ปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการธุรกิจจัดทำโครงการ Work and Travel โดยมีวัตถุประสงค์เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสหาประสบการณ์การทำงานพิเศษในช่วงปิดภาคเรียน
เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน แต่ปรากฏในภายหลังว่าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น สถานที่ทำงาน
จำนวนชั่วโมงทำงาน ค่าตอบแทน ที่พักอาศัยระหว่างที่อยู่ต่างประเทศ เป็นต้น ทำให้นักเรียน/นักศึกษาได้รับความเดือดร้อน
และเสียหาย
เมื่อวันที่ 29
มิ.ย. 58 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก
ได้รับคำร้องเรียนทางไปรษณีย์อิเล็คทรอนิกส์จากนายอ่าง (นามสมมุติ) แจ้งว่าตนได้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel กับเอเยนต์จัดหางานโครงการ
Work and Travel โดยบริษัทดังกล่าวได้จัดหางานให้ตนเลือก
ซึ่งตนรับทำงานเกี่ยวกับการบริการรับส่งผู้โดยสารบนรถราง
บริเวณชายหาดในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์
ตนไม่ได้รับความยุติธรรมและถูกเอาเปรียบจากหัวหน้าในการทำงาน จนเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บขณะปฏิบัติงาน
อีกทั้งยังไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลหลังจากที่ตนได้รับบาดเจ็บ เมื่อสอบถามถึงรายละเอียดนายอ่างได้เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า
ตนไปโครงการโดยวีซ่าประเภท J-1 ทางบริษัทนายหน้าได้จัดการติดต่อประสารงานกับนายจ้างประเทศสหรัฐอเมริกาให้มีองค์กรกลางที่ดูแลนักศึกษา
คือ CIEE โดยมีการสัมภาษณ์ เลือกงาน จองงาน
ชำระเงินครบถ้วนถูกต้องทุกขั้นตอน (.... ฟังถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดีเพราะทุกกระบวนการโปร่งใสมีหลักฐานยืนยันแต่.....)
“ครั้งแรก ผมมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเวลาการทำงาน
ในการทำงานจะเป็นการทำงานอย่างต่อเนื่องไม่มีเวลาพักเป็นกิจจะลักษณะ
ซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผมมาก ผมหิวแต่ก็มีเวลาช่วงสั้น ๆ 2-3
นาทีในการที่จะหาอะไรประทังความหิว
เวลาดังกล่าวคือเวลาที่รถแต่ละคันเข้ามาจอดรอสัญญาณไปเขียวเพื่อออก
เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจะต้องเตรียมตัวปฏิบัติงานตลอดเวลา”
นายอ่างเล่าต่อว่า “ผมเคยร้องเรียนไปยัง CIEE ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่ดูแลผม แต่ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
แถมมีอีเมลล์แนบท้ายไม่ให้ผมออกจากงาน พอผมส่งไปหานายหน้าในประเทศไทย ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงอ้างว่าเป็นเรื่องของการปรับตัวโดยให้เหตุผลว่าน้อง
ๆ คนอื่นยังไม่เห็นมีปัญหา” ในวันที่เกิดอุบัติเหตุ นายอ่างได้รับหน้าที่ทำงานในตำแหน่งพนักงานให้สัญญาณเดินรถที่ท้ายขบวน
ซึ่งความจริงแล้วเมื่อครบรอบการเดินรถ 1 รอบจะต้องเปลี่ยนหน้าที่กับคนขับรถรางสลับกันทำงาน
ซึ่งเป็นระเบียบข้อบังคับจากผู้จัดการ “ผมทำหน้าที่คนให้สัญญาณรถ
4 รอบติดไม่มีพัก ไม่มีสลับ ผมถามคนจัดคิวแล้วว่าแน่ใจเหรอ” นอกจากนี้นายอ่างได้ทักท้วงคนจัดคิวแล้วว่าตนมีอาการปวดล้าบริเวณหลัง
เพราะรอบ ๆ หนึ่งของรถรางใช้ระยะเวลานานมาก ก่อนเกิดอุบัติเหตุ นายอ่างพยายามที่จะยืนพิงที่กั้นเพื่อคลายความตึงของกล้ามเนื้อ
รถได้แล่นมาถึงรอยต่อระหว่างถนนกับราง นายอ่างมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ไม่สามารถยึดจับที่กั้นเพื่อต้านแรงกระชากไว้ได้
จึงร่วงจากรถราง เคราะห์ดีที่ผู้โดยที่เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นรีบกระโดมาตำแหน่งที่นายอ่างยืนและเหยียบกริ่งเพื่อให้รถหยุด
“ผมได้สอบถามถึงการดำเนินการต่อไปทั้ง บริษัทนายหน้าและ CIEE
มีแต่การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นโดยการที่จะให้บริษัทที่ผมทำงานถูกขึ้นบัญชีดำ
แต่ในส่วนของการเยียวยาช่วยเหลือที่ประสบอุบัติเหตุนั้นทั้ง 2
บริษัทนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยว ”
คำถามคือทำไมหลายคนยังอยากไปโครงการนี้
- เพราะเงิน บอกเลยว่าได้กลับมาไม่เยอะแน่ เพราะต้องกินต้องใช้ ยังไม่รวมค่าเที่ยวค่าซื้อของต่าง
ๆ นา ๆ
- เพราะประสบการณ์ บางคนอาจจะได้เจอนายจ้างดีก็ดีไป แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ดีเหมือนที่คุยกันตอนแรกเกือบทุกที่นั่นแหละ
- เพราะจะไปฝึกภาษา อันนี้ได้จริงหรือ เพราะนอกจากที่ใช้พูดตอนทำงานซึ่งมีหลักการพูดของมันอยู่แล้ว
กลับบ้านมาก็ขลุกอยู่กับคนไทย ไปเที่ยวกับคนไทย เรียกได้ว่าพูดภาษาอังกฤษแบบ native
speaker จากโครงการนี้คงน้อยมาก ๆ
- ได้เที่ยว แน่นอนอยู่แล้วว่าจะต้องได้เที่ยวอเมริกา
แต่ก็ต้องทำงานหาเงินเสียก่อน
ที่เขียนเน้นย้ำหนักหนาอย่างนี้
ไม่ได้บอกว่าโครงการนี้มันไม่ดี
แต่ผู้เขียนอยากจะให้เตรียมการบ้านให้ดีก่อนจะตัดสินใจไป จะต้องทำการศึกษาทั้งสภาพเมืองที่ไปอยู่
การเดินทางจากบ้านพักไปที่ทำงาน อาหารการกิน
ควรจดที่อยู่และเบอร์โทรของสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียงไว้ด้วยเผื่อกรณีเหตุฉุกเฉิน
ที่สำคัญคือกฎหมายและการทำประกันการเดินทางไปต่างประเทศ เพราะการที่จะไปโครงการ Work and Travel ที่ประเทศใด
ก็ตามย่อมต้องใช้กฎหมายประเทศนั้น ๆ ตามหลักอำนาจอธิปไตย เพราะฉะนั้นหากเกิดประสบอุบัติเหตหรือถูกดำเนินคดีสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ทำได้คือช่วยเหลือในการตรวจสอบสถานภาพความเป็นอยู่
อายุของหนังสือเดินทาง การหาทนาย ที่พัก และช่วยเหลือส่งตัวกลับประเทศ แต่ (สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่)
จะไม่ไปเป็นผู้ฟ้องร้อง/คู่กรณีแทนผู้ตกทุกข์ ดังนั้น ผู้ตกทุกข์จะต้องดำเนินการเอง
โดยในส่วนของโครงการ Work and Travel องค์กรในอเมริกาที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้คือ
U.S Department of State : Bureau of Educational and Cultural Affairs
(Office of Private Sector Exchange) ที่อยู่ 301 4 th
Stree, S.W., Room 732 (SA-44) Washington D.C. 20547 เบอร์โทรศัพท์
(202) 203-5096 ในส่วนที่ประเทศไทย หากจะร้องเรียนบริษัทนายหน้า
(จะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนตามกฎหมาย) สามารถไปร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 120, อาคารรัฐประศาสนภักดี
ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
5 ธันวาคม 2550, ถนนแจ้งวัฒนะ, แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร, 10210 เบอร์โทรศัพท์ 1166
สถานเอกอัครราชทูต ณ นครนิวยอร์ก
http://www.thaicgny.com
กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
123 ถ.แจ้งวัฒนะ ทุ่งสองห้อง หลักสี่ กทม 10210
โทร. 0 2575 1047-51
โทรสาร 0 2575 1052
http://protectthaicitizen.blogspot.com
www.facebook.com/protectthai.consular