วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สถานทูตที่สเปนสนับสนุนการสอนภาษาไทย

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาดริด

สถานทูตที่สเปนสนับสนุนโครงการสอนภาษาไทย


ในปีงบประมาณ 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปนได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมไทยในประเทศสเปน โดยกลุ่มครอบครัวไทย-สเปน นครบาร์เซโลนา มีกำหนดเวลาดำเนินโครงการ 41 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม – 19 มิถุนายน 2553

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยในเขตนครบาร์เซโลนาได้รับการอบรมด้านภาษา วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อปลูกฝังความเป็นไทย และสร้างความสามัคคีระหว่างชาวไทยที่อาศียอยู่ในนครบาร์เซโลนา

ทั้งนี้กลุ่มครอบครัวคนไทย-สเปนได้จัดตั้งโรงเรียนสามัคคีไทย (Escuela Thai Solidario) ขึ้นในจังหวัดบาร์เซโลนา โดยโรงเรียนได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการส่งเสริมภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยในประเทศสเปนจากสถานเอกอัครราชทูตในปีงบประมาณ 2553 มีนางดวงหทัย เร็วการ เป็นผู้บริหารและผู้สอนและมีนางสุจรีย์ เฮแลนเดอร์และนายศักรินทร์ สูงปานเขา เป็นผู้ร่วมสอน เปิดสอนทุกวันเสาร์ระหว่างเวลา 16.30 – 18.00 น. ระหว่าง 8 พฤษภาคม - 19 มิถุนายน 2553 มีนักเรียนจำนวน 6 คน อายุระหว่าง 7-13 ปี โดยแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่มีความรู้ภาษาไทยขั้นพื้นฐาน 2. กลุ่มที่ยังไม่มีความรู้ภาษาไทย

ด้านอุปกรณ์การเรียนการสอนนั้น โรงเรียนสามัคคีไทยได้จัดซื้อหนังสือประกอบการเรียนการสอนจากประเทศไทย ได้แก่หนังสือเรียนและแบบฝึกภาษาไทยพื้นฐานเพื่อเตรียมทักษะเบื้อต้นสำหรับเยาวชนไทยในต่างแดนโดยอาจารย์ สาลี่ ศิลปสธรรม หนังสือคุณหนูหัดอ่าน โดย ผศ. สรรณา สุติวิจิตร สาระการเรียนรู้ภาษาไทยระดับปฐมวัย (อนุบาล 2 ) โดยธนพร ปางวิรุฬรักษ์ Home Study Primary โดย รศ. วดี ชาติอุทิศ แบบฝึกทักษะพื้นฐานภาษาไทย คัด เขียน อ่าน ภาษาไทย โดยวิไลลักษณ์ ศรีโพธิ์ หลัก๓ษาไทย โดย รศ. จินตนา งามเขียว เอกสารการสอนภาษาไทยจาก International School of Bangkok และหนังสือเรียนภาษไทย ดรุณศึกษา ของสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช นอกจากนี้โรงเรียนยังได้ใช้สื่อวีดิทัศน์ประกอบการสอนอีกด้วย

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการสรุปว่า นักเรียนในกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คน ซึ่งมีความรู้ภาษไทยขั้นพื้นฐานสามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ในระดับพอใช้ (ร้อยละ 40) และสามารถพูดและฟังได้ในระดับดี (ร้อยละ 60) นักเรีบยนกลุ่มที่ 2 จำนวน 2 คน ซึ่งไม่มีความรู้ภาษาไทยเลย สามารถอ่านและเขียนภาษาไทยได้ในระดับต่ำ (ร้อยละ 10) และสามารถฟังและพูดได้ในระดับพอใช้ (ร้อยละ 30) ทั้งนี้โรงเรียนได้แนะนำให้ผู้ปกครองใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกับนักเรียนซึ่งจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการภาษาไทยของนักเรียนได้

โครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยของกลุ่มครอบครัวไทย-สเปนเป็นกิจกรรมของคนไทยในต่างประเทศที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย ทำให้เยาวชนไทยในต่างประเทศมีความรู้และเกิดความผูกพันต่อภาษาและวัฒนธรรมไทย ประกอบกับการที่โรงเรียนมีแผนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดกลุ่มนักเรียนตามความรู้ภาษาไทย และใช้สื่อการสอนที่หลากหลาย ซึ่งส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาทักษะภาษาไทยในทุกด้าน นักเรียนของโรงเรียนสามารถสื่อสารโดยใช้ภาษาไทยได้ในระดับที่น่าพอใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น