วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวันทำพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณแก่นายวิษณุ ศักดิยากร

ญาติมิตรต่างแสดงความยินดี
ท่านทูตพิทักษ์ พรหมบุปผาประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่นายวิษณุ ศักดิยากร

เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ทำพิธีมอบ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์(The Most Admirable Order of the Direkgunabhorn) เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ แก่นายวิษณุ ศักดิยากร



เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 นายพิทักษ์ พรหมบุบผา เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ได้จัดพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้แก่ นายวิษณุ ศักดิยากร สถาปนิกชาวไทย เจ้าของบริษัทฺ Booty Edwards and Partners Architects(BEP)และนายกสมาคมชาวไทยในบรูไน ณ ห้องประชุม ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของ สถานเอกอัครราชทูตฯ กรรมการบริหารสมาคมชาวไทย และชาวไทยในบรูไนจำนวนมากร่วมแสดงความยินดี

นายวิษณุ ศักดิยากร สำเร็จการศึกษาสถาปัตยกรรมบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้มาประกอบธุรกิจในบรูไนดารุสซาลามมากว่า 31 ปีแล้ว

คุณความดีและการเสียสละของนายวิษณุฯ เป็นที่ประจักษ์ ยอมรับและชื่นชมอย่างกว้างขวาง จากทั้งชุมชนชาวไทยและบุคคลสำคัญของประเทศบรูไนโดยได้ทำงานให้กับราชวงศ์บรูไนมาต่อเนื่องตั้งแต่รุ่นพ่อแม่มาจนถึงรุ่นลูกตลอดระยะเวลาดังกล่าว

นายวิษณุฯ มีจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ โดยยึดหลักทำงานด้วยความความซื่อตรง รับผิดชอบต่อผู้ว่าจ้าง ไม่เอารัดเอาเปรียบ และคำนึงถึงชื่อเสียงของคนไทยและประเทศไทยเป็นลำดับแรก ด้านสังคมให้แก่ชาวไทยนั้น นายวิษณุฯได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมไทยฯ และกรรมการสมาคมฯ มาหลายสมัย โดยได้สนับสนุน ริเริ่มงาน โครงการ กิจกรรมเพื่อช่วยเหลือ เกื้อกูลชาวไทย แรงงานไทย และช่วยสนับสนุนราชการของสถานเอกอัครราชทูตฯ ทั้งกำลังกายและทรัพย์อย่างมีน้ำใจต่อเนื่องตลอดมา นอกจากนี้ในด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศนั้นได้ช่วยเหลือ ประสานงาน แนะนำ แก้ไขปัญหาต่างๆกับชาวไทยได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สำหรับครอบครัวที่อบอุ่นนั้น นายวิษณุฯได้ครองตนสมฐานะของหัวหน้าครอบครัว สามี และพ่อได้อย่างดี สมาชิกในครอบครัวได้มีส่วนช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในบรูไนด้วยความเต็มใจเช่นเดียวกับนายวิษณุฯเสมอมา

ในโอกาสที่นายวิษณุฯ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในครั้งนี้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของสถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน กรรมการบริหารสมาคมชาวไทย และชาวไทยในบรูไน ต่างแสดงความยินดี และยกย่องนายวิษณุ ศักดิยากร ให้เป็นแบบอย่างที่ดีของชาวไทยทั้งปวงสืบต่อไป

เกิด เป็นชาวไทย ให้เป็นคนดี รู้หน้าที่ และเสียสละเพื่อส่วนรวม

วันพุธที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เยี่ยมชุมชนชาวไทยที่ประกอบอาชีพตัดเย็บชุดโต๊บ


รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เยี่ยมชุมชนชาวไทยที่ประกอบอาชีพตัดเย็บชุดโต๊บ

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 เวลา 20.00 น. นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ พร้อมด้วยนายเกรียงศักดิ์ ศรีทิพโพธิ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน และเจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมชุมชนชาวไทยที่ประกอบอาชีพตัดเย็บชุดท้องถิ่นซาอุดีฯ สำหรับสุภาพบุรุษ หรือชุดโต๊บ ที่เขตมักโรน่า เมืองเจดดาห์ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 170 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิมจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุมชนไทยเหล่านี้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท แต่จะมีรายได้สูงเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลทางศาสนา คือช่วงก่อนเทศกาลถือศีลอด ซึ่งจะมีงานตัดเย็บมาก และสามารถทำรายได้ประมาณ 60,000 – 80,000 บาท เนื่องจากคนท้องถิ่นนิยมตัดเสื้อผ้าใหม่เพื่อฉลองในเทศกาลศาสนา และฝีมือการตัดเย็บของคนไทยเป็นที่นิยมของคนท้องถิ่น

