วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สะท้อนสังคม : ปัญหาคนไทยลักลอบทำงานในเกาหลีใต้

            เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2558 อัครราชทูต และอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงานประจำกรุงโซล) ได้พบหารือกับหัวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ประจำสนามบิน Incheon เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาคนไทยลักลอบทำงานในเกาหลีใต้ เพราะปัจจุบันมีข้อมูลระบุว่า คนต่างชาติที่ลักลอบทำงานหรือพำนักอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้จำนวน 213,823 คน เป็นคนไทย 53,444 คน คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนทั้งหมดดังกล่าว โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จำนวนคนไทยเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 258.6 และตั้งแต่วันที่    17 ม.ค.- 15ก.พ. 2558 มีคนไทยเดินทางเข้าเกาหลีใต้จำนวน 26,269 คน โดยในจำนวนนี้เป็นคนไทยลักลอบทำงานถึง 1,138 คน
            ทางการเกาหลีใต้ให้ข้อมูลว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนคนไทยพำนักอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วจนน่าวิตก เนื่องจากมีนายหน้าชาวไทยและเกาหลีร่วมกันลักลอบนำเข้าแรงงานไทย โดยในเดือน พ.ค. 2558 สามารถจับกุมนายหน้าคนไทยได้ 5 คน ซึ่งจากการตรวจสอบระบบทำงานของนายหน้าดังกล่าว พบการใช้ระบบ Online สมัครงาน ฝึกอบรมผู้สมัครให้ปลอมตัวเป็นนักท่องเที่ยว และเมื่อเดินทางถึงสนามบิน จะมีคนเกาหลีรับไปส่งให้บริษัทก่อสร้าง โรงงาน ฟาร์ม สถานบริการนวด/บริการทางเพศ ฯลฯ โดยคิดค่าบริการต่างๆ รวมประมาณ 80,000 บาท/คน

            นับเป็นข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะเมื่อบุคคลเหล่านั้นตกทุกข์/ถูกจับมักจะขอความช่วยเหลือกับสถานเอกอัครราชทูต โดยอ้างว่าตนเองถูกหลอกมาทำงาน แต่แท้จริงแล้วคนไทยจำพวกนี้เต็มใจมาทำงานแม้กระทั่งจะต้องทำงานค้าบริการทางเพศก็ตาม หากสภาพการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจส่งผลกระทบต่อคนไทยที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวเกาหลีใต้ ประเด็นดังกล่าวข้างต้นนี้อาจเป็นผลให้เกิดการพิจารณาการตรวจลงตราแก่คนไทยที่จะเดินทางไปเกาหลีใต้ในอนาคต (ในปัจจุบันคนไทยสามารถเดินทางไปเกาหลีใต้ได้โดยได้รับการยกเว้นการตรวจตรา และสามารถพำนักในเกาหลีใต้ไม่เกิน 90 วัน)

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล

http://www.thaiembassy.org/seoul

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม

ปัจจุบัน เพศที่สามหรือที่เราคุ้นเคยกับคำเรียกว่า ตุ๊ด กระเทย เกย์ ทอม เลสเบี้ยนเริ่มได้รับการยอมรับในสังคมไทยมากขึ้น ตามวันเวลาและค่านิยมของคนที่ปรับไปตามยุคสมัย ทว่าบุคคลเหล่านี้ก็ยังถูกกีดกันทางเพศอยู่ในบางประเทศ ดังตัวอย่างนี้
            เมื่อกลางเดือน มิถุนายน 2558 นางเจ(นามสมมุติ) ได้เดินทางมาที่กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ร้องขอให้หาทางช่วยเหลือบุตรชายซึ่งไปทำงานที่ดูไบแล้วถูกตำรวจดูไบจับกุมโดยไม่ทราบข้อหา ทาง เจ้าหน้าที่กองคุ้มครองฯ ได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยสอบถามไปยัง สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ทราบความว่า นายเอ(นามสมมุติ) ซึ่งเดินทางไปทำงานนวดสปาถูกจับกุมพร้อมคนไทยอีก 2 นาย ในข้อหาแต่งกายเป็นผู้หญิง และถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำชั่วคราวดูไบ

