วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ญี่ปุ่นออกกฎหมายจัดระเบียบคนต่างชาติ

 จากที่ได้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับญี่ปุ่นกำลังจะประกาศใช้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่เพื่อจัดระเบียบคนต่างชาติในประเทศ นั้น 
     เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2555 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ร่วมกับ ตม. ญี่ปุ่น จัดการบรรยายเรื่อง กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ให้แก่คนไทยที่พำนักอยู่ในปรเทศญี่ปุ่น 
     วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงระบบการควมคุมคนต่างชาติ คือ เพื่อทำฐานข้อมูลร่วมระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอสำหรับบริหารจัดการเกี่ยวกับการพำนักอาศัยของคนต่างชาติในญี่ปุ่น
 1. สาระสำคัญ
     1.1 คนต่างชาติที่ต้องปฎิบัติตามระบบใหม่ คือ
คนต่างชาติที่พำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ระยะกลางถึงระยะยาวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น คู่สมรสของชาวญี่ปุ่น นักศึกษา บุคคลที่ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่น ผู้ฝึกงานทางเทคนิค และผู้พำนักถาวร
อย่างไรก็ดี ระบบใหม่นี้ไม่มีผลใช้บังคับกับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือผู้ที่มีถิ่น พำนักในญี่ปุ่นระยะ 3 เดือนหรือต่ำกว่านั้น
     1.2 ระบบใหม่ไม่มีผลบังคับใช้กับบุคคลดังต่อไปนี้
- ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนักในญี่ปุ่นต่ำกว่า 3 เดือน
- ผู้ที่ได้รับสถานะ "Temporary Visitor"
- ผู้ที่ได้รับสถานะ "Diplomat" หรือ "Official
- ผู้ที่กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นจัดว่าเทียบเท่าบุคคลใน 3 กลุ่มแรกข้างต้น
- ผู้ที่มีสถานะ Special Permanent Resident
     1.3 การใช้บัตร Resident Card หรือ ไซริวการ์ด
สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นผู้ออกบัตร Resident Card หรือ ไซริวการ์ด ส่วนระบบการลงทะเบียนคนต่างด้าวของสำนักงานเขตจะยกเลิกตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไป บัตรนี้จะมีชิปบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล เช่น สถานะวีซ่า การเปลี่ยนแปลงสถานะวีซ่า การเปลี่ยนแปลงที่อยู่ การเปลี่ยนแปลงชื่อสกุล ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏบนหน้าบัตรจะน้อยกว่าบัตรคนต่างด้าว ทั้งนี้ บัตรใหม่ Resident Card หรือ ไซริวการ์ด จะใช้แทนบัตรคนต่างด้าวอย่างสมบูรณ์ในปี 2558
     1.4 ข้อดีของระบบใหม่ คือ
- ขยายระยะเวลาพำนักขั้นสูงสุดจาก 3 ปี เป็น 5 ปี
- กำหนดระบบ Re-entry Permit ดังนี้
* ขยายระยะเวลาเดินทางกลับเข้าญี่ปุ่นขั้นสูงสุดจาก 3 ปี เป็น 5 ปี
* หากเดินทางออกจากญี่ปุ่นไม่เกิน 1 ปี ไม่จำเป็นต้องขอ Re-entry Permit มาตราการนี้เรียกว่า Special Re-entry Permit
ข้อควรระวัง หากไม่เดินทางกลับเข้าญี่ปุ่นภายใน 1 ปี จะสูญเสียสถานะการพำนัก และต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าใหม่
2. การยื่นเรื่องขอทำ Resident Card หรือ ไซริวการ์ด
ผู้ที่พำนักระยะกลางถึงระยะยาว ไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องทำบัตรใหม่ทันที เนื่องจากบัตรต่างด้าวสามารถใช้ได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะการพำนัก ดังนี้
     2.1 ผู้พำนักถาวร
- กรณีอายุมากกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันที่ 8 ก.ค. 2558 (ค.ศ.2015)
- กรณีอายุน้อยกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันที่ 8 ก.ค.2555 หรือวันที่อายุครบ 16 ปี แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดมาถึงก่อน
     2.2 ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้พำนัก 5 ปี เพื่อทำกิจกรรมเฉพาะทาง
- กรณีอายุมากกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนักหรือวันที่ 8 ก.ค. 2558 แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดก่อน
- หากอายุน้อยกว่า 16 ปี บัตรเก่าจะใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนักหรือวันที่ 8 ก.ค. 2558 แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดก่อน
     2.3 ผู้ที่ได้รับสถานะการพำนักประเภทอื่น ๆ
- หากอายุมากกว่า 16 ปี บัตรเก่าสามารถใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนัก
- หากอายุน้อยกว่า 16 ปี บัตรเก่าสามารถใช้ได้จนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับอนุญาตให้พำนัก หรือวันที่อายุครบ 16 ปี แล้วแต่ว่าเกณฑ์ใดถึงก่อน
หากคนต่างชาติจำเป็นต้องใช้ใบรับรองที่ระบุข้อมูลตามบัตรคนต่างด้าว สามารถขอทำเอกสาร Certificate of Residence ได้จากสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ
3. ขั้นตอนและการแบ่งงานของหน่วยงานญี่ปุ่น
3.1 ขั้นตอนที่ 1 ที่ด่านตรวจคนเข้า – ออกเมือง
ผู้ที่เดินทางเข้ามาในญี่ปุ่นโดยมีสถานะวีซ่าพำนักระยะกลางถึงระยะยาว จะได้รับประทับตรา seal of landing ในหนังสือเดินทาง และ Resident Card (ไซริวการ์ด) ทั้งนี้ ท่าอากาศยานที่ออก Resident Card ได้ทันที มี 4 แห่ง คือ นาริตะ ฮาเนดะ คันไซ ชูบุ (นาโกยา) หากเป็นท่าอากาศยานอื่น ๆ จะประทับตราข้อความว่าจะส่งบัตรให้ภายหลัง (ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ภายหลังจากที่ผู้นั้นได้แจ้งข้อมูลที่พักอาศัยต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอแล้ว)
3.2 ขั้นตอนที่ 2 สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ
ผู้พำนักระยะกลางถึงระยะยาวต้องแจ้งข้อมูลที่อยู่อาศัยภายในกำหนดเวลา
ผู้ที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ต้องนำ Resident Card (ไซริวการ์ด) ที่ได้รับเมื่อตอนเข้าญี่ปุ่นไปติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่ตนเองพำนักอยู่ ภายใน 14 วัน หลังจากทราบข้อมูลที่พำนักอาศัยแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามะถูกปรับไม่เกิน 200,000 เยน ถ้าไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวภายใน 90 วัน อาจจะถูกยกเลิกสถานะการพำนักในญี่ปุ่นได้
ผู้ที่เปลี่ยนที่พำนักอาศัย ต้องนำ Resident Card (ไซริวการ์ด) ไปติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอแห่งเก่า เพื่อแจ้งว่าจะย้ายที่อยู่ออกและนำเอกสารที่ได้รับไปแจ้งต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่มีที่อยู่ใหม่ โดยต้องแจ้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่พำนักอาศัยนี้ภายใน 14 วัน หลังจากที่ได้ย้ายเข้าที่พำนักอาศัยแห่งใหม่แล้ว หากไม่ปฎิบัติตามจะถูกปรับไม่เกิน 200,000 เยน และหากไม่แจ้งข้อมูลดังกล่าวภายใน 90 วัน อาจจะถูกยกเลิกสถานะการพำนักในญี่ปุ่นได้
     3.3 ขั้นตอนที่ 3 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
สำหรับผู้ที่ต้องการทำ Resident Card (ไซริวการ์ด) หรือหากเปลี่ยนแปลงข้อมูลนอกเหนือไปจากที่พำนักอาศัย จะต้องไปติดต่อ ตม.โดยนำเอกสารประกอบที่ต้องใช้ คือ หนังสือเดินทาง รูปถ่ายขนาด3 x 4 นิ้วและผู้ที่มี Resident Card แล้วแต่ต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต้องนำ Resident Card (ไซริวการ์ด) ไปประกอบด้วย
- กรณีแจ้งเปลี่ยนชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด สัญชาติ ต้องแจ้งต่อ ตม. ภายใน 14 วัน
- กรณียื่นคำร้องเพื่อขยายอายุของบัตร
ผู้พำนักถาวรที่อายุต่ำกว่า 16 ปี ซึ่งบัตรจะหมดอายุในวันที่อายุครบ 16 ปี ต้องขอต่ออายุบัตรก่อนหมดอายุ โดยสามารถขอต่ออายุได้ภายใน 2 เดือนก่อนบัตรหมดอายุ แต่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี สามารถขอต่ออายุบัตรได้ภายใน 6 เดือนก่อนบัตรหมดอายุ
กรณีขอทำ Resident Card ใหม่เพื่อทดแทนบัตรเดิม
- กรณีสูญหายหรือถูกขโมย ต้องติดต่อ ตม. ภายใน 14 วัน (หากเกิดเหตุในต่างประเทศ ต้องแจ้งในวันที่เดินทางกลับเข้าญี่ปุ่น) เอกสารที่จะต้องใช้เพิ่มเติมคือ ใบแจ้งความว่าบัตรสูญหายหรือถูกขโมยจากสถานีตำรวจ หรือใบรับรองผู้ประสบภัยพิบัติจากสถานีดับเพลิง
- กรณีหน้าบัตรเสียหายหรือตัวบัตรชำรุดมาก ต้องขอบัตรใหม่โดยเร็วที่สุด
- กรณีต้องการบัตรใหม่แต่บัตรเดิมชำรุดหรือเสียหายไม่มาก สามารถขอบัตรใหม่ได้และต้องชำระค่าธรรมเนียมบัตรด้วย
4. บทลงโทษ ตม.ได้กำหนดบทลงโทษ 3 ระดับ ดังนี้
     4.1 ถอนสถานะการอนุญาตให้พำนัก
- ผู้ที่ได้สถานะมาด้วยวิธีผิดกฎหมาย
- ผู้ที่มีสถานะ "Spouse or Child of Japanese National" หรือ "Spouse or Child of Permanent Resident" แต่ไม่ทำหน้าที่คู่สมรสมาเป็นเวลา 6 เดือนหรือมากกว่านั้นโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
- ผู้ที่ไม่ได้แจ้งการเปลี่ยนที่พำนักอาศัยโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือแจ้งความเท็จ
     4.2 จัดให้อยู่ในข่ายผู้ที่อาจถูกส่งกลับประเทศที่ผู้นั้นมีถิ่นพำนักถาวร (เนรเทศ)
- หากผู้นั้นปลอมแปลงหรือปรับเปลี่ยนบัตร
- ถูกศาลตัดสินจำคุกเนื่องจากแจ้งข้อมูลเท็จหรือพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน
     4.3 โทษปรับ
- ผู้ที่แจ้งข้อมูลเท็จ หรือไม่ติดต่อสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอหรือ ตม. ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ปฏิบัติตาม
ข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับบัตร การถือบัตรติดตัว
หรือการแสดงบัตรตามกฎหมาย
- ผู้ที่ปลอมแปลงหรือปรับเปลี่ยนบัตร
5. บุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลต่อ ตม. ดังนี้
- แจ้งการว่าจ้างหรือเลิกจ้างคนต่างชาติ ที่พำนักระยะกลางหรือระยะยาวซึ่งมีสถานะการพำนักประเเภททำงานได้ ภายใน 14 วัน (ยกเว้นองค์กรที่ต้องแจ้งตามกฎหมายจ้างงาน)
- แจ้งการรับหรือโอนหรือเลิกสอนคนต่างชาติที่พำนักระยะกลางถึงระยะยาวซึ่งมีสถานะการพำนักประเภทนักศึกษา ภายใน 14 วัน
- หากนายจ้าง จ้างคนงานต่างชาติที่ผิดกฎหมาย นายจ้างจะถูกลงโทษ



          ถาม- ตอบ เกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่          
Q บุคคลที่มีสถานะพำนักถาวร จะมีการลดระยะเวลาพำนักเป็น 5 ปี หรือไม่
A ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยกเว้น กรณีก่อคดีหรือมีความผิดตามกฎหมายญี่ปุ่น

Q จะมีการยกเลิกเรื่องขอสถานะพำนักถาวร หรือไม่
A ไม่มีการยกเลิก

Q ผู้ที่พำนักอยู่ญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายเป็นเวลา 15 – 20 ปี สามารถขอวีซ่าได้หรือไม่
A สามารถยื่นคำร้องได้ แต่ผลจะเป็นอย่างไรไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากการพิจารณาจำเป็นอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น มีครอบครัว เหตุผลที่ต้องการพำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ฯลฯ ขั้นตอนที่จะยื่นขอวีซ่า จำเป็นต้องมอบตัวและยื่นคำร้องขอวีซ่า ส่วนการที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นเป็นระยะเวลานานไม่มีผลต่อการรับสิทธิพิเศษในการขอวีซ่า ทั้งนี้ ควรพึงระวังว่า หากพำนักในญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายเป็นระยะเวลานานก็จะมีความผิดตามกฎหมายมากขึ้นตาม และหากกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้ผู้ที่อยู่อย่างผิดกฎหมายใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นได้อย่างลำบากมากขึ้น เพราะไม่มีบัตรคนต่างชาติทำให้หางานทำได้ยาก ขอแนะนำให้ มอบตัวและรอผลตัดสินจาก ตม.

Q บุคคลที่ไม่มีวีซ่า หากเจ้าของบริษัทเป็นผู้ค้ำประกัน จะสามารถยื่นคำร้องขอวีซ่าได้หรือไม่
A อันดับแรกต้องมอบตัวก่อน และขอคำปรึกษาต่อ ตม. สำหรับการตัดสินขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ตม. ข้อดีของการมอบตัวคือ ในกรณีที่ไม่มีประวัติอาชญากรรมจะสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศญี่ปุ่นได้หลังจาก 1 ปี

Q การมอบตัว จำเป็นต้องมอบตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เขตชินากาวา โตเกียว เท่านั้นหรือไม่ จะมอบตัวต่อ ตม. ในต่างจังหวัดได้หรือไม่
A ต้องมอบตัวที่โตเกียว เท่านั้น

Q การขอ Re-entry Permit สำหรับผู้ประสงค์จะออกนอกประเทศเกิน 1 ปี จะได้รับตราประทับRe-entry Permit ในหนังสือเดินทางเหมือนเดิมหรือไม่
A จะได้รับตราประทับ Re-entry Permit ในหนังสือเดินทางเช่นเดิม

Q ผู้ถือวีซ่าคู่สมรส ไม่ได้ทำการหย่ากันตามกฎหมาย แต่สามีไม่ยอมยื่นเรื่องขอต่อวีซ่าให้ จะถูกเพิกถอนวีซ่าหรือไม่
A ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ตม. ส่วนผลการตัดสินแล้วแต่กรณีไป

Q การแยกกันอยู่กับสามีแต่ไม่ได้หย่ากันจะมีผลต่อการเพิกถอนวีซ่าหรือไม่
A ก่อนทำการเพิกถอนวีซ่า ตม.จะทำการสัมภาษณ์ทุกราย ส่วนผลการตัดสินนั้นแล้วแต่ละกรณี

Q ใน Resident Card จะมีชื่อเป็นอักษรคันจิหรือไม่
A โดยพื้นฐานแล้ว จะบันทึกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ

Q Resident Card (ไซริวการ์ด) จะต้องพกติดตัวหรือไม่
A จำเป็นต้องพกติดตัวไว้ตลอดเวลา

Q ผู้ที่ไปขอต่อวีซ่าหลังจากที่กฎหมายใหม่บังคับใช้แล้ว จะได้รับตราประทับสถานะวีซ่าในหนังสือเดินทางหรือไม่
A ไม่มีตราประทับของสถานะวีซ่า แต่ข้อมูลจะถูกบันทึกลงใน Resident Card (ไซริวการ์ด) แทน

Q สำหรับผู้ที่ต้องการประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำไปประกอบการขอทำใบขับขี่ญี่ปุ่น จะขอประวัติการเดินทางเข้าออกญี่ปุ่นได้ที่ใด
A ต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง ที่กระทรวงยุติธรรม (ตั้งอยู่ที่ Kasumigaseki, Chiyoda-ku, Tokyo) เสียค่าธรรมเนียมอากรแสตมป์ 300 เยน

หมายเหตุ

- สรุปจากการบรรยายของเจ้าหน้าที่ ตม.ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2555 ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
- สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้องสมบูรณ์ของข้อมูลข้างต้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลสำคัญบางส่วน ซึ่งคนต่างชาติที่พำนักในญี่ปุ่นควรทราบ ไม่ใช่ข้อมูลกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ทั้งหมด ผู้ที่ประสงค์ทราบข้อมูลที่สมบูรณ์ควรติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่นโดยตรง

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
           http://www.thaiembassy.jp

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมโดนกลับมาได้5ปีแล้วซาโจ้เก่าบริษัทเก่าจะทำเรื่องรับรองผมไปทำงานแบบถูกกฏหมายจะเป็นไปได้ไหมครับ

    ตอบลบ