การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พี่น้องแรงงานไทยให้ความนิยม
และเชื่อว่าในปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 คน กำลังทำงานอย่างหามรุ่งหามค่ำอยู่ในประเทศต่างๆ
ทั่วโลก ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวในเมืองไทยอย่างเป็นกอบเป็นกำ เรื่องความขยัน
อดทน ไม่เกี่ยงงาน และว่านอนสอนง่าย นั้น เห็นจะไม่มีใครสู้แรงงานไทยได้
แต่ปัญหาของแรงงานไทย
ก็ใช่ว่าจะน้อย....
ที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่
ไทยในต่างประเทศ ได้รับข้อร้องเรียนและต้องรับหน้าที่ไกล่เกลี่ยปัญหาระหว่างนายจ้างและแรงงานไทยอยู่เสมอ
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความไม่รู้และการไม่เตรียมตัวให้ดีของแรงงานไทย
ไม่ศึกษาสัญญาจ้างงาน ไม่รู้เงื่อนไขการจ่ายเงินเดือนหรือค่าโอที (over time) ค่าใช้จ่ายด้านที่พัก-อาหาร
ชั่วโมงทำงาน เรียกว่า บางคนถึงขั้นไม่รู้อะไรเลย
ใครชวนไปทำงานก็พากันไปกับเขา
เมื่อเดินทางไปถึง บางอย่างก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้
เกิดปัญหากับนายจ้างบ้าง เพื่อนร่วมงานบ้าง จนเดือดร้อนกันไปหมด
ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่ง คือ แรงงานไทยไม่เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นของประเทศที่ตนต้องไปทำงาน
ชอบคิดกันง่ายๆ ว่าคงเหมือนกับเมืองไทย และไม่มีอะไรต้องกังวล เพราะเพื่อนร่วมงานที่ไปด้วยก็เป็นคนไทย
แต่ก็เกิดปัญหาตามมาบ่อยครั้ง ยกตัวอย่างเช่น การไปทำงานในประเทศภูมิภาคตะวันออกกลาง
ซึ่งมีความแตกต่างจากเมืองไทย ทั้งทางภาษา ศาสนา ความเป็นอยู่และวัฒนธรรม มีกฎหมายที่เคร่งครัด
ไม่มีแหล่งบันเทิง ไม่ขายสุราเหล้าเบียร์ ถ้าเป็นผู้หญิงต้องแต่งกายมิดชิดและคลุมผมในที่สาธารณะ
หรือที่ประเทศอิสราเอล แรงงานไทยส่วนใหญ่ไปทำงานด้านการเกษตร
เช่น ปลูกผัก ปลูกดอกไม้ ต้องสำผัสกับสารเคมีทุกวัน บางคนไม่ยอมใส่ถุงมือ
หรืออุปกรณ์ป้องกัน ทำให้เกิดการแพ้สารเคมี หรืองานเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็นหรือห่าน ที่ต้องให้อาหารทุกชั่วโมง
ไม่มีเวลาพักผ่อน นานวันเข้าสุขภาพก็ย่ำแย่ ยิ่งถ้ามีนิสัยชอบดื่มสุราด้วย
ก็จะซ้ำเติมให้ร่างกายอ่อนแอจนล้มป่วยได้ในที่สุด
การใช้ชีวิตและการปรับตัวให้ได้ในวัฒนธรรมต่างบ้านต่างเมืองเมื่ออยู่ต่างประเทศ
เป็นเรื่องจำเป็น และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับแรงงานไทย เพราะหากปรับตัวไม่ได้ ก็จะนำไปสู่อีกหนึ่งปัญหาที่พี่น้องแรงงานไทยส่วนใหญ่มักจะพบเจอกันไม่มากก็น้อย
และที่สำคัญคือแก้ไขไม่ได้ ถือเป็นปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งตลอดกาล นั่นคือ ดื่มเหล้า
เล่นการพนัน และเมาสุราวิวาทกันเอง ทำให้นายจ้างต้องพาไปขึ้นโรงขึ้นศาลกันอยู่บ่อยๆ
เสียเวลาทำงาน เสียเวลาของนายจ้าง และเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก ซ้ำร้ายกว่านั้น
บางรายเมาถึงขั้นควบคุมตัวเองไม่อยู่ ไปทำร้ายแรงงานต่างชาติหรือคนท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ
กลายเป็นว่าเรื่องจบลงด้วยการติดคุกติดตารางกันไป
อีกเรื่องหนึ่ง
ที่แรงงานไทยต้องแก้ไขให้ได้ คือการละทิ้งงานหรือกลับประเทศอย่างกระทันหัน
โดยไม่สนใจพันธะผูกพันตามสัญญาจ้างที่ได้ตกลงไปแล้ว พฤติกรรมอย่างนี้
ถือว่าทำความเสียหายต่อนายจ้างอย่างมากเพราะเป็นการยกเลิกสัญญาจ้างก่อนกำหนด
ประการสุดท้ายที่ทำให้ชื่อเสียงของแรงงานไทยเสื่อมเสียอย่างมาก
คือ การที่แรงงานไทยหลบหนีนายจ้าง ทิ้งงานที่ทำอยู่กับบริษัทเดิมไปดื้อๆ
โดยกรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นที่ประเทศเกาหลีใต้ คือมีกระบวนการนายหน้าเถื่อน
ล่อลวงคนงานไทยให้ไปทำงานด้วย อ้างว่าจะได้รายได้ดีกว่าที่เก่ามาก บางคนเชื่อ
ก็หลบหนีนายจ้างเก่าไปทำงานที่ใหม่ ซึ่งต้องระวังอย่างยิ่ง
เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายของเกาหลีใต้
จะกลายเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองทันที มิหนำซ้ำ
นายจ้างอาจแจ้งความดำเนินคดีกับคนงานที่หลบหนีอีกด้วย คนงานที่มีประวัติเสียหายเหล่านี้จะไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานในเกาหลีใต้ได้อีกเลย
สรุปแล้ว
การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปขายแรงงานในต่างประเทศ
ด้วยหวังว่าจะเก็บเงินกลับประเทศได้เป็นกอบเป็นกำ
แต่ถ้าคนงานมีความประพฤติไม่เหมาะสม และไม่ยอมปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น ก็อาจกลายเป็นว่าต้องเสียทั้งเงิน
เสียทั้งเวลา และส่งผลเสียต่อชื่อเสียงแรงงานไทยดีๆ ไปอีกด้วย
ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล
กระทรวงการต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น