วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2554
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(10 เมษายน 2554)
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(10 เมษายน 2554)
สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2554
1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น
1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 13,013 คน สูญหาย 14,608 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 10 เม.ย. 2554 เวลา 17.00 น. ประเทศไทย)
1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1
เหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นผ่านมาเกือบจะครบหนึ่งเดือน อย่างไรก็ดี บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ยังไม่สามารถซ่อมแซมระบบหล่อเย็นภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะได้ โดยถึงแม้ที่ผ่านมาจะสามารถต่อไฟฟ้าจากภายนอกและติดตั้งท่อฉีดน้ำใส่เตาปฏิกรณ์และบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วเพื่อช่วยในการควบคุมอุณหภูมิได้แล้ว แต่การฉีดน้ำปริมาณมากดังกล่าวทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีในระดับสูงตกค้างอยู่ภายในอาคารเตาปฏิกรณ์และเป็นอุปสรรคต่อเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปใกล้บริเวณเตาปฏิกรณ์เพื่อซ่อมแซมระบบหล่อเย็น ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ กำลังเร่งดำเนินการต่อท่อเพื่อสูบถ่ายน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับสูงออกไปเก็บในที่ปลอดภัย ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังไม่สามารถระบุแผนการที่ชัดเจนได้ว่า การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ จะเสร็จสิ้นลงได้เมื่อใด
1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ
1.3.1 ณ วันที่ 10 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 7 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 5 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ รายละเอียดของ สอท. ทั้ง 12 แห่งปรากฏตามเอกสารแนบ 1
1.3.2 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2554 กต. สหราชอาณาจักร (สอ.) ได้ปรับลดคำเตือนเกี่ยวกับการเดินทางไปญี่ปุ่นที่แต่เดิมห้ามมิให้คน สอ. เดินทางไปกรุงโตเกียว คงเหลือแต่เพียงห้ามมิให้เดินทางไปยังพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงโตเกียวที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์ และให้ชาว สอ. ที่อยู่อาศัยในเขตรัศมี 80 กม. ออกจากพื้นที่หรือให้อยู่แต่ในที่กำบัง
รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศต่าง ๆ
2. การดำเนินการของไทย
2.1 การติดตามระดับกัมมันตรังสี
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสี ที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 10 เม.ย. 2554 เวลา 19.30 น. อยู่ที่ระดับ 26.1 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2554 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงหรือเท่าเดิมโดยยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.024 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.150 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.083 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.)
2.2 การใช้บริการสายการบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2554 ดังนี้
กรุงเทพฯ – นาริตะ
เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 58.33% (เพิ่มขึ้นจาก 52.88% ของวันก่อน)
เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 75.55% (ลดลงจาก 92.56% ของวันก่อน)
นาริตะ – กรุงเทพฯ
เที่ยวบิน TG671 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 81.88% (ลดลงจาก 92.56% ของวันก่อน)
เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 25.96% (ลดลงจาก 27.88% ของวันก่อน)
2.3 การคุ้มครองและดูแลคนไทย
ตามที่ได้เกิด aftershock แผ่นดินไหวขนาด 7.1 ริกเตอร์ ใกล้กับ จ.มิยางิ จนทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนไปในหลายจังหวัดทางตอนเหนือของญี่ปุ่นรวมถึงกรุงโตเกียวเมื่อคืนวันที่ 7 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้โทรศัพท์สอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยใน จ.มิยาหงิ ในรายที่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ และได้รับทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แต่บางส่วนรู้สึกตกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และบางส่วนอยากกลับประเทศไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น มีคนไทยใน จ.มิยาหงิ 207 คน ซึ่ง สอท. สามารถตรวจสอบพบว่าปลอดภัยแล้ว 155 คน ซึ่งบางส่วนในจำนวนนี้ได้เดินทางกลับไทยแล้ว
2.4 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น
- ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 8 เมษายน 2554 อยู่ที่ 13,944,042.05 บาท (หักเงินที่โอนให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวจำนวน 125 ล้านบาทเพื่อให้ สอท.ณ กรุงโตเกียวเตรียมมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)
2.5 สถิติคนไทย
2.5.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน
2.5.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน
2.5.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน
2.5.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 6 เม.ย. 2554 อยู่ที่ 16,137 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)
3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 134 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น