รักษาการกงสุลใหญ่ได้สอบถามถึงความเป็นอยู่ สาระทุกข์สุข ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ของชาวไทยกลุ่มดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่สุขสบายตามสถานภาพ และยังไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ทั้งนี้ ชุมชนชาวไทยกลุ่มดังกล่าวได้แสดงความขอบคุณรักษาการกงสุลใหญ่ที่ได้เดินทางไปเยี่ยมและแสดงความห่วงใยในสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของพวกตน

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อธิบดีกรมราชทัณฑ์เยือนไต้หวัน

นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม(เสื้อขาว)มอบของที่ระลึกแก่ผู้บัญชาการเรือนจำไทเป


อธิบดีกรมราชทัณฑ์เยือนไต้หวัน


สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไต้หวันรายงานว่าระหว่างวันที่ 9-11 กรกฎาคม 2553 นายชาติชาย สุทธิกลม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมพร้อมด้วยคณะ จำนวน 6 คน เดินทางไปเยือนไต้หวันตามคำเชิญของกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน

ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2553 คณะของอธิบดีกรมราชทัณฑ์เดินทางไปเยี่ยมเรือนจำชายไทเปและ เรือนจำชายเมืองไถจง โดยที่เรือนจำชายไทเปนายจัน เจ๋อ ฟง ผู้บัญชาการเรือนจำได้ให้การต้อนรับอธิบดีและคณะอย่างดี และจัดบรรยายสรุปการดำเนินงานของเรือนจำรวมทั้งจัดให้ชมการแสดงของผู้ต้องขัง ตลอดจนได้พบพูดคุยกับผู้ต้องขีงชาวไทยทั้งหมดจำนวน 57 คนในคราวเดียวกัน ซึ่งในโอกาสนี้นายโสรัช สุขถาวร เลขานุการเอก สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้แจ้งข้อมูลผลการติดตามสิทธิประโยชน์ต่างๆของผู้ต้องขังให้เจ้าตัวทราบ นอกจากนี้เรือนจำยังได้จัดให้คณะเยี่ยมชมโรงงานต่างๆที่ผู้ต้องขังปฏิบัติงาน ห้องพักผู้ต้องขัง โรงครัว ห้องแสดงสินค้าและผลิตภณฑ์ที่ผลิตโดยผู้ต้องขัง และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะด้วย

เรือนจำชายไทเปมีผู้ต้องขังประมาณ 4,000 คน เป็นผู้ต้องขังต่างชาติ 280 คน

สำหรับการเยี่ยมชมเรือนจำชายเมืองไถจง นายหลิน ว่าน หยวน ผู้บัญชาการเรือนจำได้ให้การต้อนรับคณะและจัดบรรยายสรุปการดำเนินงานของเรือนจำ โยแจ้งว่าเรือนจำชายเมืองไถจงเป็นเรือนจำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไต้หวันมีผู้ต้องขังประมาณ 5,000 คน และมีผู้ต้องขังชายไทย 2 คนนอกจากนี้เรือนจำยังได้จัดตั้งสถานพยาบาลขึ้นในเรือนจำด้วยโดยมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ หลังจากนั้นฝ่ายไต้หวันได้นำคณะเยี่ยมชมเรือนจำ ห้องพักผู้ต้องขัง โรงครัว และโรงงานต่างๆ ที่ผู้ต้องขังปฏิบัติงาน ตลอดจนชมการแสดงของผู้ต้องขัง

ในการดูงานกิจการเรือนจำชายไต้หวันของอธิบดีกรมราชทัณฑ์และคณะในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารเรือนจำอย่างละเอียด รวมทั้งสอบถามเรื่องสวัสดิการต่างๆของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในเรือนจำ บรรยากาศการหารือทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยความเป็นมิตร โดยฝ่ายไต้หวันได้ให้การต้อนรับดูแลคณะของอธิบดีกรมราชทัณฑ์อย่างดียิ่ง

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง เรือนจำหญิงหลงถัน ไต้หวัน

ทานอาหารไทยที่ท่านรักษาการผู้อำนวยการใหญ่นำมาฝาก
เรามีของมาฝาก ขอให้มีกำลังใจ รักษาเนื้อรักษาตัวจนกว่าจะพ้นโทษ
ขอบคุณผู้บัญชาการและเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ดูแลผู้ต้องขังไทยอย่างดี
ทักทายผู้ต้องขังทั้ง 11 ราย
คุณวันทนีย์ วพุทธวงศ์สกุล รักษาการผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยเข้าเยี่ยมคารวะนางเหม่ยยวี่ เจิ้งผู้บัญชาการเรือนจำหญิงหลงถัน


สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง เรือนจำหญิงหลงถัน ไต้หวัน


เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2553 นางสาววันทนีย์ วิพุธวงศ์สกุล รักษาราชการผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย พร้อมด้วยนายโสรัจ สุขถาวร เลขานุการเอก ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและดูแลคนไทย นางสาวมณฑา บูชาบุตร เลขานุการโทและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสำนักงานการค้าฯ รวม 5 คน ได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับนางเหม่ยยวี่ เจิ้ง (Mrs. Mei-Yu Cheng) ผู้บัญชาการเรือนจำหญิงหลงถัน และเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงชาวไทยรวมทั้งสิ้นจำนวน 11 คน

รักษาราชการผู้อำนวยการใหญ่ได้ขอบคุณผู้บัญชาการเรือนจำ และเจ้าหน้าที่ที่ได้ดูแลผู้ต้องขังไทยด้วยดี ทั้งนี้ จากการพบพูดคุยให้กำลังใจ และเข้าไปช่วยเหลือดำเนินการในเรื่องต่างๆ เป็นรายบุคคล ทราบว่า ทุกคนมีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีสมควรแก่อัตภาพ และได้ติดต่อญาติที่เมืองไทยสม่ำเสมอ ทุกคนยินดีที่สำนักงานการค้าฯ ไปเยี่ยม รวมทั้งนำอาหารไทย พร้อมสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน หนังสือธรรมะและวารสารไทยไปมอบให้ ในการนี้ มีตัวแทนผู้ต้องขังหญิงไทยทั้งหมด ขึ้นกล่าวถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 นี้ ให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง พระชนมายุยิ่งยืนนาน และทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยตลอดไป

สำนักงานการค้าฯ ให้ความสำคัญกับการดูแลและให้ความช่วยเหลือคนไทยทุกคน ในไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานไทยที่ทำงานในไต้หวันจำนวนกว่า 70,000 คนและผู้ต้องโทษ โดยเยี่ยมผู้ต้องขังชาวไทยทั้งชายและหญิง เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมทั้งนำอาหารกลางวัน สิ่งของเครื่องใช้ และหนังสือธรรมะ ฯลฯ ไปมอบให้ นอกจากนี้ สำนักงานการค้าฯ ยังได้ช่วยติดต่อกับญาติที่ประเทศไทยตามความประสงค์ของผู้ต้องขัง ทั้งนี้ สำนักงานการค้าฯ มีกำหนดจะไปเยี่ยมผู้ต้องขังชายไทยที่เรือนจำชายไทเป และผู้ต้องขังหญิงไทยที่เรือนจำหญิงหลงถันอีกครั้ง ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม 2553

แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน ไม่มีคนไทยได้รับอันตราย


แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน ไม่มีคนไทยได้รับอันตราย

นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2553 ว่า ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดความสั่นสะเทือนวัดได้ 5.4 ริกเตอร์ ที่ไต้หวันเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 เวลา 03.43 น. โดยมีศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวห่างจากเมืองอี๋หลาน ทางตะวันออกของเกาะไต้หวันประมาณ 25.9 กิโลเมตร และต่อมาเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ 2 ในเวลา 08.41 น. โดยมีความสั่นสะเทือนวัดได้ 5.8 ริดเตอร์ มีศูนย์กลางห่างจากเมืองอี๋หลานไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 81.50 กิโลเมตร นั้น เหตุการแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งสามารถวัดแรงสั่นสะเทือนที่กรุงไทเปเมืองหลวงของไต้หวัน 1.0 ริกเตอร์ และต่ำกว่า 1.0 ริกเตอร์ ตามลำดับ

อธิบดีกรมการกงสุลแถลงด้วยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยในกรุงไทเปได้ตรวจสอบกับสำนักงานแรงงานไทยประจำกรุงไทเปและสำนักงานแรงงานไทยประจำเมืองเกาสงแล้วยังไม่มีความเสียหายหรือผลกระทบใดๆต่อคนไทยในพื้นที่ดังกล่าว

โครงการธรรมสัญจรที่โปรตุเกส

พระมหาวุฒิชัย(ว.วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย


โครงการธรรมสัญจรที่โปรตุเกส

ระหว่างวันที่ 8-14 มิถุนายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอนประเทศโปรตุเกสร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์ได้นิมนต์พระมหาวุฒิชัยหรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม ว.วชิรเมธีผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย (http://www.dhammatoday.com/) เดินทางไปจัดโครงการพุทธศาสนากับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยในโปรตุเกสระหว่างวันที่ 8-14 มิถุนายน 2553 และในเนเธอร์แลนด์ระหว่างวันที่ 14-21 มิถุนายน 2553 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างขวัญและกำลังใจในการใช้ชีวิตในต่างแดนให้แก่คนไทยในโปรตุเกสโดยใช้หลักคำสอนในพระพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นการเผยแผ่พระพุทธสาสนาในโปรตุเกส

สำหรับกิจกรรมในประเทศโปรตุเกสพระมหาวุฒิชัยได้แสดงธรรมแก่คนงานไทยในเมืองโอเดมิรา ในเขตอเลนเตโฮ ตอนใต้ของโปรตุเกส ณ หอประชุมธนาคาร เครดิโต อากรืโคลา เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ระหว่างเวลา 17.30 – 19.00 น. โดยมีแรงงานไทยภาคเกษตรเข้าร่วมกว่า 60 คน ทั้งนี้สถานทูตได้รับความร่วมมือในการประสานจัดงานจากบริษัทจัดหางาน DFRM ของโปรตุเกส โดยพระมหาวุฒิชัยได้แสดงธรรมโดยเน้นการน้อมนำหลักคำสอนในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างความซาบซึ้งใจแก่คนไทยที่เข้าร่วมงานและมีโอกาสฟังธรรม ร่วมทำบุญถวสยปัจจัยเพื่อสมทบทุนในโครงการต่างๆของสถาบันวิมุตตยาลัยด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายบน 2553 พระมหาวุฒิชัยได้แสดงธรรมแก่คนไทยในเมืองวิลาโมลา ในเขตอัลกาเวตอนใต้ของโปรตุเกส ณ ร้านอาหารไทย ระหว่างเวลา 10.00 – 11.00 น. โดยมีคนงานที่ทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารไทย พนักงานสปาและนวดแผนไทย รวมถึงชาวเนปาลที่นับถือพุทธศาสนา ซึ่งพำนักอยู่เมืองวิลาโมลาประมาณ 10 คน ร่วมสนทนาธรรม ถวายพัตราหารเพลและถวายปัจจัยแด่พระมหาวุฒิชัย

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2553 พระมหาวุฒิชัย ร่วมกับเอกอัครราชทูตและข้าราชการสถานทูตได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารที่เสด็จทำเนียบเอกอัครราชทูต ในช่วงที่เสด็จเยือนโปรตุเกสเพื่อทรงทำการฝึกบิน โดยได้ทรงสนทนาธรรมกับพระมหาวุฒิชัยในวโรกาสนี้ด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2553 พระมหาวุฒิชัยได้แสดงธรรมแก่ชุมชนคนไทยและครอบครัวในกรุงลิสบอน ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต ระหว่างเวลา 11.00 – 15.00 น. โดยมีคนไทยและครอบครัวรวมทั้งชาวโปรตุเกสที่สนใจเข้าร่วมประมาณ 40 คน และมีการถวายภัตตาหารเพลและปัจจัยเพื่อสมทบทุนโครงการต่างๆของสถาบันวิมุตตาลัย ซึ่งคนไทยที่ร่วมงานต่างปลาบปลื้มที่ได้ฟังธรรมและร่วมทำบุญในครั้งนี้

สถานทูตไทยในโปรตุเกสรายงานผลว่าคนไทยที่ได้ฟังธรรม / สนทนาธรรม / ทำบุญถวายถัตตาหารเพลและปัจจัย ต่างรู้สึกยินดียิ่งที่แม้จะอยู่ต่างแดนแต่ได้มีโอกาสทำบุญกับพระนักปราชญ์ที่ประเสริฐรูปหนึ่งของเมืองไทย โดยเฉพาะการได้ฟังธรรมและพิจารณานำหลักคำสอนที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้ในชีวิตต่อไป

โครงการธรรมสัญจรของสถานทูตไทยในโปรตุเกสครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การช่วยเหลือ คุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งการทูตเชิงวัฒนธรรม

ปรับแก้: 25 มี.ค. 54

วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตไทยที่เกาหลีจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองแดกู

พี่น้องคนไทยที่มารอรับบริการ เขียนคำร้อง
เจ้าหน้าที่ตรวจคำร้องและเอกสารประกอบ
ยื่นคำร้องพร้อมเอกสาร เข้ารับบริการ
ถ่ายรูปทำหนังสือเดินทาง

สถานทูตไทยที่เกาหลีจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองแดกู

เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโล ประเทศเกาหลี ได้เดินทางไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจร เพื่อให้บริการงานด้านกงสุล แก่ชาวไทยที่อาศัยอยู่ ณ เมืองแดกู โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติเมืองแดกู ให้ใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยในพื้นที่รับทราบการจัดกงสุลสัญจรในครั้งนี้

