ปัญหาข้อพิพาทแรงงานระหว่างร้านอาหารไทยกับลูกจ้างในนครลอสแอนเจลิสและเมืองใกล้เคียง
1. สภาพปัญหาระหว่างร้านอาหารไทยกับลูกจ้างภายในร้าน
1.1 ปัจจุบันในนครลอสแอนเจลิสและพื้นที่ใกล้เคียงมีร้านอาหารไทยเปิดดำเนินกิจการอยู่รวม 700 ร้าน ซึ่งเจ้าของร้านอาหารไทยส่วนมากจัดจ้างพนักงานจากคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้น บางร้านก็จ้างพ่อครัว / แม่ครัวมาจากประเทศไทย (ซึ่งทำได้ยากเพราะมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายของสหรัฐฯ) ร้านอาหารบางร้านจ้างพนักงานจากโครงการ work & travel และจ้างคนไทยที่ได้รับวีซ่าเข้ามาท่องเที่ยว 6 เดือนก็มีบ้าง แต่ยังมีจำนวนไม่มากนัก ปัญหาที่ร้านอาหารไทยส่วนใหญ่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันคือปัญหาข้อพิพาทและการฟ้องร้องจากลูกจ้างภายในร้าน ทั้งแม่ครัว พ่อครัว บริกรเสิร์ฟอาหาร ซึ่งในขณะนี้มีคดีฟ้องร้องร้านอาหารไทยในนครลอสแอนเจลิส 8 คดี ไม่นับคดีความที่จบไปแล้วก่อนหน้านี้นับสิบคดี โดยเกือบทั้งหมดฝ่ายนายจ้างเป็นฝ่ายแพ้คดี
1.2 เหตุผลที่ลูกจ้างฟ้องผู้ประกอบการคือการชำระค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา และการนับชั่วโมงทำงาน
-การนับชั่วโมงทำงาน : กฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียร์กำหนดให้นายจ้างจ้างลูกจ้างได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หากเกินกว่านั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 1 ½ ของอัตราค่าจ้างปกติ แต่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยโดยปกติไม่มีการลงตารางเวลาโดยละเอียด เมื่อมีการฟ้องร้องคดีเกิดขึ้นศาลมีแนวโน้มจะเชื่อพยานฝ่ายลูกจ้าง (โดยปกติหากจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายคือ ชั่วโมงละ 8 ดอลลาร์สหรัฐลูกจ้างจะได้รับเงินเพียงสัปดาห์ละ 320 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ซึ่งอัตราดังกล่าวยังไม่รวมการหักภาษี ซึ่งรายได้ดังกล่าวยากที่ลูกจ้างจะดำรงชีวิตในเมืองใหญ่อย่างลอสแอนเจลิส)
-กฎหมายแคลิฟอร์เนียร์มีความเข้มงวดเกี่ยวกับการเข้า/ออกงาน( clock in, clock out) หรือแม้แต่การพักกลางวัน หากลูกจ้างยังอยู่ในสถานที่ทำงาน ใส่ผ้ากันเปื้อนอศาลถือว่าลูกจ้างยังคงปฏิบัติงานอยู่ ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชั่วโมงการทำงานปกติในช่วงดังกล่าวด้วย ข้อปฏิบัติดังกล่าว นายจ้างต้องมีความรู้และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
-ร้านอาหารไทยนิยมจ้างลูกจ้างโดยคิดเป็นเงินเดือนให้ การปฏิบัติดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมายแรงงานของแคลิฟอร์เนียร์ กฎหมายยกเว้นเฉพาะตำแหน่งผู้จัดการร้าน เรื่องนี้ทำให้ร้านอาหารถูกฟ้องและแพ้คดีเป็นส่วนมาก
-ร้านอาหารไทยจัดให้ลูกจ้างได้รับประทานอาหารโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย 1 มื้อ ในระหว่างเวลาทำงาน ทางผู้ตรวจแรงงานของแคลิฟอร์เนียร์ถือว่าผู้ประกอบการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากต้องจำหน่ายอาหารให้คนงานในราคา staff meal และต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่วนนายจ้างเมื่อจำหน่ายอาหารกับลูกจ้างต้องนำมาคำนวณภาษีด้วย ซึ่งลักษณะจำหน่ายอาหารให้ลูกจ้างดังกล่าวอาจจะขัดวัฒนธรรมไทยแต่ทางสหรัฐฯถือเป็นการเลี่ยงภาษี
-ร้านอาหารไทยส่วนมากต้องจ่ายค่าปรับจากการเข้าตรวจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพราะจ้างพนักงานไม่มี food handling certificate
ทั้งนี้ร้านอาหารไทยไม่กล้าฟ้องกลับลูกจ้างบางคนที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เพราะร้านอาหารไทยแทบทุกร้านเองก็มีความผิดที่รับบุคคลที่ผิดกฎหมายเข้ามาทำงานด้วยเช่นกัน
2. แนวทางที่กลุ่มร้านอาหารเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหากับลูกจ้าง
