สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่รัฐกัว
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 นายทอมวิชย์ ชาญสรรค์ กงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ได้นำคณะข้าราชการไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรที่รัฐกัว ซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่ประมาณ 60 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองปานาจี และเมืองมาเกาโดยประกอบอาชีพเป็นพนักงานร้านเสริมสวย พนักงานนวดสปา พ่อครัว พนักงานโรงแรม Taj Holiday Village และโรงแรม Holiday Inn
กงสุลใหญ่และคณะได้เดินทางไปเยือนโรงงานของนายเมลวิน คามารา นักธุรกิจชาวอินเดียซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตที่นอนทำจากกากมะพร้าวโดยนายกมล สินสุวงศ์วัฒน์ เป็นผู้จัดการบริษัทรวมทั้งเป็นผู้ประสานงานเครือข่ายชุมชนคนไทยในรัฐกัว ทั้งนี้ นายกมลฯ ได้เปิดบ้านพักซึ่งอยู่ชั้นบนของโรงงานเป็นสถานที่เพื่อให้สถานกงสุลใหญ่ฯ พบปะกับคนไทยซึ่งมาร่วมจำนวน 25 คน
กงสุลใหญ่ทอมวิชย์ฯ กล่าวเปิดงานแสดงความยินดีที่ได้เดินทางมาพบปะคนไทยเพื่อดูสภาพความเป็นอยู่และรับทราบปัญหาที่คนไทยประสบในการพำนักอาศัยอยู่ที่รัฐกัว โดยการดูแลและคุ้มครองผลประโยชน์คนไทยเป็นภารกิจที่สถานกงสุลใหญ่ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และในโอกาสดังกล่าวกงสุลใหญ่ทอมวิชย์ฯ ได้ขอให้คนไทยที่มาร่วมงานใช้โอกาสนี้สอบถามรายละเอียดการบริการกงสุลของสถานกงสุลใหญ่ฯ ด้วย
ปัญหาการตรวจลงตราประเภททำงาน (Employment Visa)
- เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานเสริมสวยและพนักงานสปา ปัญหาที่คนไทยประสบคือปัญหาการตรวจลงตราประเภททำงาน(Employment Visa) ซึ่งระเบียบของทางการอินเดียกำหนดให้ผู้ที่ยื่นขอรับการตรวจลงตราประเภททำงานมีฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งกงสุลใหญ่ฯได้รับทราบว่า โดยที่ทางการอินเดียกำหนดระเบียบดังกล่าว พนักงานสปาจึงเดินทางมาประกอบอาชีพที่อินเดียด้วยการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว (Tourist Visa) ซึ่งอนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศได้เป็นระยะเวลาเพียง 3 เดือน ทั้งนี้ในอดีต ทางการอินเดียตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยวโดยให้พำนักได้นาน 6 เดือน แต่ได้ปรับลดระยะเวลาที่อนุญาตให้พำนักอยู่ในประเทศลง เนื่องจากเห็นว่าผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทนี้ส่วนใหญ่สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยระยะเวลา 6 เดืออน
- นอกจากนี้ โดยที่พนักงานสปาไทยเดินทางเข้าประเทศอินเดียด้วยการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว นายจ้างอินเดียจึงไม่เห็นความจำเป็นในการทำสัญญาจ้างงานกับพนักงานไทย เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้เอกสารดังกล่าวในการยิ่นขอรับการตรวจลงตรานักท่องเที่ยว ดังนั้นจึงเป็นผลให้พนักงานไทยไม่ได้รับสิทธิและการคุ้มครองจากสัญญาจ้างงาน
- เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกงสุลใหญ่ได้แจ้งแก่ชาวไทยว่า กระทรวงการต่างประเทศได้หยิบยกเรื่องการกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำขึ้นหารือกับฝ่ายอินเดียในหลายระดับ แต่กฎระเบียบดังกล่าวเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทยอินเดีย ซึ่งครอบคลุมชาวต่างชาติทั้งหมด และกงสุลใหญ่ได้แจ้งเตือนขอให้คนไทยระมัดระวังไม่ควรประกอบอาชีพด้วยการตรวจลงตราประเภทนักท่องเที่ยว
- ในโอกาสดังกล่าวคนไทยได้สอบถามเจ้าหน้าที่สถานกงสุลใหญ่ฯ เกี่ยวกับงานกงสุล อาทิ การจัดทำเอกสารมอบอำนาจ สูติบัตร ทะเบียนสมรส และเจ้าหน้าที่ได้ให้บริการด้านกงสุลแก่คนไทยที่มาร่วมงาน
- กงสุลใหญ่เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ชาวไทยที่มาร่วมกิจกรรมกงสุลสัญจร
สถานกงสุลใหญ่มีข้อสังเกตในการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรและพบปะชาวไทยในรัฐกัวครั้งนี้ดังนี้
- ชุมชนไทยในรัฐกัวมีความเข้มแข็งในระดับที่น่าพอใจ โดยมีการพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นโอกาสให้คนไทยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ
- การที่ทางการอินเดียกำหนดฐานเงินเดือนขั้นต่ำที่ปีละ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐส่งผลให้พนักงานไทยที่เดินทางไปประกอบอาชีพเดินทางไปด้วยการตรวจลงตราผิดประเภท รวมทั้งประกอบอาชีพโดยไม่มีสัญญาจ้างงาน จึงไม่ได้รับสิทธิและการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย
- ปัจจุบัน ระเบียบเกี่ยวกับฐานเงินเดือนขั้นต่ำของอินเดียมีข้อยกเว้นสำหรับสามอาชีพได้แก่ 1) พ่อครัว/แม่ครัวอาหารประจำชาติตน 2) ครูสอนภาษา ยกเว้นภาษาอังกฤษ และ 3) เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ของประเทศต่างๆในอินเดีย และโดยที่ร้านสปาและนวดแผนไทยส่วนใหญ่ใช้ชื่อร้านเกี่ยวข้องกับการนวดแผนไทย อาทิ Thai Spa ; Orchid Spa; Aura Thai Spa ซึ่งสถานกงสุลใหญ่เห็นว่าอาชีพพนักงานสปาและนวดแผนไทยเป็นอีกสาขาอาชีพที่น่าจะได้รับการยกเว้นจาก ระเบียบข้างต้น
- เปรียบเทียบกับปี 2552 ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ได้รับรองสัญญาจ้างงานประมาณ 200 ฉบับ ปัจจุบันจำนวนพนักงานสปาและนวดแผนไทยได้ลดจำนวนลงมาก และประเทศชาติต้องเสียรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก
- ชุมชนคนไทยในรัฐกัวมีความยินดีที่กงสุลและคณะเดินทางไปเยี่ยม และขอให้จัดกิจกรรมกงสุลสัญจรไปเยี่ยมทุกปี เพื่อจะได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ชุมชนและส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น