วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ระวัง! ภัยหญิงไทยถูกหลอกส่งยาข้ามชาติ


                ยาเสพติด ยังคงเป็นปัญหาที่เรื้อรังของประเทศไทยที่ยากจะเยียวยา ทุกสังคมทุกชุมชนต่างได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ แม้จะมีมาตรการป้องกันและปราบปรามผู้ลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติด  แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดยาเสพติดให้หมดไปได้ และนับวันปัญหายาเสพติดนี้ก็ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะ หญิงไทย ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ายามาแล้วหลายต่อหลายราย              
หญิงไทยถูกหลอกให้ส่งยาข้ามชาติเป็นปัญหาใหญ่ที่พบอยู่บ่อยครั้ง และต้องการการแก้ไข เพราะเมื่อไม่นานมานี้สถานเอกอัครราชทูตไทยได้รับแจ้งว่ามีหญิงไทย ๒ รายถูกจับในข้อหาพยายามลักลอบขนโคเคนออกนอกประเทศเปรู โดยหญิงรายแรก รับสารภาพว่าได้ร่วมมือกับแก๊งค์คนดำในไทยให้ลักลอบนำโคเคนน้ำหนักกว่า 2.918 กก. ออกจากประเทศเปรู ทั้งนี้เธอให้การว่า แก๊งค์คนดำในไทยจ้างวานเธอด้วยค่าจ้าง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และพูดจาหว่านล้อมว่าการเสี่ยงลักษณะนี้เสมือนเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะแม้ถูกจับได้ โทษที่ได้รับในประเทศเปรูก็จะไม่หนักเหมือนในประเทศไทย และยังได้รับการลดหย่อนโทษ อีกทั้งระหว่างถูกจำคุกก็จะได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลทั้ง ๒ ประเทศ โดยก่อนหน้าหญิงรายนี้เคยเดินทางมาประเทศเปรู ๒ ครั้งเพื่อลักลอบขนโคเคน แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกข่มขู่จากแก๊งค์ดังกล่าวว่าต้องทำงานแก้ตัว มิฉะนั้นอาจต้องประสบอันตรายร้ายแรง กระทั่งเธอถูกจับกุมในที่สุด ส่วนหญิงรายที่สอง ถูกจับพร้อมโคเคนน้ำหนัก 6.55 กก. แต่เธอไม่ทราบว่ามีการซุกซ่อนโคเคนไว้ในถุงของเธอ หญิงรายนี้ให้การว่า เธอได้รับปากกับเพื่อนคนไทยที่ทราบแต่เพียงชื่อเล่นว่าต้องการให้นำถุงเจ้าปัญหานี้กลับมายังประเทศไทย เพราะเพื่อนคนนี้ได้ช่วยเหลือเธอในการออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการเดินทางไปท่องเที่ยวยังประเทศเปรู แม้ว่า หญิงรายนี้จะยืนกรานว่าไม่ได้ถูกว่าจ้าง และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโคเคนนี้ก็ตาม แต่เธอก็จำต้องจำนนต่อหลักฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
                จากสองเหตุการณ์นี้ จะเห็นได้ว่า หญิงไทยตกเป็นเหยื่อของกระบวนการส่งยาข้ามชาติด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในกรณีแรกหญิงไทยถูกหว่านล้อมด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับบทลงโทษในข้อหาขนยาเสพติด ส่วนในกรณีที่สอง เธอขาดความระมัดระวังมากไป จึงทำให้หญิงไทยทั้ง ๒ รายจำต้องถูกจับกุมเช่นนี้ เมื่อปัญหายาเสพติดยังคงฝังรากอยู่ในสังคมไทย ดังนั้นผู้ที่สนใจเดินทางไปท่องเที่ยวหรือทำงานในต่างประเทศ ควรเพิ่มความรอบคอบให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้มีกลลวงมากมายเพื่อหลอกล่อให้หญิงไทยเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้ อาทิ หลอกให้หญิงไทยแต่งงานพร้อมตัวเลขค่าจ้างที่งดงาม เพื่อล่อพวกเธอให้ติดกับดัก หรือการให้เดินทางไปเที่ยวหรือทำงานโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เราทุกคนจำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น มิฉะนั้นเราอาจจะต้องกลายเป็นหนึ่งในสายพานการลำเลียงยาส่งไปยังประเทศต่างๆและกลายเป็นนักโทษค้ายาโดยไม่รู้ตัว


กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ใส่ทองไปอินเดีย ..ต้องระวัง




สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี  ประเทศอินเดียรายงานข้อมูลด่วนเข้ามาว่า ในช่วง ๓ - ๔ เดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุคนไทยถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำสนามบินนานาชาติอินทิรา คานธี จับกุมในข้อหาลักลอบนำทองคำเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย  ถูกจับกันไปแล้วนับสิบราย มีทั้งรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเจตนาไปละเมิดกฎหมายของเขา
อินเดียซึ่งเป็นประเทศนำเข้าทองคำรายใหญ่ของโลกกำลังประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าทองคำเถื่อนจากต่างประเทศ  จนกระทั่งรัฐบาลต้องออกระเบียบศุลกากรห้ามนำทองคำจากต่างประเทศเข้ามาในมูลค่าเกินกว่า  ๑๐๐,๐๐๐ รูปี  (ประมาณ  ๕๐,๐๐๐  บาท หรือ เท่ากับปริมาณทองคำรูปพรรณในประเทศไทย  ๒  บาท)  ระเบียบนี้บังคับใช้อย่างเข้มงวด ใครก็ตามที่นำทองติดตัวไปอินเดียเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ข้างต้นจะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อเสียภาษีนำเข้า  จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้เดินผ่านช่องที่เขียนป้ายว่าไม่มีสิ่งของต้องสำแดง  (Nothing to Declare)  ไม่ได้  เพราะหากถูกตรวจพบจะโดนจับกุมอย่างแน่นอน
แต่เรื่องที่น่ากลัวก็คือว่า  ในปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพพยายามลักลอบขนทองคำจากประเทศไทยไปยังอินเดีย  คนพวกนี้กระทำเป็นขบวนการอย่างเป็นล่ำเป็นสันทีเดียว  มีคนไทยบางคนไปสมรู้ร่วมคิดกับคนในประเทศอินเดียเพื่อหาทางจ้างวานให้คนไทยทำทีเป็นเดินทางไปท่องเที่ยว  ให้ใส่สร้อยคอบ้าง แหวนกำไลบ้าง  สวมติดตัวไปคราวละหลายชิ้น คิดเป็นน้ำหนักทองคำรวมกันทีเดียวหลายสิบบาท  เมื่อไปถึงสนามบินปลายทางก็พยายามเดินผ่านด่านศุลกากรอย่างหน้าตาเฉย  กะว่าจะหลุดรอดสายตาของเจ้าหน้าที่อินเดียไปได้
วิธีการข้างต้นถือว่ามีความเสี่ยงอันตรายทีเดียว   กลอุบายอย่างนี้ทางเจ้าหน้าที่สนามบินของอินเดียเขารู้ทันหมด แถมยังจ้องรอตรวจค้นผู้ที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยว่าจะลักลอบนำเข้าทองคำโดยผิดกฎหมายในลักษณะนี้อยู่แล้ว  บางคนถูกเรียกไปตรวจค้นอย่างละเอียดจนถึงขั้นต้องถอดเสื้อผ้าให้ดูก็มี   ถ้าโชคร้ายมีเจตนาไปทำผิดกฎหมายของอินเดียเข้าก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีทันที  มีโทษทั้งปรับและจำคุก คนไทยหลายคนโดนจับกันระนาวเพราะไปหวังรวยทางลัดแบบนี้   จึงขอฝากช่วยกันเตือนภัยในเรื่องนี้ด้วย ...  ได้ไม่คุ้มเสียจริง ๆ

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
                                                                .....................................

   