            การที่ผู้ชายแต่งกายเป็นผู้หญิงถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายประเทศยูเออี และในประเทศบางประเทศ ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งที่ผ่านมามีคนไทยถูกจับกุมและตั้งข้อหาในลักษณะเดียวกันนี้อยู่บ่อยครั้ง โดยในกรณีทั่วไปหากไม่มีข้อหาอื่นร่วมด้วย ผู้กระทำความผิดจะถูกจำคุก 1 เดือน และ/หรือเนรเทศออกจากยูเออีทันทีภายหลังจากสิ้นสุดกระบวนการสอบสวน แต่ถ้าหากมีเจตนาแต่งกายเป็นผู้หญิงเพื่อค้าประเวณีโทษที่ได้รับคือการจำคุกขั้นต่ำ 1 ปี 

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ
http://www.thaiconsulatedubai.com

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular

ระวัง ! สถาบันเถื่อน แนะแนวเรียนต่อรัฐนิวเซาท์เวลส์






ปัจจุบัน คนไทยนิยมเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลียในลักษณะวีซ่านักเรียนกันเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะหารายได้ระหว่างเรียนเนื่องจากรัฐบาลออสเตรเลียกำหนดให้ผู้ถือวีซ่านักเรียนสามารถทำงานได้ สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง และในช่วงปิดเทอมสามารถทำงานได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา ซึ่งงานยอดนิยม ได้แก่ งานเสิร์ฟในร้านอาหาร และการทำงานในฟาร์มเกษตร เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงกลายเป็นช่องทางให้เกิดบริษัทแนะแนวการศึกษาเถื่อนและมิจฉาชีพหลอกลวง โดยอ้างว่าผู้แทนจากบริษัทที่ถูกกฎหมายเก็บค่าหัวในการทำเรื่องเพื่อเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลีย ซึ่งบางรายต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงเกินกว่าความเป็นจริง และไม่ได้รับบริการตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน อาทิ มิได้ติดต่อสถานศึกษาไว้ให้ การทำวีซ่าผิดประเภท ไม่จัดหางานพิเศษให้ ซึ่งร้ายที่สุด อาจถูกลอยแพจากบริษัทดังกล่าว
            อย่างไรก็ดี สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์ มิได้นิ่งนอนใจ ได้ดำเนินการขอความร่วมมือจากบริษัทแนะแนวการศึกษาต่อที่เปิดธุรกิจอย่างถูกต้องเข้ามาลงทะเบียน โดยที่บริษัทเหล่านี้ต้องยื่นหมายเลขประจำตัวผู้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท (Australian Business Registration – ABN) เพื่อจัดทำบัญชีกลุ่มผู้ประกอบการบริษัทแนะแนวการศึกษาต่อให้รัฐนิวเซาท์เวลส์ เพื่อคัดกรองผู้ปประกอบการที่น่าเชื่อถือ ดังนั้น หากมีความประสงค์จะเดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศออสเตรเลีย รัฐนิวเซาท์เวลส์ผ่านทางสถาบันแนะแนวการศึกษาต่อหรือตัวแทนสถาบัน จึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและตรวจสอบข้อมูลของสถาบันดังกล่าวด้วยเช่นกัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครซิดนีย์
http://www.thaiconsulatesydney.org

