วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (14 เมษายน 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (14 เมษายน 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2554



1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 13,498 ราย สูญหาย 14,734 ราย (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 14 เม.ย. 2554 เวลาประเทศไทย 17.00 น.) ทั้งนี้ วันนี้เป็นวันแรกที่เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าสำรวจในบริเวณระยะ 10 กม. ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา จากที่ผ่านมา เข้าสำรวจเฉพาะในบริเวณระยะ 20 กม.

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)

1.2.1 ในวันที่ 14 เม.ย. 2554 เจ้าหน้าที่บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ยังคงพยายามถ่ายเทน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูงออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เข้าไว้ใน turbine condenser tank โดยถ่ายน้ำออกไปได้แล้วประมาณ 660 ตัน

1.2.2 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2554 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว รายงานการบรรยายสรุปให้คณะทูตเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ สรุปดังนี้

(1) อาหารและน้ำ ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น แจ้งผลการตรวจรังสีในตัวอย่างอาหาร 21 ชนิดซึ่งไม่ปรากฏตัวอย่างใดมีรังสีเกินกำหนด และระดับรังสีในน้ำประปาที่หมู่บ้าน Itate ก็อยู่ต่ำกว่าระดับที่มีคำเตือนให้ทารกหลีกเลี่ยงแล้ว แต่ก็ยังขอให้มีการหลีกเลี่ยงการบริโภคโดยสมัครใจต่อไปอีกระยะ ผู้เชี่ยวชาญกรมประมงญี่ปุ่น แจ้งผลการตรวจปลาไหลจาก จ.อิบารากิ ซึ่งไม่พบรังสีเกินกำหนด ส่วนปลา sand lance ที่พบรังสีเกินกำหนดนั้นสามารถเคลื่อนย้ายได้เพียงในระยะใกล้ ๆ

(2) ความคืบหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไดอิฉิ

- นาย Tomiko Ichikawa ผอ.กองนโยบายเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น แจ้งว่า ระดับรังสี ณ ประตูตะวันตกลดลงเหลือ 41.4 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 12 เม.ย. 2554

- ผู้เชี่ยวชาญคณะกรรมการความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น หรือ Nuclear Safety Commission (NSC) รายงานว่า ผลการวัด external exposure (ก่อนหน้านี้วัด internal exposure) ผลออกมาคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ รังสีจะกระจายออกไปหนาแน่นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของโรงไฟฟ้า และมีขยายออกมาทางด้านใต้บ้างเช่นกัน

(3) การปรับระดับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ตามเกณฑ์ International Nuclear and Radiological Event Scale (INES) จากเดิมระดับ 5 เป็น 7 เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2554 ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (Japan's Nuclear and Industrial Safety Agency: NISA) แจ้งว่า เป็นผลมาจากการปรับการประเมินสถานการณ์โดยพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นในการพิจารณาเกณฑ์ INES เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม แต่มิได้แสดงว่าสถานการณ์ปรับตัวเลวร้ายลง ในทางตรงกันข้าม สถานการณ์ที่ผ่านมาแสดงแนวโน้มที่รังสีจะลดลงอย่างต่อเนื่องและค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ กรณีโรงไฟฟ้าไดอิฉิแตกต่างจากกรณีเชอร์โนบิล โดยโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเป็นการระเบิดของเตาปฏิกรณ์อย่างกะทันหันและเกิดไฟไหม้ มีผู้เสียชีวิตจากรังสีถึง 29 ราย และมีปริมาณรังสีปล่อยออกมามากกว่าถึง 10 เท่า จึงไม่สามารถดำเนินการแก้ไขได้และต้องใช้ซีเมนต์คลุมแทน ในขณะที่กรณีโรงไฟฟ้าไดอิฉินั้น รังสีส่วนใหญ่ปล่อยออกมาในช่วงแรกที่มีการปล่อยก๊าซปนเปื้อนรังสีและการระเบิดของไฮโดรเจน แต่หลังจากนั้นปริมาณรังสีก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงอย่างรวดเร็วมาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ในพื้นที่ก็อยู่ในระดับที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ โดยยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากรังสี (เจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิต 2 รายเมื่อ 11 มี.ค. 2554 เป็นเพราะสึนามิ) และคนงานที่โดนน้ำปนเปื้อนรังสีสูงและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลก็ได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้กรณีโรงไฟฟ้าไดอิฉิมี containment vessel ที่คอยป้องกันรังสีรั่วไหลออกมาภายนอก อย่างไรก็ตาม คงจะต้องมีการตรวจสอบต่อไปว่า รังสีที่ออกมาเป็นจำนวนมากมาจากแหล่งใด และ vessel ชำรุดเสียหายในบริเวณใดบ้าง

(4) แนวโน้มในอนาคต แม้ว่าจะมีรายงานข่าวเกี่ยวกับข้อสังเกตของเจ้าหน้าที่ TEPCO บางรายเรื่องความเป็นไปได้ที่ปริมาณรังสีรวมที่ออกจากโรงไฟฟ้าไดอิฉิอาจเกินระดับเชอร์โนบิลในที่สุดนั้น NSC และ NISA ซึ่งเป็นสองหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการเพิ่มระดับรังสี พิจารณาจากแนวโน้มปัจจุบันว่า ระดับรังสีลดลงมากอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากไม่มีเหตุการณ์ผิดปรกติใดพิเศษก็ไม่ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงมากในอนาคต

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 14 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 4 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 4 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.3.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆจำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น โดยรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศต่าง ๆ

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-12 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย

2.1.2 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้

(5) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

(6) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ช.ม.)

(7) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp

2.2 การใช้บริการสายการบิน

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2554 ดังนี้

กรุงเทพฯ – นาริตะ

เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 35.26% (เพิ่มขึ้นจาก 26.28% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 39.59% (ลดลงจาก 59.47% ในวันก่อน)

นาริตะ – กรุงเทพฯ

เที่ยวบิน TG643 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 64.53% (เพิ่มขึ้นจาก 61.18% ในวันก่อน)

เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 17.31% (ลดลงจาก 24.04% ในวันก่อน)

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 12 เมษายน 2554 ณ เวลา 14.00 น. จำนวน 198,196,544.30 บาท (หักเงินที่โอนให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวจำนวน 125 ล้านบาทเพื่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวเตรียมมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการโอนเงินบริจาคจากสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 จำนวน 150 ล้านบาท แก่ สอท.ญป./ปทท. และจำนวน 20 ล้านบาท แก่ สอท. ณ กรุงโตเกียว)

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.4.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.4.4 จำนวนคนไทยที่ตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัยรวม 11,156 คน (ข้อมูลของสถานเอกอัครราชทูตฯ รวบรวมจากทุกสำนักงานฯ และเครือข่ายชุมชนคนไทย)

2.4.5 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 13 เม.ย. 2554 จำนวน 17,419 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง) และคนไทยที่ขอให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวช่วยเหลือส่งกลับทาง c-130 จำนวน 39 คน

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2554 รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 135 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น