สาวเอยจะบอกให้ "ได้ไม่คุ้มเสีย" ลอบทำงานในมาเลเซีย




ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีหญิงไทยเดินทางไปทำงานในมาเลเซียแล้วเกิดปัญหาจนต้องเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากสถานทูตจำนวนกว่า 200 กรณี
ค่านิยมผู้หญิงไทยในปัจจุบันมักต้องการลืมตาอ้าปาก มีรายได้เป็นกอบเป็นกำผ่านทางการออกไปทำงานในต่างแดน แต่ไม่มีความระแวดระวังค้นหาข้อมูลกฎหมายและสภาพสังคมวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ทั้งนี้ ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด มาเลเซียเป็นประเทศที่ไทยประสบปัญหาคนไทยลักลอบเดินทางเข้าไปทำงานมากที่สุด จากการให้สัมภาษณ์ของนายสุวัฒน์ แก้วสุข ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า หญิงไทยมักไปประกอบอาชีพบริการ เช่น นวด เด็กเสิร์ฟ โคโยตี้และเด็กนั่งเชียร์แขกตามบาร์
ในปี 2556 ที่ผ่านมา มีหญิงไทยเดินทางไปทำงานในมาเลเซียแล้วเกิดปัญหาจนต้องเข้าร้องขอความช่วยเหลือจากสถานทูตจำนวนกว่า 200 กรณี แต่ในความเป็นจริงอาจมีจำนวนนับพันคนในแต่ละปี แบ่งเป็นเดือนละนับร้อย ๆ คน
มาเลเซียไม่มีนโยบายสนับสนุนให้แรงงานต่างด้าวเดินทางเข้าไปประกอบอาชีพประเภท นวดสปา พนักงานเสิร์ฟ แคชเชียร์ และยาม  โดยเฉพาะอาชีพนวด ซึ่งอันที่จริงแล้วคนไทยสามารถขอเอกสารอนุญาตทำงานดังกล่าวจากทางการมาเลเซียได้ เพียงแต่ รัฐบาลมาเลเซียไม่สนับสนุนจึงอาจยุ่งยากและมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น หญิงไทยจึงมักใช้สิทธิพิเศษในการไม่ต้องขอวีซ่าอันเป็นความตกลงระหว่างไทยและมาเลเซีย เดินทางเข้ามาลักลอบทำงานและสามารถอยู่ในมาเลยเซียได้ไม่เกิน 30 วัน โดยการลักลอบนี้จะมีนายหน้าจัดหาแรงงานไปนวด จะบอกกับหญิงไทยว่า พวกเธอจะได้เงินเดือนไม่ต่ำกว่า เดือนละ 40,000-50,000 บาท นับเป็นค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ทำให้เหยื่อส่วนใหญ่ตกลงยอมไปทำงานด้วยและเข้าใจว่า นายจ้างจะพาไปขอเอกสารอนุญาตทำงาน
ในกรณีที่ถูกหลอก นายสุวัฒน์เผยว่า ขั้นแรกนายจ้างจะทำการยึดหนังสือเดินทาง จากนั้นจะนำตัวลูกจ้างไปเก็บไว้ในอพาร์ตเมนต์ ห้องแถวหรือบ้านพัก ในย่านที่เป็นสถานบันเทิงแล้วก็แจกแจงค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างติดค้างไว้ ซึ่งอันที่จริงก็จะมีการตกลงกันไว้ตั้งแต่ที่เมืองไทยแล้วว่า ลูกจ้างจะต้องเป็นหนี้ แต่พอไปถึงจริง ๆ ค่าใช้จ่ายกลับงอกขึ้นมามากมายจนไปถึงหลักแสนบาท จากนั้นนายจ้างก็จะบังคับให้ทำงาน บางรายที่โชคดีก็จะได้งานนวดเพื่อสุขภาพทั่วไป แต่ถ้าโชคร้ายก็จะถูกนายจ้างบังคับให้ค้าประเวณี
ตัวอย่างของรายที่โชคร้ายคือ นางสาวเอ (นามสมมุติ) เดินทางไปทำงานที่มาเลเซียแต่ต้องไปเจอกับนายจ้างที่เป็นมาเฟียบังคับให้เธอค้าประเวณี บังคับให้เสพยาเสพติดแล้วให้รับแขกไม่หยุด จนกระทั่งเธอตั้งครรภ์ เธอจึงหาทางแจ้งให้ญาติจากทางเมืองไทยช่วย ญาติก็เดินทางไปแจ้งกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่งทางการไปประสานกับตำรวจมาเลเซียเข้าทลายแก๊งค้ามนุษย์ดังกล่าวแล้วช่วยเธอออกมา ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวโดยตรง จึงไม่ต้องการให้เกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นอีก
การลักลอบพาคนเข้าไปทำงานในมาเลเซียนั้น ปัจจุบันนี้กระทำได้โดยง่ายดาย เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้านเดินทางง่าย วีซ่าก็ไม่ต้องขอ ผู้หญิงไทยที่มักตกเป็นเป้าหมายส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่เช่น พัทยา พัฒน์พงษ์ เกาะสมุย ภูเก็ต หรือพวกบรรดาเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร เนื่องจากความลำบากในชีวิต ทำให้หญิงไทยบางคนติดกับค่านิยมที่ว่า การไปทำงานต่างแดนจะสามารถทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำหรือแม้กระทั่งสามารถยกระดับชีวิตด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติ พวกมิจฉาชีพรู้ถึงช่องโหว่ของค่านิยมที่ผิด ๆ นี้จึงฉกฉวยประโยชน์จากเหยื่อที่ตกหลุมพราง ทำให้สถานทูตไทยในมาเลเซียต้องทำงานอย่างหนักในการช่วยเหลือหญิงไทยตกทุกข์ซึ่งมีทุกวัน ปัญหาอีนุงตุงนังหนักชนิดที่ว่า บางรายมายืนรอหน้าสถานทูต บางรายสถานทูตต้องรีบนำรถออกไปรับเพื่อช่วยเหลือ
ตัวเลขของคนไทยที่ต้องโทษจำคุกในมาเลเซียทั้งโทษเบาและโทษหนักรวมกันแล้วจะอยู่ที่ราว ๆ พันรายต่อปี ในจำนวนนี้หากเป็นผู้ที่ต้องโทษเบาจะได้รับการปล่อยตัวเร็ว แต่ถ้าเป็นโทษหนักอย่างเช่น คดียาเสพติด ทะเลาะวิวาท ลักลอบทำงานซ้ำซาก จะต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะคดียาเสพติด ซึ่งเป็นคดีร้ายแรงของมาเลเซียและมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต โดยคนไทยที่ต้องโทษประหารจากคดียาเสพติดในมาเลเซียขณะนี้มีจำนวน 18 ราย เป็นหญิง 10 ราย และชาย 8 ราย
นอกจากนี้ ผู้หญิงไทยมักตกเป็นเหยื่อแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ หลอกให้ขนยาเสพติดโดยมีประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นทางผ่านที่สำคัญเนื่องจากเดินทางง่าย ไม่ต้องขอวีซ่า ทั้งนี้ มีทั้งผู้ที่เต็มใจและถูกหลอก กรณีที่ถูกหลอกมักเป็นผู้ที่ชอบเล่นแชตในเว็บไซต์หาคู่กับชาวต่างชาติ จนได้คู่รักเป็นชาวต่างชาติสมใจ โดยที่ชาวต่างชาติเหล่านั้นจะค่อย ๆ ตีสนิทแล้วออกตัวว่า จะพาไปเที่ยว และซื้อตั๋วแบบ e-ticket ซึ่งไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ซื้อ ให้เดินทางไปต่างแดน โดยจุดหมายนั้นจะเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด จากนั้นก็จะฝากสิ่งของยัดไส้ยาเสพติดมากับเที่ยวบินขากลับประเทศไทยด้วย ในกรณีที่หญิงไทยคนนั้นรู้ตัวมักได้รับค่าตอบแทน 1,000-5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (32,600-163,000 บาท) ต่อครั้ง ขบวนการขนยาเสพติดจะไม่เดินทางไปอเมริกาใต้โดยตรงแต่จะเดินทางแวะเปลี่ยนเครื่องบินโดยใช้ประเทศในอาเซียนเป็นสถานที่เปลี่ยนเครื่อง โดยเฉพาะ มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา ฟิลิปปินส์ หรือประเทศใดก็ได้ที่คนไทยไม่ต้องขอวีซ่า ทำให้ขณะนี้ หญิงไทยกลายเป็นผู้หญิงที่ถูกจับด้วยข้อหายาเสพติดในต่างแดนเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศยังเปิดเผยอีกด้วยว่า ประเทศที่คนไทยมักเดินทางไปท่องเที่ยว เช่น ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งปัจจุบันไปได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ก็ต้องระมัดระวังการเข้าเมือง เพราะเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะเข้มงวดในการสอบถามกับผู้เดินทางเข้าประเทศ อาทิ จะพักที่ไหน พักกับใคร หรือมีตั๋วเครื่องบินขากลับหรือไม่ หากตอบคำถามไม่ชัดเจนหรือเกิดข้อสงสัยขึ้นก็จะปฏิเสธการเข้าเมืองได้ ไม่ให้เข้าประเทศ นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแต่งตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะเกาหลีใต้และญี่ปุ่น หากผู้หญิงไทยแต่งตัวดูโป๊มากเกินไป พวกเขาจะคิดว่า ผู้หญิงคนนี้เป็นไปได้ที่จะเดินทางไปค้าประเวณีมากกว่าไปท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ที่ชอบโชว์รอยสักอย่างภาคภูมิใจ แต่หารู้ไม่ว่า อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นเข้าใจผิด ทำนองว่าเป็นนักเลงหัวไม้ อาชญากร หรือกระทั่งเป็นพวกยากูซ่า พาลจะไม่ให้เข้าประเทศไปเลย
เทศกาลท่องเที่ยวในฤดูร้อนนี้กระทรวงการต่างประเทศจึงต้องการที่จะให้คำแนะนำแก่คนไทยที่เตรียมจะไปท่องเที่ยวในต่างแดนเพียง 2 ข้อเท่านั้น ข้อแรกคือ ควรทำประกันสุขภาพก่อนการเดินทาง เนื่องจากหากไปเจ็บป่วยในต่างประเทศ ค่ารักษาพยาบาลจะแพงกว่าในไทยเป็นสิบเท่า ข้อที่ 2 คือ ควรตรวจสอบข้อมูลของบริษัททัวร์ที่เดินทางไปด้วยว่า จดทะเบียนเรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ หากบุคคลใดที่มีความประสงค์ที่จะเดินทางไปทำงานในประเทศห่างไกล ไม่มีสถานทูตไทยตั้งอยู่ในประเทศนั้น ก็ขอให้ตรวจสอบข้อมูลสังคมวัฒนธรรม ข้อห้าม ข้อมูลการขอวีซ่าและกฎหมายของประเทศดังกล่าวให้ดี เนื่องจากหากเดือดร้อนสิ่งใดขึ้นมา ความช่วยเหลืออาจไปถึงล่าช้า และหากผู้ใดต้องการร้องเรียนกรณีมีผู้ตกทุกข์ในต่างแดนสามารถติดต่อกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศได้ที่เบอร์ โทรศัพท์ 0-2575-1047 ถึง 52.
วิภาภัทร์ นิวาศะบุตร
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

