วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(10 สิงหาคม 2554)
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(10 สิงหาคม 2554)
สถานะ ณ เวลา 19.00 น. วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2554
1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น
1.1 สถิติ ณ วันที่ 10 ส.ค. 2554 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้รายงานดังนี้
- ผู้เสียชีวิต 15,689 ราย เพิ่มขึ้น 33 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลวันที่ 1 ส.ค. 2554
- ผู้สูญหาย 4,744 ราย ลดลง 231 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลวันที่ 1 ส.ค. 2554
1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค (aftershock)
- ระหว่างวันที่ 5 - 10 ส.ค. 2554 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้รายงานการเกิด aftershock กว่า 100 ครั้ง แต่วัดแรงสั่นสะเทือนได้ต่ำกว่า 4 ริกเตอร์ โดยมีจุดศูนย์กลางที่หลายจังหวัด อาทิ จ.วากายามะ จ.อิบารากิ จ.นีงาตะ จ.มิยากิ จ.ฟุคุอิ จ.อาคิตะ จ.ชิบะ จ.อิวาเตะ และ จ.ฟุคุชิมะ
1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)
1.3.1 ตลอดช่วงที่ผ่านมา TEPCO ได้พยายามบำบัดน้ำปนเปื้อนรังสีอย่างต่อเนื่อง แม้จะพบปัญหาในขณะปฏิบัติงานบ้างเล็กน้อยแต่ก็ได้แก้ปัญหาได้ด้วยดี นอกจากนี้ TEPCO มีแผนจะสร้างกำแพงเพื่อป้องกันมิให้ ground water ที่ปนเปื้อนรังสีไหลลงสู่ทะเลด้วย โดยมีแผนจะดำเนินการดังกล่าวให้เสร็จภายในขั้นตอนที่ 2 ของ roadmap
1.3.2 เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจยกเลิก “พื้นที่ที่เตรียมพร้อมสำหรับการหลบภัยฉุกเฉิน. แล้ว โดยพื้นที่ดังกล่าวคือพื้นที่/อาคารที่รัฐบาลเตรียมพร้อมสำหรับให้ประชาชนใช้ในการหลบภัยกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์ ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโอกาสในการเกิดระเบิดไฮโดรเจนที่บริเวณโรงไฟฟ้ามีน้อยลง รวมทั้งสถานการณ์โดยรวมมีความปลอดภัยมากขึ้น ตลอดจนจากการติดตามการตรวจวัดระดับรังสีในโรงเรียนและสถานที่สาธารณะอื่น ๆ ในบริเวณก็พบว่ามีความปลอดภัยเพิ่มขึ้น จึงได้ตัดสินใจยกเลิกพื้นที่ดังกล่าว
1.3.3 ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) แจ้งว่าจากผลการตรวจวัดระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมจังหวัดต่าง ๆ และในตัวอย่างน้ำทะเลล่าสุดไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ ทั้งนี้ 3 เมืองทางตอนเหนือของ จ.โทจิกิมีค่ารังสีสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ ในจังหวัด
1.3.4 ผู้เชี่ยวชาญจาก คกก. ความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (NSC) แจ้งผลการตรวจวัดระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมและตัวอย่างฝุ่นใกล้โรงไฟฟ้าฯ ว่าไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ
2. การดำเนินการของไทย
2.1 การติดตามเรื่องความปลอดภัยของอาหาร
สอท. ณ กรุงโตเกียว แจ้งรายงานข่าวผลการตรวจการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารของญี่ปุ่นว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีคำสั่งห้ามจัดจำหน่ายวัวจาก จ.อิวาเตะ ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่ 3 ต่อจาก จ.ฟุคุชิมะ และ จ.มิยากิ ซึ่งถูกสั่งห้ามไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยพบว่าเนื้อวัวจาก จ.อิวาเทะ มีซีเซียมสูงเกิน 500 Bq/kg. เนื่องจากวัวได้กินฟางข้าวที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเข้าไปจึงทำให้ตรวจพบการปนเปื้อนดังกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบเพิ่มเติมว่า มีวัวอีก 290 ตัวจาก จ.ฟุคุชิมะ และ 103 ตัว จาก จ.มิยากิ ได้กินฟางปนเปื้อนรังสีเกินกำหนดและได้ถูกจัดจำหน่ายไปแล้วนอกจากนี้ สอท. ยังรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ทางการท้องถิ่นใน 15 จังหวัดของญี่ปุ่นกำลังเตรียมการหรือมีแผนจะตรวจรังสีในเนื้อวัวทั้งหมด ซึ่งคาดว่าหากทำจริงจะทำให้ยอดการจำหน่ายเนื้อวัวลดลงไปเหลือเพียงร้อยละ 25 เนื่องจากมี จนท. และเครื่องมือไม่เพียงพอในการตรวจวัดระดับรังสี
2.2 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น
2.2.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากวิบัติภัยดังกล่าว
2.2.2 ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นฉบับล่าสุด” ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 มีเนื้อหาดังนี้ “ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้เคยประกาศเตือนให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารในการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดนั้น ในปัจจุบัน แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นมากแล้ว แต่เนื่องจากยังเกิดแผ่นดินไหวตามมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้แก่ จังหวัดอิวาเตะ จังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟุคุชิมะ กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ข้างต้น ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ โดยที่สถานการณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมะ หมายเลข 1 ยังไม่เรียบร้อย กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง เข้าไปในพื้นที่รัศมี 60 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฯ และตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับระดับกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ใกล้เคียงก่อนการเดินทาง ตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน”
2.2.3 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้
(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก Aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด
(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ชม.)
(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp
2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น
ยอดเงินบริจาคสะสมผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ของกระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 10 ส.ค. 2554 จำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 178 ล้านบาท (ทั้งนี้ สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้นำเงินบริจาคที่ได้รับโอนรอบแรก 125 ล้านบาท ให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นแล้ว และกำลังจะดำเนินการโอนส่วนที่เหลือให้สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไป)
2.4 สถิติคนไทย
2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 41,279 คน (ข้อมูล สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน
2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) และจำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน)
2.4.3 ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554
3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ มีจำนวน 161 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 43 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ (สถานะ ณ วันที่ 3 ส.ค. 2554)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น