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2554 ร้านอาหารไทยที่เป็นสมาชิกสภาหอการค้าไทย-อเมริกันแห่งแคลิฟอร์เนียภาคใต้ได้จัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาทั่วไปขอองร้านอาหาร อาทิ เรื่องภาษี เรื่องการตรวจสถานประกอบการของกรมแรงงานของรัฐแคลิฟอร์เนียร์ และปัญหาแรงงานสัมพันธ์ โดยมุ่งประเด็นความสนใจถึงปัญหาที่ทำให้เกิดการฟ้องร้องระหว่างเจ้าของกิจการและลูกจ้างของร้านอาหาร และการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียร์ และรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา เพื่อมิให้ร้านอาหารไทยถูกฟ้องร้องหรือลงโทษและได้มีข้อเสนอให้สมาชิกดำเนินการดังนี้
2.1 เสนอให้มีการจ้างทนายที่มีความเชี่ยวชาญคดีแรงงานประจำสภาหอการค้าไทยฯ หากมีคดี ทนายความสามารถรับทำคดีของร้านอาหารที่เป็นสมาชิกสภาหอการค้าด้วยราคาที่ถูกกว่าการจ้างทนายความภายนอก
2.2 เสนอให้ร้านอาหารไทยปรับปรุงการทำเอกสารลงเวลาให้เคร่งครัด เลิกใช้ระบบอลุ้มอล่วย หรือระบบไทยๆ การเข้า/ออกงานต้องมีการบันทึกเวลาไว้ทั้งหมด แจ้งล่วงหน้าแก่ผู้จะทำงานว่า จ้างเพียงสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง หากลูกจ้างประสงค์จะทำงานเกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมงให้ลูกจ้างเขียนบันทึกว่าเป็นความประสงค์ของลูกจ้าง เพื่อเป็นหลักฐานป้องกันตัวนายจ้าง
2.3 การจัดทำคู่มือร้านอาหารเพื่อแสดงรายละเอียดของร้านว่าต้องดำเนินการสิ่งใดบ้าง อาทิ เรื่องการลงเวลา การบริหารร้าน การพักระหว่างชั่วโมงทำงาน สวัสดิการคนงาน และการกำหนดหน้าที่รับผิดชอบ( job description) ของลูกจ้างให้ชัดเจน
3. ข้อสังเกต
3.1 ปัญหาการฟ้องร้องคดีระหว่างลูกจ้างนายจ้างในร้านอาหารมีมากขึ้น โดยตลอดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่เฉพาะแต่ในแคลิฟอร์เนียร์ แต่ปรากฏเป็นข่าวในรัฐโอเรกอน วอชิงตัน และเนวาดาด้วย
3.2 โดยที่กฎหมายในสหรัฐอเมริกาให้การปกป้องและคุ้มครองสิทธิแรงงานเป็นอย่างมาก และในกรณีที่นายจ้างเอาเปรียบแรงงานมาก อาจจะถูกฟ้องในคดีอาญาข้อหาค้ามนุษย์ ได้อีกด้วย สำหรับการจ้างทนายความนั้นฝ่ายลูกจ้างมีข้อได้เปรียบเช่นกัน กล่าวคือ ถ้ามีการฟ้องและกรมแรงงานของรัฐเห็นว่าคดีมีมูล กรมแรงงานจะนัดทนายเข้าดำเนินคดีกับนายจ้างโดยลูกจ้างไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดหรือหากลูกจ้างใช้ทนายคนนอกที่ไม่ใช่กรมแรงงาน ทนายของลูกจ้างจะดูว่ามีโอกาสชนะคดีหรือไม่ หากมีโอกาสชนะคดีก็จะรับทำคดี แต่จะได้ค่าทนายความเป็นส่วนแบ่งประมาณ 33.33% หรือหนึ่งในสามของเงินที่ลูกจ้างจะได้รับจากนายจ้างเมื่อชนะคดี (ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายอื่นที่ทนายความจ่ายไปล่วงหน้า) ซึ่งในสหรัฐฯ ไม่ถือเป็นการค้าความหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด (ตรงกันข้ามกับกฎหมายไทย กรณีดังกล่าวถือว่าสัญญามีความประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศ๊ลธรรมอันดีจึงเป็นโทฆะ (คำพิพากษาฎีกาที่ 191/2539 และคำพิพากษาฎีกาที่ 1047/2533) ต่างจากฝ่ายนายจ้างที่แม้ฐานะทางเศรษฐกิจจะเหนือกว่าฝ่ายลูกจ้าง แต่ต้องรับภาระค่าทนายความเองทั้งหมด
3.3 ในช่วงที่ผ่านมาสถานกงสุลใหญ่ได้จัดการบรรยายเกี่ยวกับกฎหหมายแรงงานให้แก่ผู้ประกอบการและลูกจ้างได้รับทราบเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และให้ลูกจ้างได้รับทราบสิทธิประโยชน์อันพึงมีตามกฎหมาย
ที่มา: ข้อมูลจากรายงานของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส
ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านบทความ "ปัญหาของร้านอาหารไทยในปัจจุบัน" โดย ศนินุช สวัสดิโกศล “P. Moral” ที่เว็บไซต์ http://www.thailanguagecenter.com/article09.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น