วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความผิดที่ไม่ได้ก่อ : การทำประมงผิดกฎหมาย

           
                 
                อาชีพพื้นบ้านของคนไทยนอกเหนือจากชาวไร่ชาวนาแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำอาชีพประมงก็เป็นหนึ่งในอาชีพพื้นบ้านที่คนไทยประกอบอาชีพกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เมื่อมีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น การทำประมงก็สามารถทำรายได้เป็นกอปเป็นกำจากการจับปลาที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแรงงานประมงก็ยิ่งเป็นที่ต้องการทำให้มีการล่อลวงคนลงเรืออยู่บ่อยครั้ง มีทั้งคนที่รู้และผู้ที่ถูกหลอกลวงให้ลงเรือเพื่อทำประมงผิดกฏหมาย เพราะรายได้ดีนายหน้ารับปากจะส่งเงินให้ครอบครัว ลงเรือไม่กี่ปีก็สามารถซื้อบ้านซื้อรถให้อยู่สุขสบาย กรณีที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้ต้องหวนคิดใหม่สำหรับผู้ที่กำลังตัดสินใจลงเรือ
                เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ได้เข้าพบกับรองอัยการ ประจำ จ. เกียนยาง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคดีเรือไทยกระทำความผิดฐานลักลอบค้าน้ำมันกลางทะเล ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมทางทะเลของเวียดนามเพื่อหารือผลการพิจารณาคดีพร้อมยื่นหนังสือขอให้พิจารณาคดีลูกเรือทั้ง 8 คน ด้วยความเห็นใจและขอจ่ายค่าปรับเพื่อปล่อยตัวลูกเรือ ทางฝ่ายอัยการได้ให้ข้อมูลว่า ได้สรุปสำนวนเสร็จแล้ว ซึ่งในความผิดนี้ลูกเรืออาจได้รับโทษทั้งจำและปรับ โดยโทษขั้นต่ำตั้งแต่ 12 ปีถึงตลอดชีวิต อัยการได้แจ้งว่า ลูกเรือทั้งหมดได้ยอมรับสารภาพต่อตำรวจสืบสวน จ. เกียงยางว่าได้กระทำการมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความสัมพันธ์อันดีระหว่าง 2 ประเทศ ประกอบกับ ลูกเรือที่กระทำผิดข้างต้นเป็นคนต่างชาติไม่ทราบกฎหมายเวียดนาม สนง. อัยการ จ. เกียงยาง จะนำเสนอต่อศาลเพื่อขอให้ลูกเรือได้รับการพิจารณาโทษสถานเบา สำหรับทรัพย์สินที่ยึดได้มาพร้อมเรือ ทางการ จ. เกียงยาง ได้ขายน้ำมันเถื่อนของกลางในเรือเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาทไทย ยังไม่นับรวมตัวเรือที่ยึดไว้และยังไม่ได้ประเมินราคา มาตราการตอบโต้การกระทำผิดกฎหมายทางทะเลของชาติอื่นเช่น ทางการอินโดนีเซียที่จมเรือประมงไทยทิ้งกว่า 10 ลำกลางทะเล ทางการเวียดนามได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของเรือมาติดต่อเพื่อนำเรือคืน จึงได้แจ้งไปว่าอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนจำเป็นต้องยึดไว้เป็นของกลาง หากพบว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็อาจจะให้คืนเรือ โดยชำระค่าปรับ สถานกงสุลใหญ่ฯ ยืนยันเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือลูกเรือกลุ่มนี้โดยคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม และจะประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
                ข้อสังเกตจากสถานกงสุลใหญ่ฯ
1.     เรื่องนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมายของบุคคลที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ส่งผลกระทบเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศและชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้อง ลูกเรือที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะฐานะยากจนจึงมาประกอบอาชีพเสี่ยงภัยและบางรายเสียชีวิตเพราะสภาพความเป็นอยู่ในคุก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสะเทือนใจ
2.     พฤติการณ์ของนายหน้ามักจะหลอกหลวงว่าจะพาไปลงเรือประมงลากอวนหาปลา จากปากคำของลูกเรือผู้ตกทุกข์เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือว่าเป็นเรือน้ำมันขนาดใหญ่ มีเรือแม่อยู่ประเทศสิงคโปร์ โดยจะค้าน้ำมันในแถบประเทศเพื่อนบ้าน
3.     ลูกเรือทั้งหมดแจ้งว่าได้รับการชักชวนให้ไปทำงานบนเรือ โดยลงเรือเล็กจากแพปลาข้างเทศบาลสงขลา ออกทะเลไปประมาณ 2 วัน จึงไปขึ้นเรือใหญ่กลางทะเล พบว่ามีการเปลี่ยนลูกเรือชุดเดิมกลางทะเล มีเพียงบางคนทราบว่าจะไปทำงานบนเรือค้าน้ำมัน แต่ส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าเรือดังกล่าวเป็นเรืออะไร และไม่ทราบผู้ว่าจ้างที่แท้จริง รวมทั้งเอกสารประจำเรือไม่มีเอกสารตัวจริง จึงอาจตั้งเป็นหนึ่งในข้อสังเกตสำหรับผู้ที่ประสงค์จะลงเรือประมงทำงานได้ว่า หากเรือลำใดไม่มีเอกสารตัวจริงประจำเรือให้ตั้งข้อสงสัยไว้ว่าท่านอาจกำลังถูกหลอกลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์                                                      4.      ลูกเรือเกือบทุกคนมีประสบการณ์ทำงานบนเรือ ก่อนหน้าที่จะลงเรือครั้งนี้ ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป หรือว่างงาน เมื่อมีผู้ชวนไปทำงานบนเรือจึงตกลงรับงาน  
(ขอบคุณภาพจาก http://www.theguardian.com/)



สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์
http://www.thaiembassy.org/hochiminh

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


การขอวีซ่าทำงาน (Work Visa) ประเทศติมอร์-เลสเต

             ด้วยกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ว่า ปัจจุบัน คนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศติมอร์-เลสเตสามารถทำ Visa on Arrival ที่สนามบินกรุงดิลี ประเทศติมอร์-เลสเต โดยมีค่าธรรมเนียมประมาณ 30   ดอลล่าร์สหรัฐ และสามารถขอต่ออายุได้อีก 30-60 วัน โดยพำนักอยู่ได้คราวละไม่เกิน 90 วัน อย่างไรก็ดี ขณะนี้คนไทยที่ต้องการเดินทางมาทำงานที่ประเทศติมอร์-เลสเต หลังจากทำ Visa on Arrival แล้ว ต้องรีบดำเนินการเพื่อขอ Work Visa ภายใน 90 วัน โดยต้องเตรียมเอกสารสำคัญจากไทยมายื่นประกอบ ดังนี้ 1. ใบรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2. ใบรับรองแพทย์ 3. หนังสือจากบริษัทที่ว่าจ้างจากประเทศติมอร์  -เลสเต ซึ่งได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือของประเทศติมอร์-เรสเต หลังจากนั้น กรมตรวจคนเข้าเมืองจะดำเนินการตรวจ     ลงตราให้ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เข้มงวดมากขึ้นในปี 2559

ดังนั้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว หากผู้ยื่นเอกสารเตรียมเอกสารขอตรวจลงตรามาจากประเทศไทยให้เรียบร้อยเสียก่อน ก็จะช่วยลดปัญหาเรื่องความล่าช้าได้ดียิ่งขึ้น 


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงดิลี
http://www.thaiembassy.org/dili/th/home

กองคุ้มครอง
และดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular

ไปเมืองนอก “ประกันการเดินทาง” จำเป็นจริงหรือ ?

ปัจจุบัน คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวหรือพักผ่อนระยะสั้น ๆ ในต่างประเทศเป็นจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเริ่มวางแผนการเดินทางก็  คือ ซื้อประกันการเดินทางดีหรือไม่  


หลายคนถามญาติ หลายคนถามผู้ที่เคยมีประสบการณ์การเดินทางไปต่างประเทศมาก่อนว่า ประกันการเดินทางมีความสำคัญขนาดนั้นเลยหรือ ซึ่งคำตอบก็มักหลากหลายกันไป คนที่ดวงเฮง บินสิบครั้งไม่เคยเจอเหตุการณ์แปลก ๆ เลยก็มีไม่น้อย แต่หากเป็นผู้ที่เคยตกทุกข์มาก่อนซึ่งจำนวนตัวเลขพุ่งสูงขึ้นทุกปีนั้น ย่อมต้องให้เลือกทำประกันไว้ก่อน เข้าตำรากันไว้ดีกว่าแก้แน่ ๆ มิเช่นนั้นอาจเจอกับเรื่องไม่คาดฝันสองเด้งในคราวเดียวแบบกรณีที่จะเล่าต่อไปนี้ก็เป็นได้

ด้วยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ประจำประเทศญี่ปุ่น ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ Hotline ศูนย์ดำรงธรรมฯ ว่า คุณป้าและสามีซึ่งเป็นคนไทยทั้งคู่ ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่จังหวัดโตเกียว ในระหว่างการท่องเที่ยว จู่ๆ สามีของคุณป้ามีอาการเหนื่อยมาก หายใจไม่ออก จึงนำส่งโรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่า กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องทำการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตโดยด่วนที่สุด คุณป้าจึงเซ็นต์อนุญาตให้ทำการผ่าตัด ขณะนี้ การผ่าตัดผ่านพ้นไปด้วยดี แต่อย่างที่เกริ่นไปตอนแรก เรื่องไม่คาดฝันเรื่องที่สองก็ตามมาจี้หลังคุณป้าแบบติดๆ นั่นคือเรื่อง ใบเสร็จค่าใช้จ่ายในการรักษาจากโรงพยาบาล ซึ่งมียอดรวมราว 2,400,000 เยน ซึ่งคุณป้าแจ้งว่าตนมีเงินไม่พอที่จะจ่ายเต็มจำนวน ซึ่งทางโรงพยาบาลยืนยันให้ชำระในครั้งเดียว เนื่องจากไม่มั่นใจว่าจะได้เงินคืนเต็มจำนวน สถานกงสุลใหญ่ฯ ใช้เวลาในการเจรจาต่อรองเป็นเวลาถึงครึ่งวัน ทางโรงพยาบาลจึงยอมรับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบผ่อนส่งเป็นสองงวด โดยขอให้ผู้ป่วยโอนเงินให้หลังจากเดินทางกลับประเทศไทย ภายใน 2 เดือน

จะเห็นว่า จากทริปท่องเที่ยวพักผ่อนสั้นๆ กลับกลายเป็นบทเรียนความทรงจำฝังใจไปเสียแล้ว ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากับคนไทยในลักษณะเดียวกับกรณีนี้ ขอแนะนำให้นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปต่างประเทศจัดทำประกันการเดินทางให้ครอบคลุมอุบัติเหตุและการเจ็บป่วย เพื่อลดภาระทางการเงินในกรณีที่ประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วย อีกทั้งบางกรมธรรม์ยังคุ้มครองผู้ทำประกันกรณีเกิดความเสียหาย หรือสูญเสียสัมภาระในการเดินทาง ความล้าช้าในการเดินทาง กระเป๋าเดินทางมาถึงช้า เงินและเอกสารสูญหาย เป็นต้น ซึ่งเบี้ยประกันก็ไม่แพงเลย อีกทั้งมีความหลากหลายเพื่อให้ตรงกับลักษณะการเดินทางและงบประมาณของเราด้วย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา
http://www.thaiconsulate.jp/th

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ไทยแย่งนวดเกาหลี ม็อบต้านสถานทูตฯ

            ประท้วง ! นวดที่โสมขาวแย่งงานคนพิการ ด้วยเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ว่า สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดประเทศเกาหลีใต้ ได้เรียกร้องและยื่นข้อเสนอให้ฝ่ายไทยพิจารณาออกนโยบายปราบปรามและลงโทษหญิงไทยที่ลักลอบทำงานนวดในเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นอาชีพสงวนของคนตาบอดที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ นั้น
            สถานการณ์การลักลอบทำงานนวดในเกาหลีใต้ เริ่มมีหญิงไทยเดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้เมื่อปี พ.ศ. 2543 เพื่อลักลอบทำงานนวด และในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนหญิงไทยได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีประมาณ 50,000 คน กระจายตัวทำงานในร้านนวดจำนวน 165 แห่งที่มีชาวเกาหลีใต้เป็นเจ้าของ หญิงไทยดังกล่าวเดินทางเข้าเกาหลีใต้ โดยถือวีซ่าประเภทนักท่องเที่ยวซึ่งสามารถพำนักในเกาหลีใต้ได้ 90 วัน ตามความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ โดยมีนายหน้าคนไทยจัดส่งให้เดินทางมากับทัวร์ และมีนายหน้าเกาหลีใต้มารับไปอีกต่อหนึ่งโดยส่งต่อให้ร้านนวดต่างๆ ซึ่งหญิงไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่นายหน้ารวมประมาณ 3,000,000 วอน/คน
            ที่ผ่านมา สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพนวดประเทศเกาหลีใต้ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าได้พยายามดำเนินการทุกทางต่อรัฐบาลเกาหลีใต้ เพื่อให้สงวนอาชีพนวดแก่ผู้พิการทางสายตา อีกทั้งเคยนำคนตาบอดจำนวน 250,000 คนทำการประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2549 ในการประท้วงดังกล่าวมีผู้พิการทางสายตาหลายคนใช้วิธีกระโดดน้ำฆ่าตัวตายที่แม่น้ำฮัน เพื่อแสดงเจตจำนงหากผู้พิการถูกคุกคามทางอาชีพก็จะขอตายเสียดีกว่า
            การประท้วงครั้งนี้มีลักษณะรุนแรงและก้าวร้าว แกนนำและผู้ชุมนุมพร้อมที่จะเดินขบวนมาชุมนุมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูต หากการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ แต่เมื่อการหารือดำเนินไปด้วยมิตรไมตรีระหว่างกันในการที่จะร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานานนี้ต่อไป จึงทำให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมอย่างสงบเรียบร้อย

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้ทำการประชาสัมพันธ์เผยแพร่เพื่อแนะนำหญิงไทยมิให้เดินทางเข้ามาลักลอบทำงานนวดในเกาหลีใต้ เนื่องจากผิดกฏหมายและเป็นอาชีพที่สงวนไว้เฉพาะผู้พิการทางสายตาชาวเกาหลีใต้ที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น จึงสามารถถูกจับกุม เนรเทศ หรือบังคับให้ออกจากประเทศ และได้รับโทษตามกฎหมายได้รวมทั้งหญิงไทยมักประสบปัญหาต่างๆเช่น การข่มขืน ทำร้ายร่างกาย ฉ้อโกงทรัพย์สิน เป็นต้น


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
http://www.thaiembassy.org/seoul

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ประกาศ : ขอความช่วยเหลือติดตามหาญาติ


            ด้วยเมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม 2558 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้รับการติดต่อจากนาง Joyce Kato, Investigator, Los Angeles County Medical Examiner – Coroner มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ว่า นาย Seubwong Seubswartpuckdi (สืบวงศ์ สืบสวัสดิภักดี) บุคคลสัญชาติไทยและสัญชาติอเมริกัน อายุ 68 ปี เกิดเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2489 พบว่าได้เสียชีวิตที่บ้านพัก เลขที่ 13081 ถนน Rangoon เมือง Alerta  มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2558 ในการนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ตรวจสอบตามหลักฐานทราบว่าบิดามารดาของผู้ตายมีชื่อว่า นาย Chearanai Seubswartpuckdi (เจียระไน สืบสวัสดิภักดี) และนาง Lag Seubswartpuckdi (หลัก สืบสวัสดิภักดี) ทั้งนี้ ผู้ตายได้แต่งงานกับนาง Jacqueline L. (Swanson) Seubswartpuckdi (ปัจจุบันนาง Jacqueline ได้เสียชีวิตไปแล้ว) โดยทั้งคู่เคยอาศัยอยู่ที่รัฐ Texas และไม่มีบุตรจากการแต่งงาน
ทางกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศจึงขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์เพื่อติดตามหาญาติของนาย Seubwong Seubswartpuckdi (สืบวงศ์ สืบสวัสดิภักดี) เพื่อดำเนินการทางด้านเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ญาติสามารถติดต่อกลับมาได้ที่ กองคุ้มครองฯ กรมการกงสุล โทร. 02-575-1047-51 หรือติดต่อที่ Ms. Joyce Kato, Investigator, Los Angeles County Medical Examiner – Coroner ที่อยู่ 1104 N. Mission Road, Los Angeles, CA 90033 โทร. (+1) 323-343-0755 email: jkato@coroner.lacounty.gov ทั้งนี้จะต้องแสดงหลักฐานการเป็นญาติที่แปลและรับรองจากทางการไทย หากญาติจะมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน บุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจะต้องร้องขอต่อศาลของ County of Los Angeles ในการให้อำนาจดำเนินการแทน เนื่องจาก County ไม่รับเอกสารการมอบอำนาจจากประเทศไทย

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
http://www.thaiconsulatela.org

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


ประกาศเตือน การใช้วีซ่าผิดวัตถุประสงค์



          เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2558 กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล ได้รับรายงานจาก สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ เรื่องหญิงไทยได้เข้าไปทำงานร้านนวดในเมืองมุมไบ/ปูเน่ รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย โดยวีซ่านักท่องเที่ยว (Tourist Visa) และ วีซ่าธุรกิจ (Business Visa) ทั้งๆที่ในวีซ่าดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไม่อนุญาตให้ทำงาน (Employment Prohibited) นั้น
              การทำงานดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมายของประเทศอินเดีย ซึ่งได้กำหนดให้ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในประเทศอินเดียจะต้องมีรายได้ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี (ประมาณ 60,000 บาท/เดือน) ขึ้นไปจึงจะได้รับวีซ่าทำงาน (Employment Visa) การลักลอบทำงานโดยผิดประเภทวีซ่านั้นมีความผิดซ้ำร้ายบางรายได้ทำงานแอบแฝงค้าประเวณี ส่งผลในช่วงที่ผ่านมามีเหตุการณ์หญิงไทยถูกจับ/มีความเกี่ยวพันกับกระบวนการค้ามนุษย์ในอินเดียเพิ่มสูงขึ้น บ่อยครั้งหลังจากถูกส่งตัวกลับไปประเทศไทยก็กระทำความผิดซ้ำด้วยวิธีการเดิมอีก ทำให้ทางการอินเดียมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการตรวจคนเข้าเมืองและการปล่อยตัวเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์กลับประเทศ นอกเหนือจากนั้นยังกระทบถึงภาพพจน์ที่ดีของประเทศไทยและนักเรียนนักศึกษาที่เดินทางมาศึกษาต่อในประเทศอินเดีย


สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
http://www.thaiembassy.org/mumbai

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular

Work and Travel : ศึกษาข้อมูลใครว่าไม่สำคัญ !



     ปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการธุรกิจจัดทำโครงการ Work and Travel โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสหาประสบการณ์การทำงานพิเศษในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน แต่ปรากฏในภายหลังว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น สถานที่ทำงาน จำนวนชั่วโมงทำงาน ค่าตอบแทน ที่พักอาศัยระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ เป็นต้น ทำให้นักเรียน/นักศึกษาได้รับความเดือดร้อน และเสียหาย
            เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 58 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ได้รับคำร้องเรียนทางไปรษณีย์อิเล็คทรอนิกส์จากนายอ่าง (นามสมมุติ) แจ้งว่าตนได้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel กับเอเยนต์จัดหางานโครงการ Work and Travel โดยบริษัทดังกล่าวได้จัดหางานให้ตนเลือก ซึ่งตนรับทำงานเกี่ยวกับการบริการรับส่งผู้โดยสารบนรถราง บริเวณชายหาดในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ตนไม่ได้รับความยุติธรรมและถูกเอาเปรียบจากหัวหน้าในการทำงาน จนเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติงาน อีกทั้งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลหลังจากที่ตนได้รับบาดเจ็บ เมื่อสอบถามถึงรายละเอียดนายอ่างได้เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า    ตนไปโครงการโดยวีซ่าประเภท J-1 ทางบริษัทนายหน้าได้จัดการติดต่อประสารงานกับนายจ้างประเทศสหรัฐอเมริกาให้มีองค์กรกลางที่ดูแลนักศึกษา คือ CIEE โดยมีการสัมภาษณ์ เลือกงาน จองงาน ชำระเงินครบถ้วนถูกต้องทุกขั้นตอน (.... ฟังถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดีเพราะทุกกระบวนการโปร่งใสมีหลักฐานยืนยันแต่.....) ครั้งแรก ผมมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเวลาการทำงาน ในการทำงานจะเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องไม่มีเวลาพักเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผมมาก ผมหิวแต่ก็มีเวลาช่วงสั้น ๆ 2-3 นาทีในการที่จะหาอะไรประทังความหิว เวลาดังกล่าวคือเวลาที่รถแต่ละคันเข้ามาจอดรอสัญญาณไปเขียวเพื่อออก เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเตรียมตัวปฏิบัติงานตลอดเวลา นายอ่างเล่าต่อว่า ผมเคยร้องเรียนไปยัง CIEE ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่ดูแลผม แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แถมมีอีเมลล์แนบท้ายไม่ให้ผมออกจากงาน พอผมส่งไปหานายหน้าในประเทศไทย ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงอ้างว่าเป็นเรื่องของการปรับตัวโดยให้เหตุผลว่าน้อง ๆ คนอื่นยังไม่เห็นมีปัญหาในวันที่เกิดอุบัติเหตุ นายอ่างได้รับหน้าที่ทำงานในตำแหน่งพนักงานให้สัญญาณเดินรถที่ท้ายขบวน ซึ่งความจริงแล้วเมื่อครบรอบการเดินรถ 1 รอบจะต้องเปลี่ยนหน้าที่กับคนขับรถรางสลับกันทำงาน ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับจากผู้จัดการ ผมทำหน้าที่คนให้สัญญาณรถ 4 รอบติดไม่มีพัก ไม่มีสลับ ผมถามคนจัดคิวแล้วว่าแน่ใจเหรอนอกจากนี้นายอ่างได้ทักท้วงคนจัดคิวแล้วว่าตนมีอาการปวดล้าบริเวณหลัง เพราะรอบ ๆ หนึ่งของรถรางใช้ระยะเวลานานมาก ก่อนเกิดอุบัติเหตุ นายอ่างพยายามที่จะยืนพิงที่กั้นเพื่อคลายความตึงของกล้ามเนื้อ รถได้แล่นมาถึงรอยต่อระหว่างถนนกับราง นายอ่างมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ไม่สามารถยึดจับที่กั้นเพื่อต้านแรงกระชากไว้ได้ จึงร่วงจากรถราง เคราะห์ดีที่ผู้โดยที่เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นรีบกระโดมาตำแหน่งที่นายอ่างยืนและเหยียบกริ่งเพื่อให้รถหยุด ผมได้สอบถามถึงการดำเนินการต่อไปทั้ง บริษัทนายหน้าและ CIEE มีแต่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นโดยการที่จะให้บริษัทที่ผมทำงานถูกขึ้นบัญชีดำ แต่ในส่วนของการเยียวยาช่วยเหลือที่ประสบอุบัติเหตุนั้นทั้ง 2 บริษัทนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยว

คำถามคือทำไมหลายคนยังอยากไปโครงการนี้
- เพราะเงิน บอกเลยว่าได้กลับมาไม่เยอะแน่ เพราะต้องกินต้องใช้ ยังไม่รวมค่าเที่ยวค่าซื้อของต่าง ๆ นา ๆ
- เพราะประสบการณ์ บางคนอาจจะได้เจอนายจ้างดีก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดีเหมือนที่คุยกันตอนแรกเกือบทุกที่นั่นแหละ 

- เพราะจะไปฝึกภาษา อันนี้ได้จริงหรือ เพราะนอกจากที่ใช้พูดตอนทำงานซึ่งมีหลักการพูดของมันอยู่แล้ว กลับบ้านมาก็ขลุกอยู่กับคนไทย ไปเที่ยวกับคนไทย เรียกได้ว่าพูดภาษาอังกฤษแบบ native speaker จากโครงการนี้คงน้อยมาก ๆ
- ได้เที่ยว แน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องได้เที่ยวอเมริกา แต่ก็ต้องทำงานหาเงินเสียก่อน

ที่เขียนเน้นย้ำหนักหนาอย่างนี้ ไม่ได้บอกว่าโครงการนี้มันไม่ดี แต่ผู้เขียนอยากจะให้เตรียมการบ้านให้ดีก่อนจะตัดสินใจไป จะต้องทำการศึกษาทั้งสภาพเมืองที่ไปอยู่ การเดินทางจากบ้านพักไปที่ทำงาน อาหารการกิน ควรจดที่อยู่และเบอร์โทรของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงไว้ด้วยเผื่อกรณีเหตุฉุกเฉิน ที่สำคัญคือกฎหมายและการทำประกันการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะการที่จะไปโครงการ Work and Travel ที่ประเทศใด ก็ตามย่อมต้องใช้กฎหมายประเทศนั้น ๆ ตามหลักอำนาจอธิปไตย เพราะฉะนั้นหากเกิดประสบอุบัติเหตหรือถูกดำเนินคดีสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทำได้คือช่วยเหลือในการตรวจสอบสถานภาพความเป็นอยู่ อายุของหนังสือเดินทาง การหาทนาย ที่พัก และช่วยเหลือส่งตัวกลับประเทศ แต่ (สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่) จะไม่ไปเป็นผู้ฟ้องร้อง/คู่กรณีแทนผู้ตกทุกข์ ดังนั้น ผู้ตกทุกข์จะต้องดำเนินการเอง โดยในส่วนของโครงการ Work and Travel องค์กรในอเมริกาที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้คือ U.S Department of State : Bureau of Educational and Cultural Affairs (Office of Private Sector Exchange) ที่อยู่ 301 4 th Stree, S.W., Room 732 (SA-44) Washington D.C. 20547 เบอร์โทรศัพท์ (202) 203-5096  ในส่วนที่ประเทศไทย หากจะร้องเรียนบริษัทนายหน้า (จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมาย) สามารถไปร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 120, อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550, ถนนแจ้งวัฒนะ, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร, 10210 เบอร์โทรศัพท์ 1166


สถานเอกอัครราชทูต ณ นครนิวยอร์ก
http://www.thaicgny.com

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular


วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ปัญหาการทำงานในรัสเซีย : การติดตามค่าจ้างค้างจ่าย

             


             หากแรงงานไทยไม่มีเอกสาร หรือหลักฐานชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรว่านายจ้างค้างจ่ายค่าจ้าง การติดตามค่าจ้างค้างจ่ายก็ไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ จากการรับเรื่องร้องเรียนของแรงงานไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก สังเกตว่าแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่มีสลิปเงินเดือนเป็นหลักฐาน เนื่องจากนายจ้างจะให้เซ็นรับเงินเดือนบนซอง ซึ่งระบุเพียงวันที่ จำนวนเงิน และลายเซ็นที่ไม่มีการระบุว่าเป็นลายเซ็นของใครนอกจากนี้บ่อยครั้งแรงงานไทยแจ้งว่า นายจ้างมักจะให้ลงนามในเอกสารที่เป็นภาษาท้องถิ่น (รัสเซีย) โดยที่ตนเองไม่รู้ว่าเป็นเอกสารอะไร ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่านายจ้างอาจจะใช้วิธีนี้ในการสร้างหลักฐานเท็จได้เช่นสลิปเงินเดือนเท็จ หรือการแก้ไขเนื้อหาของสัญญาจ้างงานที่ผ่านการรับรองจากสถานเอกอัครราชทูตฯแล้ว นอกจากนี้บ่อยครั้งเช่นกันที่นายจ้างจะแจ้งแรงงานไทยว่าจะส่งเงินค้างจ่ายตามไปให้หลังจากที่ลูกจ้างเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯจะแนะนำให้แรงงานไทยเจรจาให้นายจ้างทำเอกสารยืนยันการจ่ายเงินคงค้างเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นหลักฐานหากจะต้องติดตามเงินค้างจ่ายกับนายจ้างต่อไป


            อีกหนึ่งความยากลำบากในการดูแลคนไทยในต่างประเทศ คือความลำบากในการประสานงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ตกทุกข์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งกระบวนการในการให้ความช่วยเหลือของ สถานเอกอัครราชทูตฯ กินเวลานานในการรวบรวมเอกสาร การประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย และหน่วยงานท้องถิ่นเช่น อัยการและตำรวจ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อสถานเอกอัครราชทูตฯ ติดต่อนายจ้างเพื่อขอให้ดูแลคนงานไทย นายจ้างกลับอ้างว่าไม่มีลูกจ้างรายนี้ในขณะที่แรงงานไทย แจ้งว่า ตนไปทำงานทุกวัน ทั้ง ๆ ที่สภาพความเป็นอยู่ที่นายจ้างจัดไว้ให้ไม่พร้อมไม่มีไฟฟ้าใช้ นายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน หรือนายจ้างไล่ออกจากที่พัก สถานการณ์ปัจจุบันของการจ้างงานในธุรกิจสปารัสเซียในขณะนี้ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะค่าเงินรูเบิลที่ลดลงมาก ทำให้มีแนวโน้มที่แรงงานจะมีรายได้ลดลง/มีเสถียรภาพการจ้างงานน้อยลงเนื่องจากผลประกอบการไม่ดี ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาเดินทางมาทำงานที่รัสเซีย ซึ่งแรงงานต้องยอมรับความเสี่ยงหากตัดสินใจจะมาร่วมงานกับผู้ประกอบการสปาของรัสเซียในปัจจุบัน


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก
http://th.thaiembassymoscow.com/

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร  0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular