นักศึกษาไทยในรัสเซียและโอกาสทางการศึกษา
ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมา แนวโน้มของคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางมาเรียนต่อที่ประเทศรัสเซีย เริ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเนื่องมาจากองค์ประกอบหลายๆ ประการ อาทิ
• มีการขยายความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและรัสเซียมากขึ้น สถาบันการศึกษาไทยเล็งเห็นจุดแข็งของวิทยาการต่างๆ ของรัสเซียในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งภาษารัสเซียเอง ก็เป็นที่สนใจของคนไทยมากขึ้นในฐานะภาษาต่างชาติที่สาม ความร่วมมือกับสถาบันไทย จะเปิดประตูให้แก่นักศึกษาไทยในหลายๆ สาขา สามารถเดินทางมาศึกษาในสาขาเฉพาะทางนั้นๆ ในขณะเดียวกัน ในรัสเซียสถาบันการศึกษาต่างๆ เองก็สนใจที่จะเปิดรับข้อเสนอต่างๆ จากต่างประเทศเพื่อยกระดับคุณภาพของสถาบันให้มีชื่อเสียงและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น
• สถาบันการศึกษารัสเซียเริ่มปรับหลักสูตรให้เข้ากับหลักสูตรนานาชาติ โดยเริ่มเข้าโปรแกรม Bologna Process ตั้งแต่ปี 2003 (รัสเซียเป็นประเทศที่ 40 ที่เข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าว) ซึ่งจะทำให้ปริญญาของสถาบันอุดมศึกษาในรัสเซียเป็นที่ยอมรับในยุโรปได้แล้ว ภายในปี 2010 สถาบันต่างๆ ของรัสเซียจะปรับระดับปริญญาให้เทียบเท่ากับประเทศตะวันตก คือ จากเดิมปริญญาแรกใช้เวลาศึกษา 5 ปี และวุฒิเทียบเท่าปริญญาตรีกึ่งโท หลังการปรับเปลี่ยนจะมีแต่ปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาโท 1 - 2 ปี และปรับระบบการวัดผลสอบให้เป็นแบบสากล การปรับระบบดังกล่าว จะทำให้รัสเซียกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งประหยัดกว่า สำหรับคนไทยที่ต้องการเดินทางมาศึกษาต่อในต่างประเทศ
• รัฐบาลรัสเซีย ให้ทุนสนับสนุนด้านการศึกษาแก่นักศึกษาจากประเทศไทย ตามโควต้าในแต่ละมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นประจำทุกปี แต่ละปีมีจำนวนทุนรวมทั้งหมด 40 ทุน แบ่งเป็นระดับปริญญาตรีหรือโท (หรือ specialist 5 ปี) จำนวน 33 ทุน และระดับ Candidate of Sciences หรือ Doctor of Sciences หรือ ทุนวิจัยโครงการ หรือทุนระยะสั้นต่างๆ จำนวน 7 ทุน ทุนดังกล่าวเปิดประตูกว้างให้แก่ผู้สนใจสมัครรับทุนทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานภาษารัสเซียมาก่อนก็ได้
• ในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะเพิ่มบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านภาษารัสเซีย และความชำนาญเฉพาะทางต่างๆ ของรัสเซียให้มากยิ่งขึ้น จึงก่อให้เกิดโครงการภายใต้นโยบายดังกล่าวในหลายๆ ทาง ทั้งการเพิ่มจำนวนนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงเพื่อมาศึกษาในประเทศรัสเซีย การจัดตั้งศูนย์รัสเซียศึกษาและสนับสนุนการดำเนินงานของภาควิชาภาษารัสเซียในหลายๆ สถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ การจัดตั้งโครงการนำร่องสอนภาษารัสเซียในโรงเรียนมัธยมจำนวน 4 โรง เพื่อทดลองเตรียมบุคคลากรด้านภาษารัสเซียสำหรับระดับอุดมศึกษาต่อไป โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-รัสเซียระหว่างสถาบัน โครงการค่ายเยาวชนไทยในรัสเซีย ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เป็นต้น
อนึ่ง ในปัจจุบัน นักศึกษาไทยที่เดินทางมาศึกษาในประเทศรัสเซียยังมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับนักศึกษาไทยในประเทศตะวันตก โดยส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาที่ได้รับทุนจากรัฐบาลรัสเซีย เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี-โท-เอก (ประมาณร้อยละ 70 จากจำนวนนักศึกษาทั้งหมด) เหตุผลสำคัญที่ทำให้คนไทยเลือกเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนในประเทศรัสเซียอยู่น้อย เป็นเพราะความยากของภาษารัสเซียเอง ภาษารัสเซียจัดอยู่ในกลุ่มภาษาสลาฟ ซึ่งมีความแตกต่างจากภาษาในตระกูลโรมัน-แองโกลแซกซอนที่ใช้ในประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ และเป็นภาษาที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่า มีความซับซ้อนเฉพาะตัวของสำเนียง การออกเสียง และตัวอักษรเขียน (ซีริลลิก) อีกทั้งทัศนคติของคนทั่วไปต่อประเทศรัสเซีย ซึ่งยังติดกับภาพลักษณ์ “ดินแดนหลังม่านเหล็ก” ในสมัยสหภาพโซเวียตอยู่
อย่างไรก็ตาม รัสเซียยังมีศักยภาพในด้านการศึกษาของตนอยู่อีกมากที่พร้อมเสนอแก่นักศึกษาต่างชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยเองไม่ควรมองข้ามไปเป็นอย่างยิ่ง เช่น การวางแนวทางส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องแก่เด็ก เพื่อให้เด็กรักวิทยาศาสตร์ การสนับสนุนจากภาคเอกชนในด้านเงินทุนเพื่อการค้นคว้าและวิจัยต่างๆ เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้งานจริง ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ทำให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัสเซียเป็นที่เชื่อถือในระดับสากล และน่าที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันสถาบันการศึกษาต่างๆ ของรัสเซียได้ยกระดับคุณภาพการศึกษาของตนสูงขึ้นเพื่อให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก ซึ่งน่าเชื่อได้ว่า รัสเซียจะสามารถเป็นหนึ่งในแหล่งการศึกษาในต่างประเทศที่น่าสนใจสำหรับคนไทยได้ในอนาคต
ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก http://th.thaiembassymoscow.com/info/?section=d7&artid=111
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น