วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกนจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่กรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกนจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่กรุงเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์

นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ แถลงว่า ระหว่างวันที่ 18 – 20 กันยายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปให้บริการแก่คนไทยที่พำนักอยู่ในกรุงเรคยาวิก เมืองหลวงของประเทศไอซ์แลนด์ซึ่งเป็นเขตอาณาของสถานเอกอัครราชทูตแห่งนี้ โดยประมาณว่าปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในประเทศไอรซ์แลนด์จำนวน 1,300 – 1,500 คน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเรคยาวิก ประกอบอาชีพหลากหลาย ทั้งโรงงานปลา โรงงานผลิตขนมปัง โรงพยาบาล สถานอภิบาลคนชรา และธุรกิจร้านอาหาร

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการงานกงสุลที่วัดไทยในกรุงเรคยาวิก ซึ่งอนุเคราะห์อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานตลอดระยะเวลาของการดำเนินโครงการ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯได้จัดให้บริการด้านหนังสือเดินทางและนิติกรณ์(การรับรองเอกสาร) รวมทั้งให้คำปรึกษาประเด็นเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์ของคนไทย ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. วันที่ 19 กันยายน 2553 มีผู้ไปใช้บริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 18 ราย หนังสือเดินทางชั่วคราว จำนวน 3 ราย นิติกรณ์ 1 ราย และจดทะเบียนเกิด 5 ราย

ในโอกาสที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ไปจัดกิจกรรมที่วัดไทยทางวัดจัดพิธีบวชชีพราหมณ์ จึงได้เชิญนายชัชชัย ชูชม เลขานุการเอก ปฏิบัติหน้าที่ด้านกงสุล เป็นประธานในพิธีดังกล่าวด้วย

นายประสิทธิพรฯ แถลงด้วยว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รายงานปัญหาของคนไทยในไอซ์แลนด์ดังนี้
1. โดยที่ปัจจุบันหนังสือเดินทางไทยอายุใช้งานเพียง 5 ปี ซึ่งในการขอ residence permit จำเป็นต้องมีหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานนานถึง 2 ปี ทำให้คนไทยในไอซ์แลนด์ต้องขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่เมื่อยังเหลืออายุการใช้งาน 2 ปี
2. คนไทยหลายคนเปลี่ยนนามสกุลตามสกุลสามี และใช้ชื่อใหม่ในเอกสารของไอซ์แลนด์แล้ว แต่ยังมิได้เปลี่ยนชื่อในทะเบียนราษฎร์ของไทย ทำให้เกิดความสับสนและเอกสารไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องซื้อบัตรโดยสารเครื่องบิน ซึ่งมักจะไม่ตรงกับชื่อและนามสกุลในหนังสือเดินทาง
3. ขาดเอกสารสำคัญในการทำหนังสือเดินทางให้ผู้เยาว์ อาทิ ปค. 14 หรือบันทึกสอบสวนสิทธิในการปกครองบุตรฝ่ายเดียว หรือเอกสารยินยอมให้บุตรเดินทางกับบิดาหรือมารดาที่มิได้อยู่ร่วมกัน
ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯได้สอบถามชุมชนไทยถึงผลกระทบที่เกิดจากภูเขาไฟปะทุในไอซ์แลนด์ด้วย ปรากฏว่าไม่มีรายงานว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนไทย

ในโอกาสดังกล่าวนายชัชชัย ชูชม ได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ (กศน.) ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยให้ความสนใจลงทะเบียนเรียนประมาณ 100 คน ตามคำเชิญของคณะครูอาสาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ออันดีกับชุมชนไทยและเน้นความสำคัญของการเรียนภาษาไทยด้วย

นายประสิทธิพรฯ สรุปว่าคนไทยส่วนใหญ่ในกรุงเรคยาวิกพึงพอใจที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรและขอร้องให้ดำเนินการอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง โดยพร้อมที่จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง หากมีปัญหาเรื่องงบประมาณ

สถานทูตไทยที่กรุงมาดริดจัดกิจกรรมกงสุลสัญจร


สถานทูตไทยที่กรุงมาดริดจัดกิจกรรมกงสุลสัญจร

นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่นครบาเซโลนา ซึ่วงมีคนไทยพำนักอาศัยอยู่ประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านสมรสกับชาวสเปน และส่วนหนึ่งเป็นพนักงานร้านอาหารไทย โดยใช้สถานที่ของโรงเรียนสามัคคีไทย เลขที่ 52 ถนนปินตอร์ บาร์ราสซา เขตซาบาเดล จังหวัดบาร์เซโลนา การบริการกงสุลประกอบด้วยการทำหนังสือเดินทาง จำนวน 16 ราย รับรองเอกสาร 12 ราย จดทะเบียนเกิด 1 ราย ให้คำปรึกษาและแนะนำงานด้านทะเบียนราษฎร์ ทะเบียนครอบครัวและงานอื่น 4 ราย รับเรื่องรายงานตัวคนไทย แจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ และการใช้สิทธิขอเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร 20ราย

ในโอกาสนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ประชาสัมพันธ์และแจกจ่ายเอกสารข้อมูลแผนอพยพคนไทยและเอกสารแนะนำการปฏิบัติตนในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์ฉุกเฉินแก่ชุมชนไทยในนครบาร์เซโลนา และได้แต่งตั้งให้นางดวงฤทัย เร็วการ ผู้บริหารโรงเรียนสามัคคีไทย เป็นจุดติดต่อประสานงานในการติดต่อระหว่างสถานเอกอัครราชทูตฯ และชุมชนไทยในบาร์เซโลนา

ในโอกาสดังกล่าวนายปิยวัชร นิยมฤกษ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศซึ่งเดินทางไปดูงาน e-passport ได้ร่วมสังเกตการณ์การให้บริการกงสุลสัญจรและร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับคนไทยที่พำนักในนครบาร์เซโลนาและเมืองใกล้เคียงที่มาร่วมกิจกรรมกงสุลสัญจร โดยได้สนทนาสอบถามสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างเป็นกันเอง ตลอดจนรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่างๆเกี่ยวกับกิจกรรมของชุมชนไทยในนครบาร์เซโลนา ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถานเอกอัครราชทูตฯ มาโดยตลอด

คนไทยในนครบาร์เซโลนามีการรวมตัวกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้จัดตั้งกลุ่มครอบครัวไทย-สเปน และมีกิจกรรมการสอนภาษาไทยแก่บุตรหลานคนไทยที่โรงเรียนสามัคคีไทย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งโรงเรียนและโครงการสอนภาษาดังกล่าวเป็นเวลาติดต่อกัน 2 ปี นับแต่เริ่มแรก ขณะนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น นับเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและความเข้มแข็งของชุมชนไทยในนครบาร์เซโลนา

การจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่นครบาร์เซโลนาเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คนไทยในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขอรับบริการด้านกงสุลที่กรุงมาดริดซึ่งอยู่ห่างเป็นระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร และนอกจากนั้นยังเป็นโอกาสให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ทำความรู้จักคุ้นเคยและสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชุมชนไทยในนครบาร์เซโลนามากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ชุมชนไทยในบาร์เซโลนาได้เสนอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดบริการกงสุลสัญจรที่นครบาร์เซโลนาเป็นประจำทุกปีด้วย

ปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน


ปัญหาแรงงานไทยไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน


นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2553 ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดนว่า มีแรงงานไทยจำนวน 109 คน ได้รับคำชักชวนจากนายภูมิคชา นาคคำ ให้ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนกับบริษัทรอมเบอร์เรี่ โดยแจ้งกับคนงานว่ามีเงินประกันรายได้เดือนละ 16,000 โครน (ประมาณ 70,000 บาท) ทั้งนี้บริษัทสัญญาว่าจะจ่ายเงินเดือนให้คนงานในวันที่ 27 กันยายน 2553 ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 3 ตุลาคม 2553

คนงานแจ้งว่า เมื่อครบกำหนดจ่ายเงินเดือนนายภูมิคชาฯ แจ้งว่าคนงานจะต้องถูกหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษี เหลือเป็นเงินเดือนที่ได้รับจริงคนละประมาณ 7,000 บาท ซึ่งทำให้คนงานไม่พอใจที่ถูกหลอกว่าคนงานจะได้รับการประกันรายได้เดือนละ 70,000 บาท ซึ่งทำให้ทุกคนยอมเสียค่าหัวก่อนออกเดินทางคนละ 70,000 – 80,000 บาทหากต้องรับเงินเดือนเพียง 7,000 บาท รายได้ที่ได้จะไม่คุ้มรายจ่ายที่ได้จ่ายไปแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อนายภูมิคชาฯ อ้างกับคนงานว่าไม่สามารถติดต่อกับผู้บริหารของบริษัทรอมเบอร์รี่ได้ ยิ่งทำให้คนงานข้องใจว่านายภูมิคชาฯเบียดบังค่าจ้างเอาไว้เอง

นายประสิทธิพรฯ แจ้งว่าขณะนี้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮล์มกำลังเจรจากับสหภาพแรงงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยกลุ่มนี้

รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศนิรโทษกรรมชาวต่างด้าวที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย


รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศนิรโทษกรรมชาวต่างด้าวที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมาย


นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 กระทรวงมหาดไทยซาอุดีอาระเบียได้ประกาศนิรโทษกรรมตามราชโองการของกษัตริย์อับดัลเลาะห์ฯ ให้แก่คนต่างชาติที่พำนักอยู่ในซาอุดีอาระเบียอย่างผิดกฎหมาย เช่นผู้ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภทฮัจย์ อุมเราะห์ และเยี่ยมเยียนหรือวีซ่าประเภทอื่นๆ ที่หมดอายุแล้ว ซึ่งรวมถึงผู้ที่ไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ (อิกอมะห์) ก่อนที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้เดินทางกลับประเทศของตนโดยไม่ต้องรับโทษตามที่ระเบียบว่าด้วยการพำนักในซาอุดีอาระเบียระบุไว้ (ซึ่งเหมือนกับพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมืองของไทย) โดยขอให้ไปรายงานตัวที่กองเนรเทศ (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) ที่สะดวกที่สุด ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2553 – 23 มีนาคม 2554 (ระยะเวลานิรโทษกรรม 6 เดือน : grace period) เพื่อดำเนินการขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้หากพ้นกไหนดนิรโทษกรรมไปแล้วบุคคลที่พำนักอยู่ในซาอุดีอาระเบียเกินกำหนดจะถูกจับและดำเนินคดีจนถึงที่สุด รวมทั้งผู้ที่ให้การพักพิงและให้การหลบซ่อนหรือสนับสนุนการหลบหนีแก่บุคคลนั้นจะต้องรับโทษจำและปรับด้วย

ขณะนี้มีคนไทยเข้ามาขอคำปรึกษาที่สถานกงสุลใหญ่ฯ บ้างแล้วโดยประสงค์จะเดินทางกลับ ทั้งนี้เนื่องจากอยู่ทำงานในซาอุดีอาระเบียอย่างผิดกฎหมายโดยไม่มีอิกอมะห์ ทั้งนี้เพราะเดินทางเข้าประเทศโดยใช้วีซ่าฮัจย์ อุมเราะห์ และเยี่ยมเยียน และอยู่ทำงานต่อภายหลังจากวีซ่าหมดอายุแล้วจึงต้องการใช้โอกาสนี้เดินทางกลับประเทศไทยโดยไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ฯกำลังประสานกับทางการซาอุดีอาระเบียที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในเงื่อนไขนิรโทษกรรมสามารถติดต่อกับทางการซาอุดีอาระเบียได้ต่อไป นายจักรกล่าว

อธิบดีกรมการกงสุลชี้แจงว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้พยายามหามาตรการลดจำนวนคนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าไปหลบทำงานอยู่ตามเมืองสำคัญต่างๆ อาทิ เมืองเจดดาห์ เมืองมักกะห์ โดยรัฐบาลได้ให้ความอนุเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการส่งตัวคนต่างชาติเหล่านี้กลับภูมิลำเนาเป็นเงินจำนวน 420 ล้านริยาล หรือประมาณ 3,570 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และคาดว่าการมอบตัวเพื่อขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้จะไม่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียโดยผู้ลักลอบเข้าเมืองน่าจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง เนื่องจากจะมีคนจำนวนมากที่ต้องการเดินทางกลับโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี

นายจักรฯ ได้เรียกร้องให้ผู้ที่มีญาติพี่น้องพำนักอาศัยอยู่ในซาอุดีอาระเบียโดยผิดกฎหมายชักชวนให้ญาติพี่น้องเดินทางกลับบ้านโดยอาศัยโอกาสที่ทางการซาอุดีอาระเบียนิรโทษกรรมครั้งนี้ เพราะหากยังพำนักอยู่ในประเทศดังกล่าวต่อไปอย่างผิดกฎหมายและถูกจับได้อาจต้องรับโทษหนัก ประกอบกับต่อไปทางการจะเอาผิดกับผู้ที่ให้การสนับสนุนให้ที่พักอาศัยแก่ชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศโดยผิดกฎหมายด้วย จึงจะทำให้ผู้ที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายจะประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิต

สถานทูตไทยที่นิวซีแลนด์จัดบริการกงสุลสัญจร


สถานทูตไทยที่นิวซีแลนด์จัดบริการกงสุลสัญจร

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ออกประกาศแจ้งกำหนดจัดหน่วยเคลื่อนที่ไปให้บริการกงสุลสัญจร โดยให้บริการด้านหนังสือเดินทาง งานทะเบียนราษฎร์/ทะเบียนครอบครัว การลงทะเบียนขอมีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ตลอดจนการให้คำปรึกษาด้านกงสุล ที่วัดพุทธสามัคคี เมืองไครสต์เชิร์ช ตามวัน เวลา และสถานที่ ดังนี้

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2553
เวลา:
13.00 น. – 17.00 น.


วันที่ 21 พฤศจิกายน 2553
เวลา:
09.30 น. – 16.00 น.


สถานที่: วัดพุทธสามัคคี เมืองไครสต์เชิร์ช

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

พายุไต้ฝุ่นฟานาปีเข้าไต้หวัน แต่คนไทยปลอดภัย


พายุไต้ฝุ่นฟานาปีเข้าไต้หวัน แต่คนไทยปลอดภัย

นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลบผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ตามที่พายุไต้ฝุ่นฟานาปีพัดเข้าไต้หวันระหว่างวันที่ 18 – 19 กันยายน 2553 ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากบริเวณพื้นที่ตอนกลางของเกาะไต้หวัน โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ไฟฟ้าดับ รวมทั้งมีลมพัดแรงทำให้ป้ายโฆษณาเสียหาย ถนนและสะพานหลายสายในเขตภูเขาถูกตัดขาด มีรายงานว่าชาวไต้หวันได้รับบาดเจ็บจากวาตภัยในครั้งนี้ จำนวน 76 ราย และมีชาวไต้หวันในภาคใต้ 4 รายเสียชีวิตจากการจมน้ำตาย

นายประสิทธิพรฯ กล่าวว่า สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยได้ตรวจสอบกับสำนักงานแรงงานไทเปและสำนักงานแรงงานเกาสงแล้วทราบว่าในชั้นนี้ไม่มีรายงานความเสียหายหรือผลกระทบใดๆต่อคนไทยในพื้นที่ซึ่งได้รับภัยพิบัติ

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการนำอัยการคุ้มครองสิทธิและนักสุขภาพจิตไปดูแลแรงงานไทยในไต้หวัน

นั่งให้เห็นหน้ากันทุกคนและทุกคนมีส่วนร่วมในการฝึกอบรม วิทยากรพูดไป ถามไป และมีผู้จดข้อสรุปลงบนกระดาน แบบนี้ไม่เครียด
การฝึกอบรมเรื่องสุขภาพจิตแก่อาสาสมัครของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติโฮปเวิร์คเกอร์เซ็นเตอร์ และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ และกฎหมาย วันที่ 12 กันยายน 2553 ณ เมืองจงลี่ เขตเถาหยวน
วิทยากรผลัดกันบรรยาย
การฝึกอบรมเรื่องสุขภาพจิตสำหรับล่าม และความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิสำหรับแรงงานไทย วันที่ 13 กันยายน 2553 ณ เมืองไถจง
นักสุขภาพจิตจากกรุงเทพฯกำลังสนทนากับแรงงานไทย
การฝึกอบรมเรื่องสุขภาพจิตแก่อาสาสมัครของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติโฮปเวิร์คเกอร์เซ็นเตอร์ และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ และกฎหมาย วันที่ 12 กันยายน 2553 ณ เมืองจงลี่ เขตเถาหยวน
ตรวจสอบความสนใจในชั้นด้วยท่ากายบริหาร
พบเยี่ยมแรงงานไทยในบริษัท Italian-Thai Development จำกัด เขตหนันกั่ง เทเป วันที่ 11 กันยายน 2553
ผู้เข้าร่วมการอบรมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับวิทยากรจากกรุงเทพฯ
การอบรมเรื่องสุขภาพจิตของผู้ให้บริการตอบคำถามทางโทรศัพท์และความรู้เรื่องการคุ้มครองสิทธิ สำหรับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย และอาสาสมัคร วันที่ 11 กันยายน 2553 ณ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ไทเป


โครงการนำอัยการคุ้มครองสิทธิและนักสุขภาพจิตไปดูแลแรงงานไทยในไต้หวันระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน 2553


ระหว่างวันที่ 10-14 กันยายน 2553 นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศได้นำคณะวิทยากรประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานอัยการสูงสุดและกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปอบรมเรื่องสุขภาพจิตและความรู้เรื่องการคุ้มครองสิทธิแก่อาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานไทยในไต้หวัน

กิจกรรมของโครงการมีดังนี้

ระหว่างวันที่ 11 -14 กันยายน 2553 คณะผู้แทน ฯ ได้ให้การอบรมเรื่องสุขภาพจิตและกฏหมายแก่คนไทย จำนวน 378 คน จำแนกเป็น เครือข่ายคนไทยอาสาจำนวน 295 คนและแรงงานและนักโทษไทยในกรุงไทเปจำนวน 83 คน โดยดำเนินการทั้งในในกรุงไทเป ภาคเหนือของประเทศ เมืองไถจง (Taichung) และเมืองไถหนาน (Tainan) ภาคกลางของประเทศ สาระสำคัญของการฝึกอบรม มุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการอบรมเข้าใจถึงสภาพความเครียด การจัดการกับอารมณ์เครียด การผ่อนคลายความเครียด และการให้คำปรึกษาแก่คนไทยที่มีปัญหา การให้คนไทยในต่างประเทศ ได้เข้าใจบทบาทในการคุ้มครองสิทธิของคนไทย และปัญหาการค้ามนุษย์

รองอธิบดี (มธุรพจนา ฯ) ได้พบปะหารือกับนาง Fracncis Jim ผอ. Hope Workers’ Center เยี่ยมชมกิจการการศึกษานอกโรงเรียนที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ Hope แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหัวหน้าฝ่ายแรงงานประจำกรุงไทเปและเมืองเกาสง และเข้าเยี่ยมคารวะนาย Yu-Hwa Yin ผู้บัญชาการศูนย์กักกันคนต่างชาติที่เมืองซานเสีย โดยหัวข้อการหารือส่วนใหญ่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย การช่วยเหลือแรงงานไทยทั้งที่ถูกและผิดกฏหมาย

รองอธิบดี ฯ อัยการคุ้มครองสิทธิ และนักสุขภาพจิต ได้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าว รายการภาคภาษาไทย อาร์ทีไอ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ โครงการ ฯ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานไทยในไต้หวัน ซึ่งกำหนดจะออกอากาศในเดือน ต.ค. 2553 นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าว นสพ. เดลินิวส์ที่กรม ฯ ได้เชิญให้ร่วมเดินทางไปกับคณะ ฯ จะลงพิมพ์บทความชีวิตแรงงานไทยในไต้หวันและการดำเนินงานของกระทรวง ฯ ในช่วงต้นเดือน ต.ค. ศกนี้ ด้วย

โครงการนำอัยการคุ้มครองสิทธิและนักสุขภาพจิตไปดูแลแรงงานไทยในไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การสร้างชุมชนไทยเข้มแข็งในต่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและจัดทำโครงการในลักษณะบูรณาการ ซึ่งเป็นนโยบายที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือในการให้บริการแก่ชุมชนไทยในต่างประเทศ

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร


สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร

"สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ จะจัดให้บริการกงสุลสัญจรที่เมืองตาอิฟ และเมืองใกล้เคียง ณ โรงแรมบารอค เมืองตาอิฟ โดยให้บริการด้านหนังสือเดินทาง งานทะเบียนราษฎร / ทะเบียนครอบครัว ตามวันและเวลา ดังนี้


วันที่ 29 กันยายน 2553 ตั้งแต่เวลา 17.00 – 22.00 น.

วันที่ 30 กันยายน 2553 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 22.00 น.

วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น.


จึงขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยในเมืองตาอิฟและเมืองใกล้เคียงทุกท่านเข้ารับบริการกงสุลสัญจร ตามวันและเวลาที่ระบุข้างต้นโดยพร้อมเพรียงกัน ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่ฯ จะงดให้บริการรับคำร้องขอหนังสือเดินทาง และนิติกรณ์ (การรับรองเอกสาร การออกสูติบัตร) ในวันพุธที่ 29 กันยายน 2553

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์หมายเลข 02 6655317 ต่อ 123"

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

ชมรมนักศึกษาไทยในกรุงอิสลามาบัดจัดงานเลี้ยงฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอด

แขกที่มาร่วมงานกำลังตักอาหาร
ท่านทูตและภริยานำคณะแขกตักอาหาร
ผู้แทนนักศึกษากล่าวขอบคุณเจ้าของสถานที่จัดเลี้ยงและแขกที่มาร่วมงาน
แขกที่มาร่วมงานกำลังฟังคำปราศรัยของท่านทูตมารุตฯ
ท่านทูตมารุต จิตรปฏิมากล่าวคำปราศรัยให้โอวาทและอวยพร



ชมรมนักศึกษาไทยในกรุงอิสลามาบัดจัดงานเลี้ยงฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอด

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2553 นายมารุต จิตรปฏิมา เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด ภริยา พร้อมด้วยข้าราชการทีมประเทศไทยและครอบครัว เข้าร่วมงานฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอด (Eid Al Fitri) จัดโดยชมรมนักศึกษาไทยในปากีสถาน ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวให้โอวาทและอวยพรแก่นักศึกษาด้วย งานฉลอง Eid Al Fitri จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และเป็นกิจกรรมหนึ่งของชมรมนักศึกษาฯ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการสนับสนุนชมรมนักศึกษาไทยในปากีสถาน

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

แผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ คนไทยปลอดภัย


แผ่นดินไหวในนิวซีแลนด์ คนไทยปลอดภัย


นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2553 ว่า ตามที่ๆได้เกิดแผ่นดินไหวในประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันทื่4 กันยายน 2553 เมื่อเวลา 04.35 น. ขนาดความสั่นสะเทือน 7.4 ริกเตอร์โดยมีศูนย์กลางห่างจากเมืองไคร้สเชิร์ช ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งมีรายงานว่าผแผ่นดินไหวก่อความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือน โดยเฉพาะบริเวณอาคารเก่าย่านร้านค้ากลางเมืองไคร้สเชิร์ช โดยอาคารหลายหลังพังถล่มลงมา เกิดแนวแผ่นดินแยกบนถนนหลายสาย ท่าอากาศยานเมืองไคร้สเชิร์ชต้องปิดทำการ สถานนีรถไฟปิดเกือบทั้งเกาะใต้ เนื่องจากมีรายงานความเสียหายของเส้นทางรถไฟหลายจุด รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเวลา 10.06 น.

กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตันว่า สถานเอกอัครราชทูตฯ สามารถติดต่อกับเจ้าอาว่าสวัดพุทธสามัคคี และผู้นำชุมชนคนไทย เจ้าของร้านอาหารไทย และอาจารย์ชาวไทยผู้ดูแลนักเรียนไทยที่พำนักอยู่ในเมืองไคร้สเชิร์ชได้แล้ว ทราบว่ายังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ส่วนใหญ่เพียงตื่นตระหนกใจ แต่มีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการที่ทรัพย์สินร่วงหล่น หรือบ้านที่พักเสียหายมาก (ซึ่งได้ย้ายไปพำนักชั่วคราวที่บ้านเพื่อคนไทย) ในบางพื้นที่ รวมทั้งที่วัดพุทธสามัคคี ยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ต้องใช้เตาแก๊ซปิคนิคประกอบอาหาร สัญญาณโทรศัพท์ขาดหายเป็นช่วงๆ บางแห่งท่อน้ำบาดาลแตกทำให้น้ำโคลนทะลักออกมาท่วมท้องถนน

ปัจจุบันมีคนไทยพำนักอยู่ในเมืองไคร้สเชิร์ชประมาณ 500 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพร้านอาหารไทยและมีนักเรียนประมาณ 200 คน

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

อัครราชทูต ณ สิงคโปร์ พร้อมคณะเดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทย

ท่านอัครราชทูตมนชัยฯ กล่าวแนะนำตัวเองกับแรงงานไทยและประชาสัมพันธ์ข้อมูลฝ่ายกงสุลที่แรงงานไทยควรทราบ
ท่านอัครราชทูตมนชัยฯ กำลังมอบอุปกรณ์กีฬาแก่เจ้าหน้าที่หอพักสำหรับแรงงานใช้เล่นเพื่อสันทนาการในยามว่าง
อุปกรณ์กีฬา นี่ก็ของฝาก
ของเยี่ยมจากคณะของอัครราชทูตมนชัย พัชนี
แรงงานไทยที่หอพักไฟสตาร์ ดอมิทอรี่จำนวน 100 คนที่เข้าประชุมต้อนรับอัครราชทูตมนชัย พัชนีพร้อมด้วยคณะ




อัครราชทูต ณ สิงคโปร์ พร้อมคณะเดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2553 เวลา 19.30-22.00 น. นายมนชัย พัชนี อัครราชทูต ณ สิงคโปร์ น.ส.พิชญดา ภูมิเหล่าแจ้ง เจ้าหน้าที่กงสุล พร้อมด้วยนางกาญจนา วงศ์สุวรรณ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) และนายศักดินาถ สนธิศักดิ์โยธิน ที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงานไทยในสิงคโปร์ ได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยในสิงคโปร์ที่หอพัก 5 Star Dormitory โดยมีนาย Goh Gnak Pheng หรือนาย Stephen ผู้จัดการทั่วไปประจำหอพักฯ และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

ในการเยือนหอพักครั้งนี้ คณะได้พบแรงงานไทยจำนวน 100 คน เนื่องจากแรงงานที่เหลือติดภารกิจหรือยังเดินทางกลับไม่ถึงหอพัก โดยอัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้เริ่มต้นด้วยการกล่าวทักทายและบรรยายสรุปเกี่ยวกับบทบาทของสำนักงานแรงงานไทยในสิงคโปร์ (สนร.) และแนวทางที่แรงงานไทยจะสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือจาก สนร. ได้ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ สำหรับแรงงานไทย เช่น การจัดตั้งสมาคมเพื่อนแรงงานไทย การจัดโครงการเสริมสร้างสุขภาพแรงงานไทย ระหว่างวันที่ 11-12 ก.ย. 2553 รวมทั้งกล่าวตักเตือนเรื่องโทษของการดื่มสุราและการทิ้งขยะ นอกจากนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้ประชาสัมพันธ์ระเบียบกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ พ.ศ.2546 โดยเชิญชวนให้แรงงานไทยที่ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ติดต่อขอสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ ในอัตราคนละ 400 บาท ที่สำนักงานจัดหางานทุกแห่งในประเทศไทย

จากนั้นท่านอัครราชทูตมนชัยฯ ได้กล่าวแนะนำตัวเองพร้อมแนะนำ น.ส.พิชญดาฯ เจ้าหน้าที่กงสุล ตลอดจนประชาสัมพันธ์ข้อมูลฝ่ายกงสุลที่แรงงานไทยควรทราบ พร้อมมอบอุปกรณ์เครื่องเล่นกีฬาให้แก่นาย Stephen ผจก. ทั่วไปของหอพักฯ เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แรงงานไทยและชาวต่างชาติใช้เล่นในกิจกรรมยามว่าง น.ส. พิชญดาฯ มอบหนังสือคู่มือคนไทยในสิงคโปร์ การปฏิบัติตัวในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน และขอความร่วมมือแรงงานไทยในการกรอกแบบรายงานตัวคนไทยและคำร้องขอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง / ขอเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร นอกจากนี้ อท.มนชัยฯ ได้ให้กำลังใจแรงงานไทยที่มาทำงานในสิงคโปร์ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลเรื่องโทษของการดื่มสุราในสิงคโปร์ที่ทำให้เกิดอาการเมาขาดสติ ส่งผลเดือดร้อนต่อคนรอบข้างและชุมชนในสิงคโปร์ ซึ่งอาจจะถูกจับกุมและปรับเงินได้ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งประชาสัมพันธ์เตือนภัยการเที่ยวหญิงค้าบริการในสิงคโปร์ ทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฏหมายในบริเวณพื้นที่ป่า ซึ่งปัจจุบันนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ พบว่า หญิงไทยค้าบริการ 3 ราย ใน 3 สัปดาห์ติดเชื้อเอชไอวีได้เคยให้บริการแก่ลูกค้าที่เป้นแรงงานไทยและแรงงานต่างชาติ ดังนั้น แรงงานไทยจำเป็นที่จะต้องรู้จักใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่ไปเที่ยวหญิงบริการ

อัครราชทูตมนชัยฯ ได้ประชาสัมพันธ์หมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินในกรณีต้องการความช่วยเหลือจาก สอท. โดยขอให้แรงงานไทยบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินในโทรศัพท์มือถือของตนเองทุกคน และขอให้ช่วยกัน ปชส. ให้ชาวไทยใน สิงคโปร์ ปฏิบัติตามคู่มือคนไทยใน สิงคโปร์ ก่อนเดินทางกลับ

หอพัก 5 Star Dormitory ตั้งอยู่ที่ 39 Kaki Bukit Avenue 3 ซึ่งเป็นย่านที่ค่อนไปทางทิศตะวันออก ของสิงคโปร์ หอพักแรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2547 และสามารถรองรับแรงงานได้ทั้งสิ้น 8,000 คน ปัจจุบันมีแรงงานต่างชาติพำนักอาศัยอยู่ 6,000 คน ประกอบด้วยแรงงานไทยไม่เกิน 700 คน แรงงานที่พำนักอยู่ที่หอพักแห่งนี้ส่วนมากมาจากประเทศอินเดีย จีน และพม่า มีแรงงานชาติอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย บังกลาเทศ รวมอยู่ด้วยเล็กน้อย โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับแจ้งจากนาย Stephen ผู้จัดการทั่วไปประจำหอพักฯ ว่า แรงงานไทยมีความเป็นพี่น้อง ให้การช่วยเหลือกันและกันดี สะอาดและเป็นมิตรกับแรงงานชาติอื่น ๆ ดีมาก แต่ปัญหาที่พบบ่อยคือ การแอบประกอบอาหารในห้องพัก การดื่มสุรา และทะเลาะเบาะแว้งเมื่อเมาสุรา

รัฐบาลไทยมอบเงินแก่รัฐบาลปากีสถานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปากีสถาน

ท่านทูตมารุต จิตรปฏิมา(ซ้ายมือ) มอบเงินช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติจากอุทกภัยในปากีสถานโยรัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศปากีสถานเป็นผู้รับมอบ
รัฐบาลไทยมอบเงินแก่รัฐบาลปากีสถานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในปากีสถาน


เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2553 นายมารุต จิตรปฏิมา เอกอัครราชทูต ณ กรุงอิสลามาบัด เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยมอบเงินจำนวน 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่นาย Nawabzada Malik Amad Khan รัฐมนตรีแห่งรัฐว่าด้วยกิจการต่างประเทศ (State Minister for Foreign Affairs) เพื่อบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบภัยภิบัติจากอุทกภัยในปากีสถาน

ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในปากีสถาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย รวมทั้งรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ส่งสารแสดงความเสียใจไปยังประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถานตามลำดับ ในขณะที่สื่อมวลชนไทยได้ประชาสัมพันธ์เพื่อระดมความช่วยเหลือในหลายระดับ

สำหรับกระทรวงการต่างประเทศไทยนั้นมีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในปากีสถาน กล่าวคือ นอกจากความช่วยเหลือเบื้องต้นจำนวน 75, 000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังจัดการประชุมอีกสองครั้ง โดยครั้งแรกร่วมกับสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกองทัพอากาศ ส่วนครั้งที่สองร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายและองค์กรมุสลิมต่างๆ เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สายการบินปากีสถาน สมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถาน ชุมชนปากีสถานในไทย และภาคประชาสังคม โดยได้ข้อสรุปว่าหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆจะร่วมกันบริจาคสิ่งของต่างๆอาทิ ยา เวชภัณฑ์ ผ้าห่ม จำนวนประมาณ 8 ตัน ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาท โดยกองทัพอากาศเตรียมเครื่องบิน C 130 เพื่อลำเลียงสิ่งของบริจาคไปให้ปากีสถานในเร็วๆนี้

นอกจากเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้นแล้วเอกอัครราชทูตไทยยังได้มอบเช็กเงินสดจำนวน 86,000 รูปี สมทบทุนเงินบริจาคช่วยเหลือชาวปากีสถานผู้ประสบภัยจากวิกฤตอุทกภัยด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

ยุวทูตชุมชนไทย






ภายหลังการมอบประกาศนียบัตรเยาวชนไทย-อเมริกันทั้ง 5 ท่านถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับท่านกงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญ และคุณสมชาย ไทยทันประธานอำนวยการสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้และเจ้าหน้าที่เป็นที่ระลึก
ยุวทูตชุมชนไทย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2553 กงสุลใหญ่ดำรง ใคร่ครวญ พร้อมด้วยคุณสมชาย ไทยทัน ประธานอำนวยการสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ ได้มอบประกาศนียบัตรแสดงความยินดีแก่เยาวชนไทย-อเมริกันจำนวน 5 คนได้แก่ Mr. Edward Wattanachai Lin, Miss Emily Ananthset, Miss Melanee Singha, Miss Kanyarat Konsue และ Miss Samantha Singha ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้แทนเยาวชนไทยในสหรัฐฯ เข้าร่วมกิจกรรมค่ายเยาวชนนานาชาติที่ University of California, Los Angeles (UCLA) ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม 2553

เยาวชนไทยทั้ง 5 คนจะทำหน้าที่เป็นยุวทูตของชุมชนไทยในสหรัฐฯ ในกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งมีเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความเข้าใจ อันดี ผ่านกิจกรรมและการอบรมสัมมนาในหัวข้อต่าง ๆ ทั้งด้านดนตรี วัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและสัมพันธภาพอันดีระหว่างกัน