การล่อลวงสตรีไปค้าประเวณีที่รัสเซีย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2554 เวลาประมาณ 03.00 น. มีหญิงไทยคนหนึ่งโทรศัพท์ขอรับความช่วยเหลือไปยังหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของฝ่ายกงสุล โดยแจ้งว่าได้หลบหนีมาจากสถานค้าประเวณีแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก เจ้าหน้าที่กงสุลจึงได้ช่วยเหลือหญิงไทยดังกล่าวเดินทางไปยังสถานเอกอัครราชทูต
จากการสอบถามเพิ่มเติมของเจ้าหน้าที่ หญิงดังกล่าวแจ้งว่าตนชื่อ น.ส.เปิ้ล (นามสมมุติ) เดินทางโดยความสมัครใจจากเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เข้าประเทศรัสเซียเพื่อเข้าไปทำงานในสถานบริการเต้นรำเปลื้องผ้าชื่อดังแห่งหนึ่งของรัสเซียโดยได้รับรายได้วันละ 10,000 รูเบิล ต่อมาเธอได้รับการทาบทามให้ไปค้าบริการ โดยนายจ้างใหม่สัญญาค่าแรงที่สูงกว่า จึงตกลงไปทำงานตามคำชักชวน แต่เมื่อไปถึงจึงพบว่า นอกเหนือจากเงินค่าครองชีพประจำวันวันละ 1,000 รูเบิลแล้ว เธอไม่ได้รับค่าตอบแทนอื่นแต่อย่างใด และยังถูกบังคับให้ทำงานอย่างหนัก จึงหาช่องทางหลบหนีออกมา
น.ส.เปิ้ลรับว่า เธอได้รับทราบข้อมูลจากคนไทยที่สถานเอกอัครราชทูตเคยให้ความช่วยเหลือจำนวน 5 รายเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ว่า กระบวนการลักลอบนำคนไทยไปค้าประเวณีในรัสะเซียจะเริ่มจากนายหน้าชาวรัสเซียเดินทางไปยังพัทยา เพื่อคัดเลือกและชักชวนหญิงและชายที่หน้าตาดีและค้าบริการอยู่แล้วให้เดินทางไปค้าบริการที่รัสเซีย เมื่อสมัครใจไปนายหน้าก็จะจัดซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับให้ แต่เมื่อเดินทางถึงแล้วก็จะยกเลิกเที่ยวบินขากลับนั้นเสีย ทั้งนี้เมื่อผู้สมัครใจไปทำงานเดินทางถึงกรุงมอสโกมีหลายกรณีที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวและบังคับให้ค้าบริการ ตลอดจนให้มีการอดอาหารและทำร้ายร่างกาย โดยสถานที่ค้าบริการเหล่านี้มักมีความใกล้ชิดกับสถานีตำรวจในพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบหนังสือเดินทางของน.ส. เปิ้ลยังพบว่ามีการประทับตราของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองรัสเซียอย่างถูกต้อง โดยนายจ้างนำหนังสือเดินทางดังกล่าวไปประทับตราเข้า-ออกประเทศรัสเซียทุกๆเดือน แม้ว่าบุคคลผู้นี้จะไม่เคยเดินทางออกจากรัสเซียตลอดระยะเวลาที่เดินทางเข้าประเทศก็ตาม
ภายหลังการสอบปากคำผู้ร้องเรียนขอความช่วยเหลือรายนี้จนกระทั่งเวลา 04.30 น. เจ้าหน้าที่กงสุลได้ช่วยตรวจสอบเอกสารและแนะนำให้น.ส.เปิ้ลเดินทางกลับประเทศไทย แต่เธอแจ้งว่าประสงค์จะเดินทางไปหานายจ้างเก่าเพื่อขอความช่วยเหลือด้านการเงินก่อน
ปัจจุบันประเทศไทยและรัสเซียมีข้อตกลงร่วมกันในการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าที่เป็นไป เพื่อจุดประสงค์ของการท่องเที่ยวที่ไม่เกิน 30 วัน ผลของสัญญาทำให้ทั้งคนไทยและรัสเซียสามารถเข้าเดินทางไปเที่ยวในประเทศคู่ สัญญาได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าก่อนเดินทาง แต่กรณีของน.ส.เปิ้ลนี้เห็นได้ว่า กลุ่มมิจฉาชีพใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวเพื่อผลประโยชน์ในทางที่ผิดกฎหมาย
คนไทยที่ได้รับการชักชวนให้ไปทำงานในรัสเซียควรตระหนักว่าจะต้องขอวีซ่าทำงานจากสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียที่ประเทศไทยก่อนเท่านั้น การเดินทางเข้าประเทศรัสเซียก่อนแล้วไปขอเปลี่ยนวีซ่าเป็นวีซ่าทำงานไม่สามารถทำได้ ทั้งนี้ การเดินทางไปทำงานโดยอาศัยช่องว่างจากความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่านั้น ในที่สุดแล้วจะทำให้ท่านตกอยู่ในสถานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ต้องหลบซ่อนเจ้าหน้าที่ และถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น