วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555
เยี่ยมนักโทษไทยในตุรกี
ตามที่มีข่าวคราวการที่คนไทยถูกจับกุมคุมขังทีี่ประเทศตุรกีในคดีเกี่ยวกับยาเสพติดมาเป็นระยะๆ นั้น สถานทูตไทยที่กรุงอีงการา ประเทศตุรกี รายงานการเข้าเยี่ยมนักโทษไทยที่ถูกจำคุกอยู่ที่นครอิสตันบูลของตุรกีมาดังนี้
นายอับดุลรอฮิม ดาตูมะดา เลขานุการเอก และนางสาววิชชุลี โชติเบญจกุล เลขานุการโท ในฐานะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ได้เข้าเ้ยี่ยมผู้ต้องขังชาวไทย 7 คน ในเรือนจำนครอิสตันบูล จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 21 มีนาคม และ 21 พฤษภาคม 2555 เพื่อสอบถามความเป็นอยู่และช่วยเหลือในการติดต่อกับทางบ้านพร้อมมอบเสื้อผ้าที่จำเป็นให้แก่ผู้ต้องขังดังกล่าว นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา ยังได้ส่งคู่มือคนไทยในตุรกีให้แก่ผู้ต้องขังเพื่อช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตประจำวันในตุรกีได้ดียิ่งขึ้นด้วย
ขณะนี้ผู้ต้องขังทั้งหมดสามารถปรับตัวให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำได้ดีขึ้น และสามารถติดต่อกับทางบ้านได้แล้ว อนึ่ง นอกจากเจ้าหน้าที่สถานทูต ยังมีกงสุลกิตตมศักดิ์ของไทยประจำนครอิสตันบูล ได้ร่วมเข้าเยี่ยมนักโทษไทยในครั้งนี้ด้วย ซึ่งสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ได้มอบเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก้ผู้ต้องขังชาวไทยเป็นประจำทุกเดือนด้วย
ผู้ต้องขังชาวไทย มี 1 คนเป็นชาย ที่เหลืออีก 6 คนเป็นหญิง และ 2 คน กำลังตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติด
สำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติดนั้น ผู้ต้องขังให้ข้อมูลว่า จะได้รับการติดต่อจากชาวไนจีเรียหรือชาวบราซิลในประเทศไทยให้เดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศบราซิลและขอให้ขนกระเป๋าจากบราซิลผ่านนครอิสตันบูลไปยังประเทศเวียดนามโดยได้รับตั๋วเครื่องบินฟรีพร้อมค่าจ้าง 100,000 บาท โดยไม่ทราบว่าสิ่งที่บรรจุภายในกระเป๋าคือยาเสพติดร้ายแรง
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ คาดว่า สาเหตุที่ขบวนการยาเสพติดเลือกที่จะส่งยาเสพติดผ่านตุรกีนั้น เนื่องจากนครอิสตันบูลเป็นศูนย์กลางการบินระหว่างประเทศ มีเที่ยวบินตรงไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเท่ากับเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศผู้ผลิตในละตินอเมริกากับประเทศผู้บริโภคในยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ
สถานทูตจึงขอเตือนให้คนไทยทุกคนระมัดระวังคนแปลกหน้าโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้ามาชักชวนให้ให้ขนสิ่งของข้ามประเทศในลักษณะนี้ ทางที่ดีควรปฏิเสธคำเชิญชวนทุกกรณี
ครับ และนั่นก็เป็นอีกข่าวคราวหนึ่งของคนไทยที่ต้องไปตกทุกข์ได้ยาก ติดคุกติดตารางอยู่ต่างแดน และอย่างที่เคยบอกกล่าวกันไว้แล้วว่า การทำผิดกฎหมายอย่างไรเสียก็ต้องถูกลงโทษ ไม่มีใครจะช่วยอะไรได้ แม้แต่กระทรวงการต่างประเทศและสถานทูต/สถานกงสุลของไทยก็ไม่สามารถแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายของต่างประเทศได้ คงทำได้เพียงเข้าเยี่ยมและมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นและรับติดต่อกับญาติในประเทศไทยให้เท่านั้น
ที่มา : กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น