วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ภูเขาไฟโบรโมยังระเบิดพ่นฝุ่นควันจากปากปล่องทางการอินโดนีเซียปิดสนามบินเมืองมาลัง


ภูเขาไฟโบรโมยังระเบิดพ่นฝุ่นควันจากปากปล่องทางการอินโดนีเซียปิดสนามบินเมืองมาลัง


นายจักร บุญ-หลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศเตือนภัยจากกรณีที่ภูเขาไฟโบรโมปะทุมาตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 นั้น บัดนี้มีรายงานเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 27 - 29 พฤศจิกายน 2553 ภูเขาไฟโบรโมได้ระเบิดและพ่นฝุ่นควันออกมาจากปากปล่องภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง โดยฝุ่นควันจากปล่องภูเขาไฟโบรโมบางส่วนได้เข้าปกคลุมเมืองมาลังเป็นผลให้ทางการอินโดนีเซียต้องประกาศปิดสนามบินเมืองมาลัง (สนามบินสำหรับเส้นทางการบินในประเทศ) ตั้งแต่วันที่ 29 - 4 ธันวาคม 2553

นายจักรฯ แถลงด้วยว่าในขณะนี้ทางการท้องถิ่นของจังหวัดชวาตะวันออกแจ้งเตือนให้ราษฎรที่อาศัยอยู่บริเวณรอบภูเขาไฟเฝ้าระวังการระเบิดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าภูเขาไฟอาจเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นได้ ในชั้นนี้ทางการอินโดนีเซียยังไม่ได้อพยพราษฎรออกจากพื้นที่

อธิบดีกรมการกงสุลกล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2553 สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำอินโดนีเซียได้โทรศัพท์สอบถามสภาพทั่วไปจากนางสาวคอดีเยาะห์ ผู้ประสานงานนักศึกษาไทยในเมืองมาลังเพื่อสอบถามสภาพทั่วไปของเมืองมาลังและสวัสดิภาพของนักศึกษาไทยในจังหวัดมาลังได้รับแจ้งว่าฝุ่นควันจากภูเขาไฟโบรโมบางส่วนได้เข้าปกคลุมเมืองมาลัง แต่มิได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของราษฎรแต่อย่างใด และนักศึกษาไทยในเมืองมาลังปลอดภัย
เมืองมาลังเป็นเมืองใหญ่ตั้งอยู่ห่างจากภูเขาไฟโบรโมไปทางทิศตะวันตกเป็นระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร เป็นเมืองที่มีนักศึกษาไทยระดับปริญญาตรีและปริญญาโทประมาณ 15 - 20 คน

อธิบดีกรมการกงสุลแถลงเตือนว่า โดยที่เจ้าหน้าที่ทางการอินโดนีเซียยังคาดหมายว่าภูเขาไฟโบรโมยังอาจเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ขึ้นได้ ประกอบกับในขณะนี้ทางการอินโดนีเซียได้ประกาศปิดสนามบินเมืองมาลังชั่วคราวแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเตือนให้นักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวชาวไทยใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจเดินทางไปพื้นที่จังหวัดชวาตะวันออก และขอให้ตรวจสอบข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามสถานะล่าสุดจากสายการบินก่อนที่จะเดินทาง เพื่อความปลอดภัย
ปรับปรุง: 7 ธ.ค. 53

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สถานทูตที่มะนิลาจัดตรวจร่างกายและให้ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออก

ครอบครัวที่มารับการตรวจร่างกายจากแพทย์
ผู้บรรยายมีคำตอบ
บรรยายไปด้วย ซักถามไปด้วย
การบรรยายการป้องกันตัวจากโรคไข้เลือดออก



สถานทูตที่มะนิลาจัดตรวจร่างกายและให้ความรู้เกี่ยวกับไข้เลือดออก


เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์จัดให้บริการตรวจร่างกายแก่ข้าราชการสถานทูต ทีมประเทศไทย ชุมชนไทยและครอบครัวในกรุงมะนิลาที่สถานเอกอัครราชทูต พร้อมทั้งจัดบรรยายการป้องกันตัวจากโรคไข้เลือดออก

งานลอยกระทงและเทศกาลอาหารไทยที่เซบู ฟิลิปปินส์

ท่านทูตลอยกระทงในสระของโรงแรม
นางนพมาศ
ท่านทูตกล่าวปราศรัย
ท่านทูตถ่ายภาพร่วมกับคนไทยในเซบู




งานลอยกระทงและเทศกาลอาหารไทยที่เซบู ฟิลิปปินส์


เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2553 ในโอกาสที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่จังหวัดเซบูเพื่อให้บริการงานด้านกงสุลแก่คนไทยในท้องที่และจังหวัดใกล้เคียงได้ร่วมกับโรงแรมแชงกาลิลา แมคตัน จังหวัดเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ได้จัดงานลอยกระทงและเทศกาลอาหารไทยที่โรงแรม โดยนายกุลกุมุท สิงหรา ณ อยุธยา เอกอัครราชทูตได้กล่าวปราศรัยเปิดงานนและนำคนไทยลอยกระทงในสระน้ำของโรงแรม

สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดกิจกรรมไปให้บริการกงสุลสัญจรแก่คนไทยในฟิลิปปินส์ในท้องที่ห่างไกลอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำบริการของรัฐไปมอบให้แก่ประชาชนถึงท้องถิ่น เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของชาวไทยที่พำนักอยู่ในฟิลิปปินส์ และถือโอกาสเยี่ยมเยียนชุมชนไทย และร่วมกับชุมชนไทยจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมให้ชาวฟิลิปปินส์ได้รู้จัก

นักศึกษาไทยในปากีสถานจัดงานฉลองอีดอัล-อัตฮาที่ทำเนียบทูต

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ท่านทูต ท่านผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและข้าราชการร่วมแข่งขันฟุตบอลนัดกระชับมิตร
เล่นเกมส์
ร่วมรับประทานอาหาร
ถ่ายภาพร่วมกับท่านทูตและภริยาเป็นที่ระลึก





นักศึกษาไทยในปากีสถานจัดงานฉลองอีด อัล-อัดฮาที่ทำเนียบทูต

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 เวลา 18.30 – 21.00 น. ชมรมนักศึกษาไทยในปากีสถานได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมงานเลี้ยงอาหารต่ำฉลองอีดอัล-อัดฮาขึ้นที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต กรุงอิสลามาบัด โดยนายมารุต จิตปฏิมา เอกอัครราชทูตพร้อมด้วยคุณจิราพร ฯ ภริยาได้เข้าร่วมงานดังกล่าวพร้อมด้วยนายชาญชัย เจียมบุญศรี อัครราชทูต ที่ปรึกษา พ.อ.สังคม ธรรมเจดีย์ และข้าราชการสถานทูตและภริยา

ในโอกาสดังกล่าวเอกอัครราชทูตมารุตฯ ได้กล่าวปราศรัยเปิดงานโดยย้ำเจตนารมย์ของสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่จะให้การสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา สวัสดิการและกิจกรรมของนักศึกษาไทยในปากีสถาน และได้เตือนให้นักศึกษาระมัดระวังความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตประจำวัน และเมื่อเกิดเหตุความไม่สงบควรหลบภัยอยู่ในที่พักไม่ออกไปเดินดูข้างนอก ซึ่งอาจได้รับอันตรายได้ ภายหลังการรับประทานอาหารแล้วนักศึกษาร่วมกันร้องเพลงคาราโอเกะ และเล่นเกมส์

ต่อมาเช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2553 ท่านทูตพร้อมด้วยท่านผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารและเจ้าหน้าที่สถานทูตได้ลงแข่งขันกีฬาฟุตบอลร่วมกับนักศึกษาไทยที่สนามฟุตบอลเอฟ 6

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเตือนภัยภัยธรรมชาติ

ฝนตกหนักจากไต้ฝุ่นนูริที่ฟิลิปปินส์

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเตือนภัยภัยธรรมชาติในฟิลิปปินส์

(สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลาได้จัดทำบทความเผยแพร่เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์กับคนไทยในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีบทความที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไป จึงขออนุญาตท่านผู้เขียนบทความนำลงเผยแพร่ในเว็บบล็อกนี้ด้วย)
บทความในตอนนี้ จะขอนำเกร็ดของกาชาดฟิลิปปินส์ในเรื่องการเตรียมตัวในเชิงป้องกันตัวล่วงหน้าก่อนพายุเข้า การรับมือในระหว่างที่ประสบภัย และการช่วยเหลือตัวเองหลังจากที่พายุไต้ฝุ่นพัดผ่านไปแล้ว


๑. ก่อนพายุมา : เขียน/จำ/หาหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของหน่วยงานต่างๆ ติดตัวไว้ เตรียมสำรองสิ่งของที่จำเป็นตั้งแต่ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย น้ำดื่ม อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ที่เปิดกระป๋อง ผ้าอนามัย วิทยุ เสื้อผ้า/เสื้อกันฝน/รองเท้าบู๊ทยาง ตลอดจนเครื่องมือปฐมพยาบาล (อุปกรณ์ดำรงชีพอย่างน้อย ๗๒ ชม.) สำรวจและซ่อมแซมบ้านเรือนในส่วนที่ผุพังและเปราะบางที่อาจเป็นอันตราย เช่น หลังคาบ้าน เสา กระจกหน้าต่างประตูรวมทั้งต้นไม้ใหญ่ รีบเก็บผลผลิตทางการเกษตรล่วงหน้า ย้ายสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์เชิงเศรษฐกิจ ไปที่ปลอดภัย เก็บเรือให้ปลอดภัย ตรวจสอบการพยากรณ์อากาศและรับฟังการเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ตรวจตราระบบไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม น้ำประปาให้เรียบร้อยปลอดภัยและพร้อมปิดการทำงานระบบของน้ำไฟก๊าซได้ทันที เก็บรักษา/ย้ายทรัพย์สินที่มีค่าออกจากบ้านเรือน/เคหะสถาน หนีขึ้นที่สูงและย้ายยานพาหนะขึ้นที่สูงเพื่อเลี่ยงภัยจากน้ำท่วม เตรียมพร้อมเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ เตรียมชาร์จแบตเตอรี่ของโทรศัพท์มือถือ เตรียมอุปกรณ์จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและเด็กเล็ก รู้จักและทำความคุ้นเคยกับเส้นทางหนีภัยและศูนย์พักพิงชั่วคราว


๒. ระหว่างพายุเข้า : ตื่นตัวตลอดอย่าหลับเพราะอาจประสบภัยเสียชีวิตได้จากภัยดินโคลนถล่ม อย่างไม่คาดคิด เปิดวิทยุเพื่อรับฟังข่าวสาร การเตือนภัยและการอพยพ ปิดระบบไฟฟ้า น้ำประปาและ ก๊าซหุงต้มรวมทั้งถอดปลั๊กไฟฟ้าเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ห้ามว่ายน้ำหรือเดินในบริเวณที่มีน้ำไหลเชี่ยวและ ให้รีบหาพื้นที่สูงเพื่อความปลอดภัย ห้ามเสี่ยงเดินข้ามบริเวณน้ำท่วม พยายามหาจุด/แหล่ง/ผู้คนที่ติดต่อสื่อสาร ได้ยามฉุกเฉิน หูไวตาไวต่อสิ่งปรักหักพัง หินหรือดินโคลนที่อาจตกหรือถล่มใส่ตัว หากท่านติดอยู่ในที่ขับคัน เช่น ต้นไม้ หลังคาของบ้านอาคารที่อยู่เหนือระดับน้ำท่วมและปลอดภัยจากลมพายุ ขอให้อยู่กับที่โดยรอการให้ ความช่วยเหลือและการกู้ภัยหรือรีบติดต่อแจ้งหน่วยกู้ภัยเพื่อขอรับความช่วยเหลือหากวิกฤติฉุกเฉิน หากท่านขับรถยนต์และเกิดเหตุรถถูกน้ำพัดพาและรถจมน้ำ อย่าตื่นตระหนกโดยขอให้ตั้ง/รวบรวมสติ สูดอากาศ กลั้นหายใจและให้รีบหาทางออกจากรถและว่ายน้ำขึ้นสู่ผิวน้ำ


๓. หลังพายุพัดผ่านไปแล้ว : เปิดวิทยุเพื่อรับฟังข่าวสารและสถานการณ์ของภัย เดินทางกลับบ้านได้ ก็ต่อเมื่อทางการสั่งการให้กลับบ้านได้ ให้ระมัดระวังวัตถุ/สิ่งของอันตราย เช่น ของมีคม ที่อาจตกหล่นอยู่ได้ ในบริเวณน้ำท่วมขัง หากบ้านเรือนถูกน้ำท่วม ขอให้ตรวจตราและมั่นใจก่อนเข้าบ้านว่าสภาพบ้านเรือน ปลอดภัยและโครงสร้างบ้านแข็งแรง ระมัดระวังสัตว์มีพิษ เช่น งู ที่อาจเข้ามาหลบในบ้าน รีบรายงานทางการ เรื่องระบบไฟฟ้าของบ้านที่ชำรุดเสียหาย ห้ามเปิดไฟหรือเสียบปลั๊กไฟฟ้าในขณะที่อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเปียก ให้ใส่ถุงมือยาง (rubber gloves) และรองเท้ายาง (rubber sole shoes) ขณะทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปรอะเปื้อนสกปรกจากดินโคลน ระมัดระวังโรคที่มาจากน้ำ ระมัดระวังตัวจากการถูกยุงกัด ตรวจตราดูให้ถี่ถ้วนอย่าให้มีน้ำขังในอุปกรณ์ภาชนะต่างๆ เช่น ยางรถยนต์ หม้อถังเพราะจะเป็นจุดเพาะยุงได้ ให้อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่ถูกดินโคลนถล่ม

เป็นที่สังเกตได้ว่า กาชาดฟิลิปปินส์ให้ข้อแนะนำและข้อห้ามอะไรที่ไม่ควรทำเพื่อเป็นความรู้สาธารณประโยชน์ ในการเตรียมความพร้อมของตนเองเพื่อให้สามารถช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นได้ การรู้จักกับสภาพธรรมชาติ ของภัยธรรมชาตินั้นๆ เช่น ลมพายุ น้ำท่วมขัง น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม การหาช่องทางติดต่อสื่อสารกับทางการและเพื่อนฝูงเพื่อขอรับความช่วยเหลือ การหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่เสี่ยงภัยต่อชีวิต ปลอดภัยไว้ก่อนการรับฟังและเชื่อฟังมาตรการของทางการในการเตือนภัย อาทิ การสั่งการให้มีการอพยพหนีภัยและการสั่งการ ให้กลับบ้านได้ การรู้จักป้องกันตัวจากโรคภัย รวมทั้ง การตั้งสติสมาธิให้ได้ในยามที่เผชิญกับวิกฤติเพื่อแก้ไข ปัญหาเฉพาะหน้า

สถานทูตไทยหวังว่า เกร็ดข้อมูลจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านในการมีความรู้ทั่วไปติดตัว การเผยแพร่ข้อมูล ให้คนอื่น/เพื่อนฝูงทราบต่อๆ ไป การศึกษาเปรียบเทียบเพื่อใช้ประโยชน์กับบ้านเราเพื่อป้องกันตัวล่วงหน้า บรรเทาทุกข์ และลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อตัวเองและชุมชนให้รุนแรงน้อยลง เพราะปัจจุบันนี้ ภัยธรรมชาติได้เกิดขึ้นกับหลายๆ ประเทศบ่อยครั้งมากขึ้น หลากหลายรูปแบบมากขึ้น และบางครั้งก็มีระดับความรุนแรงมากกว่าจากอดีตที่ผ่านมา
****************

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เตือนภัยระวังภูเขาไฟโบรโมที่จังหวัดชวาตะวันออก อินโดนีเซียระเบิด

ภูเขาไฟโบรโมซึ่งปะทุมาตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่ง ขณะนี้ทางการอินโดนีเซียประกาศปิดชั่วคราว

เตือนภัยระวังภูเขาไฟโบรโมที่จังหวัดชวาตะวันออก อินโดนีเซียระเบิด


นายจักร บุญ-หลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียรายงานว่า เมื่อวันอังคารวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ทางการอินโดนีเซียได้เพิ่มระดับเตือนภัยการระเบิดของภูเขาไฟโบรโม (Bromo) ที่จังหวัดชวาตะวันออกเป็นระดับสูงสุดแล้ว และประกาศให้ราษฎรอพยพไปอยู่นอกรัศมี 3 กิโลเมตรจากปล่องภูเขาไฟ

ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน 2553 หน่วยงานท้องถิ่นของจังหวัดชวาตะวันออกได้เตรียมการอพยพราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟโบรโมในกรณีที่มีความจำเป็นแล้ว ซึ่งจากข้อมูลของจังหวัดฯ มีราษฎรจำนวน 4,849 คนอาศัยอยู่ในบริเวณรัศมี 5 กิโลเมตรจากปล่องภูเขาไฟ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานบรรเทาภัยพิบัติภูเขาไฟระเบิดและแผ่นดินไหวอินโดนีเซียแถลงว่า แม้ภูเขาไฟโบรโมจะอยู่ในระดับการเตือนภัยสูงสุด แต่อันตรายจากการระเบิดของภูเขาไฟโบรโมน้อยกว่าภูเขาไฟเมราปีที่เมืองยอกยาการ์จามาก ทั้งนี้ลาวาจากภูเขาไฟโบรโมไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อราษฎรบริเวณใกล้เคียงแม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการระเบิดก็ตาม

อธิบดีกรมการกงสุลแจ้งด้วยว่า เพื่อความไม่ประมาทและเป็นการเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานกับตัวแทนนักศึกษาไทยที่เมืองมาลังขอให้ประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษาไทยในเมืองมาลังติดตามข่าวสารและประกาศจากทางการอินโดนีเซียเกี่ยวกับการเฝ้าระวังการระเบิดของภูเขาไฟโบรโมอย่างใกล้ชิดด้วย สถานการณ์ที่เมืองมาลังในขณะนี้ยังเป็นปกติ มิได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันของภูเขาไฟโบรโมแต่ย่างใด


ทั้งนี้อธิบดีกรมการกงสุลได้เตือนให้นักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวชาวไทยใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจเดินทางไปพื้นที่จังหวัดชวาตะวันออก และควรตรวจสอบข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตหรือสอบถามสถานะล่าสุดจากสายการบินก่อนที่จะเดินทาง เพื่อความปลอดภัย

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เอกอัครราชทูตถวายปัจจัยวัดพุทธโจฮันเนสเบิร์กสนับสนุนจดหมายข่าวไทย

ท่านทูตถวายปัจจัยสนับสนุนการจัดทำจดหมายข่าว
ท่านเอกอัครราชทูต ธฤต จรุงวัฒน์ (ขวามือ) ถ่ายภาพร่วมกับกรรมการวัด

เอกอัครราชทูตถวายปัจจัยวัดพุทธโจฮันเนสเบิร์กสนับสนุนจดหมายข่าวไทย

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 นายธฤต จรุงวัฒน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำแอฟริกาใต้ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นแขก ในพิธีทอดกฐินและเทปูนฐานอุโบสถของวัดพุทธโจฮันเนสเบิร์ก โดยมีพี่น้องชาวไทยในแอฟริกาใต้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ในโอกาสเดียวกันนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ถวายปัจจัยแก่พระสมศักดิ์ฯ เพื่อสนับสนุนการจัดทำจดหมายข่าวเกี่ยวกับชาวไทยในแอฟริกาใต้ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า เป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข่าวสารของชาวไทยในแอฟริกาใต้

เอกอัครราชทูตเยี่ยมพี่น้องเเรงงานไทยที่เขตเซคุนดา แอฟริกาใต้

ให้คำปรึกษาแนะนำ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจแก่แรงงานไทย
เข้าไปดูสภาพความเป็นอยู่ในห้องพักของแรงงานและรับฟังปัญหาของแรงงาน
และรับฟังปัญหาของแรงงาน
เอกอัครราชทูต ธฤต จรุงวัฒน์กำลังปราศรัยกับแรงงานไทย


เอกอัครราชทูตเยี่ยมพี่น้องเเรงงานไทยที่เขตเซคุนดา แอฟริกาใต้

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2553 เอกอัครราชทูตฯ ธฤต จรุงวัฒน์ ได้เดินทางไปยังเขตเซคุนดา (Secunda) มลรัฐพูมาลังกา (Mpumalanga) เพื่อเยี่ยมเยียนพี่น้องเเรงงานไทยในค่ายพักและตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้กล่าวให้โอวาทกับพี่น้องเเรงงานที่เข้าร่วมฟังประมาณ 120 คน และรับฟังปัญหาและข้อห่วงกังวลของพี่น้องเเรงงานเพื่อเเจ้งให้บริษัทนายจ้างทราบ

สถานเอกอัครราชทูตฯ ยังได้ใช้โอกาสเดียวกันนี้จัดบริการกงสุลสัญจรให้พี่น้องเเรงงานไทยในเขตเซคุนดา และพี่น้องชาวไทยที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง โดยได้ให้บริการต่ออายุหนังสือเดินทาง ลงทะเบียนการใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร และให้บริการด้านนิติกรณ์และเอกสาร

ต่อมาในวันที่ 27 ตุลาคม 2553 เอกอัครราชทูตฯ ได้เชิญผู้บริหารบริษัท MDS ซึ่งเป็นนายจ้างฝ่ายแอฟริกาใต้ และผู้บริหารของบริษัท BISCO ซึ่งเป็นบริษัทจัดหางานของไทยร่วมหารือถึงเเนวทางในการเเก้ไขข้อห่วงกังวลหลักของพี่น้องเเรงงานไทย ซึ่งได้เเก่ 1) ความไม่ชัดเจนของระยะเวลาการจ้างงาน และ 2) การรักษาพยาบาลยามฉุกเฉินและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เมื่อเจ็บป่วย

จากผลการหารือ บริษัท MDS ได้รับที่จะทำให้เกิดความชัดเจนหากมีการต่ออายุ การจ้างงาน โดยจะให้มีการลงนามในสัญญาต่ออายุการจ้างงานปีต่อปี โดยในการนี้ จะยก ร่างสัญญาขึ้นใหม่ โดยจะปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตฯ และพี่น้องแรงงานเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญา จ้างงานที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ส่วนในเรื่องของการรักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์เมื่อ เจ็บป่วยนั้น บริษัทฯ ได้จัดให้มีเเพทย์ทั่วไป (General Practitioner – GP) ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณเขตเซคุนดา เป็นเเพทย์ผู้ดูแลเเรงงานไทยในกรณีเจ็บป่วยที่สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา และจะจัดให้มีคนขับรถประจำค่ายเเรงงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อพาพี่น้องแรงงานไปรับการรักษา ในโรงพยาบาลท้องถิ่นในกรณีฉุกเฉิน โดยบริษัทกับสถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดทำหมายเลขติดต่อทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อปิดประกาศในค่ายแรงงานและแจกจ่ายเเก่พี่น้องเเรงงานต่อไป

สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เสนอให้มีการพบหารือระหว่างบริษัทจ้างงานทั้งฝ่ายแอฟริกาใต้และฝ่ายไทยกับเเรงงานเป็นระยะซึ่ง ทั้งบริษัท Bisco และบริษัท MDS แจ้งว่า ยินดีที่จะเข้าร่วม การหารือดังกล่าวโดยมีสถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วมรับฟัง

อนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดกงสุลสัญจรไปให้บริการเเก่แรงงานเป็นประจำทุกๆ 4 เดือน โดยในครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ที่มา: ภาพและเรื่องจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สมรสกับคนต่างชาติ ดีจริงหรือ

นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์รองอธิบดีกรมการกงสุล กล่าวเปิดงานการเสวนา
ผอ.ประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์(ขวามือ) และคุณบุญสม วัฒนปาณี นักการทูตชำนาญการพิเศษ ถ่ายภาพร่วมกับวิทยากรภายหลังเสร็จสิ้นการเสวนา
อีกคำถามและความเห็นจากผู้เข้าร่วมการเสวนา
ผู้เข้าร่วมการเสวนามีความกระตือรือล้นที่จะแบ่งปันประสบการณ์ต่อที่ประชุมเสวนา
หลากหลายความรู้สึกของผู้เข้าร่วมการเสวนา
ผู้เข้าร่วมการเสวนา
การเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสาธารณชนทั่วไปเข้าร่วมการเสวนากว่า 100 คนทำให้ทั้งวิทยากรผู้มาบรรยายและหน่วยงานผู้จัดมีกำลังใจที่จะจัดครั้งต่อไปเพื่อเป็นบริการแก่สาธารณะ
อาจารย์สมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคมวุฒิสภา (ซ้ายมือ) ผศ. ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคุณลัดดา กิ๊บสัน แม่บ้านสมรสกับคนต่างชาติ(ขวามือ) รับเชิญร่วมเป็นวิทยากร

วิทยากรรับเชิญอีกท่านหนึ่งคือคุณกนกรัตน์ นิ่มสมุทร บูธ ผู้เขียน "ปาฏิหารย์แห่งรัก" (ขวามือ)

คณะวิทยากรรับเชิญและวิทยากรจากกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้จัดการเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย คุณประสิทธิพร เวชย์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการกอง (ขวาทือ) และคุณบุญสม วัฒนปาณี รองผู้อำนวยการกองฯ(ซ้ายมือ)






แต่งงานกับคนต่างชาติ ดีจริงหรือ

ในปัจจุบัน มีคนไทยไปสมรสกับคนต่างชาติเป็นจำนวนหลายแสนคน โดยส่วนใหญ่เป็นหญิงไทยที่สมรสกับชายต่างชาติ หญิงไทยเหล่านี้เดินทางไปพำนักกับคู่สมรสต่างชาติในต่างประเทศ มีเพียงจำนวนหนึ่ง นำคู่สมรสต่างชาติกลับมาพำนักอยู่กินในประเทศไทย คู่สมรสข้ามวัฒนธรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในชีวิตการครองคู่ แต่มีบางส่วนก็ประสบปัญหา กรมการกงสุลเล็งเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จึงได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “ แต่งงานกับคนต่างชาติ ดีจริงหรือ" เพื่อเป็นเวทีให้สาธารณชน โดยเฉพาะคนไทยที่คิดหรือได้สมรสกับคนต่างชาติแล้ว ได้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตในต่างประเทศอย่างเหมาะสมและปลอดภัย ได้รับทราบถึงสิทธิพื้นฐานในต่างประเทศและสิทธิในประเทศไทยของตน คู่สมรสต่างชาติ และบุตร และที่สำคัญ เพื่อให้ทราบถึงการบริการและการให้ความคุ้มครองดูแลคนไทยของกระทรวงการต่างประเทศที่มีต่อคนไทยในต่างประเทศ

การเสวนาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 - 12.00 น.โดยกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดการเสวนา ณ ห้องประชุม 305 ชั้น 3 กรมการกงสุล ถนนแจ้งวัฒนะโดยมีอาจารย์สมคิด หอมเนตร นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์๕ระกรรมาธิการแรงงานและสวัสดิการสังคม วุฒิสภา ผศ. ดร.ดุษฎี อายุวัฒน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คุณลัดดา กิ๊บสัน แม่บ้านสมรสกับชาวต่างชาติ และคุณกนกรัตน์ นิ่มสมุทร บูธ ผู้เขียนหนังสือ "ปาฏิหารย์แห่งรัก" เป็นวิทยากร


การเสวนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มูลนิธิ NGOs สื่อมวลชนและประชาชนผู้ที่สนใจจำนวนกว่า 100 คน

สรุปสาระสำคัญของการเสวนาได้ ดังนี้

1. ปรากฏการณ์ที่หญิงไทยสมรสกับชาวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหญิงไทยซึ่งนิยมเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองใหญ่ หรือเมืองท่องเที่ยวเพื่อหาสามีฝรั่ง (ตะวันตก) หนทางการสมรสกับคนต่างชาติกระทำในหลายช่องทาง อาทิ ผ่านการทำงาน ผ่านการชักชวนจากเพื่อน หรือผ่านบริษัทจัดหาคู่ ทั้งนี้ หญิงไทยที่มีค่านิยมต้องการสมรสกับคนต่างชาติ มักให้ความสนใจกับการฝึกอบรมอาชีพที่ได้พบเจอกับฝรั่ง อาทิ นวดแผนไทย สปา

2 ปัญหาชีวิตสมรสระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติมักเกิดขึ้นจากการขาดการเตรียมตัวเตรียมใจถึงสิ่งที่จะต้องเผชิญในการใช้ชีวิตสมรสที่ต่างประเทศ การขาดการทำความรู้จักกับคู่สมรสกันมาก่อน รวมถึงมีปัญหาด้านภาษาทำให้การทำความเข้าใจและการแก้ไขปัญหาร่วมกันเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคม และครอบครัว และว่าจากสถิติที่เก็บได้ในพื้นที่จ.อุดรธานี พบว่า หญิงไทยที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสมรสกับคนต่างชาติมีเพียงร้อยละ 58 ขณะที่หญิงไทยอีกร้อยละ 42 ไม่ประสบความสำเร็จ

3. ข้อเสนอแนะในการเสวนา

3.1 หญิงไทยที่ต้องการสมรสกับคนต่างชาติควรมีความเข้าใจสังคม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเทศที่ตนจะต้องเดินทางไปใช้ชีวิต ควรศึกษากฎหมาย และสิทธิประโยชน์ที่ตนพึงได้รับในฐานะคู่สมรสให้เข้าใจ พร้อมทั้งปรับทัศนคติเกี่ยวกับการใช้ชีวิตสมรสกับคนต่างชาติเสียใหม่ ตลอดจนหาข้อมูลหน่วยงานที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ในกรณีฉุกเฉิน

3.2 การสมรสควรมีพื้นฐานมาจากความรัก ไม่ใช่เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และควรศึกษาทำความรู้จักกับคู่สมรสให้ดีเสียก่อน รวมถึงควรเตรียมความพร้อมทางด้านภาษาและความรู้ทางด้านวิชาชีพ เพื่อที่จะสามารถพึ่งตนเองได้เมื่อเดินทางไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ



.............................


คำกล่าวเปิดงานเสวนา “ แต่งงานกับคนต่างชาติ ดีจริงหรือ ? “
วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00 -12.00 น. ณ กรมการกงสุล
โดย รองอธิบดีกรมการกงสุล (น.ส.มธุรพจนา อิทธะรงค์)


ท่านวิทยากร
ท่านผู้เข้าร่วมรับฟังทุกท่าน

1. ขอต้อนรับสู่เวทีการเสวนาครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2554 ของกรมการกงสุลในวันนี้ กรมการกงสุลขอนำเสนอเรื่อง “ แต่งงานกับคนต่างชาติ ดีจริงหรือ “ ซึ่งกรมการกงสุลเห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมไทย โดยเฉพาะหญิงไทยที่เตรียมตัวเตรียมใจหรือได้สมรสกับชายต่างชาติแล้ว จะได้ทราบถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ในการจะสมรสกับชายต่างชาติ และมีโอกาสรับรู้รับทราบถึงขอบข่ายการบริการของกรมการกงสุล สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั้ง 94 แห่งทั่วโลกที่มีต่อครอบครัวของคนไทยที่สมรสกับคนต่างชาติ และเพื่อให้ทุกท่านที่จะไปใช้ชีวิตครอบครัวในต่างประเทศได้เข้าใจมั่นใจและรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

2. ทุกวันนี้ อาจกล่าวได้ว่า การสมรสกับคนต่างชาติถือเป็นกระแสหนึ่งของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เนื่องจากการสื่อสารและการคมนาคมไปมาหาสู่กระทำได้ง่าย อีกทั้งประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนถึงปีละ 10 กว่าล้านคน และที่สำคัญที่สุด ความที่คนไทยเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรี ทำให้สามารถผูกสัมพันธ์กับคนต่างชาติได้ง่ายและพัฒนาไปสู่การเป็นครอบครัวในที่สุด

3. ข้อมูลของกรมการกงสุล พบว่า มีคนไทยโดยเฉพาะหญิงไทยสมรสและพำนักอยู่กินกับคนต่างชาติแล้วถึงหลายแสนคน โดยคนต่างชาติที่หญิงไทยสมรสด้วยมากที่สุด ได้แก่คนจากประเทศ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สวีเดน และคนชาติอื่นๆ ในยุโรป และอาจกล่าวได้เช่นกันว่า คนไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จในการครองชีวิตคู่กับคนต่างชาติ อย่างไรก็ดี ปัญหาที่คนไทยทุกคนจะต้องเผชิญได้แก่ ปัญหาภาษา ปัญหาปรับตัวเข้ากับสังคมวัฒนธรรมของคู่สมรสต่างชาติ การไม่รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนในฐานะสมาชิกครอบครัวของคนต่างชาติ และความเครียดของจิตใจ การเสวนาในวันนี้พูดง่ายๆ ก็คือ การที่เราพยายามที่จะติดอาวุธให้ท่านทั้งหลายที่กำลังจะสมรสหรือสมรสแล้วกับคนต่างชาติก็ตาม นั่นเอง ดิฉันคงจะไม่กล่าวถึงว่า การแต่งงานกับคนต่างชาติ ดีจริงหรือไม่ แต่ขอเปิดโอกาสให้ท่านวิทยากรการเสวนาในวันนี้ ได้พูดแทนนะคะ

4. อีกเรื่องหนึ่ง ดิฉันขอเรียนว่าภารกิจของกรมการกงสุล สถานเอกอัครราชทูต ฯ และสถานกงสุลใหญ่ ที่มีต่อคนไทยที่จะสมรสกับคนต่างประเทศ มีตั้งแต่การจดทะเบียนสมรส การแจ้งเกิดบุตร ไปจนถึงการหย่าร้าง นอกจากนี้ กรมการกงสุลยังได้ส่งเสริมให้คนไทยในต่างประเทศจัดตั้งเครือข่ายชุมชนคนไทยขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือกันและเกิดการเรียนรู้ระหว่างกันมากขึ้น อาทิ กลุ่มเพื่อนหญิง ชมรมแม่บ้านไทย โดยหวังว่า สิ่งเหล่านี้ จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้คนไทยที่จะสมรสหรือได้สมรสกับคนต่างชาติสามารถใช้ชีวิตครอบครัวได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ เมื่อท่านมีปัญหาทางจิตใจ สถานเอกอัครราชทูต ฯ และสถานกงสุลใหญ่ ฯ ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาแก่ท่านอีกทางหนึ่งด้วย

5. สุดท้ายนี้ ดิฉันหวังว่า การเสวนาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับ
ผู้เข้าร่วมทุกท่านในการพิจารณาไตร่ตรองว่า ที่ท่านจะสมรสกับคนต่างชาตินั้น ท่านได้เตรียมตัวพร้อมแล้วหรือไม่

ขอบคุณ

กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงเวียนนา




กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงเวียนนา

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ได้นำวงดุริยางค์ซิมโฟนีกรุงเทพฯ (Bangkok Symphony Orchestra) มาแสดงดนตรีที่ Brahms-Saal โรงคอนเสิร์ต Musikverein ณ กรุงเวียนนา โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 10 เพลง และนำชุดเพลงไทยเดิมอีก 3 ชุด มาแสดง

การแสดงดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นการเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพด้านดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเป็นโอกาสให้วงดุริยางค์ซิมโฟนีของไทยได้แสดงความสามารถในระดับนานาชาติ ซึ่งกรุงเวียนนาได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการดนตรีของโลก และโรงคอนเสิร์ตดังกล่าว ยังเป็นโรงคอนเสิร์ตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เคยเสด็จฟังดนตรีที่โรงคอนเสิร์ตแห่งนี้ในการเยือนสาธารณรัฐออสเตรียอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรียเมื่อปี 2507 โดยในการเสด็จฯ ครั้งนั้นวง Wiener Philharmoniker Orchester ได้บรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์มาร์ชราชวัลลภและเพลงพระราชนิพนธ์สายฝนด้วย โดยผู้ชมได้ลุกขึ้นยืนขึ้นปรบมืออย่างกึกก้อง

การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมชมคอมเสิร์ตเต็มห้องจัดแสดง คือประมาณ 460 คน ประกอบด้วยคณะทูตานุทูต เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศในเวียนนา ภาครัฐบาล รัฐสภา นักธุรกิจ นักวิชาการออสเตรีย และแขกระดับสูงจากสโลวาเกีย ตลอดจนหัวหน้าสมาคม ชมรม คนไทยที่อาศัยอยู่ในทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งนักเรียนไทยที่ศึกษาด้านดนตรีในออสเตรีย และนักเรียนไทยทั่วไป

ผู้ชมต่างมีความซาบซึ้งในความไพเราะของดนตรีและความสามารถของวงซิมโฟนีของไทย ผู้ชมต่างชาติบางท่านแสดงความประหลาดใจเพราะไม่ทราบมาก่อนว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรี ทุกคนที่ได้ฟังการแสดงดนตรีครั้งนี้ต่างประทับใจ และประจักษ์ถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


(ภาพถ่ายโดยนาย Harald Klemm)

ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา


ประกาศสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา

ด้วยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา จะจัดงานเลี้ยงรับรองและพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 3 ธันวาคม 2553 เวลา 19.00 น. ที่ Naturhistorichesmuseum กรุงเวียนนา ที่อยู่ Maria Theresien Platz 1, 1010 Vienna (สถานี U-Bahn: Museumsquatier / Strassenbahn: Kunsthistorichesmuseum) โดยมีรายละเอียดลำดับขั้นตอนงานปรากฏตามข้างล่างนี้

ในการนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอเชิญคนไทยในออสเตรีย สโลวาเกีย และสโลวีเนีย พร้อมคู่สมรสเข้าร่วมพิธีดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน และขอความกรุณาแจ้งการเข้าร่วมทางโทรศัพท์มายังสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่หมายเลขโทรศัพท์ +43 (0)1 478 3335 18 ระหว่างเวลา 09.00 – 17.00 น. หรือทางอีเมล์ embassy@thaivienna.at ภายในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553


ลำดับขั้นตอนพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร ในวโรกาสในเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม 2553 เวลา 19.00 น. ณ Naturhistorichesmuseum กรุงเวียนนา

19.00 น. - ผู้ร่วมงานเดินทางมาถึงบริเวณงาน (บริการเครื่องดื่ม)


19.30 น. - พิธีจุดเทียนชัยถวายพระพร
- ผู้เข้าร่วมงานจุดเทียนชัย
- เอกอัครราชทูตฯ นำกล่าวถวายราชสดุดี
- เพลงสรรเสริญพระบารมี
- ผู้เข้าร่วมงานร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชา
- เสร็จพิธีการ
- การแสดงดนตรีเพลงพระราชนิพนธ์ของนักศึกษาไทยในออสเตรีย


20.00 น. - เริ่มงานเลี้ยงรับรอง


21.30 น. - จบงาน


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา
15 พฤศจิกายน 2553

เอกอัครราชทูต เป็นประธานในงานพิธีทอดกฐินสามัคคีและงานประเพณีลอยกระทง ซึ่งจัดโดยวัดธรรมนุรักษ์ กรุงเวียนนา

ท่านทูตนงนุช เพ็ชรรัตน์กล่าวนำถวายผ้าพระกฐิน
ท่านทูตนงนุชฯ ถ่ายภาพร่วมกับคนไทยที่แต่งกายตามประเพณีโบราณสำหรับงานประเพณีลอยกระทงในครั้งนี้
ท่านทูตนงนุชฯ ถ่ายภาพร่วมกับชุมชนไทยที่มาร่วมงานทอดกฐินสามัคคีและงานประเพณีลอยกระทง เมื่อ 20 พฤศจิกายน 2553



เอกอัครราชทูต เป็นประธานในงานพิธีทอดกฐินสามัคคีและงานประเพณีลอยกระทง ซึ่งจัดโดยวัดธรรมนุรักษ์ กรุงเวียนนา



เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 53 นางนงนุช เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา ได้เป็นประธานในงานพิธีทอดกฐินสามัคคีและงานประเพณีลอยกระทง ซึ่งจัดโดยวัดธรรมนุรักษ์กรุงเวียนนามีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน ประกอบด้วยคนไทยและครอบครัว

เอกอัครราชทูตนงนุช เพ็ชรรัตน์ ได้กล่าวนำถวายผ้าพระกฐิน ซึ่งได้ยอดเงินทั้งหมด 8,180.- ยูโร 2,830.- บาท 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ และ 10 ปอนด์สเตอร์ลิงก์ นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ชี้แจงข่าวสารต่าง ๆ แก่คนไทยด้วย อาทิ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7รอบ วันที่ 5 ธันวาคม 2554 กำหนดจัดพิธีจุดเทียนชัยถวายพระพรเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม 2553 ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย การรณรงค์เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เรื่องแจ้งคนไทยเพื่อทราบด้านกงสุลต่าง ๆ ประกาศเชิญชวนคนไทยให้เข้าไปศึกษาแผนอพยพที่ได้นำลงในเว็บไซต์ของ สอท.ฯ แจ้งข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานเอกอัครราชทูตฯ

ในการนี้ พระครูปลัดสมพงษ์ กันฺตธมฺโม เจ้าอาวาสวัดธรรมนุรักษ์ ได้มอบเงินบริจาคจากคนไทยที่มาร่วมงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 1,070.- ยูโร แก่เอกอัครราชทูตฯ เพื่อนำส่งรัฐบาลต่อไปด้วย

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เตือนภัยแรงงานไทยในโปรตุเกสระวังเห็ดป่ามีพิษ


เตือนภัยแรงงานไทยในโปรตุเกสระวังเห็ดป่ามีพิษ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอนรายงานว่า มีแรงงานไทย 5 คนซึ่งทำงานอยู่ในโปรตุเกสเก็บเห็ดป่ามีพิษมารับประทานโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ซึ่งพิษมีผลทำลายระบบการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกายคือตับ ไต และระบบประสาทส่วนกลาง เป็นเหตุให้แรงงานไทยจำนวนสองรายที่บริโภคเห็ดดังกล่าวจำนวนมากและได้รับพิษปริมาณมากมีอาการอยู่ในขั้นอันตราย และรายหนึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา ส่วนอีกรายหนึ่งต้องเข้ารับการผ่าตัดตับและแพทย์ยัง ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดเนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไตด้วย ส่วนแรงงานอีกสามรายซึ่งได้รับพิษไม่มากนักอาการพ้นขีดอันตรายแล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงการต่างประเทศขอเตือนให้แรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในยุโรปละเว้นจากการเก็บเห็ดป่ามารับประทาน เพราะอาจเป็นเห็ดมีพิษร้ายแรงดังกรณีที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทยที่โปรตุเกสในครั้งนี้ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เคยเกิดเหตุทำนองเดียวกันกับคนไทยในประเทศสวีเดนมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเคยออกคำเตือนไปแล้วเช่นกันเมื่อเดือนสิงหาคม 2553

กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และเลี้ยงส่งจุฬาราชมนตรี และอะมีรุ้ลฮัจย์

ท่านจุฬาราชมนตรีมอบของที่ระลึกแก่ท่านกงสุลใหญ่ฯ ชาลีฯ
หารือกันอีกรอบภายหลังการรับประทานอาหาร
บรรยากาศในห้องรับประทานอาหาร
ท่านจุฬาราชมนตรีลงนามในสมุดเยี่ยม
ท่านกงสุลใหญ่ชาลีฯ สนทนากับนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี (กลาง) และนายอารี วงศ์อารยะ(ขวามือ)
ท่านกงสุลใหญ่ชาลี สกลวารี กำลังประชุมกับคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม




กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม และเลี้ยงส่งจุฬาราชมนตรี และอะมีรุ้ลฮัจย์

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553 เวลา 19.00 น. นายชาลี สกลวารี กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ประชุมหารือกับคณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม นำโดยนางฟารีดา สุไลมาน ณ บ้านพักกงสุลใหญ่ โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสรุปประแด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติภารกิจดูแลอำนวยความสะดวกผู้แสวงบุญชาวไทยที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ในปีนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไข และมาตรการในการป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้นอีก และเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการกิจการฮัจย์ของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในเทศกาลฮัจย์ปีต่อๆ ไป

ในโอกาสเดียวกัน กงสุลใหญ่ และภริยา ได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี และศาสตราจารย์ ดร. อิมรอน มะลูลีม อะมีรุ้ลฮัจย์ พร้อมคณะ ที่บ้านพักด้วย ภายหลังที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจในการดูแลอำนวยความสะดวกผู้แสวงบุญชาวไทยในการปฏิบัติศาสนกิจ ในโอกาสนี้ จุฬาราชมนตรีได้มอบของที่ระลึกให้แก่กงสุลใหญ่ก่อนที่จะเดินทางกลับด้วย

ข้อมูลคนไทยในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ข้อมูลคนไทยในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย

1. ปัจจุบันคนไทยที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐอินโดนีเซียมีจำนวน รวม 1,200 คน อาศัยอยู่บนเกาะใหญ่ 6 เกาะของอินโดนีเซีย ได้แก่ เกาะชวา กาลิมันตัน สุมาตรา บาหลี มาลูกูและปาปัว และสุลาเวสี ทั้งนี้จำแนกตามกลุ่มอาชีพได้เป็น 6 กลุ่ม ดังนี้ 1) นักศึกษา 2) นักธุรกิจและผู้ประกอบการ 3) สตรีไทยในอินโดนีเซียที่ติดตามคู่สมรสทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ 4) พนักงานองค์การระหว่างประเทศ 5) พระภิกษุ และ 6) ข้าราชการไทยในอินโดนีเซีย

2. มีวัดไทยในอินโดนีเซีย จำนวน 29 วัด ซึ่งวัดที่ชุมชนไทยส่วนใหญ่ไปประกอบพิธีทางศาสนาประจำมี 2 วัด ได้แก่ 1. วัดพุทธเมตตา กรุงจาการ์ตา 2. วัดวิปัสนาคราหะ เมืองบันดุง จังหวัดชวาตะวันตก

3. ชุมชนไทยในอินโดนีเซียจัดตั้งสมาคมแล้ว 4 สมาคม ได้แก่

3.1 ชมรมนักธุรกิจไทยในอินโดนีเซีย (Thai Business Club in Indonesia- TBCI) ก่อตั้งเมื่อปี 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับนักธุรกิจไทยในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 100 คน

3.2 ชมรมกอล์ฟคนไทยในอินโดนีเซีย (Thai Golf Club in Indonesia) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในกลุ่มชาวไทยที่สนใจกีฬากอล์ฟ ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 100 คน

3.3 สมาคมสตรีไทยในอินโดนีเซีย (Thai Women Association in Indonesia) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มแม่บ้านไทยที่ติดตามคู่สมรสมาอยู่ในอินโดนีเซียจัดกิจกรรมร่วมกันและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

3.4 สมาคมนักศึกษาไทย (Thai Student Association in Indonesia) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีในระหว่างนักศึกษาไทยในอินโดนีเซีย เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานระหว่างกลุ่มนักศึกษากับสถานทูต ปัจจุบันสมาคมมีองค์กรสำคัญ 2 องค์กร ได้แก่ 1. ชมรมนักศึกษาไทยมุสลิมในอินโดนีเซีย และ 2. ศูนย์ประสานงานนักศึกษาไทยเมืองยอกยาการ์ตาและเมืองโซโล

4. มีร้านอาหารไทยในอินโดนีเซีย 35 ร้าน ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงจาการ์ตา

5. นักโทษไทยในอินโดนีเซียมีทั้งสิ้น 52 คน (ณ 6 มกราคม 2553) จำแนกเป็นนักโทษข้อหาทำผิดกฎหมายประมง จำนวน 49 คน และข้อหาลักลอบนำเข้ายาเสพติด จำนวน 3 คน (คดีถึงที่สุดแล้ว)

6. เมื่อปีงบประมาณ 2552 สถานทูตช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์รวมถึงคนไทยที่พำนักอยู่ในอินโดนีเซียเกินกำหนด และคนไทยที่พ้นโทษออกจากเรือนจำให้เดินทางกลับประเทศไทย รวม 116 คน โดยทดรองจ่ายเงินราชการเพื่อช่วยเหลือคนไทยดังกล่าว จำนวน 1, 303,900 บาท

ที่มา : สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
มีนาคม 2553

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

พิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์ให้ทายาทผู้เสียชีวิต ครั้งที่ 1/2554

ครอบครัวผู้รับเงินสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยที่เสียชีวิต ถ่ายภาพร่วมกับนางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล(ที่สามจากขวา) ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศและเจ้าหน้าที่


พิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์ให้ทายาทผู้เสียชีวิต ครั้งที่ 1/2554


เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 เวลา 11.00 น. นางสาวมธุรพจนา อิทธะรงค์ รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบเงินสิทธิประโยชน์แก่ทายาทของแรงงานไทยที่เสียชีวิตในต่างประเทศ จำนวน 4 ราย ได้แก่


1. นายอำนวย นาถมทอง ชาวจังหวัดกาฬสินธิ์ เดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550


2. นายทองสา ตะยูนรัมย์ ชาวจังหวัดขอนแก่น เดินทางไปทำงานที่ประเทศลิเบีย เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2552


3. นายพยอม สอนทิพย์ ชาวจังหวัดสุโขทัยเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2552


4. นายปรีชา เหล่าพิลา ชาวจังหวัดขอนแก่นเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2553


รวมยอดเงินสิทธิพึงได้ที่ทายาทของผู้เสียชีวิตทั้ง 4 ราย ได้รับในครั้งนี้จำนวน 871, 750.23 บาท กับอีก 1,500 ดอลลาร์สหรัฐ

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

เปิดแล้ว กงสุลไทยในอุซเบกิสถาน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ ที่ปรึกษา รมว. กต. ร่วมกับนาย Anvar Salikhbaev รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อุซเบกิสถาน ร่วมเป็นประธานตัดริบบิ้นในพิธีเปิดสถานกงสุล ณ กรุงทาชเคนต์ โดยมีแขกจากทั้งสองฝ่ายเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยนายเฉลิมพล ทันจิตต์ เอกอัครราชทูตประจำอุซเบกิสถาน ผู้มีถิ่นพำนัก ณ กรุงมอสโก พร้อมนางสุธิดา ทันจิตต์ นางหทัยชนก ฤทธคานี ฟรูโม เลขานุการเอก และนางณัฐฐ์สิริ นิ่มยี่สุ่น ชูขจร กงสุล ได้ช่วยเตรียมการและเข้าร่วมในโอกาสสำคัญดังกล่าว



เปิดแล้ว กงสุลไทยในอุซเบกิสถาน



มีข่าวล่ามาจากสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน ประเทศมุสลิมในเอเชียกลางที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตเดิม ซึ่งที่จริงเข้าแถวรอจะให้เล่ามาหลายวันแล้ว แต่ไท ดูโตขอลัดคิวเอาเรื่องน้ำท่วมเมืองไทยเขียนไปก่อน

อุซเบกิสถานมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยแล้วก็จริง แต่เรายังไม่มีสถานทูตที่โน่น ใช้สถานทูตไทยที่กรุงมอสโกดูแลไปถึงอุซเบกิสถานด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ คุณชมพูนุท นาครทรรพ ที่ปรึกษา รมว.การต่างประเทศไทยร่วมกับท่าน Anvar Salikhbaev รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ อุซเบกิสถาน เป็นประธานตัดริบบิ้นในพิธีเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยเราประจำกรุง ทาชเคนต์ เมืองหลวงของอุซเบกิสถาน มีแขกเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก โดยท่านทูตเฉลิมพล ทันจิตต์ ทูตไทยประจำอุซเบกิสถาน (ถิ่นพำนัก ณ กรุงมอสโก) และภริยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่สถานทูตไทยที่กรุงมอสโกเป็นหน่วยเตรียมการและเข้าร่วมในโอกาสสำคัญนี้ ซึ่งมีการเสิร์ฟอาหารไทยด้วย แขกผู้มีเกียรติท่านอื่นมี อาทิ คุณชัยสงค์ ชูฤทธิ์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำทีมสำนักงาน ททท. มอสโก มาร่วมพิธีเปิดด้วย

เป็นอันว่า หากท่านผู้อ่านมีโอกาสจะไปเที่ยวที่อุซเบกิสถาน หรือพบว่าตัวเองเกิดไปตกระกำลำบากอยู่ที่โน่น หรืออยากจะลองไปสำรวจลู่ทางพัฒนาความร่วมมือติดต่อค้าขายต้องการคำปรึกษาหารือ บัดนี้ก็มีสำนักงานกงสุลของเราไปตั้งเรียบร้อยแล้ว มีท่านกงสุลไทยกิตติมศักดิ์เป็นชาวอุซเบกคือคุณซาฟาร์ เอียร์กาเซฟ โซบิโรวิช (Mr. Zafar Sobirovich Ergashev) หรือจะติดต่อสถานทูตไทยที่กรุงมอสโกด้วยก็ได้อีกทางหนึ่ง

ในโอกาสที่คณะผู้แทนไทยไปถึงอุซเบกิสถานครั้งนี้ ททท. ได้นำคณะนาฏศิลป์ไทยไปโชว์และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้คนอุซเบกมาเที่ยวเมืองไทย โดยทั้งท่านรองผู้ว่า ททท. และท่านทูตได้ร่วมกันนำเสนอในการสัมมนากับบริษัททัวร์อุซเบก และเข้าร่วมในเทศกาลการท่องเที่ยวระหว่างประเทศประจำปีของกรุงทาช เคนต์หรืองาน TITF สถานทูตไทยที่กรุงมอสโกเล่ามาด้วยว่า ตอนนี้คนอุซเบกกำลังนิยมมาเที่ยวเมืองไทยมาก การไปมาหาสู่กันก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะคนอุซเบกสามารถบินมาเมืองไทยและมาขอวีซ่าเมื่อมาถึงหรือ Visa on Arrival ที่สนามบินสุวรรณภูมิได้เลย รวมทั้งสายการบิน Uzbek Airlines ก็เปิดบินตรงระหว่างกรุงทาช เคนต์-กรุงเทพฯ แล้ว สัปดาห์ละ 4 - 5 เที่ยว

ในประเทศอุซเบกิสถานมีเมืองที่มีชื่อเสียงมากเมืองหนึ่ง ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านได้อ่านวรรณกรรมอาหรับหรือนิยายจากโลกมุสลิม บางทีก็อาจจะเคยได้ยินมา คือเมืองซามาร์คานด์ (Samarkand) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางของผู้มีปัญญามาแต่โบราณ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ ท่านที่ปรึกษารัฐมนตรีและคณะก็ได้มีโอกาสไปหารือกับวงวิชาการอิสลามที่เมืองนี้ เพื่อหาลู่ทางขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับอุซเบกิสถาน ในด้านศาสนาและการศึกษาต่อไปด้วย.

ที่มา: คนไทยใต้ฟ้ากว้าง/นสพ.เดลินิวส์ 7 พ.ย. 2553
ภาพ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ผู้ถือหนังสือเดินทางอุซเบกฯ สามารถขอรับการตรวจลงตรา ประเภท Visa on Arrival


ผู้ถือหนังสือเดินทางอุซเบกฯ สามารถขอรับการตรวจลงตรา ประเภท Visa on Arrival

ขณะนี้ บุคคลที่ถือพาสปอร์ตของประเทศอุซเบกิสถานสามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival) สำหรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยวัตถุประสงค์ในการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยวเป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน มีผลบังคับใช้ ณ วันที่ 23 เมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยพิจารณาตรวจลงตราตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

• ผู้ขอรับการตรวจลงตราต้องโชว์หลักฐานการเงินไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท (หรือประมาณ 310 ดอลล่าร์สหรัฐ) ต่อ 1 คน และ 20,000 บาท (หรือประมาณ 620 ดอลล่าร์สหรัฐ) ต่อ 1 ครอบครัว

• หนังสือเดินทางต้องมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และต้องมีบัตรโดยสารเพื่อออกนอกประเทศ ภายใน 15 วัน นับจากวันเข้าราชอาณาจักร

• รูปถ่าย 4 x 6 ซ.ม. ค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

• โดยปกติ คนต่างด้าวที่ขอรับการตรวจลงตราประเภทนี้ จะไม่สามารถยื่นเรื่องขอขยายระยะเวลาพำนักในราชอาณาจักรได้ ยกเว้นกรณีพิเศษ อาทิ เจ็บป่วย โดยจะสามารถยื่นคำร้องต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด) ซึ่งเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะพิจารณาขยายระยะเวลาการพำนักเป็นกรณีๆ (หมายเหตุ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซอยสวนพลู ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ 10120 โทร. (662) 287-3101-10 หรือ http://www.immigration.go.th)

• ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ผู้ร้องสามารถขอรับการตรวจลงตรา (Visa on Arrival) 24 แห่ง

ที่มา: สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รัฐบาลไต้หวันนำส่งเด็กไทยกลับสู่มาตุภูมิ

ส่งกันที่สนามบิน ก่อนอำลา คณะจากไต้หวันร่วมกับผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะเดินทางนำเด็กไปส่งให้ครอบครัวในวันเดียวกัน
คุณพฤฒิมาศ แก้วกล่ำ นักศึกษาฝึกงานซึ่งไปร่วมในการอำนวยความสะดวกแก่คณะจากไต้หวันในฐานะล่ามภาษาจีนอดใจไม่ได้ขออุ้มหนูน้อยถ่ายภาพด้วย
เด็กทั้งสองตื่นเต้นกับการเดินทาง
คณะเจ้าหน้าที่ไต้หวันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับผู้แทนกรมการกงสุล กระทรวงการต่าวงประเทศ (ที่สองจากขวา) และผู้แทนกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(ที่สองจากซ้าย)
คุณศิริพร ช้างเอก เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศที่ (ซ้ายมือ) ซึ่งไปรับและอำนวยความสะดวกแก่คณะเจ้าหน้าที่ไต้หวันและเด็กทั้งสองอุ้มเด็กน้อยอย่างมีความสุข หลังจากรับประทานอาหารกลางวัน



รัฐบาลไต้หวันนำเด็กไทยกลับสู่มาตุภูมิ
เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 คณะเจ้าหน้าที่ของทางการไต้หวันจำนวน 4 คน นำเด็กหญิงและเด็กชายรวม 2 คน มาส่งให้บิดาที่จังหวัดมหาสารคาม โดยรัฐบาลไต้หวันออกค่าใช้จ่ายในการส่งตัวให้ทั้งหมด

เด็กหญิงและเด็กชายทั้งสองพลัดพรากจากบิดามาเป็นเวลา 4 ปี แต่ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและไต้หวันจึงทำให้สามารถติดตาม ตรวจสอบ และนำพาบิดาและบุตรที่พลัดพรากได้กลับมาพบและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทย