วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สถานการณ์การสู้รบในกรุงตริโปลี

สถานการณ์การสู้รบในกรุงตริโปลี

ไทยติดตามสถานการณ์ในลิเบียและความปลอดภัยของคน ไทยในลิเบียอย่างใกล้ชิด  

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศตอบคำถาม สื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์ในลิเบียว่า ประเทศไทยติดตามสถานการณ์ในลิเบียอย่างใกล้ชิดและไทยหวังว่าสถานการณ์จะ คลี่คลายกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตยที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนและได้รับการ ยอมรับจากประชาชนชาวลิเบีย

                สำหรับคนไทยในลิเบีย อธิบดีกรมสารนิเทศกล่าวว่า ปัจจุบันมีคนไทยพำนักในลิเบียอยู่ประมาณกว่า 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงไทยที่สมรสกับชาวลิเบียและแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ ต่างๆ โดยในขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ในการติดตามดูแลเกี่ยวกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของคนไทยในลิเบีย ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รายงานว่าคนไทยทุกคนในลิเบียปลอดภัยดีและยังไม่มีใครแสดงความประสงค์ที่ จะเดินทางออกนอกประเทศ
                     นับแต่ได้เกิดสถานการณ์การประท้วงและการสู้รบในสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชน อาหรับลิเบียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งได้เกิดการต่อสู้ระหว่างกองกำลังรัฐบาลลิเบียกับกองกำลังของฝ่ายต่อต้าน รัฐบาลลิเบีย (National Transitional Council of Libya -NTCL) วันนี้ (23 ส.ค. 2554) ยังคงมีรายงานการต่อสู้ภายในกรุงตริโปลี โดยเฉพาะในบริเวณ Bab al Aziziyah ซึ่งเป็นที่พักและที่ทำการของ พ.อ. มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย

                ปฏิบัติการเข้ายึดกรุงตริโปลีเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลลิเบีย (Operation Mermaid Dawn) เริ่มเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2554 โดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านฯ ได้เคลื่อนกำลังออกจากเมือง Az Zawiya เข้าสู่กรุงตริโปลี และได้ปะทะกับกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในกรุงตริโปลี โดย NATO ได้สนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศโจมตีเป้าหมายที่สำคัญในกรุงตริโปลี ซึ่งมีรายงานข่าวว่า ฝ่ายต่อต้านฯ สามารถยึดเขตต่างๆ ในเมืองหลวงได้ อย่างไรก็ดี นาย Musa Ibrahim โฆษกรัฐบาลลิเบียได้ออกมาแถลงว่ารัฐบาลยังสามารถรักษาและควบคุมกรุงตริโปลี ไว้ได้ รวมทั้งปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า พันเอกกัดดาฟีและครอบครัวกำลังหาทางลี้ภัยออกนอกประเทศ
                  สำนักข่าวแห่งชาติลิเบียได้เผยแพร่บันทึกเสียงของ พ.อ. กัดดาฟี เรียกร้องให้ประชาชนชาวลิเบียออกมารวมตัวกันต่อสู้เพื่อปกป้องกรุงตริโปลี ในขณะที่โฆษกรัฐบาลลิเบียอ้างว่า มีประชาชนชาวลิเบียเสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้ประมาณ 1,300 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 5,000 คน    ทั้งนี้  เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2554 พ.อ. กัดดาฟีได้ประกาศให้ประชาชนลุกขึ้นต่อสู้จนถึงที่สุด ในขณะที่ ฝ่ายต่อต้านฯ ประกาศว่าสามารถเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงตริโปลี รวมทั้งสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงตริโปลี และจัตุรัส Green กลางกรุงตริโปลี (ฝ่ายต่อต้านฯ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นจัตุรัส Martyrs) และยังคงมีการต่อสู้กันอย่างต่อเนื่องระหว่างกองกำลังรัฐบาลลิเบียกับฝ่าย ต่อต้านฯ ในกรุงตริโปลี โดยเฉพาะบริเวณ Bab al Aziziyah ซึ่งเป็นที่พักและที่ทำการของ พ.อ. กัดดาฟี

                  อนึ่ง ปรากฏรายงานว่าบุคคลใกล้ชิด พ.อ. กัดดาฟี เช่น นาย Abdel Salam Jalloud อดีตนายกรัฐมนตรีลิเบีย ได้เดินทางออกนอกประเทศไปอิตาลีแล้ว รวมทั้งมีรายงานว่า ฝ่ายต่อต้านฯ ได้จับกุมนาย Mukhtar Ali al-Qannas ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในรัฐบาลลิเบียและเป็นผู้ใกล้ชิดคนสำคัญของ พ.อ. กัดดาฟี    ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากในเมืองเบนกาซี (Benghazi) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของฝ่ายต่อต้านฯ ทางภาคตะวันออกของประเทศ และประชาชนในกรุงตริโปลีที่ต่อต้าน พ.อ. กัดดาฟี ได้ออกมาเฉลิมฉลองชัยชนะจากปฏิบัติการดังกล่าว

สถานการณ์ล่าสุด
                 ขณะนี้ (23 ส.ค. 2554) การต่อสู้ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องระหว่างกองกำลังรัฐบาลลิเบียกับฝ่ายต่อ ต้านฯ ในกรุงตริโปลี โดยเฉพาะบริเวณทางทิศใต้ของเมือง ซึ่งรวมถึงบริเวณ Bab al Aziziyah อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฎรายงานข่าวเกี่ยวกับ พ.อ. กัดดาฟี หากแต่มีข่าวแพร่หลายว่า พ.อ.กัดดาฟี ยังคงพำนักอยู่ในกรุงตริโปลี

                 อนึ่ง นาย Saif al-Islam บุตรชายและทายาททางการเมืองของ พ.อ. กัดดาฟี ได้ปรากฏตัวในช่วงเช้าวันนี้ในกรุงตริโปลี ซึ่งไม่ตรงกับรายงานข่าวโดยฝ่ายต่อต้านฯว่าได้จับกุม นาย Saif al-Islam เมื่อวานนี้ นอกจากนี้ ปรากฎรายงานว่านาย Mohammed บุตรคนโตของ พ.อ. กัดดาฟี สามารถหลบหนีการควบคุมของฝ่ายต่อต้านฯด้าน The International Organisation of Migration (IOM) ได้วางแผนอพยพประชาชนชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในกรุงตริโปลีทางเรือ อย่างไรก็ตาม IOM ประกาศว่าจะยังคงเลื่อนการเทียบท่าของเรือช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

---------------------------- 


ที่มา: เว็บไซต์กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา http://sameaf.mfa.go.th/th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น