วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (4 เมษายน 2554)
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (4 เมษายน 2554)
สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันจันทร์ที่ 4 เมษายน 2554
1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น
1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 12,259 คน สูญหาย 15,315 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น
ณ วันที่ 4 เม.ย. 2554 เวลา 18.00 น. เวลาประเทศไทย)
1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1
1.2.1 ภายหลังจากที่บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ได้พยายามใช้มาตรการต่าง ๆ ในการอุดรอยรั่วบริเวณอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่มีสารกัมมันตรังสีเจือปนในระดับสูงกว่า 1 ล้านไมโครซีเวิร์ท/ชม. ไหลลงสู่ทะเลที่ผ่านมาไม่ได้ผล TEPCO ได้ตัดสินใจใช้วิธีระบายน้ำที่มีกัมมันตรังสีเจือปนในระดับที่ต่ำกว่า จากอาคารบริเวณอื่น ๆ ลงสู่ทะเลเพื่อถ่ายน้ำที่มีสารกัมมันตรังสีเจือปนในระดับสูงจากอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ไปเก็บไว้แทน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ (4 เม.ย. 2554) เวลา 17.00 น. (เวลาประเทศไทย) ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นได้เห็นชอบกับมาตรการดังกล่าวของ TEPCO ในชั้นต้น คาดว่าจะมีการถ่ายเทน้ำที่มีปริมาณกัมมันตรังสีเจือปนอยู่ในระดับต่ำดังกล่าวประมาณ 11,500 ตัน ทิ้งลงทะเล
1.2.2 สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (NISA) กล่าวว่า การระงับการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีจำเป็นต้องซ่อมระบบหล่อเย็นให้ได้ทั้งหมดแต่การดำเนินการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน นอกจากนี้ คาดว่าการกำจัดน้ำที่มีสารปนเปื้อนกัมมันตรังสีออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์ให้ได้ทั้งหมดจะใช้เวลาหลายเดือนด้วยเช่นกัน
1.2.3 ผู้เชี่ยวชาญกระทรวงศึกษาธิการ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และการกีฬาญี่ปุ่น (MEXT) แจ้งระหว่างการบรรยายสรุปคณะทูตจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 ว่า ระดับรังสีที่วัดได้โดยรวมนอกเขตรัศมี 20 กม. จากบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ จากการตรวจสอบดินในบริเวณรัศมี 20 – 30 กม. จำนวน 3 จุด ไม่มีการตรวจพบพลูโตเนียมแต่อย่างใด ถึงแม้จะมีการตรวจพบยูเรเนียมแต่ก็เป็นสัดส่วนที่พบในธรรมชาติ
1.2.4 ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น แจ้งระหว่างการบรรยายสรุปคณะทูตจัดโดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 ถึงผลการตรวจรังสีในอาหารล่าสุดที่เก็บตัวอย่างระหว่าง 27 – 30 มี.ค. 2554 ว่า ผลิตภัณฑ์ประเภทผักบางรายการที่ผลิตจาก จ.อิบารากิ และ จ. โทจิงิ มีค่ารังสีเกินกำหนด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผักดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในข่ายที่มีคำสั่งให้ระงับการจำหน่ายอยู่แล้ว จึงไม่มีเข้าสู่ท้องตลาด นอกจากนี้ ได้ตรวจเนื้อไก่ หมู และวัวจาก จ.ฟุคุชิมะ ปรากฎว่ามีรายการเดียวคือเนื้อวัวที่พบซีเซียม 134 และซีเซียม 137 รวมกันเกินกำหนด (500 Bq/kg.) แต่ไม่พบไอโอดีน 131 และไม่พบการปนเปื้อนในตัวอย่างอื่น อย่างไรก็ดี จะทำการตรวจซ้ำอีกครั้ง นอกจากนี้ ได้ตรวจนมสดจาก จ.ฟุคุชิมะ ซึ่งพบว่ามีค่าไอโอดีน 131 ภายในมาตรฐานที่รับได้ และมีแนวโน้มลดลงจากเดิม
1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ
1.3.1 ณ วันที่ 4 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 6 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 7 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ
1.3.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่นรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น
2. การดำเนินการของไทย
2.1 สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสี ที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 4 เม.ย. 2554 เวลา 18.30 น. อยู่ที่ระดับ 32.7 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อ เวลา 11.00 น. ในวันเดียวกัน ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นมีแนวโน้มลดลงหรือเท่าเดิมโดยยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.025 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.171 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.090 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.)
2.2 การใช้บริการสายการบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 ดังนี้
กรุงเทพฯ – นาริตะ
เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 80.13% (เพิ่มขึ้นจาก 53.21% ของวันก่อน)
เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 78.15% (เพิ่มขึ้นจาก 75.84% ของวันก่อน)
นาริตะ – กรุงเทพฯ
เที่ยวบิน TG643 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 68.64% (เพิ่มขึ้นจาก 50.39% ของวันก่อน)
เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 41.35% (เพิ่มขึ้นจาก 28.21% ของวันก่อน)
2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น
- ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 4 เมษายน 2554 อยู่ที่16,899,777.58 บาท (หักเงินที่โอนให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวจำนวน 125 ล้านบาทแล้ว)
2.4 สถิติคนไทย
2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน
2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน
2.4.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน
2.4.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 3 เม.ย. 2554 อยู่ที่ 13,796 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)
3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 134 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น