดินลูเปียงกาไว้อาลัยแก่ผู้โดยสาร 39 คนที่เสียชีวิตจากการก่อวินาศกรรม

ไม่มีคนไทยได้รับบาดเจ็บจากกรณีการก่อวินาศกรรมวางระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินกรุงมอสโก

นายมนชัย พัชนี ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศแถลงเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 ว่าจากกรณีที่มีการก่อวินาศกรรมระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโกสองแห่ง ที่สถานีลูเบียงกาและสถานีปาร์กคูตูรือเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2553 สถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศรัสเซียได้ตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏบุคคลสัญชาติไทยได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นายมนชัยฯ กล่าวว่าในเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 37 คนและบาดเจ็บ 73 คน โดยมีคนเอเชียได้รับบาดเจ็บจำนวน 4 คน เป็นชาวฟิลิปปินส์ 1 คน และเป็นนักศึกษาชาวมาเลเซีย 3 คน เหตุระเบิดสถานีรถไฟใต้ดินในกรุงมอสโกเกิดขึ้นครั้งหลังสุดเมื่อปี 2550 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 41 คน และบาดเจ็บ 250 คน

ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศชี้แจงว่าปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศรัสเซียจำนวน 882 คน ส่วนใหญ่เป็นคู่สมรสติดตามสามีและนักศึกษาที่เดินทางเข้าไปศึกษาอยู่ในประเทศรัสเซีย

กรมการกงสุลเตือนโทษความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้ายาเสพติด

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ


กรมการกงสุลเตือนโทษความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้ายาเสพติด

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงว่า จากการสำรวจจำนวนคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศต่างๆทั่วโลก 100 ประเทศเมื่อเดือนมกราคม 2553 ได้พบว่ามีนักโทษไทยถูกจำขังอยู่ในประเทศต่างๆ จำนวน 1,411 คน โดยประเทศที่มีนักโทษไทยมากที่สุดคือ มาเลเชีย 575 คนไต้หวัน 101 คน รองลงมาได้แก่ สิงคโปร์ 68 คน จีน 65 คน ญี่ปุ่น 63 คน

นายจักรฯ กล่าวว่า คนไทยที่ต้องโทษในต่างประเทศเหล่านี้กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้สถานทูตและสถานกงสุลในในประเทศนั้นๆจัดทำโครงการเยี่ยมนักโทษอย่างสม่ำเสมอเพื่อรับทราบสภาพความเป็นอยู่และสุขภาพของนักโทษ และในกรณีที่ครอบครัวของนักโทษฝากให้เยี่ยมก็จะได้ส่งข่าวคราวของครอบครัวนักโทษได้ทราบด้วย

นอกจากนั้นอธิบดีกรมการกงสุลกล่าวด้วยว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมานี้ กรมการกงสุลพบว่ามีคนไทยต้องโทษเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่กระทำผิดมีแนวโน้มเป็นหญิงมากกว่าชาย ซึ่งอาจเป็นเพราะขบวนการค้ายาเสพติดเห็นว่าผู้หญิงมีโอกาสที่จะพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ได้ง่ายกว่าชาย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางการไทยทราบนั้น การจับกุมผู้ลักลอบขนยาเสพติดระหว่างประเทศนั้นเป็นผลจากการสืบทราบและประสานงานของเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ ดังนั้นไม่ว่าผู้ที่ลักลอบขนยาเสพติดจะเป็นหญิงหรือชายก็จะไม่สามารถหลุดพ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ไปได้ง่ายๆ

“ทั้งนี้กรมการกงสุลขอเรียนเตือนไปถึงผู้ที่คิดว่าจะเสี่ยงรับจ้างขนยาเสพติดให้ตระหนักว่า โทษของการขนยาเสพติดในหลายประเทศหนักมาก อาทิ จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งหากถูกจับได้และถูกนำตัวขึ้นฟ้องศาลแล้วโทษที่จะได้รับคือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต”

อธิบดีกรมการกงสุลได้กล่าวในที่สุดว่า การที่คนไทยทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น นอกจากจะเป็นภัยต่อคนเองและทำให้เสียชื่อเสียงคนไทยด้วยกันเองแล้ว ยังทำให้ภาพพจน์ของคนไทยที่เดินทางๆไปต่างประเทศไม่ดีในสายตาของประเทศต่างๆอีกด้วย เพราะหากมีการจับกุมคนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ บางประเทศอาจเข้มงวดการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยได้