วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2556

'เวิร์ก แอนด์ ทราเวล'นศ.ก็ต้องระวังภัยต่างแดนด้ว

การศึกษา-สาธารณสุข-สิ่งแวดล้อม : ข่าวทั่วไป นสพ. คม ชัด ลึก วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556
'เวิร์ก แอนด์ ทราเวล'นักศึกษาไทยก็ต้องระวังภัยต่างแดนด้วย : โดย...สุวัฒน์ แก้วสุข
ในจำนวนคนไทยกว่า 8 ล้านคนที่เดินทางไปต่างประเทศในแต่ละปีจะมีกลุ่มนักเรียน นักศึกษาจำนวนไม่น้อยรวมอยู่ด้วย จากค่านิยมในสังคมทำให้เยาวชนเหล่านี้ต้องขวนขวายดิ้นรนหาทางไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศ สำหรับเด็กที่มีทุนทรัพย์น้อยก็อาจไปเข้าคอร์สเรียนภาษา หรือฝึกงานระยะสั้นในช่วงฤดูร้อน บางคนก็เลือกไปฝึกงานในลักษณะเวิร์ก แอนด์ ทราเวล เพื่อแสวงหาประสบการณ์ใหม่
ในทุกวันนี้การเดินทางไปเรียนหนังสือของเด็กไทยจึงเป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งตัวผู้ปกครองเองต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับรายละเอียดต่างๆ อย่างจริงจัง จะเพิกเฉยละเลยไม่ได้เด็ดขาด เพราะการปล่อยให้เยาวชนเดินทางไปต่างประเทศโดยลำพังอาจกลายเป็นคราวเคราะห์ที่สุ่มเสี่ยงต่ออันตรายได้ทุกเมื่อเช่นกัน
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 คณะเจ้าหน้าที่ของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกเดินทางไป จ.มหาสารคาม พร้อมกับมูลนิธิกระจกเงา เพื่อจัดกิจกรรม เวทีแคมปัสสัญจรก่อนตัดสินใจเดินทางไปต่างประเทศ ร่วมกับคณาจารย์และนิสิตนักศึกษา ประมาณ 250 คน ที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการพูดคุยกันหลายเรื่องในตลอดช่วงเช้าของวันนั้น ประเด็นหนึ่งที่นักศึกษาทั้งชายและหญิงให้ความสนใจกันมากคือการเดินทางไปฝึกงานในลักษณะเวิร์ก แอนด์ ทราเวล ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
การเดินทางไปฝึกงานแบบนี้กำลังเป็นแฟชั่นนิยมในหมู่นักศึกษาทั่วประเทศ หลายคนเล่าให้ฟังว่าไปแล้วได้ประโยชน์หลายอย่าง ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคมของประเทศที่เจริญ ได้พูดภาษาอังกฤษ และที่สำคัญมีโอกาสทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเองในสังคมของฝรั่งด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีบริษัทเอเยนซีต่างๆ ผุดขึ้นมาทำธุรกิจประเภทนี้ราวกับดอกเห็ด โฆษณาแข่งกันราวกับเป็นนายหน้าจัดส่งนักเรียนไปต่างประเทศ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่านี่เป็นนักศึกษาหรือกรรมกรผู้ใช้แรงงานกันแน่
ท่านกงสุลใหญ่ พรพรรณ บัวเกิด และคุณภัทธิรา เจียมปรีชา ผู้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรในวันนั้นพยายามชี้แนะเตือนภัยรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกับวงการนักศึกษาปัญญาชนบ้านเราว่า โครงการเวิร์กแอนด์ ทราเวล เป็นธุรกิจเต็มตัวที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องเจรจาต่อรองกันให้ได้ประโยชน์คุ้มค่ากันทั้งสองฝ่าย
การไปฝึกงานลักษณะนี้จึงมีประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวังและตรวจสอบอย่างรอบคอบ ดังนี้ ความน่าเชื่อถือของบริษัท อาทิ เป็นบริษัทถูกกฎหมายหรือไม่ เคยมีปัญหาหรือไม่ ตลอดจนเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือใหญ่ มีเครือข่ายติดต่อธุรกิจอย่างไรบ้างข้อสัญญาและเอกสารประกอบต่างๆ ต้องตรวจกันให้อย่างละเอียด ไม่ว่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ข้อตกลงการทำงาน รายได้ การชำระภาษี เรียกว่าต้องให้เคลียร์ก่อนชำระเงินทุกบาททุกสตางค์
การประกันชีวิตและสุขภาพที่ครบถ้วนรัดกุมการอนุมัติวีซ่า การหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ ข้อควรระวัง และอื่นๆ ที่นักศึกษาจะคิดขึ้นมาได้
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะที่ผ่านมามีกรณีปัญหาเกิดขึ้นนับไม่ถ้วน เป็นต้นว่าก่อนจะเดินทางไปบริษัทสัญญาไว้อย่างหนึ่ง แต่พอไปถึงสหรัฐอเมริกากลับกลายเป็นอีกอย่าง ไม่เป็นไปตามคำพูดหรือคำสัญญาเลย
กรมการกงสุลได้ยกตัวอย่างกรณีนักศึกษาหญิงที่ไปเวิร์ก แอนด์ ทราเวล รายหนึ่งต้องเผชิญกับเคราะห์ร้ายถึงชีวิต เพราะหลังจากทำงานเป็นแม่บ้านหรือพนักงานทำความสะอาดในโรงแรมทั้งวันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย เลิกงานเกือบค่ำ เธอเดินข้ามถนนท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บและด้วยความเคยชินจากการข้ามถนนในเมืองไทยทำให้เธอหันหน้าดูรถราผิดทิศทาง เธอถูกรถชนเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจจนเป็นความสูญเสียอันใหญ่หลวงของทั้งบิดามารดาและครอบครัว
แม้เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ไม่เจตนาและอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่ถึงกระนั้นก็ตามเรื่องอย่างนี้ทุกคนอาจช่วยกันหลีกเลี่ยงหรือหาทางลดความเสี่ยงอันตรายลงได้ ถ้านักเรียนหรือบุตรหลานของเรามีการเตรียมตัวล่วงหน้าก่อนการเดินทางเป็นอย่างดี ทั้งตัวของนักศึกษา บิดามารดา ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายต่างก็มีส่วนช่วยป้องกันภัยข้างต้นไม่ให้มันเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น
.........................

( 'เวิร์ก แอนด์ ทราเวล'นักศึกษาไทยก็ต้องระวังภัยต่างแดนด้วย : โดย...สุวัฒน์ แก้วสุข)
ผู้อำนวยการ
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

อาชีพที่ซาอุฯ ห้ามคนต่างชาติทำ

       ในขณะนี้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนกำลังตื่นตัวในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยว การเดินทางขนส่ง มาตรฐานสินค้าและบริการ ความมั่นคงของประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เข้าใจกฎระเบียบ ประเทศต่างๆ ในการต้อนรับชาวต่างชาติ หรือเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ 

       สถานอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบียได้มีประกาศตำแหน่งงานต่างๆ ที่สงวนไว้สำหรับชาวซาอุดีอาระเบียเท่านั้น เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจและไม่ถูกหลอกให้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ดังนี้ 

1  ผู้จัดการบริหารทรัพยากรบุคคล( Executive HR manager)
2  ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR manager)
3  ผู้จัดการด้านแรงงาน (Labor affairs manager)

4  ผู้จัดการด้านธุรการ (Staff relations manager)

5  ผู้เชี่ยวชาญงานธุรการ (Staff relations specialist)
6  พนักงานเสมียนธุรการ (Staff relations clerk)
7  พนักงานรับสมัครงาน (Recruitment clerk)
8  พนักงานกิจการบุคคล (Staff affairs clerk)
9  เสมียนควบคุมการเข้าร่วมประชุม ( Attendance control clerk)
10 พนักงานต้อนรับ (ทั่วไป) (Receptionist (general)
11 พนักงานต้อนรับโรงแรม (Hotel receptionist)
12 พนักงานต้อนรับผู้ป่วย ( Health receptionist)
13 พนักงานรับเรื่องร้องเรียน ( Claims clerk)
14 เลขานุการด้านการเงิน  (Treasury secretary)
15 พนักงานรักษาความปลอดภัย (Security)
16 นายหน้า(ตัวแทน) ติดต่อ/เดินเรื่อง  (Broker)
17 ช่างกุญแจ  (Key specialist)
18 นายหน้า(ตัวแทน) ด้านศุลกากร (Customs broker)
19 พนักงานขายสินค้าสตรี (Female sales specialists (women only)

อ้างอิง http://www.thaiembassy.org/riyadh/th/thai-people/35804-อาชีพที่ซาอุฯห้ามคนต่างชาติทำ.html#.Ua8dJP7bcPI.facebook

ด้วยความปรารถนาดีจาก 
สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงริยาด
http://www.thaiembassy.org/riyadh/th/
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052

วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

กงสุลไทยพาญาติเยี่ยมนักโทษประหารที่รัฐกลันตัน

ด่านตรวจคนเข้าเมืองสุไหงโกลก    ๒๐  สิงหาคม  ๒๕๕๖  เวลา  ๐๗.๐๐ น.
                               ในช่วงเช้าตรู่ของวันนั้นมีคนไทยกลุ่มหนึ่ง  ส่วนใหญ่เป็นสตรีเด็กหญิง เด็กชาย และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่ของอำเภอตากใบและอำเภอเจาะไอร้อง  จังหวัดนราธิวาส รวมทั้งหมด  ๑๔  คน พากันเดินเท้าผ่านด่านชายแดนไปขึ้นรถมินิบัส ๒ คัน ของสถานกงสุลใหญ่  ณ  เมืองโกตาบารู ที่จอดรออยู่ตรงหน้าด่านฝั่งมาเลเซีย   ภายในเวลาไม่นานนักรถยนต์ทั้งสองคันก็เคลื่อนออกจากด่าน...แล่นมุ่งหน้าไปยังเรือนจำมาจาง  รัฐกลันตัน  ประเทศมาเลเซีย
                               คณะคนไทยข้างต้นเป็นพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส  เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้พวกเขาได้รับการติดต่อจากทางศาลากลางจังหวัด ให้เตรียมตัวเดินทางไปประเทศมาเลเซียเพื่อเยี่ยมญาติ  ๖  คนซึ่งปัจจุบัน ต้องโทษรอการประหารชีวิตอยู่ที่เรือนจำของรัฐกลันตัน
                              ญาติของพวกเขามีสถานภาพเป็นนักโทษในคดียาเสพติด  แต่ในขณะเดียวกันก็มีฐานะเป็นทั้งสามีพ่อของลูก และหัวหน้าครอบครัวของคนไทยกลุ่มนี้ด้วย
                               การเดินทางข้ามแดนข้างต้นได้รับความอนุเคราะห์จากนายจักรกฤษณ์ กาญจนศูนย์ กงสุลใหญ่  ณ  เมืองโกตาบารู ผู้ทำหน้าที่เป็นแม่งานช่วยอำนวยความสะดวกในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าการติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ   จัดหารถราพาหนะ  ดูแลอาหารการกิน  ตลอดจนจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อนำไปมอบให้แก่นักโทษตามระเบียบที่เรือนจำอนุญาต ในอีกแง่หนึ่งนักโทษชายทั้ง  ๖  รายในเรือนจำของรัฐกลันตันมีฐานะเป็นคนไทยผู้ตกทุกข์ได้ยากในเขตอาณาภายใต้การดูแลช่วยเหลือของท่านกงสุลใหญ่ด้วย
                        คณะญาติของนักโทษเดินทางถึงเรือนจำมาจางในช่วงสายของเช้าวันนั้น  การขออนุญาตเข้าเยี่ยมตามระเบียบดำเนินไปอย่างราบรื่นด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่มาเลเซียซึ่งรอต้อนรับและจัดเตรียมสถานที่ให้นักโทษไทยได้พบปะกับภรรยา บุตร และญาติพี่น้องอย่างอบอุ่น  นักโทษหลายคนขาดหายจากครอบครัวที่เมืองไทยเป็นเวลานานหลายปี  
                       สิ่งที่ได้เห็นเป็นภาพชีวิตที่ทำให้ตื้นตันจนยากจะบรรยายเป็นคำพูดออกมาได้   สีหน้าของนักโทษแจ่มใสและมีรอยยิ้ม  พวกเขากล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ราชการของไทยด้วยน้ำเสียงที่จริงใจ  แม้ว่าชะตากรรมในวันข้างหน้ายังคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  แต่ความอบอุ่นและอารมณ์ที่ผ่อนคลายในโอกาสอย่างนี้สามารถช่วยให้พวกเขามีกำลังใจที่จะต่อสู้เพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างไม่ท้อแท้สิ้นหวัง
           ท่านกงสุลใหญ่เล่าให้ฟังด้วยว่า  ท่านติดตามสถานการณ์ของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซีย อย่างใกล้ชิด เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนไม่น้อยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียจับกุมในข้อหาหนักและเบา  เช่น  การลักลอบเดินทางไปทำงาน  ปัญหาหญิงไทยถูกหลอกลวงไปค้าประเวณี  และที่หนักหนาที่สุดคือการลักลอบขนยาเสพติดประเภทต่างๆ ไม่ว่า กัญชา  ใบกระท่อม ยาบ้า เฮโรอีน โคเคน ฯลฯ เพราะโทษทัณฑ์ฐานข้องแวะกับยาเสพติดนั้นรัฐบาลมาเลเซียมีบทลงโทษที่รุนแรงมาก  ขนยาเพียงไม่กี่กรัมก็อาจต้องโทษถึงขั้นประหารชีวิต  ปัญหานี้คนไทยทุกคนจึงต้องระวังตัวให้จงหนัก
โครงการพาญาติไปเยี่ยมนักโทษไทยของสถานกงสุลใหญ่  ณ  เมืองโกตาบารู เป็นภารกิจสำคัญตามนโยบายการทูตเพื่อประชาชนของกระทรวงการต่างประเทศ  ที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ  แม้ว่าคนไทยจะมีสถานภาพเป็นนักโทษคดีอุกฉกรรจ์  แต่การดูแลด้านมนุษยธรรมตามสิทธิอันพึงได้ตามกฏหมายถือเป็นหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ...  เพราะอย่างไรพวกเขาเหล่านั้นก็เป็นพี่น้องคนไทยเหมือนกับพวกเรา
                                                                ………………………..
  
ภาพ ๑  คณะเจ้าหน้าที่ของเรือนจำให้การต้อนรับญาติของนักโทษไทย


ภาพ  ๒   ห้องเยี่ยมนักโทษ


ภาพ  ๓   กงสุลใหญ่ จักรกฤษณ์  กาญจนศูนย์   ขอบคุณผู้บริหารเรือนจำรัฐกลันตัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู
http://www.thaiembassy.org/kotabharu/
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
www.consular.go.th
หนังสือคู่สร้างคู่สม ปีที่ 34 ฉบับที่ 814 ศุกร์ที่ 13 กันยายน 2556 หน้าที่ 42 - 43




วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

มาเลเซียกวาดล้างแรงงานต่างด้าว

ประเทศมาเลเซียมีนโยบายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศมาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียได้ออกตรวจจับแรงงานในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐสลังงอร์ รัฐปีนัง และรัฐยะโฮร์  จำนวนมากกว่า 40 ครั้ง มีแรงงานเถื่อนถูกจับกุมกว่า 2,400 คน
มาเลเซียตั้งเป้าหมายเป็นประเทศปลอดแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฏหมาย และมุ่งปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งสำหรับผู้กระทำผิด ทางการกำหนดบทลงโทษในข้อหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย คือ ปรับ 50,000 – 500,000 ริงกิต (ประมาณ 500,000 – 5,000,000 บาท) และโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี เมื่อพ้นโทษแล้วจะถูกเนรเทศกลับประเทศต้นทางทันที
ผลการกวาดล้างครั้งนี้มีชาวอินนีเซียถูกจับกุมมากที่สุดถึง 717 คน แต่มีข้อสังเกตว่าแรงงานไทยถูกจับกุมน้อยมาก แม้ว่าในปัจจุบันมีคนงานไทยเข้ามาทำงานที่โรงงานอุตสาหกรรมและสวนยางตามแนวชายแดน ไทย – มาเลเซีย ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่มีการจ้างงานอย่างถูกต้อง โดยบางส่วนอาจเป็นแบบเช้าไป - เย็นกลับ รับค่าจ้างเป็นรายวัน หรืออยู่เพียง 1 เดือน ก็กลับไปและเข้ามาใหม่ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องอยู่เกินกำหนดมากนัก
ปัจจุบันประเทศไทยและมาเลเซียกำลังเจรจาทำร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดระเบียบแรงงานของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ดี คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในมาเลเซียต้องเพิ่งความระมัดระวังตัวให้มากขึ้น อย่าให้ถูกมิจฉาชีพหลอกลวง หรือหลงเชื่อคำชักชวนโดยไม่ตรวจสอบเงื่อนไขการทำงานให้ถี่ถ้วนก่อน และเมื่อใดที่ประสบปัญหา ก็ขอให้รีบติดต่อกับสถานทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อจะได้ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที          
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองปีนัง
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ

กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052