กงสุลไทยเยี่ยมลูกเรือถูกโจรสลัดปล้นกลางทะเล



ช่วงกลางดึกของวันที่  ๒๒ เมษายน  ๒๕๕๗  เรือบรรทุกน้ำมันของประเทศสิงคโปร์ ระวางขับน้ำกว่า ๓,๐๐๐ ตัน พร้อมลูกเรือหลายสัญชาติ อาทิ  ไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย ประมาณ  ๒๐ คน  ขณะกำลังเดินเรือออกจากท่าสิงคโปร์เพื่อมุ่งหน้าไปยังประเทศเมียนมาร์  และผ่านบริเวณอ่าวตันหยุงในช่องแคบมะละกา  ได้ถูกกลุ่มโจรสลัดอาวุธครบมือ ใช้เรือเร็ว ๒ ลำ เข้าจอดเทียบและบุกขึ้นยึดเรือได้ทั้งลำ 
พวกโจรได้ทำลายอุปกรณ์สื่อสารบนเรือ  กวาดต้อนลูกเรือทั้งหมดไปรวมกัน  ก่อนจะปลดทรัพย์สินมีค่าของทุกคน แล้วพากันขโมยขนน้ำมันดีเซลของเรือสินค้าลำนี้ถ่ายไปลงเรือเล็ก   โจรกรรมน้ำมันไปได้มากถึง ๓ ล้านลิตร หลังจากนั้นพวกมันก็ออกเรือเล็กหลบหนีหายไปอย่างลอยนวล
ทันทีที่สถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ทราบเหตุร้ายข้างต้น และได้รับการยืนยันว่าบนเรือมีแรงงานไทยทำงานอยู่ถึง ๑๐ คน  เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๗  สถานทูตได้มอบหมายให้นายอรรณพ ศูนย์จันทร์ หัวหน้ากงสุลไทย รีบประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำของมาเลเซียเพื่อจัดเรือเร็วออกไปเยี่ยมพนักงานคนไทยทันที  เมื่อเดินทางไปถึงก็ได้พบกับทุกคน  เคราะห์ดีที่คนไทยปลอดภัยไม่ได้รับอันตราย  เพราะหลังเกิดเหตุไม่นาน เรือและลูกเรือได้รับการช่วยเหลือจากตำรวจมาเลเซียอย่างทันท่วงที   เรือสินค้ายังต้องจอดทอดสมออยู่ที่ท่าเรือกลังเพื่อรอตรวจซ่อมแซมและให้ตำรวจสอบปากคำลูกเรือตามกระบวนการกฎหมาย
กงสุลอรรณพ ศูนย์จันทร์ เปิดเผยข้อเท็จจริงหลังจากได้พบปะกับลูกเรือไทยว่า  พนักงานทุกคนมีสติและกำลังใจดี ขณะนี้ยังไม่ต้องการให้สถานทูตช่วยส่งตัวกลับประเทศไทย  เพราะพวกตนยังประสงค์จะทำงานบนเรือบรรทุกสินค้าของสิงคโปร์ต่อไป  งานนี้สถานทูตจึงค่อยเบาใจได้  แต่อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นี้สะท้อนความจริงว่า ไม่ว่าเราจะไปทำงานอยู่ที่ไหนในโลกนี้  บางครั้งเหตุไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้และยากจะหาทางป้องกันตัวล่วงหน้า  ดีที่สุดสำหรับคนไทยที่ต้องเดินทางไปทำงานต่างแดน  ทุกคนควรแจ้งข้อมูลต่างๆ ให้ญาติพี่น้องหรือมิตรสหายทราบ และก่อนจะเดินทางไปอย่าลืมพกเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของสถานทูตไทยติดตัวไปด้วยเสมอ  .. เกิดเหตุร้ายจะได้ตามไปช่วยเหลือทัน
                                                               



                                                                กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

                                                                                .................................

วันศุกร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

คำแนะนำในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 (Middle East respiratory syndrome coronavirus; MERS-CoV)



โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 หรือเมอร์ส-โควี พบการระบาดครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 โดยขณะนี้พบรายงานผู้ป่วยทั้งหมดจาก 15 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ตูนิเซีย อิตาลี โอมาน คูเวต มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กรีซ และอียิปต์ โดยอาการของโรคนี้จะมีไข้ ไอ ปอดบวม หายใจเร็ว บางรายอาจมีอาเจียน ท้องเสีย และในผู้ป่วยที่มีอาการแทกซ้อนรุนแรงและเสื่ยงต่อการเสียชีวิต จะพบอาการ เช่น ปอดอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง ไตวาย เป็นต้น ส่วนการรักษาเป็นแบบการประคับประคอง ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาที่จำเพาะ

เนื่องจากประเทศไทยมีผู้เดินทางไปแสวงบุญ รวมถึงมีผู้เดินทางไปท่องเที่ยวและใช้แรงงานในประเทศทางตะวันออกกลางตลอดปี ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 จึงขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี

1. สำหรับผู้เดินทาง/นักท่องเที่ยว - ขอให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปบริเวณฟาร์ม หรือพื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร ให้ระมัดระวังการสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ตลาดที่มีอูฐ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอูฐ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำนมดิบจากอูฐ เนื่องจากอาจมีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งของสัตว์ รวมถึงการหลีกเลี่ยงสัมผัสผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ยังไม่ผ่านการล้าง ปอกเปลือก หรือปรุงให้สุก

2. ประชาชนทั่วไป - หากเข้าเยี่ยมชมฟาร์มหรือพื้นที่โรงเก็บผลผลิตทางการเกษตร ควรรักษาสุขอนามัยทั่วไป หมั่นล้างมือเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ป่วยและรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย

3. สำหรับสถานพยาบาล - หากพบผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ที่รับการยืนยันว่าติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า ขอให้ใช้มาตรการที่เหมาะสมในการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไปยังผู้ป่วยอื่น และควรระมัดระวังใช้มาตรการควบคุมการติดเชื้ออย่างเป็นมาตรฐานและต่อเนื่องกับผู้ป่วยทุกรายตลอดเวลา

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เพิ่มความตระหนัก เรื่องติดเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2012 ในกลุ่มนักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค แต่ยังไม่มีการแนะนำให้ตั้งจุดตรวจคัดกรองพิเศษบริเวณทางเข้า-ออกประเทศ และไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือกีดกันทางการค้าแต่อย่างใด

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ http://beid.ddc.moph.go.th/


 กระทรวงการต่างประเทศ
https://www.facebook.com/ThaiMFA/posts/771714146201929

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052