วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (5 เมษายน 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (5 เมษายน 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันอังคารที่ 5 เมษายน 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 12,344 คน สูญหาย 15,237 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น

ณ วันที่ 5 เม.ย. 2554 เวลา 18.00 น. เวลา 14.00 น. ประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.2.1 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ยังคงปฏิบัติการระบายน้ำที่มีระดับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีต่ำออกสูงทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คืนวันที่ 4 เม.ย. 2554 ทั้งนี้ จนถึงเวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 เม.ย. 2554 TEPCO ได้ระบายน้ำออกสู่ทะเลแล้วกว่า 2,800 ตัน นายยุกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการ ครม. ได้แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการปฏิบัติการดังกล่าวว่า เป็นมาตรการที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นการดำเนินการเพื่อควบคุมให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

1.2.2 ผลการตรวจระดับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในน้ำที่ระบายออกจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 พบว่า มีสารไอโอดีน 131 อยู่ที่ระดับ 300,000 Bq/cc. ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 7.5 ล้านเท่า นอกจากนี้ ยังตรวจพบสารซีเซียม 137 สูงกว่าค่ามาตรฐาน 1.1 ล้านเท่า ซึ่งสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (NISA) คาดการณ์ว่า มีสาเหตุมาจากการรั่วไหลของน้ำในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับความเสียหาย

1.2.3 TEPCO ได้พยายามอุดรูรั่วของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ได้ใช้โซเดียมซิลิเกต (liquid glass) ปริมาณ 1,500 ลิตร ในการอุดรูรั่ว ผลปรากฏว่าน้ำที่ไหลออกจากรูรั่วมีปริมาณลดลง

1.2.4 กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้มีรายงานสรุปผลการตรวจรังสีในอาหาร ตั้งแต่วันที่ 19 มี.ค. – 3 เม.ย. 2554 พบว่า มีเพียงเห็ดที่มีแหล่งผลิตใน จ. ฟุคุชิมะ เพียงรายการเดียวที่มีรังสีเกินเกณฑ์ ในขณะที่ผลการตรวจระดับสารกัมมันตรังสีในน้ำประปาพบว่า ในปัจจุบันมีเพียงหมู่บ้าน Iitate จ. ฟุคุชิมะ เพียงแห่งเดียวที่ยังเตือนไม่ให้ทารกบริโภคน้ำประปา ส่วนน้ำประปาในโรงกรองน้ำหลัก 3 แห่งในกรุงโตเกียวยังไม่มีการตรวจพบรังสี

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 5 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 7 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 5 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ

1.3.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การประชุมศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น

2.1.1 สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และกัมมันตรังสี

ผู้แทน ปส. แจ้งดังนี้

- ถึงแม้ IAEA ยังคงประเมินสถานการณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 ว่าอยู่ในสถานะ “ร้ายแรง” (serious event) แต่ผลจากการรายงานการตรวจวัดระดับรังสีต่าง ๆ พบว่าลดลงถึงระดับก่อนเกิดเหตุ (background level) แล้ว ยกเว้นแต่ จ. อิบารากิซึ่งอยู่ใกล้กับ จ. ฟุคุชิมะ ซึ่งยังพบว่าสูงกว่าเมืองอื่น ๆ อยู่ที่ระดับ 0.169 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ยังคงน่าห่วงกังวลอยู่คือการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีสู่ห่วงโซ่อาหาร

- ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศว่า น้ำประปาในทุกเมืองในปัจจุบันสามารถดื่มบริโภคได้แล้ว เนื่องจากระดับสารกัมมันตรังสีลดลงมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 10 Bq/L. ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยแล้ว จึงน่าจะคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้บ้างบางส่วน

- การปฏิบัติการระบายน้ำที่มีการปนเปื้อนทางรังสีจากโรงไฟฟ้าฯ สู่ทะเลของบริษัทการไฟฟ้าโตเกียวนั้น สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่น่าห่วงกังวลมากนัก เนื่องจากสารกัมมันตรังสีจะกระจายตัวและเจือจางไปกับกระแสน้ำอย่างรวดเร็ว

2.1.2 ผลกระทบต่อไทย

ผู้แทน ปส. แจ้งดังนี้

- สืบเนื่องจากปฏิบัติการระบายน้ำที่มีการปนเปื้อนทางรังสีจากโรงไฟฟ้าฯ ลงสู่ทะเลนั้น ปส. ได้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบระดับสารกัมมันตรังสีในทะเลที่ จ.ตราด ซึ่งผลการตรวจล่าสุดพบว่ายังอยู่ในระดับปกติ

- ผลการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีสู่พื้นดินและน้ำ (fall-out) ในประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า ยังอยู่ในระดับต่ำจนไม่สามารถตรวจวัดได้

- สำหรับการตรวจวัดระดับรังสีจากผู้โดยสารที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่น นั้น ปส. ยังคงตั้งจุดตรวจอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณก่อนจุดตรวจคนเข้าเมือง ระหว่างเวลา 12.00 – 0.00 น. ซึ่งในระยะหลังพบว่าผู้ที่เข้ารับบริการตรวจวัดส่วนใหญ่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (JAL) เท่านั้น ทั้งนี้ ยังไม่พบค่าผิดปกติแต่อย่างใด

- นอกจากนี้ ปส. ยังได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่มีศักยภาพ ได้แก่ การท่าเรือและกรมศุลกากร ในการตรวจอาหารนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ โดย ปส. จะเป็นผู้แจ้งค่ามาตรฐานให้ทราบและหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการตรวจเอง เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจพร้อมอยู่แล้ว

- ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของ ปส. ยังคงให้บริการข้อมูลแก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ผู้แทน สธ. แจ้งดังนี้

- สธ. ยังคงตั้งจุดบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่จะเดินทางไปและกลับจากญี่ปุ่นที่ท่าอากาศยานสุวรรภูมิ รวมทั้งที่ รพ. ราชวิถีและ รพ. นพรัตน์ราชธานี อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฎว่ามีผู้ขอเข้ารับบริการปรึกษาแต่อย่างใด

- อย. ยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังทางอาหารโดยการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยได้ตรวจตัวอย่างอาหารสะสมแล้วทั้งสิ้น 152 ตัวอย่าง ผลการตรวจพบว่าปกติ 139 รายการ รอผลการตรวจ 13 รายการ

ผู้แทน TG แจ้งดังนี้

- อัตราการใช้บริการสายการบิน TG เส้นทางกรุงเทพฯ – นาริตะ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 58 – 85 เส้นทางนาริตะ – กรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

2.2 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 4 เมษายน 2554 อยู่ที่ 12,235,281.04 บาท (หักเงินที่โอนให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวจำนวน 125 ล้านบาทเพื่อให้ สอท.ณ กรุงโตเกียวเตรียมมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)

2.3 สถิติคนไทย

2.3.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.3.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.3.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.3.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 มี.ค.- 3 เม.ย. 2554 อยู่ที่ 13,796 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 134 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น