วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (21 เมษายน 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (21 เมษายน 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 14,133 ราย สูญหาย 13,346 ราย (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 21 เม.ย. 2554 เวลาประเทศไทย 16.00 น.)

1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock)

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2554 เวลาประเทศไทย 08.37 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4-5 ริกเตอร์ ที่ จ.ชิบะ และ จ. อิบารากิ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานความเสียหายและไม่พบว่ามีสึนามิเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)

สอท. ณ กรุงโตเกียว รายงานการบรรยายสรุปคณะทูตเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2554 ดังนี้

- ผู้เชี่ยวชาญจาก ก.สาธารณสุขญี่ปุ่น แจ้งผลการตรวจรังสีในอาหารล่าสุดที่มีรายงานออกมาเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2554 แสดงผลการตรวจสอบอาหาร 36 ตัวอย่าง รวมถึงนมสด ผักประเภทใบ อาหารทะเล เห็ดหอม และโยเกิรต์ ซึ่งเป็นการสุ่มตัวอย่างครั้งแรก มีเพียงตัวอย่างเดียว คือ sand lance จาก จ.ฟุคุชิมะ ที่มีค่ารังสีสูงกว่าที่กำหนด ในการนี้ ในวันที่ 20 เม.ย. 2554 มีคำสั่งเพิ่มเติมระงับการจำหน่ายและบริโภค sand lance จาก จ.ฟุคุชิมะ โดยคำสั่งดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มีการตรวจพบตัวอย่างที่มีระดับรังสีเกินขนาด 3 ครั้งติดต่อกันซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ว่าเป็นผลกระทบเพียงในพื้นที่หรือเป็นบริเวณกว้าง โดยในกรณี sand lance ก็ได้ตัดสินใจมีคำสั่งห้ามทั้ง จ.ฟุคุชิมะ เนื่องจากพบค่าซีเซียมสูงกว่าปกติมาก

- ผู้เชี่ยวชาญจาก ก.เกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น แจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสุ่มตรวจตัวอย่าง sand lance ในครั้งนี้ว่าตัวอย่างที่มีค่ารังสีเกินกำหนดได้มาจากบริเวณใกล้เขต 30 กม. จากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมะที่ 1 จึงมีรังสีสูงกว่าเกณฑ์หลายเท่า (ค่าไอโอดีนเกินประมาณ 3 เท่า และค่าซีเซียมเกินประมาณ 20 เท่า) ในขณะที่อีกตัวอย่างที่มีรังสีอยู่ในเกณฑ์จับได้จากบริเวณด้านใต้ของ จ.ฟุคุชิมะ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าปลาที่พบรังสีระดับสูงจะอยู่บริเวณใกล้โรงไฟฟ้า นอกจากนี้ โดยธรรมชาติของ sand lance ที่ยังไม่โตเต็มที่เหล่านี้ จะไม่เดินทางในระยะไกล แต่จะหากินอยู่ในพื้นที่บริเวณชายฝั่ง จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการอพยพไปยังพื้นที่อื่น นอกจากนี้ ที่ จ.ฟุคุชิมะ ปัจจุบันไม่มีการทำประมงใดๆ อยู่แล้ว เนื่องจากท่าเรือได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิทำให้เรือใหญ่ที่ต้องใช้จับปลาประเภทอื่นไม่สามารถใช้การได้ในปัจจุบัน ส่วนปลา sand lance แม้จะใช้เรือเล็กจับได้แต่ก็มีคำสั่งห้ามออกอยู่แล้ว ในขณะที่ จ.อิบารากิก็มีการงดทำประมงปลา sand lance โดยสมัครใจ จึงจะไม่มีปลาปนเปื้อนรังสีเข้าสู่ท้องตลาดแน่นอน

- ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการกีฬาญี่ปุ่น (MEXT) แจ้งว่า การตรวจวัดรังสีล่าสุดไม่พบผลเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด โดยระดับรังสียังคงตัวอยู่เช่นเดิม

- ผู้เชี่ยวชาญ คกก. ความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (NSC) เวียนรายงานการตรวจสอบระดับรังสีในสิ่งแวดล้อม สรุปได้ว่าแม้บางแห่งใกล้บริเวณโรงไฟฟ้าจะมีระดับรังสีเพิ่มสูงขึ้นแต่ก็ไม่อยู่ในระดับอันตราย ในขณะที่การวิเคราะห์ฝุ่นบริเวณใกล้โรงไฟฟ้าพบค่าไอโอดีนและซีเซียมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนการตรวจวัดรังสีในทะเลพบว่าทั้งฝุ่นเหนือทะเล บนผิวน้ำ และในน้ำลึกระดับรังสีลดลงทุกจุด สำหรับน้ำประปาบริเวณ จ. ใกล้เคียงพบไอโอดีนลดลงมากกว่าเดิม ขณะที่ซีเซียมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ทั้งสองยังอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์

1.4 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.4.1 ณ วันที่ 21 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 3 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 2 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.4.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆจำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศต่าง ๆ

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การติดตามระดับกัมมันตรังสี

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสี ที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 21 เม.ย. 2554 เวลา 10.30 น. อยู่ที่ระดับ 21.3 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.022 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.124 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.073 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.)

2.2 การใช้บริการสายการบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2554 ดังนี้

กรุงเทพฯ – นาริตะ

เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 55.45% (เพิ่มขึ้นจาก 52.24% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 81.49% (ลดลงจาก 77.12% ในวันก่อน)

นาริตะ – กรุงเทพฯ

เที่ยวบิน TG643 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 74.81% (ลดลงจาก 78.93% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 36.86% (ลดลงจาก 25.96% ในวันก่อน)

2.3 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย

2.1.2 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้

(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ช.ม.)

(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp

2.4 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 21 เมษายน 2554 ณ เวลา 14.00 น. จำนวน 56,383,117.75 บาท (ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้โอนเงินงวดแรกจำนวน 125 ล้านบาท ให้ สอท. ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 เพื่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวนำไปมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)

2.5 สถิติคนไทย

2.5.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.5.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.5.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.5.4 จำนวนคนไทยที่ตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัยรวม 11,156 คน (ข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตฯ รวบรวมจากทุกสำนักงานฯ และเครือข่ายชุมชนคนไทย)

2.5.5 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 15 เม.ย. 2554 จำนวน 18,039 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ ณ วันที่ 21 เม.ย. 2554 มีจำนวน 142 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น