วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่กงสุลทั่วโลกประจำปี 2553

ท่านปลัดกระทรวงฯถ่ายภาพร่วมกับข้าราชการผู้ใหญ่กระทรวงการต่างประเทศที่ไปร่วมพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่กงสุลทั่วโลกประจำปี 2553
ท่านปลัดกระทรวงฯ ถ่ายภาพร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ซึ่งรับเชิญมาเป็นวิทยากร
ท่านปลัดกระทรวงฯ กล่าวเปิดการประชุมและให้โอวาทแก่ข้าราชการที่เข้าร่วมการประชุม
ข้าราชการที่เข้าร่วมการประชุม
ข้าราชการที่เข้าร่วมการประชุม
ท่านอธิบดีจักร บุญ-หลงกล่าวต้อนรับข้าราชการที่เข้าร่วมการประชุมและแจ้งวัตถุประสงค์การประชุมให้ข้าราชการทราบ



พิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่กงสุลทั่วโลกประจำปี 2553

พิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่กงสุลทั่วโลกประจำปี 2553 ในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2553 เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์รัชดา บอลรูม ชั้น 5 อาคารธารทิพย์ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม 2553

09.00-09.05 น. นายจักร บุญ-หลง อธิบดีกรมการกงสุลกล่าวต้อนรับ


09.05-09.15 น. นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงฯ กล่าวเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่กงสุลทั่วโลกประจำปี 2553

เตือนคนไทยในสวีเดนอย่าเก็บเห็ดป่ามารับประทาน

เห็ดป่าในสวีเดน ลักษณะคล้ายเห็ดนางฟ้าบ้านเรา แต่มีพิษ ขอให้ระมัดระวังอย่าเก็บเห็ดป่าไปรับประทานโดยไม่รู้จัก


เตือนคนไทยในสวีเดนอย่าเก็บเห็ดป่ามารับประทาน

นายประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ แถลงเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ว่า สถานทูตไทยในสวีเดนรายงานว่าเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 สื่อมวลชนท้องถิ่นในสวีเดนรายงานข่าวว่า มีครอบครัวคนไทยรวม 3 คน ประกอบด้วย ยาย แม่ และเด็กอายุ 3 ขวบ เกิดอาการป่วยจากการเก็บเห็ดป่าที่มีพิษมารับประทานจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเวจเล ทางตอนกลางของคาบสมุทร Jylland

สถานทูตได้ติดตามเกี่ยวกับเห็ดที่คนไทยนำมาบริโภคทราบว่า เห็ดป่าที่มีพิษดังกล่าวสามารถพบได้ในเขตซอนเดอร์มาร์เคน และเขตเวจเล เห็ดป่ามีพิษประเภทนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดนางฟ้าจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยในเดนมาร์กตลอดจนชาวต่างชาติอื่นๆเกิดความเข้าใจผิดและเก็บเห็ดชนิดนี้มารับประทาน

นายประสิทธิพรฯ แถลงด้วยว่าสถานทูตไทยในสวีเดนได้รับการแจ้งเตือนจากโรงพยาบาล Bispebjerg ในกรุงโคเปนเฮเกนเกี่ยวกับกรณีคนไทยนิยมเก็บเห็ดป่าที่มีพิษมารับประทานโดยขาดความรู้ความเข้าใจจนเป็นเหตุให้มีคนไทยหลายคนมีอาการป่วยและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งสถานทูตได้รีบออกประกาศแจ้งเตือนทางเว็บไซต์ของสถานทูตให้คนไทยในสวีเดนทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2553 และได้ประสานเตือนชุมชนไทยให้กระจายข่าวเพื่อให้คนไทยในสวีเดนระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดป่าชนิดดังกล่าวมารับประทาน ผู้สนใจสามารถเข้าชมประกาศแจ้งเตือนของสถานทูตได้ที่เว็บไซต์http://www.thaiembassy.dk/webpages/webdocuments/info_news/warning.pdf

ผู้อำนวยการกองคุ้มครองฯ จึงขอเตือนให้ท่านที่มีญาติพี่น้องทำงานอยู่ในประเทศสวีเดน ซึ่งทราบข่าวนี้ช่วยแจ้งเตือนญาติพี่น้องที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าในประเทศสวีเดนให้ระมัดระวังอย่างเก็บเห็ดป่ามารับประทาน เพราะอาจเป็นเห็ดมีพิษ ซึ่งจะทำให้เจ็บป่วยได้

แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน คนไทยปลอดภัย


แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน คนไทยปลอดภัย



นายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศแถลงเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาดความสั่นสะเทือน 5.2 ริกเตอร์ ระดับความลึก 16.50 กิโลเมตร โดยมีศูนย์กลางห่างจากเมืองอี๋หลาน (Yi Lan City) ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 39.10 กิโลเมตร และเป็นผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือนถึงไทเป 2.0 ริกเตอร์ นั้น สำนักงานการต้าและเศรษฐกิจไทยได้ตรวจสอบกับสำนักงานแรงงานไทเปแล้ว ยังไม่มีรายงานความเสียหายหรือผลกระทบใดๆต่อคนไทยในพื้นที่ดังกล่าว

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบพบปะนักเรียนไทยที่เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ

ท่านกงสุลใหญ่ทอมวิชย์ ชาญสรรค์ถ่ายภาพร่วมกับนักศึกษาไทยเป็นที่ระลึกหน้าร้านอาหารไทยเฮ้าส์
มอบของที่ระลึก
ผู้แทนชมรมศิษย์เก่ามหาจุฬาสนทนากับท่านกงสุลใหญ่ฯ
ท่านกงสุลใหญ่ทอมวิชย์ ชาญสรรค์ร่วมรับประทานอาหารกับนักเรียนอย่างเป็นกันเอง

งสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบพบปะนักเรียนไทยที่เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2553 นายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ นำคณะเจ้าหน้าที่สถานกงสุลฯ พบปะผู้แทนชมรมศิษย์เก่ามหาจุฬาฯ นักศึกษาไทยในเมืองปูเน่ และนักเรียนทุนในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ร้านอาหาร Thai House ที่เมืองปูเน่ รัฐมหาราษฏระ เพื่อสอบถามสภาพการเรียนและความเป็นอยู่ของนักศึกษาไทย พบว่านักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในเมืองปูเน่มีจำนวน 100 กว่าคน ประมาณ ร้อยละ 60 ศึกษาในระดับปริญญาตรี ส่วนที่เหลือศึกษาในระดับปริญญาโทและเอก ส่วนใหญ่ศึกษาอยู่ที่ ม. ปูเน่ ม. ซิมไบโอซิส และ ม. Deccan โดยมีวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่ภายใต้ ม. ปูเน่ อาทิ วิทยาลัย MIT และวิทยาลัย เฟอร์ กูสัน

โดยรวม ท่านกงสุลใหญ่ฯ พบว่า การเรียนและความเป็นอยู่ของนักศึกษาไทยอยู่ในระดับดี กิจกรรมของชมรมซึ่งจัดร่วมกับกิจกรรม ของมหาวิทยาลัย ได้แก่ การแสดงทางวัฒนธรรมไทย และอาหารไทยนั้นได้รับการชื่นชมและเป็นที่รู้จักอย่างดี นอกจากนี้ ชมรมจัดกิจกรรมต่างๆ ในวันสำคัญทางศาสนาและวันโอกาสพิเศษ อาทิ งานวันแม่ ซึ่งเป็นโอกาสให้นักศึกษาพบปะและสร้างความสามัคคี นอกจากนี้ ชมรมได้จัดทำเว็บไซต์ได้แก่ http://learningpune.com ซึ่ง ท่านกงสุลใหญ่ฯ ขอให้ผู้จัดทำเว็บไซต์เชื่อมกับเว็บไซต์ของ สถานกงสุลใหญ่ฯ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์และช่วยเผยแพร่ข่าวสารในวงกว้างมาก ขึ้น ทั้งนี้ ท่านกงสุลใหญ่ฯ ได้รับแจ้งปัญหาเรื่องการขอรับการตรวจลงตราประเภทนักศึกษา การต่อ residential permit ซึ่งท่านกงสุลใหญ่ฯรับจะประสานเพิ่มเติมกับหน่วยงานอินเดียต่อไป

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมการกงสุลกับกรมการจัดหางาน

ท่านอธิบดีจักรฯ และท่านอธิบดีจีรศักดิ์ฯ สัมผัสมือแสดงความจริงใจที่จะสานต่อการทำงานแบบบูรณาการระหว่างกรม
ข้าราชการผู้ใหญ่จากทั้งสองกรมถ่ายภาพร่วมกับท่านอธิบดีภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว
อธิบดีทั้งสองท่านร่วมแถลงข่าวภายหลังการลงนามบันทึกความเข้าใจ
แลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจที่ลงนามแล้ว
ท่านอธิบดี จักร บุญหลง(ขวามือ) และท่านอธิบดีจีรศักดิ์ สุคนธชาติลงนามบันทึกความเข้าใจ
แนะนำข้าราชการผู้ใหญ่ของทั้งสองหน่วยงานที่ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจ



พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมการกงสุลและกรมการจัดหางาน

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 เวลา 11.00 น.ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศ และกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานเรื่องการปกป้องคุ้มครองและดูแลแรงงานไทยและการส่งเสริมขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

พิธีลงนามจัดขึ้นที่ห้องประชุม กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยนายจักร บุญหลง อธิบดีกรมการกงสุล และนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติอธิบดีกรมการจัดหางานเป็นผู้แทนลงนามบันทึกความตกลงดังกล่าว โดยมีข้าราชการระดับสูงของทั้งสองหน่วยงาน และสื่อมวลชนเป็นสักขีพยาน

บันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมระหว่างหน่วยราชการทั้งสองแห่งที่จะร่วมมือกันทำงานแบบบูรณาการใน 4 สาขา ดังนี้ 1. กิจกรรมเตรียมความพร้อมแก่แรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ 2. จัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อให้การคุ้มครองแรงงานไทยเป็นไปอย่างอย่างรวดเร็ว 3. ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศ และ 4 ส่งเสริมขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ

บันทึกความเข้าใจดังกล่าวเป็นผลจากการที่หน่วยงานทั้งสองตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องให้ความคุ้มครองแรงงานไทยในต่างประเทศจำนวน 4.6 แสนคนหรือร้อยละ 46 ของจำนวนคนไทยที่พำนักในต่างประเทศอย่างมีคุณภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตบรูไนร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ขอนแก่น เพื่อพัฒนาตลาดแรงงานทักษะไทยในบรูไน

และมีน้ำมีดินอุดมสมบูรณ์แบบนี้
มีไม้ดอกที่ปลูกขายอย่างนี้
ที่บรูไนมีฟาร์มแบบนี้
กำลังหารือ
อาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่นถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับท่านอุปทูตแวซง ดาเล็ง (คนกลาง) และข้าราชการหน้าสถานทูต




สถานทูตบรูไนร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ขอนแก่น เพื่อพัฒนาตลาดแรงงานทักษะไทยในบรูไน


ระหว่างวันที่ 16 – 20 สิงหาคม 2553 คณะอาจารย์จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น 2 ท่าน เดินทางไปดูงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งนักศึกษาฝึกงานฟาร์มไม้ดอกและการปลูกพืชไร้ดินที่บริษัท Semaun prim sendirian bhd.sdn. Hydroponics farmingโดยมีนายชัชชัย อมรทัพพ์ ผู้บริหารฟาร์มให้การต้อนรับและมีการหารือแนวทางดำเนินการเพิ่มเติมจากคณะที่มาดูงานชุดแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2553

อาจารย์ทั้งสองท่านได้เปิดเผยว่า วิทยาลัยฯ มีความพร้อมในการส่งนักศึกษาด้านพืชศาสตร์มาฝึกงานที่บรูไน และจากการออกสำรวจตลาดไม้ดอกไม้ประดับ การจัดตกแต่งสวนตามตลาดนัด และร้านค้าแล้ว เห็นว่าชาวบรูไนนิยมไม้ดอกที่ดูแลง่ายราคาไม่แพง การผลิตจึงสามารถใช้ไม้ที่โตเร็ว เลี้ยงง่าย สามารถทำรายได้ กำไรได้เร็ว ซึ่งนักศึกษาของวิทยาลัยฯ จะสามารถเข้ามาฝึกงานได้ตามความต้องการเบื้องต้นของผู้ประกอบการ จำนวน 3 คน

สำหรับเงื่อนไขในการรับนักศึกษาของทางการบรูไนนั้น สำนักงานแรงงานในบรูไน สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน กำลังอยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานอย่างเป็นทางการ โดยในระหว่างนี้วิทยาลัยฯ จะได้เตรียมความพร้อมมากขึ้น โดยการเสริมความรู้ในแขนงต่างๆ อาทิ ภาษาอังกฤษ การออกแบบและจัดทำกระถางดอกไม้ การจัดตกแต่งสวน การประเมินราคาตกแต่ง เป็นต้น

ในระหว่างการเยือน นายอาณาจักร สุทธายน อทป.ฝ่ายแรงงานได้นำคณะอาจารย์เข้าเยี่ยมคารวะนางแวซง ดาเล็ง อุปทูต ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยนายธวัช สุมิตรเหมาะ ที่ปรึกษา เข้าร่วมการหารือด้วย คณะอาจารย์ได้เล่าประสบการณ์ความร่วมมือทางเกษตรกรรม ระหว่างวิทยาลัยฯ กับสถาบันการศึกษาในญี่ปุ่นและจีน ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

นอกจากนี้ ในการหารือครั้งนี้ ได้มีการเสนอความเห็นและแนวทางการดำเนินการในลักษณะคู่ขนานทั้งการปฎิบัติ และการเจรจาหาทางทำข้อตกลงระหว่างสองประเทศให้สำเร็จ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาของไทยมีโอกาสมาฝึกงานในบรูไน ซึ่งหากสามารถทำงานได้เป็นที่พอใจของเจ้าของกิจการ ก็อาจได้รับการพิจารณาว่าจ้างประจำในโอกาสต่อไปได้ ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะรายงานความคืบหน้าให้กระทรวงการต่างประเทศของไทยทราบเป็นระยะ และพิจารณาร่วมผลักดันโครงการดังกล่าวด้วย โดยคาดว่าประเทศไทยจะมีการดำเนินการตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ต่อไป

สถานกงสุลใหญ่ลอสแอนเจลิสออกให้บริการกงสุลสัญจร

คุณดำรง ใคร่ครวญ กงสุลใหญ่ ณ นครลองแอนเจลิส

สถานกงสุลใหญ่ลอสแอนเจลิสออกให้บริการกงสุลสัญจร


เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2553 สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปที่วัดพรหมคุณาราม เมืองวัดเดล มลรัฐอริโซนาโดยในครั้งนี้มีคนไทยขอรับบริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์เล่มใหม่ จำนวน 141 ราย นิติกรณ์ 13 ราย และขอรับบริการด้านการปรึกษาหารือเกี่ยวกับงานกงสุล 20 ราย

การจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรในครั้งนี้สถานกงสุลใหญ่ฯใช้ระบบนัดหมายล่วงหน้าสำหรับการบริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อไม่ให้ผู้รับมาบริการต้องรอนานเกินความจำเป็นและเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตามสถานกงสุลใหญ่ฯได้พยายามยืดหยุ่นให้บริการแก่ผู้ที่ไม่ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าด้วยโดยเจ้าหน้าที่จะขอให้ลงชื่อไว้แล้วกลับมารับบริการอีกครั้งตามลำดับการลงชื่อภายหลังจากที่ผู้นัดหมายล่วงหน้าทั้งหมดได้รับบริการแล้ว โดยในครั้งนี้สถานกงสุลใหญ่ฯสามารถให้บริการแก่ผู้ที่มาติดต่อขอรับบริการได้ทั้งหมด แบ่งเป็นนัดหมายไว้ล่วงหน้า 104 ราย และไม่ได้นัดหมาย 37 ราย

แบบสอบถามที่สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอให้ผู้ที่เข้ารับบริการกงสุลสัญจรแสดงความเห็น จำนวน 70 ราย ซึ่งในภาพรวมผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจในระดับ มาก – มากที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 4.39 จากคะแนนเต็ม 5) โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้คะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ย จำนวน 37 ราย คิดเป็นร้อยละ 53 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ทั้งนี้สิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ประโยชน์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามได้รับจากบริการกงสุลสัญจร (คะแนนเฉลี่ย 4.7) (2) ความสุภาพและมนุษย์สัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ (คะแนนเฉลี่ย 4.6) (3) การตอบคำถาม การให้ข้อมูลและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ (คะแนนเฉลี่ย 4.56) ส่วนสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความพึงพอใจน้อยที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ (1) จำนวนวันที่ให้บริการกงสุลสัญจร (คะแนนเฉลี่ย 4.20) (2) ความถี่ในการจัดบริการกงสุลสัญจร (คะแนนเฉลี่ย 4.07) (3) ความเหมาะสมของสถานที่ (คะแนนเฉลี่ย 4.37) ซึ่งอาจจะตีความได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามต้องการให้มีบริการกงสุลสัญจรถี่ขึ้น และมีจำนวนวันให้บริการมากขึ้นในแต่ละครั้ง

จากการสำรวจพบว่าช่องทางที่ผู้ตอบแบบสอบถามทราบข่าวเกี่ยวกับการให้บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้มากที่สุดคือเว็บไซต์ของสถานกงสุลใหญ่ฯรองลงมาคือการบอกปากต่อปาก และการประชาสัมพันธ์ของทางวัด (ร้อยละ 27 และร้อยละ 26 ตามลำดับ) ในขณะที่ช่องทางที่ผู้ตอบแบบสอบถามได้ทราบข่าวการให้บริการกงสุลสัญจรในครั้งนี้น้อยที่สุดคือโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ )ร้อยละ 14 และ 0 ตามลำดับ

สถานกงสุลใหญ่มาดากัสการ์ออกเยี่ยมแรงงานไทย


สถานกงสุลใหญ่มาดากัสการ์ออกเยี่ยมแรงงานไทย

เมื่อวันที่ 19 – 21 สิงหาคม 2553 นายนโรตม์ ศังขมณี กงสุลใหญ่ประจำประเทศมาดากัสการ์และเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยซึ่งทำงานอยู่บริษัทศรีราชาคอนสตรัคชั่นในโครงการ Ambatovy ที่เมืองทามาเซีย

บริษัทศรีราชาคอนสตรัคชั่นเป็นบริษัทรับเหมาช่วงในการก่อสร้างโรงงานถลุงแร่นิเกิลและโคบอลท์ของโครงการ Ambatovy ซึ่งมีงานก่อสร้างประมาณร้อยละ 40 ของโครงการ ส่วนใหญ่เป็นงานด้านโครงสร้างและระบบท่อต่างๆ โดยมีการจ้างงานแรงงงานไทยเท่านั้นจำนวน 400 คน ทั้งนี้บริษัทรับเหมาช่วงในโครงการ Ambatovy นอกจากบริษัทไทยแล้วยังมีบริษัทต่างชาติที่รับงานอยู่ขณะนี้คือบริษัทจากแอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ (แรงงานส่วนใหญ่เป็นชาวฟิลิปปินส์มีประมาณ 1,000 คน) และจีน สำหรับบริษัทศรีราชาฯ มีความชำนาญในการก่อสร้างโรงงานในการผลิตผลงานที่สำคัญอาทิ โรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศกาตาร์ และปัจจุบันกำลังก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศสิงคโปร์

กงสุลใหญ่ฯและคณะได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร วิศวกรระดับหัวหน้างานและแรงงานไทยเกือบทั้งหมด โดยกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของแรงงานไทยที่ผู้บริหาร Ambatovy ได้กล่าวชมเมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการว่า แรงงานไทยได้ดำเนินง่านด้วยดีไม่มีปัญหาใดๆและจะแล้วเสร็จตามแผนงาน แรงงานไทยทำหน้าที่ผู้แทนของประเทศได้เป็นอย่างดี และแจ้งให้ทราบว่าสถานกงสุลใหญ่ยินดีให้บริการทางด้านกงสุล รวมทั้งรับฟังปัญหาต่างๆ ของแรงงานไทย นอกจากนั้นได้เชิญชวนให้แรงงานไทยไปลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และยังได้แจ้งให้แรงงานไทยทราบถึงสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยซึ่งกำลังมีแนวโน้มที่น่าจะเป็นไปในทางที่ดีสำหรับแรงงานไทยด้วย

แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในบริษัทศรีราชาฯ ไม่ต้องเสียค่าหัวแต่อย่างใด เสียแต่ค่าหนังสือเดินทางและค่าตรวจสุขภาพ ( 800 บาท) เท่านั้น สำหรับค่าเดินทางและบัตรโดยสารเครื่องบินบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนเงินเดือนส่วนหนึ่งจะจ่ายเป็นเงินบาทโดยโอนเข้าบัญชีของแรงงานที่ประเทศไทย และอีกส่วนหนึ่งรวมทั้งค่าล่วงเวลาที่อาจจะได้รับบริษัทฯจะจ่ายให้แรงงานเป็นเงินสกุลท้องถิ่น ทั้งนี้เมื่อแรงงานทำงานครบ 12 เดือนสามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้โดยบริษัทรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้พร้อมกับให้ลางานได้ 2-3 สัปดาห์ โดยได้รับเงินเดือนในอัตราแรงงานของบริษัทฯที่ทำงานในประเทศไทย

ในโอกาสดังกล่าวกงสุลใหญ่ฯ และคณะได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่พักของแรงงานซึ่งแต่ละชาติจะแยกกันอยู่ สถานที่มีความสะดวกสบาย สะอาด และติดเครื่องปรับอากาศ พร้อมมีพนักงานทำความสะอาดและบริการซักรีด แรงงานไทยพักอยู่ห้องละ 3 คน ทานอาหารที่ห้องทานอาหารรวม ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้ง 3 มื้อ ซึ่งทางโครงการฯได้ผ่อนผันให้แรงงานไทยสามารถทำอาหารและปลูกผักสวนครัวได้บ้าง ทั้งนี้บริษัทศรีราชาฯ เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย อาทิ ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าห้องพัก ดื่มได้เฉพาะสถานที่ที่จัดไว้โดยไม่ปะปนกับแรงงานประเทศอื่นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทะเลาะวิวาท ห้ามเล่นการพนัน อนุญาตให้แรงงานสามารถเข้าเมืองเพื่อซื้อของใช้ส่วนตัวได้เพียงเดือนละ 1 วัน

เดิมงานก่อสร้างของบริษัทศรีราชาฯ กำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2553 แต่โครงการล่าช้าทำให้ต้องเลื่อนกำหนดงานเสร็จออกเป็นเดือนพฤษภาคม 2554 และคาดว่าจะมีแรงงานไทยเดินทางเข้ามาเพิ่มอีกประมาณ 100 คน

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่แวนคูเวอร์จัดโครงการกงสุลสัญจร

วางนี้วแปะลงไปแบบนี้เลยครับ จะได้เห็นลายนิ้วมือชัดๆ
มือซ้ายเช็กคอมฯ มือขวาจับเอกสารแล้วก็หันไปถามคำถามผู้มารับบริการ
เข้าใจแล้วครับ เดี๋ยวนะครับ ผมขอเช็กข้อมูลจากคอมฯ เดี๋ยวนะครับ
ผู้รับบริการทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่กำลังสแกนลายพิมพ์นิ้วมือ
ท่านกงสุลบุรินทร์ สันติพิทักษ์ กำลังพิมพ์ข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ฯ
ท่านกงสุลใหญ่ฯ อรรถยุทธ์ ศรีสมุทร (คนยืนขวามือ) ทักทายผู้มารับบริการงานด้านกงสุล


สถานกงสุลใหญ่แวนคูเวอร์จัดโครงการกงสุลสัญจร

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแวนคูเวอร์ ได้จัดโครงการให้บริการกงสุลสัญจรแก่ชุมชนชาวไทยที่อาศัยอยู่ใน นครเอ็ดมันตันและนครคัลการี่ โดยนายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร กงสุลใหญ่และเจ้าหน้าที่รวม 4 คนเดินทางไปให้บริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ สูติบัตร นิติกรณ์ พร้อมทั้งให้คำปรึกษาด้านต่างๆแก่คนไทยด้วย โดยในปีนี้ได้มีผู้มาขอรับบริการดังนี้

1). วันที่ 31 กรกฏาคม - 2 สิงหาคม 2553 ณ นครเอ็ดมันตัน ระยะทาง 1,163 กิโลเมตรจากแวนคูเวอร์ ให้บริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 67 คน ทำสูติบัตรจำนวน 1 ชุด

2). วันที่ 3 - 5 สิงหาคม 2553 ณ นครคัลการี่ ระยะทาง 1,357 กิโลเมตรจากแวนคูเวอร์ ให้บริการทำหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 80 คน ทำนิติกรณ์ 7 ชุด

ในโอกาสนี้กงสุลใหญ่ฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยในมณฑลอัลเบอร์ตา เพื่อนำอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค และเครื่องกีฬาไปมอบให้ และเพื่อรับฟังปัญหา ให้คำแนะนำ ตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทย รวมทั้งทำความรู้จักกับนายจ้างแคนาดาด้วย ซึ่งปรากฏว่าโดยรวมแรงงานไทยมีความพึงพอใจสภาพการทำงานและค่าจ้าง(แรงงานที่ทำสวนได้ค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละ 11-12 ดอลลาร์แคนาดา ) และนายจ้างก็มีความพึงพอใจการทำงานของแรงงานไทย อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาในเรื่องของการแบ่งกลุ่มหรือทะเลาะกันบ้างระหว่างแรงงานไทย (ที่เมือง Red Cliff มณฑลอัลเบอร์ต้าติดกับมณฑลชัชคัทเซวาน มีแรงงานไทยประมาณ 100 คน ซึ่งมีข่าวว่าเกิดการทะเลาะกันบ้างเป็นครั้งคราว) หรือปัญหาการต่ออายุใบอนุญาตการทำงาน ซึ่งมีความล่าช้าและขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดแรงงานของแต่ละมณฑลว่ามีคนว่างงานมากน้อยเพียงใด รวมทั้งมีแรงงานไทยบางคนหนีนายจ้างไปทำงานในมณฑลอื่นซึ่งทำให้แปรสภาพเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้สถานกงสุลใหญ่ได้นำสินค้า OTOP ไปร่วมแสดงในงาน Edmonton Heritage Festival ที่ William Hawrelak Park ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2553 รวมทั้งได้มอบเงินสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินงานสันถวไมตรีของสมาคมไทยในอัลเบอร์ต้าและสมาคมไทยแคนาเดียน(คัลการี) ด้วย

การจัดโครงการกงสุลสัญจรเพื่อให้บริการแก่ชุมชนไทยที่พำนักอยู่ห่างไกลจากสถานกงสุลใหญ่ฯ ในครั้งนี้มีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมีแรงงานและประชาชนไทยจำนวนมากที่ต้องการรับบริการด้านกงสุลจากสถานกงสุลใหญ่ฯ แต่เนื่องจากการคมนาคมห่างไกลจึงไม่สะดวกที่จะเดินทางไปติดต่อรับบริการที่นครแวนคูเวอร์ได้ นอกจากนั้นแรงงานไทยในพื้นที่ห่างไกลดังกล่าวมีความต้องการพบปะเพื่อหารือข้อวิตกกังวลหรือรับทราบข่าวจากกงสุลใหญ่ฯ และเจ้าหน้าที่ ในขณะที่บางกลุ่มกำลังต้องการคนกลางในการร้องทุกข์เพื่อเจรจากับนายจ้าง ซึ่งเมื่อได้พบกงสุลใหญ่ฯ ต่างก็รู้สึกยินดีและชื่นชมบทบาทของสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่เดินทางไปพบและรับฟังทุกข์สุข รวมทั้งได้รับสิ่งของที่เป็นประโยชน์ อาทิ เครื่องกีฬาฟุตบอลและตะกร้อ ซึ่งแรงงานไทยชื่นชอบมาก

จากการประเมินกิจกรรมในครั้งนี้พบว่าชุมชนไทยในมณฑลบริทิชโคลัมเบียและมณฑลอัลเบอร์ต้ามีความร่วมมือกันดี และมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สถานกงสุลใหญ่ฯ จะสนับสนุนต่อไปโดยเฉพาะงาน Edmonton Heritage Festival ซึ่งมีชาวแคนาดาเข้าร่วมถึงสามแสนคนในช่วง 3 วัน (31 ก.ค. – 2 ส.ค. 2553) และทีมไทยแลนด์ได้รับรางวัลสองประเภทคือ รางวัลอันดับ 3 ประเภทประดับเวทีและซุ้มอาหาร และรางวัลอันดับ 2 ประเภทแสดงสินค้าหัตถกรรมและแกะสลัก รวมทั้งยังได้รับรางวัลชมเชยด้านการจำหน่ายอาหารจากประเทศที่เข้าร่วมงานกว่า 60 ประเทศ นอกจากนี้ในนครคัลการีก็มีการจัดงานเผยแพร่วัฒนธรรมตามวันสำคัญทางประเพณีของไทย อาทิ งานสงกรานต์ งานลอยกระทง

การมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่นางดี บุญมีป้อม

นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุลสนทนากับแขกที่มารับดราฟท์เงินสิทธิประโยชน์ก่อนพิธีมอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานในพิธีมอบดราฟท์แก่ผู้รับสิทธิประโยชน์ ที่กระทรวงการต่างประเทศ
นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มอบดราฟท์ให้แก่
นางผิน บุญมีและนายถวัลย์ บุญยะปะปัง เมื่อ 23 สิงหาคม 2553

การมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่นางดี บุญมีป้อม

วันนี้ ( 23 สิงหาคม 2553 ) นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบดราฟท์จำนวน 3 ฉบับแก่นางผิน บุญมีป้อม พี่สาว และนายถวัลย์ บุญยะปะปัง บุตรชาย ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์ของนางดี บุญมีป้อม คนไทยที่ไปประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพฤต ได้รับ เป็นจำนวน 568,811.83 ยูโร (ประมาณ 23,696,700.00 บาท – อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโรเท่ากับ 41.66 บาท )

กระทรวงต่างประเทศขอเรียนว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548- 2553 กรมการกงสุลร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรมได้ช่วยเหลือในการเรียกร้องเงินสิทธิประโยชน์ให้นางดี บุญมีป้อม หญิงไทยปัจจุบันอายุ 50 ปี ซึ่งเดินทางไปทำงานเป็นแม่บ้านที่ประเทศอิตาลีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2537 และต่อมาเมื่อปี 2548 ประสบอุบัติเหตุถูกรถบรรทุก 18 ล้อชนขณะขับขี่มอเตอร์ไซด์ที่ประเทศอิตาลี จนร่างกายเป็นอัมพฤตและเมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้เดินทางกลับประเทศไทย ต่อมาเมื่อ วันที่ 28 กรกฏาคม 2553 ศาลแพ่งจังหวัด Reggio Emilia ได้ตัดสินให้บริษัทประกันภัย Fondiaria Sai S.p.a. จ่ายเงินชดเชยกรณีอุบัติเหตุให้แก่นางดี บุญมีป้อม เป็นจำนวนเงิน 801,543.10 ยูโร ( 33,384,270.00 บาท ) และเมื่อหักเงินค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในอิตาลี แล้วเหลือเงินสุทธิที่นางดี ฯ จะได้รับ จำนวน 568,811.83 ยูโร (ประมาณ 23,696,700.00 บาท – อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโรเท่ากับ 41.66 บาท)

ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศถือเป็นนโยบายหลักในการให้ความคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะการเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของคนไทยที่ไปประสบปัญหาในต่างประเทศ โดยปีงบประมาณ 2552 กระทรวง ฯ โดยความร่วมมือจากสถานเอกอัครราชทูต ฯ และสถานกงสุลใหญ่ ฯ สามารถเรียกร้องเงินสิทธิประโยชน์แก่คนไทยที่ถูกฉ้อโกงจากนายจ้างต่างชาติที่ไปประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิตในต่างประเทศได้คิดเป็นเงินประมาณ 60 ล้านบาทและในปีงบประมาณ 2553 (ถึงเดือนกรกฏาคม 2553 ) กรมการกงสุลได้จัดพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่ญาติและคนไทยในต่างประเทศ 8 ครั้งจำนวน 32 ราย ได้เป็นเงินจำนวนประมาณ 22 ล้านบาท

กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำว่า การเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายของแรงงานไทยจะทำให้ได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่และทำให้ครอบครัวและญาติพี่น้องของแรงงานไทยได้รับการดูแลหากแรงงานไทยเกิดประสบเหตุในต่างประเทศ สำหรับแรงงานไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมายจะไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ ทั้งสิ้นและยังทำให้ญาติพี่น้องในประเทศเกิดความยากลำบากในการดำรงชีพต่อไป

ทูตไทยที่โปรตุเกสนำข้าราชการออกโครงการกงสุลสัญจรและเยี่ยมแรงงานไทย

ท่านทูตรับฟังปัญหาของแรงงานไทยและให้คำแนะนำ
ท่านทูตเป็นประธานกล่าวนำในพิธีถวายเครื่องราชสักการะและถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บริเวณที่พักแรงงานไทย เมือง S. Teutonio เมื่อ 15 สิงหาคม 2553
ท่านทูตรับฟังปัญหาและให้คำแนะนำแก่แรงงานไทยบริษัท Barryport และบริษัท Frupor บริเวณที่พักแรงงานไทยเมือง S. Teutonio
แรงงานไทยที่ Maravilha Farm ถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับท่านทูตกาศิวัฒน์ฯและข้าราชการสถานทูต
แรงงานไทยที่ทำงานในไร่ราสเบอรี่ที่ Maravilha Farm เมือง S. Teutonio เมื่อ 14 สิงหาคม 2553
ท่านทูตรับฟังปัญหาของแรงงานที่ Lino's Farm
ห้องครัวของแรงงานไทยที่ฟาร์มเกษตร Lino's Farm
ห้องพักของแรงงานไทย
ท่านทูตกาศิวัฒน์ฯ และเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมแรงงานไทยที่ฟาร์มเกษตร Lino's Farm เมื่อ 12 สิงหาคม 2553 พูดคุย สอบถามปัญหาความเป็นอยู่อย่างเป็นกันเอง
หารือกับเจ้าของโรงงาน Frutus
ท่านทูตและคุณดนัย เมนะโพธิ อัครทูตที่ปรึกษา (ยืนหลังท่านทูต) ที่ Frutus Farm ท่านทูตกาศิวัฒน์ฯ (คนที่ 4 จากซ้าย)และเจ้าหน้าที่สถานทูตเข้าเยี่ยมแรงงานไทยทำงานคัดแยกผลไม้ที่ Frutus Farm ในเขตเมือง Cadaval ระยะทาง 70 กิโลเมตร ทางเหนือกรุงลิสบอน เมื่อ 12 สิงหาคม 2553



ทูตไทยที่โปรตุเกสนำข้าราชการออกโครงการกงสุลสัญจรและเยี่ยมแรงงานไทย


นายกาศิวัฒน์ ปะรักกะมานนท์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกสนำข้าราชการสถานทูตออกโครงการกงสุลสัญจรเพื่อให้บริการงานด้านกงสุลแก่คนไทยในโปรตุเกสที่พนักอยู่ห่างไกลจากกรุงลิสบอนและเยี่ยมแรงงานไทย โดยกิจกรรมมีดังนี้
1. โครงการกงสุลสัญจรที่เมือง Cadaval และเมือง a Dos Cunhados ระยะทาง 70 กิโลเมตร ทางเหนือของกรุงลิสบอน วันที่ 12 สิงหาคม 2553
2. โครงการกงสุลสัญจรที่เมือง S. Teutonio แคว้น Alentejo ระยะทาง 250 กิโลเมตร ทางใต้ของกรุงลิสบอน วันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2553

วันที่ 12 สิงหาคม 2553 กงสุลสัญจรทางตอนเหนือของกรุงลิสบอน:
-เอกอัครราชทูตฯ และเจ้าหน้าที่สถานทูตได้ออกพบปะแรงงานไทยกว่า 80 คนที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานไทย (Seacross LDA) ให้กับนายจ้างโปรตุเกส ณ ฟาร์มเกษตรสองแห่งที่ “Frutus” ในเขตเมือง Cadaval ฟาร์มแห่งนี้มีแรงงานไทย ส่วนใหญ่เป็นหญิง จำนวน 17 คน ทำงานเก็บ/ คัดแยกลูกแพร์และพลัม และที่ Lino’s Farm เมือง A Dos Cunhados ในเขต Torres Vedras มีแรงงานไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาย จำนวน 70 คน (แรงงาน 20 คนเป็นแรงงานใหม่เพิ่งเดินทางเข้ามาได้เพียง 3 เดือน) ทำงาน เก็บ/ คัดแยก / บรรจุกล่องพืชผัก เช่น พริกหวาน มะเขือเทศ แตงกวา ผักกาดหอม

-ในโอกาสนี้ท่านทูตได้นำคณะเข้าเยี่ยมสถานที่พักของแรงงานไทยและสอบถามแรงงานเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่อย่างเป็นกันเอง พร้อมทั้งรับฟังปัญหาของแรงงานและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิตในประเทศโปรตุเกส นอกจากนี้ท่านทูตยังได้ช่วยเจรจาต่อรองกับฝ่ายนายจ้างและบริษัทนายหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการให้แรงงานไทย เพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่บางอย่างให้ดีขึ้นเท่าที่จำเป็น อาทิ ปัญหาที่พักแออัด การอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยในการส่งเงินกลับบ้าน ตลอดจนการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่จำเป็นให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานไทย

อย่างไรก็ดีในมุมมองของนายจ้างซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้สึกทั้งด้านบวกและด้านลบเกี่ยวกับแรงงานไทย พบว่ามี แรงงานไทยเพียงส่วนน้อยที่จำเป็นต้องปรับปรุงพฤติกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อส่วนรวมหรือส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การดื่มสุราในระหว่างการทำงาน การเล่นการพนัน การไม่รักษาความสะอาดบริเวณที่พัก ตลอดจนการใช้ของส่วนรวมอย่างไม่ระมัดระวัง ซึ่งในเรื่องนี้ท่านทูตได้ย้ำขอให้แรงงานไทยตั้งใจทำงานและประพฤติตนให้อยู่ในกฎระเบียบที่นายจ้างกำหนดไว้ อีกทั้งขอให้มีความสามัคคี ช่วยเหลือกันและขอให้พยายามรักษาชื่อเสียงของแรงงานไทยให้เป็นที่พอใจของนายจ้าง และได้ตักเตือนผู้ประพฤติตนไม่เหมาะสม ซึ่งอาจถูกนายจ้างพิจารณาไม่ต่อสัญญาในปีต่อไปได้ นอกจากนี้ยังได้เตือนให้แรงงานไทยหมั่นดูแลสุขภาพอนามัยของตนให้ดี โดยเฉพาะให้ระมัดระวังสารเคมีที่มากับผลิตผลการเกษตรซึ่งอาจทำให้มีอาการทางผิวหนังและเจ็บป่วยได้ง่าย

วันที่ 14 – 15 สิงหาคม 2553 กงสุลสัญจรทางตอนใต้ของกรุงลิสบอน:
-วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม 2553 เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตได้ออกพบปะแรงงานไทยเกือย 100 คนที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทนายหน้าจัดหางาน (Seacross LDA) ณ บริเวณฟาร์มเกษตรทางภาคใต้ของโปรตุเกสที่ Maravilha Farm ตั้งอยู่ที่เมือง S. Teutonio ในแคว้น Alentejo มีแรงงานไทย 60 คน ทำงานเก็บผลราสเบอรี่ ในจำนวนนี้เป็นแรงงานใหม่กว่าครึ่งซึ่งเพิ่งเดินทางเข้าไปทำงานได้เพียงสามเดือน นอกจากนี้ท่านทูตและคณะยังได้เดินทางไปเยี่ยมแรงงานไทยซึ่งเป็นคนงานในโรงงานของบริษัทต่างชาติ คือ บริษัท Barryport (อเมริกัน) และบริษัท Frupor (ฮอลแลนด์) ในเมือง S. Teutonio เช่นกัน โรงงานทั้งสองแห่งมีแรงงานไทยรวมกัน 40 คน แต่โดยที่เป็นเวลาหลังเลิกงานแล้ว จึงได้แวะเยี่ยมสถานที่พัก และได้พูดคุย สอบถามความเป็นอยู่ของแรงงานไทยกลุ่มนี้โดยถ้วนหน้า

-วันอาทิตย์ ที่ 15 สิงหาคม 2553 เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตได้ออกพบแรงงานไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทนายหน้าจัดหางาน DFRM International Services ซึ่งในวันอาทิตย์เป็นวันหยุดงาน และแรงงานไทยได้มารวมตัวกัน (ประมาณ 60 คน) เพื่อจัดกิจกรรมเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และจัดแข่งขันกีฬาบริเวณบ้านพักแรงงานไทยที่เมือง S. Teutonio ในโอกาสดังกล่าวท่านทูตได้รับเชิญให้เป็นประธานในพิธีถวายเครื่องราชสักการะและกล่าวนำถวายพระพรชัยมงคลต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งแรงงานไทยในพื้นที่ได้ร่วมกันจัดขึ้นและสถานทูตได้เปิดให้แรงงานไทยที่มาร่วมงานลงนามถวายพระพรด้วย นอกจากนี้ท่านทูตยังได้พูดคุยตอบปัญหาข้อข้องใจของแรงงานไทยในด้านต่างๆ รวมทั้งเป็นสื่อกลางระหว่างบริษัทนายจ้างกับบริษัทนายหน้าที่ดูแลแรงงานไทยเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการและการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานไทยโดยทั่วไป

อนึ่ง ในการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรทั้งสองครั้งดังกล่าวข้างต้น สถานทูตได้ใช้โอกาสดังกล่าวแจกจ่ายเอกสารคู่มือคนไทยในโปรตุเกสซึ่งสถานทูตจัดทำขึ้นใหม่ และทำการเผยแพร่แผนอพยพคนไทยในโปรตุเกสด้วย ทั้งนี้โดยชี้แจงต่อแรงงานไทยว่า ถึงแม้โปรตุเกสจะมิได้เป็นประเทศที่อยู่ในเขตภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือมีภัยสงคราม แต่โดยที่คนไทยกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้าไปอยู่ในโปรตุเกสเป็นแรงงานไทยดังนั้นสถานทูตจึงจัดทำแผนอพยพกรณีฉุกเฉินขึ้นโดยกำหนดให้ผู้ประสานงานคนไทยที่ทำงานกับบริษัทนายหน้าโปรตุเกสทำหน้าที่เป็นแกนนำในการประสานติดต่อกับแรงงานไทย เพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นจากสถานทูตไปยังแรงงานไทยได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานในภาคเกษตรกรรมของโปรตุเกสจำนวนเกือบ 600 คนแล้ว ซึ่งนับเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลา 3 ปี ที่ผ่านมา โดยเริ่มแรกมีแรงงานไทยอยู่เพียง 50 คนเท่านั้น

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารูจัดบริการกงสุลสัญจรที่เมืองกัวลาตรังกานู

แผนที่รัฐตรังกานู

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารูจัดบริการกงสุลสัญจรที่เมืองกัวลาตรังกานู

ระหว่างวันที่ 13 – 15 สิงหาคม 2553 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ได้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจร ครั้งที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2553 เพื่อให้บริการงานด้านกงสุลและเยี่ยมเยียนชาวไทยที่พำนักอยู่ในรัฐตรังกานู โดยในครั้งนี้ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้นที่เมืองกัวลาตรังกานู เมืองหลวงของรัฐตรังกานู

บริการงานด้านกงสุลที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เปิดให้บริการแก่ชาวไทยในครั้งนี้ได้แก่ 1) บริการหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ 2) จ่ายเล่มหนังสือเดินทางซึ่งกระทรวงฯจัดส่งให้ 3) จดทะเบียนสูติบัตรและมรณบัตร 4) รับรองเอกสาร 5) ลงทะเบียนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ได้ถือโอกาสดังกล่าวพบปะคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองกัวลาตรังกานูและเมืองใกล้เคียง ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่ชาวไทยที่เจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่เดินทางไปให้บริการและเยี่ยมเยียนถึงที่ และเจ้าหน้าที่ยังได้เดินทางไปเยี่ยมคนไทยที่ถูกกักขังและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางรัฐตรังกานูซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอมารัง และในศูนย์กักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองอาจิล รัฐตรังกานู

สถานกงสุลใหญ่ฯ ประเมินจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่าปัจจุบันการคมนาคมสะดวก คนไทยที่อาศัยอยู่ในรัฐตรังกานูสามารถเดินทางไปติดต่อสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่เมืองโกตาบารูได้สะดวกอยู่แล้วจึงทำให้มีผู้ใช้บริการงานด้านกงสุลที่จัดบริการในโครงการกงสุลสัญจรจำนวนไม่มาก ดังนั้นในปีงบประมาณ 2554 สถานกงสุลใหญ่จะลดกิจกรรมกงสุลสัญจรในรัฐตรังกานูลงเหลือเพียงตรั้งเดียว

เอกอัครราชทูตไทยในอินโดนีเซียเดินทางไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองยอกยาการ์ตา

ท่านทูตและภริยาถ่ายภาพร่วมกับนักศึกษาไทยที่ไปขอรับบริการด้านกงสุลเป็นที่ระลึกภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจกงสุลสัญจร
ท่านทูตและภริยาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่นักศึกษา
ท่านทูตธนาธิป อุปัติศฤงค์มอบเงิบสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษาไทยมุสลิมในอินโดนีเซีย
เจดีย์บุโรพุทโธที่ยอกยาการ์ตา ซึ่งแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยี่ยมชมจำนวนมาก




เอกอัครราชทูตไทยในอินโดนีเซียเดินทางไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองยอกยาการ์ตา


ระหว่างวันที่ 7 – 10 สิงหาคม 2553 นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอินโดนีเซียพร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตได้เดินทางไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่เมืองยอกยาการ์ตาและเยี่ยมเยียนนักศึกษาไทย

เมืองยอกยาการ์ตาเป็นเมืองที่มีการปกครองแบบพิเศษโดยมีสุลต่านเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตำแหน่ง เมืองนี้ตั้งอยู่ตอนกลางของเกาะชวามีประชากรประมาณ 4 ล้านคน เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม และการท่องเที่ยวโดยเป็นที่ตั้งของเจดีย์บุโรพุทโธแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยี่ยมชมจำนวนมาก เมืองยอกยาการ์ตาและเมืองใกล้เคียงอาทิ เมืองโซโล และเมืองโปโนโกโลมีนักศึกษาไทยอาศัยอยู่ประมาณ 150 คน นอกจากนั้นเมืองยอกยาการ์ตายังเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานนักศึกษาไทยในอินโดนีเซียสาขาเมืองยอกยาการ์ตา-โซโล ซึ่งมีนายยาซูลี บินดุเหล็มเป็นประธานอีกด้วย

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตได้ไปพบปะและสนทนากับนายยาซูลีฯและตัวแทนนักศึกษาไทยเมืองยอกยาการ์ตาจำนวน 15 คน ได้รับทราบข้อมูลว่า นักศึกษาที่ศึกษาอยู่ในเมืองยอกยาการ์ตาและเมืองใกล้เคียงสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ 1) ระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา (โรงเรียนปอเนาะ) ซึ่งศึกษาด้านศาสนาและจะอยู่ในอินโดนีเซียคนละประมาณ 8 – 10 ปี และ 2) ระดับอุดมศึกษา ซึ่งศึกษาในสาขาต่างๆ ได้แก่ ศาสนา ร้อยละ 40 ครุศาสตร์ร้อยละ 30 และอื่นๆร้อยละ 30 โดยนักศึกษากลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในอินโดนีเซียคนละประมาณ 4 – 6 ปี

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 สถานทูตได้จัดบริการงานกงสุลขึ้นที่ห้องประชุมของโรงแรมเชอราตัน มุสติกา เมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งมีคนไทยและนักศึกษาไทยไปขอรับบริการจำนวน 30 คน แบ่งเป็นทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ 1 คน ส่วนที่เหลือขอรับคำปรึกษาด้านการรับรองเอกสารทะเบียนราษฎร์และการขอผ่อนผันการตรวจเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหาร ซึ่งสถานทูตได้ใช้โอกาสนี้ประชาสัมพันธ์ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคนไทยในต่างประเทศ อาทิ การแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การเตรียมความพร้อมและการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือการจราจล และโครงการต่างๆของสถานทูตสำหรับนักศึกษาไทยมุสลิม ซึ่งคนไทยและนักศึกษาไทยที่ไปขอรับบริการให้ความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นสถานทูตยังได้แจกแบบฟอร์มรายงานตัวคนไทยให้ผู้เข้ารับบริการกรอกข้อมูลบุคคลเพื่อสถานทูตนำไปปรับปรุงฐานข้อมูลคนไทยในประเทศอินโดนีเซียต่อไป

นายยาซูลีฯ กล่าวในนามคนไทยและนักศึกษาไทยในเมืองยอกยาการ์ตาและเมืองใกล้เคียงขอบคุณสถานทูตที่จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปให้บริการและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับคนไทยและนักศึกษาไทยในต่างประเทศในครั้งนี้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการดำรงชีวิตของคนไทยและนักศึกษาไทยในอินโดนีเซีย