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


ผิดที่เขาหรือเราโลภเอง


เตือนกันบ่อยๆ กรณีการถูกหลอกลวงให้แต่งงานเพื่อมาทำงานในต่างประเทศ คราวนี้มารูปแบบใหม่โดยผ่านทางเฟซบุ๊ค ช่องทางการสื่อสารแบบใหม่ที่คนทั้งคู่แทบไม่ต้องเคยเห็นหน้ากัน แต่สามารถตกลงธุกิจหรือถึงขั้นตกลงปลงใจกันเลยก็มี แต่วันนี้ไม่ได้จะมาพูดเรื่องเฟซบุ๊ค แต่ต้องการจะมาเล่าประสบการณ์ของผู้เสียหายรายหนึ่งที่พลาดพลั้ง อาจเพราะความไว้วางใจคนแปลกหน้า หรือความต้องการเงินมาเลี้ยงชีพก็แล้วแต่ เมื่อจุดประสงค์แต่แรกมันชี้ชัดว่าต้องการที่จะทำผิดกฎหมาย ลงท้ายผลลัพธ์จึงออกมาไม่สวยตามกันไปด้วย ดังเช่นกรณีของหญิงสาวคนนี้ที่ต้องการวีซ่าเพื่อไปทำงานในประเทศอินเดีย อาจจะด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเมื่อประมาณเดือน มิถุนายน 2558 ถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบรับทราบเรื่องราวจาก น.ส. เอ - นามสมมติว่า เธอได้ติดต่อกับนายหน้าชาวไทยคนหนึ่งทางเฟซบุ๊คที่บอกกับเธอว่าสามารถหาสามีชาวอินเดียมาแต่งงานกับเธอเพื่อจะได้วีซ่าคู่สมรส (Marriage Visa) หรือวีซ่าแต่งงานที่ทุกคนเรียกกันติดปาก แล้วไปทำงานที่อินเดียได้ ด้วยไม่ได้เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่าเธอกำลังจะตกเป็นเหยื่อของนายหน้าคนนี้ในท้ายที่สุด เธอจดทะเบียนสมรสที่เมืองมุมไบ ประเทศอินเดียเรียบร้อย เธอจึงถึงบางอ้อว่าวีซ่าแต่งงานที่เธอใฝ่ฝันดีดลูกคิดรางแก้วนั้น ไม่อนุญาตให้เธอทำงาน ซึ่งหลังจากนั้นเธอก็เหมือนถูกตัดหางปล่อยวัดไม่สามารถติดต่อกับนายหน้าคนนี้ได้อีกเลย งานนี้เลยเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด งานก็ไม่ได้ทำ เงินก็ไม่ได้คืน เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา แถมยังเสียหน้าเมื่อต้องกลับบ้านกลายเป็นตีงูให้กากิน ทำสิ่งที่ตนควรจะได้รับประโยชน์ แต่กลับไม่ได้ ตกอยู่กับผู้อื่นซะเนี่ย

จากเรื่องดังกล่าว ฟังดูไม่ใช่เรื่องใหม่ หากไม่ต้องการตกเป็นเหยื่อพวกปากปราศัย ใจเชือดคอเหล่านี้ สามารถติดต่อขอสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดียได้ที่สถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย เบอร์โทรศัพท์ 02-6641200 หรือที่เว็บไซต์ http://www.indianembassy.in.th/



สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
http://www.thaiembassy.org/mumbai

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตีแผ่สังคม : ทำงานต่างประเทศไม่ใช่อย่างฝัน

            การทำงานในต่างประเทศ หลายๆคนอาจวาดฝันไว้เป็นเหมือนบ่อเงิน  บ่อทองไปทำงานแล้วกลับมาจะมีเงินก้อนเงินเก็บ  นายหน้าก็โฆษณาไว้เสียดิบดีว่าไม่ลำบากมีอาหารเลี้ยงแถมฟรีที่พัก แท้จริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเสมอ กรณีต่อไปนี้ที่จะนำมาบอกต่อเพื่อตีแผ่ความจริงไว้เป็นอุทาหรณ์สำหรับใครหลายๆคนที่ฝันจะไปทำงานต่างประเทศ โดยไม่ศึกษาหาข้อมูลการทำงาน และกฎหมายของ   ประเทศนั้นๆไว้เป็นตัวอย่าง


            เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2558 สอท. ณ กรุงมอสโกรับแจ้งขอความช่วยเหลือจากนางสาวเอ ให้ สอท. ช่วยเหลือส่งกลับประเทศไทย เนื่องจากตนเองนั้นไม่สามารถทนรับได้กับสภาพความเป็นอยู่และการใช้ให้ทำงานหนักจากนายจ้างได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้สอบถามถึงรายละเอียดเธอก็เล่าให้ฟังว่า ตนอยากมาทำงานเพื่อเก็บเงินประกอบกับมีนายหน้ามาชวนไปทำงานนวดที่รัสเซีย ก็เลยเซ็นสัญญาที่บริษัทเขาจะจัดส่งคนไปทำงาน แต่พอตนเองได้เห็นร้านที่บริษัทจัดหาให้กลับไม่เป็นอย่างที่โฆษณาไว้ ที่พักที่ตนอยู่นั้นทั้งแออัดและถูกนายจ้างล็อกที่พักไม่ให้ออกไปไหนทุกวันเวลา 23.00 – 11.00 น. เธอเล่าต่อว่า นายจ้างเอาเปรียบไม่จ่ายเงินเดือนตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง ซึ่งระบุว่าจะมีทั้งเงินเดือนและค่าอาหาร นอกจากนี้นายจ้างจะจัดหาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มสำหรับฤดูหนาวให้ แต่ในความเป็นจริงนายจ้างจ่ายเงินเพียงครึ่งเดียว โดยบอกแก่ตัวว่าจะทยอยจ่ายในเดือนหน้า ทำให้เกิดเป็นเงินค้างจ่ายสะสมมาโดยตลอด รวมทั้งไม่เคยซื้อเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง นอกจากนี้นายจ้างยังให้ทำงานหนัก และไม่เหลียวแลสภาพความเป็นอยู่ ทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกกักขังและอึดอัดใจมาก


            ปัญหานายจ้างค้างจ่ายเงินเดือนในระยะนี้ น่าจะสืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจถดถอยของรัสเซีย และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินต่างประเทศ โดยแรงงานส่วนใหญ่มีความคาดหวังให้สอท.ฯ ติดตามค่าจ้างจากนายจ้างมาให้โดยเร็ว และเข้าใจว่า สอท.ฯ สามารถบีบบังคับนายจ้างได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจแบบผิดๆ และที่สำคัญคือขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ สอท.ฯ ทุกแห่งทั่วโลกอยู่ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย และช่วยเหลือในกระบวนการแจ้งกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ให้พิจารณาประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัสเซียเพื่อเอาผิดนายจ้างที่ละเมิดสัญญาจ้างงาน ซึ่งจำเป็นต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการละเมิดสัญญาจ้างงานของนายจ้าง พฤติการณ์ของนายจ้างมักจะหลบเลี่ยงไม่รับโทรศัพท์ และ สอท.ฯ ก็ไม่สามารถไปติดตามที่ร้านหรือบริษัทได้ เพราะปัญหาที่เกิดในพื้นที่กระจัดกระจาย และบ่อยครั้งเกิดในพื้นที่ที่ห่างไกลจากกรุงมอสโกมาก ดังนั้นจะขอเรียนให้ทราบว่าการทำงานในต่างประเทศไม่ได้สวยหรูเหมือนฝัน อาจมีบ้างที่โชคดีได้เจอนายจ้างที่ดูแลเอาใจใส่แต่อย่างไรก็ตามการอยู่ต่างที่ต่างเมือง ยังไงก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา ในที่ที่มีคนที่เรารู้จักที่ที่มีครอบครัวของเราอยู่พร้อมหน้า มากกว่าเมืองที่มีแต่คนแปลกหน้า...


สถานเอกอัครราชทูต ณ มอสโก
http://th.thaiembassymoscow.com/

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular

วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ข้อควรรู้ก่อนเดินทาง :กฎใหม่แอฟริกาใต้

ปัจจุบันได้มีคนไทยเดินทางเข้า - ออก และพำนักอาศัยในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ กว่า 4,000 คน การเดินทางไปยังสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ นั้น โดยปกติแล้วหลังจากที่ลงจากเครื่องบินแล้ว จะต้องไปผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมือง ก่อนจะออกจากสนามบิน



แต่ล่าสุด...กระทรวงมหาดไทย สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ประกาศให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทุกสัญชาติ ที่ประสงค์จะเดินทางเข้า - ออก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ แสดงเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ดังนี้
1. สูติบัตรของผู้เดินทางที่ระบุชื่อบิดาและมารดา
2. หนังสือเเสดงความยินยอมให้เดินทางจากบิดาและมารดา
3. สำเนาหนังสือเดินทางของบิดาและมารดา
4. ทั้งนี้เอกสารดังกล่าวทั้ง 3 ฉบับจะต้องผ่านกระบวนการทางนิติกรณ์จากทางการของประเทศที่บุคคลนั้นมีสัญชาติอยู่ ( สำหรับคนไทยสามารถดำเนินการรับรองเอกสารได้ที่ กองสัญชาติและนิติกรณ์ : http://www.consular.go.th/main/th/services/1303 )

ดังนั้นเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเดินทางสำหรับผู้ปกครองและบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปีทั้งผู้ที่กำลังจะเดินทางกลับประเทศไทย และผู้ที่จะเดินทางไปยังสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ควรจัดเตรียมเอกสารดังกล่าวให้พร้อมก่อนเดินทาง 


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย
http://www.thaiembassy.org/pretoria/


กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular