วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

นักศึกษาไทยโดนโกงค่าเช่าบ้านที่นิวยอร์ก

ดูเหมือนแก๊งค์ต้มตุ๋นทางอินเตอร์เน็ตหรือแบบ call center ได้พัฒนาความเลวก้าวล้ำไปอีกขั้น คราวนี้ใช้วิธีประกาศโฆษณาผ่านเว็บไซต์ www.craigslist.org ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ลงโฆษณาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ประกาศให้เช่าบ้านโดยเมื่อมีผู้สนใจจะเช่าก็จะให้โอนเงินมัดจำหรือเงินจองผ่านทาง Western Union หรือ Money Gram ซึ่งแน่นอนว่า บ้านที่ประเทศให้เช่าไม่มีอยู่จริงและเงินที่โอนให้ไปก็สูญ

เรื่องนี้มีนักศึกษาไทยคนหนึ่งตกเป็นเหยื่อด้วย โดยเธอประสงค์จะไปเรียนภาษาอังกฤษที่นิวยอร์ก ก่อนเดินทางไปถึงนิวยอร์กนักศึกษาไทยท่านนี้ได้ติดต่อกับหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งผ่านทางเว็บไซต์ www.craigslist.org เพื่อหาที่พัก ซึ่งหลังจากที่ติดต่อทางอีเมล์กันมาระยะหนึ่ง นักศึกษาไทยได้ตกลงเช่าห้องพักที่นิวยอร์กเป็นเวลา 2 เดือน และได้โอนเงินจำนวน 600 เหรียญเป็นค่าเช่าล่วงหน้าผ่านทาง Western Union 


หลังจากที่โอนเงินให้แล้ว หญิงอเมริกันดังกล่าวยังได้ขอให้โอนเงินค่าเช่าเพิ่มเติมอีก (พฤติกรรมเดียวกับพวกแก๊งค์ call center หรือพวกแก๊งค์ต้มตุ๋นทางอินเตอร์เน็ต) แต่โชคดีที่น้องนักศึกษาไทยรายนี้ไม่หลงกลอีก ปฏิเสธการจ่ายเงินพร้อมกับขอเงินที่โอนไปแล้วคืนด้วย จากนั้นก็ไม่ได้รับการติดต่อจากแก๊งค์พวกนี้อีก จึงได้โทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ให้ไว้ปรากฏว่าผู้ที่รับสายแจ้งว่าตนไม่ใช่หญิงอเมริกันที่อ้างถึง  นักศึกษารายนี้จึงเดินทางไปดูบ้านพักที่จะเช่าด้วยตัวเอง พบว่าที่อยู่ดังกล่าวเป็นร้านค้าไม่ใช่บ้านพักอาศัยแต่อย่างใด จึงรู้ตัวว่าถูกหลอกและได้ขอให้สถานกงสุลที่นิวยอร์กให้คำปรึกษาและหาทางช่วยเหลือ


ทางกงสุลจึงได้พาน้องนักศึกษาผู้นี้ไปแจ้งความกับ Internet Crime Complaints Center (IC3) หน่วยงานสังกัด FBI ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินคดีเกี่ยวกับการโกงเงินทางอินเตอร์เน็ต และยังแนะนำให้ติดต่อกับเว็บไซต์ craiglist เพื่อแจ้งให้ดำเนินการกับผู้ลงประกาศโฆษณาบ้านพักดังกล่าวด้วย


เกี่ยวกับเรื่องนี้ สถานกงสุล ณ นครนิวยอร์ก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แก๊งค์ต้มตุ๋นเหล่านี้จะลงประกาศโฆษณาโดยแอบอ้างใช้หลักฐานหรือบัตรประจำตัวของผู้อื่น หลอกลวงให้โอนเงินผ่านทาง Western Union หรือ Money Gram กลุ่มดังกล่าวมักจะมาจากประเทศแถบแอฟริกัน ทางกงสุลยังได้แนะนำด้วยว่าหากประสงค์จะเช่าบ้านควรจะได้ไปเห็นบ้านด้วยตาตนเองก่อน และไม่ควรหลงเชื่อโอนเงินค่ามัดจำหรือล่วงหน้าไปให้ก่อนเพราะอาจตกเป็นเหยื่อของแก๊งค์มิจฉาชีพได้


ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก

วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กงสุลลุยแผนเชิงรุก ดูแลคนไทยในต่างแดน


มีเหตุผลมากมายร้อยแปดที่จำนวนคนไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา
แต่การโกอินเตอร์ของคนไทยจำนวนมากโดยไม่รู้ข้อบังคับ สิทธิ และแม้แต่การเอาตัวรอดเมื่อเกิดปัญหา จึงเป็นภารกิจที่กระทรวงการต่างประเทศต้องไปดูแล

'เพราะกระทรวงการต่างประเทศมีหน้าที่ดูแลคนไทยในต่างแดน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่อย่างไม่รู้สิทธิ์และถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่การเข้าถึงปัญหา รวมถึงข้อผิดพลาดจะทางกฎหมายหรือกรณีส่วนตัว ล้วนเป็นประเด็นที่กระทรวงต้องร่วมมือกับหน่วยงานราชการ และเครือข่ายคนไทยในประเทศนั้นๆ เพื่อให้ครอบคลุมถึงปัญหา และสามารถส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีแก่คนไทยในต่างประเทศได้'

นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดสัมมนาระหว่างลงพื้นที่พบเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ เมืองสตุ๊ตการ์ต สถานกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก รวมถึงชุมชนคนไทยในยุโรปที่เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์

พร้อมด้วยทีมสหวิชาชีพ นำโดย นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล นายชาญชัย โชติเวทธำรง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกุล นายกิตติพงศ์ บรรลือสินธุ์ นักการทูตชำนาญการพิเศษ และ นายอรรณพ ศูนย์จันทร์ นักการทูตชำนาญการ 

ร่วมไขข้อข้องใจ และแนะนำทางออกที่ถูกต้องของสารพัดปัญหา ทั้งงานนิติกร การติดต่อหน่วยงานราชการ การยื่นขอหรือสละสิทธิ์ และสุขภาพทางจิต

รองอธิบดีประสิทธิพรอธิบายเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีคนไทยกว่า 1 ล้านคนพำนักถาวรอยู่ในต่างประเทศ และราวๆ 1.5 ล้านคน เดินทางระหว่างประเทศในแต่ละปี

ถือเป็นตัวเลขค่อนข้างสูงซึ่งกรมการกงสุลเห็นควรว่าจำเป็นต้องมีการคุ้มครองดูแล ผ่านนโยบายเด่นชัดหลักๆ 2 แนวทาง
หนึ่งเป็นแผนเชิงรุก ที่เราจะไม่รอให้คนไทยต้องประสบปัญหาแล้วมาแก้ไขทีหลัง แต่จะเป็นการเตรียมความพร้อม ให้ข้อมูล ให้ความรู้ เพื่อให้สามารถเผชิญหน้ากับกรณีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ จุดนี้ถือเป็นนโยบาย 'ต้นน้ำ' สำหรับรับมือกับปัญหาก่อนถึงตัว
ส่วนที่สอง คือ แผนให้ความคุ้มครอง กรมการกงสุลได้ร่วมมือกับหน่วยงานเฉพาะทาง และจัดตั้งเป็นทีม 'สหวิชาชีพ' เพื่อตอบโจทย์ชีวิตหลากหลายของคนไทยต่างแดนให้ได้มากที่สุด หากมีปัญหาครอบครัว ความเครียดจากการทำงาน หรือการปรับตัว เราก็อาศัยความช่วยเหลือจากกรมสุขภาพจิต ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิ การเรียกร้อง ก็ต้องเป็นฝ่ายอัยการสูงสุด เรื่องทะเบียนราษฎร เป็นของกรมการปกครอง และกรณีแรงงาน ก็ต้องกรมการจัดหางาน

เรียกได้ว่าเป็นนโยบายแบบบูรณาการ ที่สำคัญเราไม่ได้จำเพาะเจาะจงแค่หน่วยงานราชการเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกับองค์กรเอกชนและเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศ

โดยเริ่มจากการประชาสัมพันธ์ เตือนภัย และให้ข้อมูล เป็นขั้นตอนการทำงานแบบเบ็ดเสร็จเพื่อคุ้มครองคนไทย ไม่ให้ถูกหลอก ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ ค้าประเวณี ซึ่งอาจลุกลามไปถึงการใช้คนไทยเป็นเหยื่อขนส่งยาเสพติด และกระบวนการผิดกฎหมายด้านอื่นๆ

หลังจากพบปะชุมชนคนไทยในยุโรปแล้ว ปรากฏว่าปัญหาจริงๆที่เกิดกับคนไทยกลุ่มนี้มีมากกว่าที่เราคาดคิด ทั้งเรื่องการสละสัญชาติ สิทธิของบุตรซึ่งเป็นลูกครึ่ง ปัญหาของลูกติดแม่ ความลำบากในการใช้ชีวิตต่างแดน 

แต่อีกปัญหาน่าสนใจ คือ การย้ายถิ่นฐานกลับเมืองไทย ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อน ผู้หญิงไทยหลายคนที่แต่งงานกับสามีต่างชาติมานานจนเข้าสู่วัยเกษียณ เริ่มคิดที่จะกลับบ้าน เพราะเงินบำนาญของสามีหรือตนเอง มีไม่มากพอสำหรับใช้ชีวิต ในยุโรปที่ค่าครองชีพสูง


ส่วนใหญ่เลยอยากนำเงินกลับมาปักหลักที่พื้นเพดั้งเดิม แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการขอคืนสัญชาติ การขอวีซ่าอยู่ยาวให้สามี รวมถึงสิทธิการซื้อที่ดิน การสร้างบ้าน และการปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย ในปัจจุบัน
จากผลสำรวจผู้ประสบปัญหาของกระทรวงการต่างประเทศ ปีๆ หนึ่งจะมีคนไทยตกทุกข์ได้ยากมากถึง 4,500 คน 

แต่เมื่อปี 2554 ที่โครงการสหวิชาชีพเปิดตัวก็ได้ผลลัพธ์ในทิศทางที่ดีขึ้นทันที เปรียบเทียบจากรายงานปัญหาในปีที่ผ่านมาซึ่งลดลง เยอะมาก จนเหลือไม่ถึง 2,000 คน

'ผมว่าแนวทางเชิงรุกที่เราลุยลงพื้นที่ นำทีมผู้เชี่ยวชาญไปทำความเข้าใจและให้ความรู้ เป็นแผนดำเนินงานที่ตอบสนองตรงจุดและได้ผลดีที่สุด การได้รับฟังข้อเสนอและปัญหาจริงของชุมชนที่นี่ ยังมีความต้องการอยากให้หน่วยงานราชการสนับสนุนงบประชุม ทุนรวมกลุ่ม และกิจกรรมความร่วมมือของเครือข่ายคนไทย เพื่อให้มีศักยภาพในการประสานงานและดูแลพี่น้องคนไทยในเบื้องต้น ผมว่าจุดนี้มีความสำคัญที่เราควรสนับสนุน เพราะเขาเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแลคนไทยในส่วนที่ราชการเข้าไม่ถึง' รองอธิบดีกล่าว

พร้อมย้ำว่า กระทรวงต่างประเทศเองก็มีนโยบายจัดสรรงบฯ สร้างเสริมความเข้มแข็งของคนไทยในต่างแดนอยู่แล้ว 

'หากเราร่วมมือเดินหน้าไปพร้อมๆ กับชุมชนและเครือข่ายชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในต่างประเทศก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ' 

ด้านรองปลัดณัฏฐวุฒิกล่าวเสริมว่า การได้พูดคุยกับคนไทย ในเยอรมนี ประเด็นลูกติดแม่ที่ตามมาอยู่ด้วยกันกว่า 15 ปี ตอนนี้อายุ 24 ปีแล้ว แต่มีปัญหาต้องการกลับไปหาพ่อที่ไทย เพราะปรับตัว ไม่ได้ เรียนก็ไม่จบ ไม่มีเงิน ไม่มีวีซ่า และไม่อยากบอกผู้ปกครอง 

กรณีนี้สามารถปรึกษากับสถานทูตไทย หรือสถานกงสุลใหญ่ได้ ซึ่งเด็กบรรลุนิติภาวะถือเป็นผู้ใหญ่ มีสิทธิ์เลือกที่จะอยู่กับพ่อหรือแม่ได้เอง 

แต่ทางที่ดีควรตกลงกันก่อน จะได้ไม่ติดค้างจนกลายเป็นปัญหา หรือเหมาว่ากระทรวงต่างประเทศสนับสนุนให้เด็กหนีออกจากบ้าน

ส่วนเรื่องเงิน สามารถยืมเงินทดรองราชการได้ แต่จะต้องลงนามในเอกสารรับสภาพหนี้ และต้องใช้คืนภายใน 2 ปี

หากไม่ชำระ ก็อาจถูกฟ้องร้องได้ เนื่องจากเงินนี้เป็นภาษีประชาชน ทางกระทรวงต่างประเทศแค่ให้ผู้เดือดร้อนยืมใช้ในช่วงจำเป็นเท่านั้น

ในส่วนของผู้ขอติดตามคู่สมรสคนไทยเข้าราชอาณาจักร หากยื่นขอวีซ่าพำนักระยะยาวแบบโอ-เอ (Non-Immigrant Visa 'O-A' Long Stay) ต้องแนบเอกสารเงินฝากไม่ต่ำกว่า 65,000 บาทต่อเดือน หรือฝากประจำ 800,000 บาทต่อปี 

แต่คู่สมรสที่เป็นต่างชาติจะต้องต่อระยะพำนักกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เมื่ออยู่ครบ 3 เดือน แล้วจึงขอยืดอายุวีซ่าเป็นปีต่อปี

นอกจากนี้ กรมการกงสุลยังได้ขยายอำนาจออกบัตรประชาชนแก่สถานทูตไทย และกงสุลใหญ่ ซึ่งกำลังรอทางกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นชอบ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไทยในต่างแดนที่ต้องใช้บัตรประชาชนแสดงสิทธิ์สำหรับยื่นเรื่อง รวมถึงทำธุรกรรมต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลา เสียเงิน เดินทางกลับบ้าน และในอนาคตจะมีการออกวีซ่าแบบสติ๊กเกอร์ เพื่อยกระดับการออกใบอนุญาตเข้าเมืองของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ 

ส่วนอีกกรณีที่ถามกันมาก คือ การสละสัญชาติไทยเมื่อย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างประเทศ รวมถึงการขอคืนสัญชาติเดิม 

นายชาญชัยกล่าวไขข้อข้องใจว่า จริงๆ แล้ว คนไทยสามารถถือสองสัญชาติได้ แต่เมื่อแต่งงานกับคนต่างด้าว ตรงนี้เป็นเรื่องของกฎหมายในประเทศของคู่สามีหรือภรรยา ซึ่งเยอรมนีกำหนดให้คนไทยเลือกสัญชาติ หากอยากอยู่ที่นั่น ก็ต้องถือสัญชาติเยอรมัน ตรงนี้คนเข้าใจผิดว่ากฎหมายไทยบีบบังคับให้ต้องสละสัญชาติ

กรณีที่คู่สมรสเสียชีวิต แยกทาง หรืออยากย้ายถิ่นกลับไทย หญิงหรือชายที่เคยสละสัญชาติแล้ว สามารถขอคืน หรือแปลงเป็นสัญชาติไทยได้ และกฎหมายไทยไม่ได้บังคับให้ผู้แปลงต้องสละสัญชาติเดิม คนไทยที่เคยเปลี่ยนไปถือสัญชาติต่างด้าว ก็ถือสองสัญชาติได้

'ส่วนที่หลายๆ คนบ่นให้ฟังว่ามีแต่ปัญหาซ้ำซาก และนโยบายรัฐไม่เคยเปลี่ยนนั้น ผมเข้าใจว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนระหว่างคนไทย กับหน่วยงานในท้องที่ จะด้วยคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือเข้าใจผิด ทีมสหวิชาชีพเกิดขึ้นก็เพื่อประสานความเข้าใจ เป็นสื่อกลาง รับเรื่องร้องทุกข์ ให้ความรู้ รวมถึงชี้แจงข้อเท็จจริง'

'คนไทยในต่างประเทศจะได้รู้สิทธิ์ และขอบเขตการใช้สิทธิ์ เพื่อให้ชีวิตที่ต้องอยู่ต่างบ้าน ต่างเมือง มีความสุขและได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับคนไทยคนอื่นๆ'


ที่มา : หนังสือพิมพ์ ข่าวสด

วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2555

คนไทยในดินแดนฟาโรห์


“อียิปต์” ดินแดนแห่งนี้มีอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาอย่างยาวนานและน่าชื่นชม ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมของโลก แม้จะเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และอยู่ในช่วงของการฟื้นฟูก็ตาม
                คนไทยที่อยู่ในประเทศอียิปต์ มีจำนวนประมาณ 2 พันกว่าคน ประกอบไปด้วยนักศึกษาประมาณ 2,000 คน และอีก 220 คน ที่เดินทางมาประกอบอาชีพอย่างนวดสปา ช่างทอง และกิจการร้านอาหาร และนับเป็นโชคดี ที่ในปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานปรากฏว่ามีคนไทยที่ต้องโทษจำคุกในอียิปต์
อย่างไรก็ตาม จากสถิติการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ปี 2554-2555 ของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ แสดงให้เห็นว่า การให้ความช่วยเหลือคนไทยที่พบเห็นบ่อย มักจะเป็นเรื่องของวีซ่า (visa) ทั้งวีซ่าเข้าเมืองผิดประเภทและวีซ่าปลอม รวมทั้งการช่วยเหลือคนไทยที่ถูกโจรกรรมทรัพย์สินให้เดินทางกลับประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ รวมทั้งในเดือนตุลาคม ปี 2554 กระทรวงการต่างประเทศได้ดูแลคนไทยซึ่งติดค้างที่สนามบินไคโรจากเหตุเจ้าหน้าที่สนามบินประท้วงอีกด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่คนทั่วไปอาจไม่รู้ นั่นคือ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ยังมีหน้าที่ดูแลคนไทยในอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศซูดาน ประเทศเอธิโอเปีย และประเทศจิบูติ แม้เราจะไม่ได้มีสถานทูตฯในทุกประเทศ แต่การคุ้มครองและดูแลคนไทยนั้นครอบคลุมทุกอาณาเขต โดยขอให้ทุกท่านระลึกไว้เสมอว่า “สถานทูตฯไทย คอยห่วงใย เมื่อคุณไกลบ้าน”

กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
กรมการกงสุล   กระทรวงการต่างประเทศ

วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ระวัง อย่านำเงินมูลค่าเกิน 10,000 ยูโร เข้า-ออก ประเทศอียู

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต รายงานว่าเมื่อ 18 มิ.ย. 55 ได้รับโทรศัพท์จากข้าราชการไทยที่เป็นคณะดูงานไปศึกษาดูงานที่ประเทศเยอรมันแจ้งว่าถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรสนามบินแฟรงก์เฟิร์ตจับกุมและปรับในข้อหาพกพาเงินสดมูลค่าเกิน 10,000 ยูโรโดยไม่แจ้งการพกพา

ท่านกงสุลฤทธิชัย ทับสุวรรณ ก็ไม่รอช้ารีบเดินทางไปที่สนามบินทันที พอไปถึงก็พบว่าข้าราชการไทยที่ถูกจับกุมนั้น เป็นเจ้าหน้าที่อยู่ในคณะดูงานมีหน้าที่ถือเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของคณะเดินทางดังกล่าว และขณะที่กำลังจะผ่านด่านศุลกากรของสนามบินก็ถูกตรวจพบว่าพกพาเงินเกินกว่า 10,000 ยูโร ท่านกงสุลจึงต้องเจรจาขอให้ศุลกากรเยอรมันช่วยผ่อนปรนให้กับกรณีดังกล่าวด้วยเพราะตัวเจ้าหน้าที่ที่ถูกจับกุมไม่ทราบมาก่อนว่ามีระเบียบห้ามพกพาเงินเกิน 10,00 ยูโร อย่างไรก็ตาม ทางศุลกากรสนามบินแฟรงเฟิร์ตยืนยันต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จึงยึดเงินสดจำนวน 3,350 ยูโรไว้เป็นค่าประกันก่อนจะส่งเรื่องไปให้สำนักงานใหญ่พิจารณาคำนวนเปรียบเทียบปรับต่อไป

ในเรื่องกฎเกณฑ์ในการนำเงินเข้า-ออกจากสหภาพยุโรปนั้น บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการไหลเข้า-ออก ของเงินของประเทศสมาชิกประชาคมยุโรป เสริมมาตรการการฟอกเงินและฉ้อฉลทางการเงินในรูปแบบต่างๆ โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้า-ออก ประเทศสมาชิกประชาคมยุโรปที่ถือเงินสด (รวมไปถึงเช็ค ตั๋วแลกเงิน ไปรษณีย์ ธนาณัติ ฯลฯ ) ที่มีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ 10,000 ยูโรขึ้นไป ต้องแจ้งต่อศุลกากรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ ณ จุด เข้า-ออก ของประเทศสมาชิก หากฝ่าฝืนไม่แจ้งหรือแจ้งเท็จและถูกตรวจพบ อาจถูกปรับหรืออายัดเงินและถูกลงโทษตามกฎหมายของประเทศสมาชิก

เรื่องนี้ก็เป็นอุทธาหรณ์ให้ผู้ที่จะเดินทางเข้า-ออก ประเทศในกลุ่มอี.ยู ระมัดระวังการถือเงินหรือเอกสารเกี่ยวกับการเงิน อย่าให้มูลค่าเกินกว่าที่กำหนด เรื่องเงินๆ ทองๆ ยุโรปเขาเอาจริงนะ จะบอกให้


ที่มา : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต 
          กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

นักเรียนไทยในอียิปต์โดนยกเค้า

สายข่าวจากอียิปต์รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา นักศึกษาไทยที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย อัล อัซฮัร กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ออกไปเรียนหนังสือกันตามปกติ โดยที่ไม่ได้ลืมปิดล๊อกห้องพักอย่างแน่นหนา แต่พอกลับมาก็ต้องพบกับประตูห้องพักถูกงัด เข้าไปสำรวจทรัพย์สินในห้องปรากฎว่า ข้าวของถูกรื้อกระจัดกระจาย โชคดีที่โจรมันไม่เอาคมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไปด้วย และโชคดีที่น้องๆ นักเรียนของเราไม่ได้รับอันตราย แต่เสียขวัญตอนกลับไปเห็นสภาพบ้านเท่านั้น และพอตรวจสอบอย่างละเอียด ปรากฎว่าเงินไทยประมาณ 6 พันบาทหายไป 


การโจรกรรมในอียิปต์เกิดขึ้นบ่อยมาก โดยเฉพาะย่านที่มีคนต่างชาติอาศัยอยู่ด้วยกันมากๆ แม้ว่าทุกตึกจะมียามหรือคนเฝ้าดูแลแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย ยังมีการงัดแงะ ลักวิ่งชิงปล้น บางรายใช้วิธีเคาะประตู อ้างว่ามาเก็บค่าไฟ พอเจ้าของห้องเปิดมันก็บุกเข้าไปปล้นของเอาดื้อๆ บางรายเจ้าของห้องเป็นผู้หญิงก็เคยถูกข่มขืีนมาแล้ว สำหรับน้องๆ นักเรียนไทยก็มีข่าวถูกโจรกรรมอยู่เป็นระยะๆ แต่โชคยังดีที่ยังไม่รุนแรงถึงขั้นทำร้ายร่างกาย หรือถูกข่มขืน 


ทางสถานทูต รวมทั้งสมาคมนักเรียนไทยต่างก็ช่วยกันเตือนภัยและขอให้ช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน โดยขอให้อยู่รวมกันหลายๆคน โดยเฉพาะน้องๆ ผู้หญิง ขอให้พวกผู้ชายช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้ด้วย ห้องพักก็ขอให้ปิดล๊อกให้แน่นหนา และหากมีใครมาเคาะประตูก็ไม่ให้เปิดสุ่มสี่สุ่มห้า อีกทั้งการเดินทางไปไหนมาไหนก็ให้ไปกันหลายๆ คนและพยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางไปในที่เปลี่ยว ที่มีการชุมนุมทางการเมือง หรือพื้นที่ๆ เสี่ยงภัยจากมิจฉาชีพ ทรัพย์สินต่างๆ ก็ควรเก็บอย่างมิดชิดด้วย





ทางเราก็ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน ขอให้อดทนเรียนให้จบการศึกษาและกลับบ้านเราอย่างปลอดภัย สู้ ๆ ครับ

ที่มา : ดลหมาน ผ่องมะหึง
          ผู้สื่อข่าวอิสระ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์

ญี่ปุ่นออกกฎหมายจัดระเบียบคนต่างชาติ

 จากที่ได้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่นกำลังจะประกาศใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่เพื่อจัดระเบียบคนต่างชาติในประเทศ นั้น 
     เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2555 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับ ตม. ญี่ปุ่น จัดการบรรยายเรื่อง กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ให้แก่คนไทยที่พำนักอยู่ในปรเทศญี่ปุ่น 
     วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงระบบการควมคุมคนต่างชาติ คือ เพื่อทำฐานข้อมูลร่วมระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอสำหรับบริหารจัดการเกี่ยวกับการพำนักอาศัยของคนต่างชาติในญี่ปุ่น
 1. สาระสำคัญ
     1.1 คนต่างชาติที่ต้องปฎิบัติตามระบบใหม่ คือ
คนต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ระยะกลางถึงระยะยาวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น คู่สมรสของชาวญี่ปุ่น นักศึกษา บุคคลที่ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น ผู้ฝึกงานทางเทคนิค และผู้พำนักถาวร
อย่างไรก็ดี ระบบใหม่นี้ไม่มีผลใช้บังคับกับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือผู้ที่มีถิ่น พำนักในญี่ปุ่นระยะ 3 เดือนหรือต่ำกว่านั้น
     1.2 ระบบใหม่ไม่มีผลบังคับใช้กับบุคคลดังต่อไปนี้
- ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในญี่ปุ่นต่ำกว่า 3 เดือน
- ผู้ที่ได้รับสถานะ "Temporary Visitor"
- ผู้ที่ได้รับสถานะ "Diplomat" หรือ "Official
- ผู้ที่กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นจัดว่าเทียบเท่าบุคคลใน 3 กลุ่มแรกข้างต้น
- ผู้ที่มีสถานะ Special Permanent Resident
     1.3 การใช้บัตร Resident Card หรือ ไซริวการ์ด
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ออกบัตร Resident Card หรือ ไซริวการ์ด ส่วนระบบการลงทะเบียนคนต่างด้าวของสำนักงานเขตจะยกเลิกตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป บัตรนี้จะมีชิปบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น สถานะวีซ่า การเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่า การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ การเปลี่ยนแปลงชื่อสกุล ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าบัตรจะน้อยกว่าบัตรคนต่างด้าว ทั้งนี้ บัตรใหม่ Resident Card หรือ ไซริวการ์ด จะใช้แทนบัตรคนต่างด้าวอย่างสมบูรณ์ในปี 2558
     1.4 ข้อดีของระบบใหม่ คือ
- ขยายระยะเวลาพำนักขั้นสูงสุดจาก 3 ปี เป็น 5 ปี
- กำหนดระบบ Re-entry Permit ดังนี้
* ขยายระยะเวลาเดินทางกลับเข้าญี่ปุ่นขั้นสูงสุดจาก 3 ปี เป็น 5 ปี
* หากเดินทางออกจากญี่ปุ่นไม่เกิน 1 ปี ไม่จำเป็นต้องขอ Re-entry Permit มาตราการนี้เรียกว่า Special Re-entry Permit
ข้อควรระวัง หากไม่เดินทางกลับเข้าญี่ปุ่นภายใน 1 ปี จะสูญเสียสถานะการพำนัก และต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าใหม่
2. การยื่นเรื่องขอทำ Resident Card หรือ ไซริวการ์ด
ผู้ที่พำนักระยะกลางถึงระยะยาว ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องทำบัตรใหม่ทันที เนื่องจากบัตรต่างด้าวสามารถใช้ได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะการพำนัก ดังนี้
     2.1 ผู้พำนักถาวร
- กรณีอายุมากกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันที่ 8 ก.ค. 2558 (ค.ศ.2015)
- กรณีอายุน้อยกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันที่ 8 ก.ค.2555 หรือวันที่อายุครบ 16 ปี แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดมาถึงก่อน
     2.2 ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนัก 5 ปี เพื่อทำกิจกรรมเฉพาะทาง
- กรณีอายุมากกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนักหรือวันที่ 8 ก.ค. 2558 แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดก่อน
- หากอายุน้อยกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนักหรือวันที่ 8 ก.ค. 2558 แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดก่อน
     2.3 ผู้ที่ได้รับสถานะการพำนักประเภทอื่น ๆ
- หากอายุมากกว่า 16 ปี บัตรเก่าสามารถใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนัก
- หากอายุน้อยกว่า 16 ปี บัตรเก่าสามารถใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนัก หรือวันที่อายุครบ 16 ปี แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดถึงก่อน
หากคนต่างชาติจำเป็นต้องใช้ใบรับรองที่ระบุข้อมูลตามบัตรคนต่างด้าว สามารถขอทำเอกสาร Certificate of Residence ได้จากสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ
3. ขั้นตอนและการแบ่งงานของหน่วยงานญี่ปุ่น
3.1 ขั้นตอนที่ 1 ที่ด่านตรวจคนเข้า – ออกเมือง
ผู้ที่เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นโดยมีสถานะวีซ่าพำนักระยะกลางถึงระยะยาว จะได้รับประทับตรา seal of landing ในหนังสือเดินทาง และ Resident Card (ไซริวการ์ด) ทั้งนี้ ท่าอากาศยานที่ออก Resident Card ได้ทันที มี 4 แห่ง คือ นาริตะ ฮาเนดะ คันไซ ชูบุ (นาโกยา) หากเป็นท่าอากาศยานอื่น ๆ จะประทับตราข้อความว่าจะส่งบัตรให้ภายหลัง (ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ภายหลังจากที่ผู้นั้นได้แจ้งข้อมูลที่พักอาศัยต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอแล้ว)
3.2 ขั้นตอนที่ 2 สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ
ผู้พำนักระยะกลางถึงระยะยาวต้องแจ้งข้อมูลที่อยู่อาศัยภายในกำหนดเวลา
ผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ต้องนำ Resident Card (ไซริวการ์ด) ที่ได้รับเมื่อตอนเข้าญี่ปุ่นไปติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่ตนเองพำนักอยู่ ภายใน 14 วัน หลังจากทราบข้อมูลที่พำนักอาศัยแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามะถูกปรับไม่เกิน 200,000 เยน ถ้าไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวภายใน 90 วัน อาจจะถูกยกเลิกสถานะการพำนักในญี่ปุ่นได้
ผู้ที่เปลี่ยนที่พำนักอาศัย ต้องนำ Resident Card (ไซริวการ์ด) ไปติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอแห่งเก่า เพื่อแจ้งว่าจะย้ายที่อยู่ออกและนำเอกสารที่ได้รับไปแจ้งต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีที่อยู่ใหม่ โดยต้องแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่พำนักอาศัยนี้ภายใน 14 วัน หลังจากที่ได้ย้ายเข้าที่พำนักอาศัยแห่งใหม่แล้ว หากไม่ปฎิบัติตามจะถูกปรับไม่เกิน 200,000 เยน และหากไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวภายใน 90 วัน อาจจะถูกยกเลิกสถานะการพำนักในญี่ปุ่นได้
     3.3 ขั้นตอนที่ 3 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
สำหรับผู้ที่ต้องการทำ Resident Card (ไซริวการ์ด) หรือหากเปลี่ยนแปลงข้อมูลนอกเหนือไปจากที่พำนักอาศัย จะต้องไปติดต่อ ตม.โดยนำเอกสารประกอบที่ต้องใช้ คือ หนังสือเดินทาง รูปถ่ายขนาด3 x 4 นิ้วและผู้ที่มี Resident Card แล้วแต่ต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต้องนำ Resident Card (ไซริวการ์ด) ไปประกอบด้วย
- กรณีแจ้งเปลี่ยนชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด สัญชาติ ต้องแจ้งต่อ ตม. ภายใน 14 วัน
- กรณียื่นคำร้องเพื่อขยายอายุของบัตร
ผู้พำนักถาวรที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ซึ่งบัตรจะหมดอายุในวันที่อายุครบ 16 ปี ต้องขอต่ออายุบัตรก่อนหมดอายุ โดยสามารถขอต่ออายุได้ภายใน 2 เดือนก่อนบัตรหมดอายุ แต่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี สามารถขอต่ออายุบัตรได้ภายใน 6 เดือนก่อนบัตรหมดอายุ
กรณีขอทำ Resident Card ใหม่เพื่อทดแทนบัตรเดิม
- กรณีสูญหายหรือถูกขโมย ต้องติดต่อ ตม. ภายใน 14 วัน (หากเกิดเหตุในต่างประเทศ ต้องแจ้งในวันที่เดินทางกลับเข้าญี่ปุ่น) เอกสารที่จะต้องใช้เพิ่มเติมคือ ใบแจ้งความว่าบัตรสูญหายหรือถูกขโมยจากสถานีตำรวจ หรือใบรับรองผู้ประสบภัยพิบัติจากสถานีดับเพลิง
- กรณีหน้าบัตรเสียหายหรือตัวบัตรชำรุดมาก ต้องขอบัตรใหม่โดยเร็วที่สุด
- กรณีต้องการบัตรใหม่แต่บัตรเดิมชำรุดหรือเสียหายไม่มาก สามารถขอบัตรใหม่ได้และต้องชำระค่าธรรมเนียมบัตรด้วย
4. บทลงโทษ ตม.ได้กำหนดบทลงโทษ 3 ระดับ ดังนี้
     4.1 ถอนสถานะการอนุญาตให้พำนัก
- ผู้ที่ได้สถานะมาด้วยวิธีผิดกฎหมาย
- ผู้ที่มีสถานะ "Spouse or Child of Japanese National" หรือ "Spouse or Child of Permanent Resident" แต่ไม่ทำหน้าที่คู่สมรสมาเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ผู้ที่ไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนที่พำนักอาศัยโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือแจ้งความเท็จ
     4.2 จัดให้อยู่ในข่ายผู้ที่อาจถูกส่งกลับประเทศที่ผู้นั้นมีถิ่นพำนักถาวร (เนรเทศ)
- หากผู้นั้นปลอมแปลงหรือปรับเปลี่ยนบัตร
- ถูกศาลตัดสินจำคุกเนื่องจากแจ้งข้อมูลเท็จหรือพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน
     4.3 โทษปรับ
- ผู้ที่แจ้งข้อมูลเท็จ หรือไม่ติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือ ตม. ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ปฏิบัติตาม
ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับบัตร การถือบัตรติดตัว
หรือการแสดงบัตรตามกฎหมาย
- ผู้ที่ปลอมแปลงหรือปรับเปลี่ยนบัตร
5. บุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลต่อ ตม. ดังนี้
- แจ้งการว่าจ้างหรือเลิกจ้างคนต่างชาติ ที่พำนักระยะกลางหรือระยะยาวซึ่งมีสถานะการพำนักประเเภททำงานได้ ภายใน 14 วัน (ยกเว้นองค์กรที่ต้องแจ้งตามกฎหมายจ้างงาน)
- แจ้งการรับหรือโอนหรือเลิกสอนคนต่างชาติที่พำนักระยะกลางถึงระยะยาวซึ่งมีสถานะการพำนักประเภทนักศึกษา ภายใน 14 วัน
- หากนายจ้าง จ้างคนงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย นายจ้างจะถูกลงโทษ



          ถาม- ตอบ เกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่          
Q บุคคลที่มีสถานะพำนักถาวร จะมีการลดระยะเวลาพำนักเป็น 5 ปี หรือไม่
A ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้น กรณีก่อคดีหรือมีความผิดตามกฎหมายญี่ปุ่น

Q จะมีการยกเลิกเรื่องขอสถานะพำนักถาวร หรือไม่
A ไม่มีการยกเลิก

Q ผู้ที่พำนักอยู่ญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายเป็นเวลา 15 – 20 ปี สามารถขอวีซ่าได้หรือไม่
A สามารถยื่นคำร้องได้ แต่ผลจะเป็นอย่างไรไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากการพิจารณาจำเป็นอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น มีครอบครัว เหตุผลที่ต้องการพำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ฯลฯ ขั้นตอนที่จะยื่นขอวีซ่า จำเป็นต้องมอบตัวและยื่นคำร้องขอวีซ่า ส่วนการที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นเป็นระยะเวลานานไม่มีผลต่อการรับสิทธิพิเศษในการขอวีซ่า ทั้งนี้ ควรพึงระวังว่า หากพำนักในญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายเป็นระยะเวลานานก็จะมีความผิดตามกฎหมายมากขึ้นตาม และหากกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้ผู้ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นได้อย่างลำบากมากขึ้น เพราะไม่มีบัตรคนต่างชาติทำให้หางานทำได้ยาก ขอแนะนำให้ มอบตัวและรอผลตัดสินจาก ตม.

Q บุคคลที่ไม่มีวีซ่า หากเจ้าของบริษัทเป็นผู้ค้ำประกัน จะสามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าได้หรือไม่
A อันดับแรกต้องมอบตัวก่อน และขอคำปรึกษาต่อ ตม. สำหรับการตัดสินขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ตม. ข้อดีของการมอบตัวคือ ในกรณีที่ไม่มีประวัติอาชญากรรมจะสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศญี่ปุ่นได้หลังจาก 1 ปี

Q การมอบตัว จำเป็นต้องมอบตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เขตชินากาวา โตเกียว เท่านั้นหรือไม่ จะมอบตัวต่อ ตม. ในต่างจังหวัดได้หรือไม่
A ต้องมอบตัวที่โตเกียว เท่านั้น

Q การขอ Re-entry Permit สำหรับผู้ประสงค์จะออกนอกประเทศเกิน 1 ปี จะได้รับตราประทับRe-entry Permit ในหนังสือเดินทางเหมือนเดิมหรือไม่
A จะได้รับตราประทับ Re-entry Permit ในหนังสือเดินทางเช่นเดิม

Q ผู้ถือวีซ่าคู่สมรส ไม่ได้ทำการหย่ากันตามกฎหมาย แต่สามีไม่ยอมยื่นเรื่องขอต่อวีซ่าให้ จะถูกเพิกถอนวีซ่าหรือไม่
A ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ตม. ส่วนผลการตัดสินแล้วแต่กรณีไป

Q การแยกกันอยู่กับสามีแต่ไม่ได้หย่ากันจะมีผลต่อการเพิกถอนวีซ่าหรือไม่
A ก่อนทำการเพิกถอนวีซ่า ตม.จะทำการสัมภาษณ์ทุกราย ส่วนผลการตัดสินนั้นแล้วแต่ละกรณี

Q ใน Resident Card จะมีชื่อเป็นอักษรคันจิหรือไม่
A โดยพื้นฐานแล้ว จะบันทึกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ

Q Resident Card (ไซริวการ์ด) จะต้องพกติดตัวหรือไม่
A จำเป็นต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา

Q ผู้ที่ไปขอต่อวีซ่าหลังจากที่กฎหมายใหม่บังคับใช้แล้ว จะได้รับตราประทับสถานะวีซ่าในหนังสือเดินทางหรือไม่
A ไม่มีตราประทับของสถานะวีซ่า แต่ข้อมูลจะถูกบันทึกลงใน Resident Card (ไซริวการ์ด) แทน

Q สำหรับผู้ที่ต้องการประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปประกอบการขอทำใบขับขี่ญี่ปุ่น จะขอประวัติการเดินทางเข้าออกญี่ปุ่นได้ที่ใด
A ต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง ที่กระทรวงยุติธรรม (ตั้งอยู่ที่ Kasumigaseki, Chiyoda-ku, Tokyo) เสียค่าธรรมเนียมอากรแสตมป์ 300 เยน

หมายเหตุ

- สรุปจากการบรรยายของเจ้าหน้าที่ ตม.ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2555 ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
- สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลข้างต้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลสำคัญบางส่วน ซึ่งคนต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นควรทราบ ไม่ใช่ข้อมูลกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ทั้งหมด ผู้ที่ประสงค์ทราบข้อมูลที่สมบูรณ์ควรติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นโดยตรง

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
           http://www.thaiembassy.jp

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปัญหาการนำพลอยดิบออกจากโมซัมบิก

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในด้านอุตสาหกรรมอัญมณี จากที่เราเคยมีสินแร่อัญมณีอยู่มากมายแต่ก็ถูกขุดจนไม่เหลือแล้วในปัจจุบัน แต่ธุรกิจด้านนี้เป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนที่สูงมาก คนไทยจึงดั้นด้นไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกเพื่อหาอัญมณีหรือที่เรียกกันว่าพลอยดิบเพื่อนำมายังประเทศไทยและเจียรไน เขาตัวเรือน เป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ที่สูงเป็นลำดับที่ 3 ของประเทศ และสร้างงานสร้างอาชีพแก่คนไทยกว่า 1 ล้านคน

ปัจจุบัน แหล่งวัตถุดิบจากแหลางเดิม เช่น เวียดนาม ศรีลังกา มาดากัสการ์ เริ่มร่อยหรอหรือบางแห่งก็หมดเกลี้ยง ไม่มีเหลือ แต่ยังมีอีกประเทศหนึ่งที่เพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน นั่นคือ ประเทศโมซัมบิก ตั้งอยู่แถบแอฟริกาใต้ เป็นแหล่งพลอบแดงคุณภาพสูงและมีปริมาณมาก จึงเป็นที่ต้องการของตลาดพลอยบ้านเราเป็นอย่างมาก มีผู้ค้าอัญมณีชาวไทยเดินทางไปหาซื้อพลอยดิบจากโมซัมบิกปีละหลายร้่อยคน

ในเรื่องนี้ ทางการโมซัมบิกเห็นว่า การปล่อยให้มีการซื้อขายพลอยดิบกันอย่างไม่มีการควบคุมทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ จึงได้จัดให้มีการขอสัมปทาน เคยมีบริษัทจากไทยไปได้รับสัมปทานแต่ก็ไปไม่รอดเนื่องจากเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นจึงต้องถอนตัวไปในที่สุด ทุกวันนี้ พ่อค้าพลอยจึงต้องใช้วิธีหลีกเลี่ยง โดยเดินทางเข้าไปยังแหล่งพลอยโดยผ่านประเทศที่สาม และซื้อขายกันโดยไม่ถูกกฎหมาย จึงมักถูกจับกุมหรือถูกปรับอยู่บ่อยครั้ง


ในเรื่องนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศเองก็ได้หาทางแก้ไข โดยได้หารือ เจรจากับทางการของโมซัมบิกหลายครั้งแล้ว ในชั้นนี้ สรุปได้ว่า โมซัมบิกไม่มีนโยบายให้ชาวต่างประเทศนำพลอยดิบออกนอกประเทศ ดังนั้น สิ่งที่พ่อค้าไทยกระทำอยู่ คือการรับซื้อพลอยดิบจากชาวบ้านโดยตรงจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะรัฐบาลไม่ได้รับประโยชน์ในรูปของภาษี หากต้องการนำพลอยดิิบออกจากโมซัมบิกอย่างถูกกฎหมายจะต้อง
1) จัดตั้งบริษัทในโมซัมบิกและซื้อสัมปทานการสำรวจขุดเจาะ เมื่อขุดพบก็สามารถนำพลอยดิบส่งออกขายต่างประเทศได้
2) ร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นจัดตั้งบริษัทและดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ 1




ฝ่ายโมซัมบิกเองก็อยากให้ไทยไปลงทุนขอสัมปทาน แต่พ่อค้าไทยก็ยังกลัวๆ กล้าๆ ทาง B.O.I . ของไทยก็กำลังหาช่องทางเพื่อส่งเสริมการลงทุนในเรื่องนี้อย่างจริงจังเพื่อให้ได้มาซึ่งพลอยดิบอย่างถูกกฎหมาย ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศก็หาวิธีที่จะให้ความคุ้มครองคนไทยและผลประโยชน์ของคนไทยให้ดีขึ้นโดยกำลังพิจารณาตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ที่เมือง เพ็มบา เพื่อให้การดูแลคนไทยได้ดีขึ้นด้วย

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

จำคุก เด็กไทย “Work& Travel” ข้อหาขโมยบัตรเครดิต



คงยังจำกันได้ถึงกรณีเด็กไทยถูกปล่อยเกาะหลังจากไปศึกษาภาษาอังกฤษระยะสั้น ที่ต่างประเทศช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน มาคราวนี้เป็นกรณีของเด็กสาวมหาวิทยาลัยในโครงการ Work & Travel ได้ไปติดคุกติดตารางที่สหรัฐอเมริกา แต่กรณีนี้ไม่สามารถกล่าวโทษใครได้เลย เพราะเป็นผลมาจากการกระทำของตัวเธอเองล้วนๆ
เด็กสาวรายนี้ เดินทางไปสหรัฐฯ และเข้าทำงานในสวนสนุกชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่สาวเจ้ากลับนึกสนุกไปเสี่ยงดวงที่ Atlantic City บ่อนการพนันชื่อดังของสหรัฐฯ แต่โชคไม่เข้าข้าง เพราะสิ่งที่เธอได้ติดไม้ติดมือกลับไปคือ หนี้พนันที่มีมูลค่าถึง 8,000 ดอลล่าห์สหรัฐ!!
เมื่อหมดหนทาง เธอจำต้องขโมยบัตรเครดิตของเพื่อนชาวไทยที่เดินทางไปด้วยกัน เพื่อนำไปจ่ายหนี้ดังกล่าว แต่ภายหลังเธอได้ติดต่อให้มารดาโอนเงินคืนให้เพื่อนทุกคนครบถ้วนตามจำนวน
 เรื่องราวคงจะจบลงด้วยดี หากการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเธออยู่ที่ประเทศไทย...
เพราะเมื่อผู้ดูแลที่พักชาวอเมริกันทราบเรื่อง จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เธอจึงถูกจับกุมพร้อมถูกแจ้งข้อหาว่ามีความผิดถึง 18 ข้อหา ซึ่งข้อหาหลักก็คือ การใช้บัตรเครดิตของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ถึงแม้ทางเจ้าทุกข์จะไม่ติดใจเอาความ แต่ตำรวจจำเป็นต้องทำตามกระบวนการยุติธรรม เพราะคดีลักษณะนี้เป็นคดีอาญา จึงไม่อาจยอมความกันได้ ทำให้เธอต้องโทษกุมขังอยู่ในเรือนจำ ในสหรัฐฯ
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ได้ติดตามสถานการณิอย่างใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือในขอบเขตที่พึงกระทำอย่างเต็มที่ แต่ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐฯ ได้
จึงขอให้น้องๆ นักศึกษาที่ยังคงอยู่ในโครงการ Work & Travel ในขณะนี้ หรือใครที่กำลังวางแผนจะเข้าร่วมโครงการในปีหน้า ให้คิดไตร่ตรองให้ดีก่อนจะทำสิ่งใดที่ผิดกฏหมาย เพราะการดำเนินการทางกฎหมายในต่างประเทศนั้น มีความเข้มงวดอย่างมาก และพึงระลึกไว้เสมอว่าแม้สกญ.จะยินดีและเต็มใจช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ในต่างประเทศ แต่ก็ไม่สามารถ ทำคนผิดให้เป็นคนถูกได้

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
        กรมการกงสุล  กระทรวงการต่างประเทศ 

“บาห์เรน” ประเทศยอดฮิตของหญิงไทย



ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศบาห์เรน ได้กลายเป็นแหล่งใหญ่ของขบวนการการค้าประเวณีของหญิงไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง
บางรายเต็มใจไปทำงาน บางรายถูกหลอกลวง ปะปนกันไป ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็เชื่อว่าการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศนั้น จะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีเงินมีทองส่งกลับมาให้เลี้ยงดูครอบครัวในเมืองไทย หรือโชคดีก็อาจได้แต่งงานอยู่กินกับสามีในต่างประเทศเลย
“ช่วยหนูด้วย หนูอยากกลับบ้าน”
เป็นคำขอความช่วยเหลือของหญิงไทยรายนี้ที่ถูกล่อลวงและบังคับให้ค้าประเวณีที่บาห์เรน เพื่อชดใช้หนี้จำนวนหลักแสน ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปบาห์เรน โดยต้องให้บริการแก่ชายลูกค้าชาวบาห์เรนเท่านั้น ทั้งยังถูกยึดหนังสือเดินทางและกักขังให้อยู่แต่ภายในห้อง ไม่สามารถออกไปไหนมาไหนตามลำพังได้ เพราะมีคนเฝ้าติดตามอยู่ตลอดเวลา จนสุดท้ายทนไม่ไหว จึงได้ขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมานามา ประเทศบาห์เรน แต่การให้ความช่วยเหลือหญิงไทยรายนี้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากกรณีการค้ามนุษย์นี้ มีการทำงานกันเป็นขบวนการ โดยมีต้นทางที่ประเทศไทยไปถึงปลายทางในประเทศบาห์เรน
เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะพอเป็นเรื่องเตือนใจ เตือนสติได้บ้าง อย่าทำให้ตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อกามราคะของคนไม่ดีที่มาข่มขืนน้ำใจของเรา แม้ว่าเราจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเดินเช่นนี้ด้วยตัวเองก็ตา

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                           กรมการกงสุล   กระทรวงการต่างประเทศ




วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เยี่ยมนักโทษไทยในตุรกี


ตามที่มีข่าวคราวการที่คนไทยถูกจับกุมคุมขังทีี่ประเทศตุรกีในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมาเป็นระยะๆ นั้น สถานทูตไทยที่กรุงอีงการา ประเทศตุรกี รายงานการเข้าเยี่ยมนักโทษไทยที่ถูกจำคุกอยู่ที่นครอิสตันบูลของตุรกีมาดังนี้
นายอับดุลรอฮิม ดาตูมะดา เลขานุการเอก และนางสาววิชชุลี โชติเบญจกุล เลขานุการโท ในฐานะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้เข้าเ้ยี่ยมผู้ต้องขังชาวไทย 7 คน ในเรือนจำนครอิสตันบูล จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 21 มีนาคม และ 21 พฤษภาคม 2555 เพื่อสอบถามความเป็นอยู่และช่วยเหลือในการติดต่อกับทางบ้านพร้อมมอบเสื้อผ้าที่จำเป็นให้แก่ผู้ต้องขังดังกล่าว นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ยังได้ส่งคู่มือคนไทยในตุรกีให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวันในตุรกีได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ขณะนี้ผู้ต้องขังทั้งหมดสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำได้ดีขึ้น และสามารถติดต่อกับทางบ้านได้แล้ว อนึ่ง นอกจากเจ้าหน้าที่สถานทูต ยังมีกงสุลกิตตมศักดิ์ของไทยประจำนครอิสตันบูล ได้ร่วมเข้าเยี่ยมนักโทษไทยในครั้งนี้ด้วย ซึ่งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ได้มอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก้ผู้ต้องขังชาวไทยเป็นประจำทุกเดือนด้วย
ผู้ต้องขังชาวไทย มี 1 คนเป็นชาย ที่เหลืออีก 6 คนเป็นหญิง และ 2 คน กำลังตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด
สำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติดนั้น ผู้ต้องขังให้ข้อมูลว่า จะได้รับการติดต่อจากชาวไนจีเรียหรือชาวบราซิลในประเทศไทยให้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศบราซิลและขอให้ขนกระเป๋าจากบราซิลผ่านนครอิสตันบูลไปยังประเทศเวียดนามโดยได้รับตั๋วเครื่องบินฟรีพร้อมค่าจ้าง 100,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิ่งที่บรรจุภายในกระเป๋าคือยาเสพติดร้ายแรง
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ คาดว่า สาเหตุที่ขบวนการยาเสพติดเลือกที่จะส่งยาเสพติดผ่านตุรกีนั้น เนื่องจากนครอิสตันบูลเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศ มีเที่ยวบินตรงไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเท่ากับเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศผู้ผลิตในละตินอเมริกากับประเทศผู้บริโภคในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ
สถานทูตจึงขอเตือนให้คนไทยทุกคนระมัดระวังคนแปลกหน้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้ามาชักชวนให้ให้ขนสิ่งของข้ามประเทศในลักษณะนี้ ทางที่ดีควรปฏิเสธคำเชิญชวนทุกกรณี

ครับ และนั่นก็เป็นอีกข่าวคราวหนึ่งของคนไทยที่ต้องไปตกทุกข์ได้ยาก ติดคุกติดตารางอยู่ต่างแดน  และอย่างที่เคยบอกกล่าวกันไว้แล้วว่า การทำผิดกฎหมายอย่างไรเสียก็ต้องถูกลงโทษ ไม่มีใครจะช่วยอะไรได้ แม้แต่กระทรวงการต่างประเทศและสถานทูต/สถานกงสุลของไทยก็ไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายของต่างประเทศได้ คงทำได้เพียงเข้าเยี่ยมและมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นและรับติดต่อกับญาติในประเทศไทยให้เท่านั้น

ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
         สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา

ถูกหลอก .....เสียเงิน..... เสียเวลา..... แถมยังเสียเครดิต


                ปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไปเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม พนักงานนวดไทยในสปา บ้างไปอย่างผิดกฎหมาย บ้างก็ถูกหลอกไปทำงานที่ตนไม่ได้ตกลงหรือคาดหวังไว้  ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่เสมอโดยเฉพาะกับหญิงไทยที่มักจะถูกล่อลวงให้ไปค้าประเวณี โดยอ้างว่างานสบายและรายได้ดี
คราวนี้มีหญิงไทยถูกหลอกไปค้าประเวณีที่ประเทศบาร์เรน ผ่านคนรู้จักชักชวนให้ไปเป็นพนักงานนวด แต่เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้ค้าประเวณี หญิงไทยคนดังกล่าวจึงได้หลบหนีไปขอความช่วยเหลือจากสถานทูต ณ กรุงมานามา ประเทศบาร์เรน เพื่อให้ส่งตัวกลับประเทศไทย
กฏหมายเกี่ยวกับการค้าประเวณีในต่างประเทศถือว่าเข้มงวดมาก หากถูกจับจะมีบทลงโทษอย่างรุนแรงและไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศนั้นได้อีกตลอดไป
ดังนั้นก่อนที่จะไปทำงานต่างประเทศ ควรวางแผน และตรวจสอบข้อมูลความน่าเชื่อถือบริษัทเสียก่อน โดยสามารถตรวจสอบได้ที่ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
อย่าคิดว่าเป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่มีตั๋วเครื่องบินและหนังสือเดินทาง ก็สามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้  หากไม่อยากต้องมาเสียใจในภายหลัง......


ที่มา :            กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
                                      กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

มัลดีฟส์ “ดินแดนสวรรค์”แห่งใหม่ของแรงงานไทย?




มัลดีฟส์ ดินแดน สวรรค์แห่งท้องทะเลนี้ นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฝันของเหล่าขาผจญภัยแล้ว ยังเป็น วิมานในอากาศของเหล่าแรงงานหลายคน โดยเฉพาะแรงงานสาวชาวไทยที่หวังจะไปขุดทองกันกลางทะเล โดยการสร้างรายได้จากการบริการนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามา ธุรกิจยอดฮิตคงหนีไม่พ้นบริการสปาริมหาดที่ดูจะเป็น งานเบา แต่เงินหนาและทิปหนัก จึงยั่วใจเหล่าแรงงานให้ไม่รีรอที่จะตกปากรับคำและพร้อมบินตามฝันไปทันที
                ดังนรกชังหรือสวรรค์แกล้ง...
เมื่อไปถึง แรงงานสาวเหล่านั้นกลับถูกนายจ้างกลั่นแกล้งต่างๆนานา ทั้งกักขังห้ามมิให้ออกไปนอกที่ทำงาน ยึดหนังสือเดินทาง และเมื่อขอเดินทางกลับประเทศไทยยังถูกสั่งให้จ่ายเงินเป็นค่าชดใช้ที่นายจ้างพาตัวมาทำงานเสียอีก ซ้ำร้ายพอแรงงานสาวยอมจ่ายเงิน นายจ้างหน้าเลือดกลับเรียกร้องเงินเพิ่มขึ้น บางรายซวยซ้อน ถูกนายจ้างบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ด้วยหากต้องการเงินค่าจ้าง เมื่อสบโอกาสหญิงสาวเหล่านั้นจึงหลบหนีออกมาเพื่อขอความช่วยเหลือ
 สถานกงสุลกิติมศักดิ์ ณ กรุงมาเล ประเทศมัลดีฟส์ จึงได้เข้าไปไกล่เกลี่ย แต่นายจ้างขาโหดกลับอ้างว่าหญิงไทยหลบหนีการทำงาน พร้อมทั้งดำเนินการฟ้องศาลเรียกร้องค่าเสียหายนับพันเหรียญสหรัฐฯ แต่ฝ่ายไทยก็มิได้หมดความพยายาม ได้เข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอีกครั้งหนึ่ง จนในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ ลูกจ้างไทยตกลงจ่ายเงินให้นายจ้างจำนวนหนึ่งเพื่อแลกกับการถอนฟ้อง และสามารถกลับประเทศไทยได้
แม้วิมานกลางอากาศของหญิงไทยเหล่านี้จะพังครืนลงมาอย่างไม่สวยนัก แต่ก็ถือว่ายังเคราะห์ดีกว่าอีกหลายรายที่ถึงขั้นถูกจับกุมในข้อหาค้าประเวณี ไม่ว่าจะสมัครใจหรือถูกล่อลวงไปก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่รู้จะโทษว่าเป็นความผิดของใครระหว่างคนที่จัดหางานให้ หรือคนที่เสนอตัวรับงานนั้น?
สิ่งที่กรมการกงสุล สถานทูตฯ และสถานกงสุลฯ ไทยจะสามารถจะทำได้คือการให้ข้อมูล คำปรึกษาอย่างรอบด้านให้กับแรงงานที่คิดจะไปประกอบอาชีพที่มัลดีฟส์ ให้พิจารณาไตร่ตรอง เนื่องจากปัจจุบันเกิดปัญหาหญิงไทยถูกหลอกลวงไปทำงานและถูกจับกุมในข้อหาค้าประเวณีเป็นจำนวนมาก ทำให้ทางการมัลดีฟส์เริ่มเข้มงวดกับแรงงานโดยเฉพาะหญิงไทยมากยิ่งขึ้น เพราะหากถลำลึกไปแล้วมันยากที่จะกลับลำ ทำได้อย่างเดียวคือต้องหวานอมขมกลืน หรือต้องซมซานกลับมาอย่างกรณีข้างต้น
น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจคำเตือนเหล่านี้ ทำให้แทบจะทุกๆนาที เส้นทางสู่ นรกกลับถูกเลือกเดินมากกว่าเส้นทางสู่ สวรรค์...

ที่มา: กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
          กรมการกงสุล  กระทรวงการต่างประเทศ