ชาวอุบลฯ นั้น ได้ชื่อว่าคุ้นเคยกับสภาพเมืองชายแดนที่มีการเดินทางเปลี่ยนผ่านหมุนเวียนของทั้งคนและสินค้า จึงมีความตื่นตัวอยู่เสมอและรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีมากขึ้นหลังจากอาเซียน 10 ประเทศ จะมีการรวมตัวกันแนบแน่นมากขึ้น การค้าการขาย การคมนาคมขนส่งทั้งสินค้าและการสัญจรของผู้คนที่จะมีมากขึ้นและเสรีมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ การค้ามนุษย์จะพลอยเพิ่มมากขึ้นด้วย และจะมีรูปแบบที่หลากหลายซับซ้อนขึ้นด้วย
กระทรวงการต่างประเทศเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องติดอาวุธให้กับชาวอุบลฯ เพราะนอกจากเพื่อคนอุบลฯ จะได้ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์แล้ว ยังจะเป็นการสร้างให้ชาวอุบลฯ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการค้ามนุษย์ จะได้ช่วยป้องกันตัวเองและลูกหลาน จึงได้ร่วมกับสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุบลราชธานี และมูลนิธิพิทักษ์สตรี จัดโครงการ “อบรมสร้างความเข้าใจป้องกันภัยคนไทยไปต่างแดน โดยเฉพาะสตรีและเด็ก” ในพื้นที่ อ.โขงเจียม และ ต.ช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ ๙-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕
นายสุรพล เพชรวรา อธิบดีกรมการกงสุล กล่าวเปิดโครงการ |
ในงานมีการบรรยายให้ความรู้ที่ควรทราบก่อนการเดินทางไปต่างประเทศ และยกตัวอย่างกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากขบวนการค้ามนุษย์แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม รวมทั้งตอบคำถามในประเด็นต่างๆ โดยมีอธิบดีกรมการกงสุล เป็นผู้บรรยายหลัก ร่วมกับผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว อุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่กองคุ้มครองฯ
นอกจากนี้ กิจกรรมรับแจ้งเหตุ มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการอบรมรู้จักใช้ประโยชน์จากข้อมูลความรู้ที่ได้รับการอบรมจากการบรรยายช่วงเช้า ในการร่วมป้องกันภัยจากขบวนการมิจฉาชีพและค้ามนุษย์ ผ่านทางรูปแบบกิจกรรมกลุ่มย่อย ที่เน้นให้เกิดแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจระหว่างกัน ดำเนินรายการโดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิพิทักษ์สตรี ผู้เข้าร่วมการสัมมนามีจำนวนทั้งสิ้น ๒๖๐ คน (๒ วัน) โดยเป็นผู้แทนจากหน่วยงานท้องถิ่น ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนในอำเภอ ครู/อาจารย์ กลุ่มชาวบ้าน จ.อุบลราชธานี ซึ่งจะช่วยนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
ผู้เข้าร่วมอบรมตั้งอกตั้งใจรับความรู้จากวิทยากร |
กิจกรรมกลุ่มย่อย |
คนอุบลฯ เห็นตะวันขึ้นก่อนใครในสยาม |
กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น