กิจกรรมกงสุลสัญจรครั้งนี้ มีชาวไทยประมาณ ๑๕๐ กว่าคน เข้ามาติดต่อขอทำหนังสือเดินทาง รับรองเอกสาร และงานนิติกรณ์อื่นๆ รวมทั้งขอรับคำปรึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน นอกจากกิจกรรมด้านกงสุลแล้ว สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประชาสัมพันธ์และชักชวนชาวไทยลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอีกด้วย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดหน่วยกงสุลสัญจรไปยังพื้นที่ต่างๆ ในเกาหลีอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ชาวไทยที่อยู่ห่างไกลซึ่งประสบปัญหาในการเดินทางมาติดต่อราชการที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ที่กรุงโซล กงสุลสัญจรที่จัดขึ้นในครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ ที่จัดขึ้นในปี ๒๕๕๓

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เตือนหญิงไทยที่จะไปทำงานในจีน


เตือนหญิงไทยที่จะไปทำงานในจีน



สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่งรายงานว่า ปัจจุบันมีนายหน้าจัดหางานในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนบางรายมีพฤติกรรมหลอกลวงหญิงไทยไปทำงานหมอนวดแผนโบราณโดยผิดกฎหมาย และมีแนวโน้มว่าขบวนการหลอกลวงหญิงไทยดังกล่าวจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้หญิงไทยที่ถูกหลอกลวงให้ไปทำงานนวดแผนโบราณในจีนมักไม่ได้ทำงานนวดแผนโบราณตามที่ตกลงกับนายหน้า แต่ถูกบังคับให้ทำงานบริการอย่างอื่น รวมถึงการค้าประเวณี โดยหญิงไทยที่ประสบเคราะห์กรรมกลุ่มนี้จะถูกนายจ้างกักขัง และทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน หรือได้รับเงินเดือนน้อยไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้

แรงงานไทยที่ได้รับการติดต่อจากนายหน้าชักชวนให้ไปทำงานนวดแผนโบราณหรือสปา ในประเทศจีนโปรดใช้ความระมัดระวังและพิจารณาสัญญาและข้อเสนอต่างๆอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่าหลงเชื่อการชักชวนให้เดินทางไปทำงานโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว เพราะชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าไปทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตในประเทศจีน หากถูกทางการจีนจับได้จะถูกปรับข้อหาลักลอบทำงานโดยใช้วีซ่าผิดประเภท และหากเป็นแรงงานที่พำนักอยู่เกินกำหนดยังจะถูกปรับในอัตราที่สูงอีกด้วย

สถานทูตไทยในไนจีเรียเตือนหญิงไทยถูกชักชวนไปทำงานร้านสปา


สถานทูตไทยในไนจีเรียเตือนหญิงไทยถูกชักชวนไปทำงานร้านสปา


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา รายงานว่า ปัจจุบันนักธุรกิจไนจีเรียกำลังสนใจธุรกิจสปาและเริ่มจ้างพนักงานนวดหญิงไทยเข้าไปทำงานด้านนี้ในกรุงอาบูจาด้วยแล้ว แต่ปัญหาที่ประสบคือพนักงานนวดหลายรายพบว่ามีรายได้และเงื่อนไขจ้างงานไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก่อนที่จะเดินทางไปทำงาน เช่น ไม่ได้ทิปจากแขกมากนัก ไม่มีวันหยุดพักผ่อน ไม่ได้รับค่าล่วงเวลาในการทำงาน ไม่มีความสะดวกในการซื้อหาอาหารรับประทาน รวมถึงการที่ต้องทำงานมากกว่าหน้าที่พนักงานนวด

แรงงานไทยที่ได้รับการติดต่อชักชวนจากนายหน้าหรือเจ้าของร้านสปาและนวดแผนไทยให้ไปทำงานในประเทศไนจีเรียโปรดใช้ความระมัดระวังและพิจารณาสัญญาและข้อเสนอต่างๆ อย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจเดินทางไปทำงาน เพื่อประโยชน์ของตนเองและเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการหลอกลวง

สถานทูตไทยที่มาเลเซียออกเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังชาวไทยที่เรือนจำในรัฐเปรัก


สถานทูตไทยที่มาเลเซียออกเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังชาวไทยที่เรือนจำในรัฐเปรัก


เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 นายกำธร สิทธิโชติอัครราชทูต นายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูตที่ปรึกษา และนางสาวปางมาศ วิเชียรสินธุ์ ที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้เดินทางไปยังเรือนจำเปนจารา เมืองตาปาห์ ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ 130 กิโลเมตร เพื่อเข้าเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังชาวไทย

ที่เรือนจำเปนจาราคณะของสถานทูตได้รับการต้อนรับจากผู้บัญชาการเรือนจำ และในการพบปะกับผู้ต้องขังจำนวน 15 คน นายกำธรฯ ในฐานะหัวหน้าคณะได้ปราศรัยให้ข้อคิดเตือนสติและให้กำลังใจทุกคน พร้อมทั้งได้มอบเงินสถานทูตฝากเข้าบัญชีเรือนจำให้ผู้ต้องขังทั้ง 15 ราย เพื่อเบิกจ่ายซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านค้าของเรือนจำคนละ 50 เหรียญมาเลเซีย ซึ่งภายหลังการพบปะทักทายทำให้ผู้ต้องขังทุกคนมีกำลังใจดีขึ้น และหัวหน้าพัสดีเรือนจำได้ขอบคุณคณะผู้แทนของสถานทูตที่เอาใจใส่เดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังสัญชาติไทยเป็นระยะเสมอมา ทั้งนี้คณะได้ใช้เวลาที่เรือนจำแห่งนี้ประมาณ 2 ชั่วโมง

หลังจากนั้นคณะได้ออกเดินทางต่อไปยังศูนย์กักกันตัวรอการส่งกลับลังคับของสำนักตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองตาปาห์ระยะทาง 20 กิโลเมตร โดยมีหัวหน้าศูนย์และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับคณะและได้นำผู้ถูกกักกันชาวไทย จำนวน 8 คนออกมาให้พบกับคณะ

หลังจากภารกิจเยี่ยมนักโทษและผู้ที่ถูกกักกันรอการส่งกลับแล้ว นายกำธรฯ และคณะได้เดนยทางไปเมืองอิโป เมืองหลวงของรัฐเปรักเพื่อร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ดูแลกิจการเกี่ยวข้องกับคนต่างชาติของรัฐเปรักรวม 30 คนซึ่งนายธนะ ดวงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ

ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 เอกอัครราชทูตพร้อมด้วยคณะของสถานทูตได้เดินทางไปเยี่ยมวัดสิริปุญญามรรคาราม และได้เข้านมัสการพระอธิการเลื่อง เปมสีโร พระภิกษุเชื้อชาติไทย-มาเลย์ เจ้าอาวาสวัด ปัจจุบันวัดแห่งนี้มีพระลูกวัด 1 รูป วัดนี้ถือเป็นวัดสำคัญของชาวจีนและไทย-มาเลย์ที่นับถือศาสนาพุทธในเมืองอิโป ซึ่งมีประเพณีทำบุญวันอาทิตย์แทนวันธรรมสวนะหรือวันพระ เนื่องจากวันพระมักจะตรงกับวันทำงาน ในโอกาสดังกล่าวท่านทูตธนะฯ ได้มอบปัจจัยจำนวนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกิจการของวัดด้วย

ปัจจุบันสถานทูตไทยที่มาเลเซียให้ความสำคัญกับการคุ้มครองคนไทยโดยจัดทำยุทธศาสตร์ในการสร้างความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ทางการมาเลเซียที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปเยี่ยมคนไทยที่ถูกกักกัน คุมขังตามศูนย์กักกัน และเรือนจำในรัฐต่างๆสม่ำเสมอ

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต บริการกงสุลสัญจร ครั้งที่ 4 ณ เมืองมึลไฮม์อันแดร์รัวห์







สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต บริการกงสุลสัญจร ครั้งที่ 4 ณ เมืองมึลไฮม์อันแดร์รัวห์

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ระหว่าง เวลา 10.00 -18.00 น. คณะเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต นำโดยนายฤทธิชัย ทับสุวรรณ กงสุล นางสุภัญญา เกตุตรีกร กงสุล และเจ้าหน้าที่พร้อมทีมงานสถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางไปให้บริการชาวไทย หรือบริการกงสุลสัญจร ครั้งที่ 4 ประจำปีงบประมาณ 2553 ณ เมืองมึลไฮม์อันแดร์รัวห์ ซึ่งอยู่ห่างจากนครแฟรงก์เฟิร์ต ประมาณ 238 กิโลเมตร โดยมีผู้มารอรับบริการด้านกงสุล อาทิ งานหนังสือเดินทาง งานนิติกรณ์ รับรองเอกสาร มอบอำนาจ ฯลฯ เป็นจำนวนถึง 187 คน

ในการจัดกงสุลสัญจรในครั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประสานงานท้องถิ่น และทีมงานทุกคน โดยประชาชนที่เดินทางมาใช้บริการในครั้งนี้มีความรู้สึกขอบคุณรัฐบาลไทยที่เดินทางออกให้บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการช่วยอำนวยความสะดวก อีกทั้งเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางให้แก่ชาวไทย ซึ่งพำนักอยู่ห่างไกลจากสถานกงสุลใหญ่ฯ และอาศัยกระจายกันอยู่ตามเมืองต่างๆ ในเขตอาณา

นอกจากนี้ ในปีนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ยังมีกำหนดออกให้บริการกงสุลสัญจรตามเมืองต่างๆ อีก 4 เมือง ได้แก่

1. นครมึนเช่นหรือมิวนิก (München) วันที่ 26 มิถุนายน 2553
2. เมืองบีเลอร์เฟลด์ (Bielefeld) วันที่ 10 กรกฎาคม 2553
3. เมืองเฮาสัค (Hausach) วันที่ 17 กรกฎาคม 2553
4. เมืองเอ็นดิงเง่น (Endingen) วันที่ 14 สิงหาคม 2553

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เยี่ยมแรงงานไทยที่โรงงานผลิตกระป๋องเครื่องดื่ม

คุณชาลีฯ ถ่ายภาพร่วมกับแรงงานไทยเป็นที่ระลึก
แรงงานไทยรับฟังคำปราศรัยของท่านรักษาการกงสุลใหญ่ฯ
ฝ่ายบริหารของโรงงานมาต้อนรับท่านรักษาการกงสุลใหญ่ฯและท่านอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน
รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ เยี่ยมแรงงานไทยที่โรงงานผลิตกระป๋องเครื่องดื่ม

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 เวลา 13.30 น. นายชาลี สกลวารี รักษาการกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ พร้อมด้วยนายเกรียงศักดิ์ ศรีทิพโพธิ์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตกระป๋องเครื่องดื่ม Crown Jeddah Beverage Can Factory ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุตสาหกรรม เมืองเจดดาห์ โดยมีนาย Nazih H. Al-Saadi ผู้จัดการโรงาน และนายพูลชัย บัวทองสิงห์ ผู้จัดการฝ่ายผลิต ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปเกี่ยวกับโรงงาน และนำชมขั้นตอนการผลิตภายในโรงงาน ซึ่งมีพนักงานชาวไทยปฏิบัติงานในตำแหน่งช่างเทคนิค และวิศกร รวม 13 คน

โรงงานแห่งนี้สามารถผลิตกระป๋องเครื่องดื่มได้ถึงปีละ 1.8 พันล้านกระป๋อง รักษาการกงสุลใหญ่ได้ถือโอกาสพบปะพูดคุยกับพนักงานชาวไทย โดยสอบถามถึงความเป็นอยู่สาระทุกข์สุข รวมถึงสวัสดิการที่ได้รับจากบริษัท ตลอดจนปัญหาและ อุปสรรคในการปฏิบัติงาน ซึ่งพนักงานมีความพึงพอใจกับสวัสดิการของบริษัทฯ รวมถึงการบริการของสถานกงสุลใหญ่ฯ และฝ่ายแรงงาน ในด้านต่างๆ อาทิ การต่ออายุหนังสือเดินทาง งานทะเบียนราษฎร และนิติกรณ์ต่างๆ ซึ่งพนักงานชาวไทยได้กล่าวขอบคุณรักษาการกงสุลใหญ่ และเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ที่ได้มาเยี่ยมเยียนและห่วงใยในสวัสดิภาพของพวกตน

จากการสอบถามถึงความพึงพอใจของบริษัทฯ ต่อพนักงานชาวไทย พบว่า ผู้บริหารของบริษัทฯ พึงพอใจการว่าจ้างแรงงานไทยเป็นอย่างมาก และว่า หากสถานการณ์จะเอื้ออำนวยให้มีการว่าจ้างแรงงานไทยแล้ว บริษัทฯ พร้อมจะจ้างแรงงานไทยเป็นจำนวนร้อยละ 90 จากพนักงานทั้งหมดประมาณ 300 คน

วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเชี่ยงไฮ้เชิญชวนชาวไทยทุกคนเข้าร่วมงานพิธีพระราชทานพระพุทธรูป ณ วัดจิ้งอัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้


สถานกงสุลใหญ่ ณ นครเชี่ยงไฮ้เชิญชวนชาวไทยทุกคนเข้าร่วมงานพิธีพระราชทานพระพุทธรูป ณ วัดจิ้งอัน

นายพิรุณ ลายสมิต กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ได้ประกาศเชิญชวนชุมชนชาวไทยในนครเซี่ยงไฮ้ทุกท่านร่วมรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีจะเสด็จมาเป็นประธานในพิธีพระราชทานพระพุทธรูป “พระศาสดา” ณ วัดจิ้งอัน ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2553 โดยพร้อมเพรียงกัน และโดยที่จะมีผู้เข้าร่วมในงานดังกล่าวเป็นจำนวนมาก จึงขอให้ทุกท่านเดินทางไปให้ถึงก่อน เวลา 08.00 น.

สถานกงสุลใหญ่ได้อันเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวมาประดิษฐานยังวัดจิ้งอัน เพื่อให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายร่วมสักการะบูชาในโอกาสครบรอบ 35 ปี ความสัมพันธ์ไทย – จีน

“พระศาสดา” จัดสร้างโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลก (พ.ส.ล.) เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงเป็นแบบอย่างพุทธมามกะ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมในการปกครองแผ่นดิน ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกในฝ่ายฆราวาส เป็นลำดับที่หนึ่ง และทรงมีคุณูปการต่อองค์การ พ.ส.ล. นับแต่เริ่มก่อตั้ง

ทั้งนี้องค์การ พ.ส.ล.ร่วมกับองค์กรเครือข่ายศูนย์ภาคี วัดบวรนิเวศวิหาร และพุทธศาสนิกชน จัดสร้าง พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย พุทธลักษณะ พระศาสดา หล่อด้วยโลหะปิดทอง ขนาดหน้าตัก ๑๙ นิ้ว ๑๙ องค์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวาย และขอพระราชทาน เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัด และ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ในประเทศสมาชิกที่สำคัญขององค์การ พ.ส.ล. จำนวน ๑๙ ประเทศ ประกอบด้วย เกาหลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย มาเลเซีย ศรีลังกา อินเดีย บังคลาเทศ พม่า ฝรั่งเศส ราชอาณาจักรภูฏาน สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง และประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของพระศาสดา

พระศาสดา เป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย สร้างในคราวเดียวกับ พระพุทธชินราช และ พระพุทธชินสีห์ สมัยกรุงสุโขทัย เมื่อ พ.ศ.๑๕๐๐

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดา เป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ในพระอารามหลวงมาแต่โบราณ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญเมืองพิษณุโลก มาประดิษฐานไว้ที่มุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖

ต่อมาได้ทรงพระราชดำริว่า พระศาสดา และ พระพุทธชินสีห์ เคยประดิษฐานอยู่ในพระอารามเดียวกันที่เมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นใน วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญ พระศาสดา จากวัดสุทัศนเทพวราราม มาประดิษฐานไว้ในพระวิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพ.ศ.๒๔๐๖ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้

สถานทูตไทยในสหราชอาณาจักรจัดบริการกงสุลสุญจรที่กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์

ที่ยังไม่ถึงคิวเข้ารับบริการก็ดูแลลูกๆไปพลางอยู่บริเวณหน้าอาคาร
เจ้าหน้าที่กำลังพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามที่ได้รับการร้องขอภายในห้องทำงานชั่วคราวที่จัดสำหรับให้บริการผู้มาติดต่อ ต้องยุ่งมาก ไม่มีใครสนใจกล้อง
กำลังให้บริการ
เจ้าหน้าที่กำลังลงข้อมูลคอมพิวเตอร์
ท่านทูตกิตติ วสีนนท์และภริยาสนทนากับคนไทยที่มารับบริการ

สถานทูตไทยในสหราชอาณาจักรจัดบริการกงสุลสัญจรที่กรุงดับบลิน ประเทศไอร์แลนด์


เมื่อวันที่ 12 – 13 มิถุนายน 2553 นายกิตติ วะสีนนท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ได้นำคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เดินทางไปให้บริการกงสุลสัญจร ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ในช่วงเดียวกับการจัดโครงการ Taste of Dublin และการจัดกิจกรรมของสมาคมไทย – ไอร์แลนด์ ได้แก่ งาน Thai Cultural Family Day ณ Chester Beatty Library และงานทำบุญเลี้ยงพระเนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา

ในโอกาสดังกล่าว มีคนไทยมาติดต่อขอรับบริการด้านกงสุล จำนวน 174 คน โดยเป็นผู้ร้องขอทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 116 ราย และขอรับบริการอื่นๆ อีก 58 ราย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศสหราชอาณาจักรและประเทศไอร์แลนด์ นอกจากนั้นยังเป็นจุดติดต่อกับประเทศไลบีเรียอีกด้วย การนำบริการกงสุลสัญจรเข้าไปให้บริการแก่คนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศไอร์แลนด์เป็นการอำนวยความสะดวกที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายสำหรับคนไทยที่มีความจำเป็นต้องติดต่อขอรับบริการด้านกงสุลจากสถานทูต และเป็นโอกาสที่สถานทูตจะได้ทำความรู้จัก พบปะและเยี่ยมเยียนชุมชนคนไทย รวมทั้งจัดทำทะเบียนคนไทยที่พำนักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว