วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
มณฑลฝูเจี้ยน
มณฑลฝูเจี้ยน
- ชาวหมิ่นหนาน(ฝูเจี้ยนตอนล่าง ประกอบด้วยเฉวียนโจว เซี่ยเหมิน จางโจว)มีคติประจำใจที่ยึดถือกันมาตลอดว่า “爱拼才会赢 ” (ต้องสู้ถึงจะชนะ) คติดังกล่าวถูกปลูกฝังให้ลูกหลานชาวฝูเจี้ยนทั่วโลกมีความกระตือรือร้นในการยกระดับชีวิตของตน
- นักธุรกิจชาวฝูเจี้ยนและชาวประมงจะมีวัฒนธรรมการบูชาเจ้าแม่มาจู่ ขอพรเทพองค์นี้ให้ตนเองแคล้วคลาดปลอดภัยในการออกเรือไปแสวงโชคในทะเลไกลโพ้น
- ฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่อยู่ใกล้ไต้หวันมากที่สุด
- ปัจจุบัน ฝูเจี้ยนมีมรดกโลก 2 ชิ้น คือ อู่อี๋ซาน ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติในปี 2542 และถู่โหลว(บ้านดิน) ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี 2551 และในปี 2552 นี้จะทำการผลักดันพื้นที่เมืองเฉวียนโจว : จุดกำเนิดเส้นทางสายไหมทางทะเล และ “ พิพิธภัณฑ์สถาปัตยกรรมโลก-เกาะกู่ล่างอวี่ ” ของเซี่ยเหมิน ขึ้นสู่ทำเนียบมรดกโลก
- เป็นแหล่งเพาะปลูกดอก Daffodil เพื่อการส่งออกที่สำคัญของประเทศจีน (เป็นที่นิยมของชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยนทั่วโลกในการซื้อมาประดับบ้านในเทศกาลตรุษจีน)
- ปี 2551 ฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่ผลิตชาได้มากที่สุดในจีนด้วยปริมาณ 247,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 19.32 ของประเทศ ชาที่มีชื่อเสียงของฝูเจี้ยน คือ ชาอูหลงสายพันธุ์เถี่ยกวนอิน( 铁观音 )มีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในเขตเทือกเขาสูงของอำเภออันซี( 安溪县 ) เมืองเฉวียนโจว และชาอูหลงสายพันธุ์ต้อหงผาว( 大红袍 )มีแหล่งเพาะปลูกอยู่ในเขตแนวเทือกเขาอู่อี๋ซาน
- ฝูเจี้ยนเป็นฐานการผลิตพลังงานหลักเพื่อป้อนสู่มณฑลตอนในของจีนมีฐานการผลิตพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ 2 แห่งในเขตฝูชิง และเมืองหนิงเต๋อ แหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในเมืองผู่เถียนและจางโจว และโรงงานไฟฟ้าจากการเผาผลาญขยะสำหรับผลิตกระแสไฟที่ใช้ในท้องที่ของเขตเซี่ยเหมินและเฉวียนโจว
- ฝูเจี้ยนเป็นมณฑลที่มีความสมดุลทางระบบนิเวศน์มากที่สุดของจีน ด้วย อัตราป่าครอบคลุมกว่า ร้อย ละ 62.96 ของพื้นที่ทั้งหมดของมณฑล
- งานแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับโลกและจัดเป็นประจำทุกปี 1.งาน CIFIT (เซี่ยเหมิน) 2. งานแสดงหินนานาชาติ(เซี่ยเหมิน) 3.งานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน(เซี่ยเหมิน) 4.งานแสดงพุทธศิลปะและสินค้าสงฆ์(เซี่ยเหมิน) 5. งานแสดงรองเท้ากีฬา(เฉวียนโจว)
- สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน มหาวิทยาลัยฝูโจว มหาวิทยาลัยหัวเฉียว มหาวิทยาลัยครูฝูโจว มหาวิทยาลัยเกษตรและป่าไม้ฝูเจี้ยน มหาวิทยาลัยจี๋เหม่ย ฯลฯ
- ชาวจีนโพ้นทะเลเชื้อสายฮกเกี้ยนจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน และทั่วโลก มีบทบาทสำคัญมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยนในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา
- ลูกหลานชาวจีนฮกเกี้ยนที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยได้แก่ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) นายชวน หลีกภัย ฯลฯ
ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์
มณฑลฝูเจี้ยน (福建 ) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ตรงข้ามเกาะไต้หวัน มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 23 ของประเทศ มีเนื้อที่ทั้งหมด 121,400 ตร.กม. มีภูมิประเทศเป็นภูเขาคิดเป็นร้อยละ 80 ของพื้นที่ มีน่านน้ำทะเล 136, 300 ตร.กม. มีชายฝั่งทะเลยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คือ 6,128 กม. มีเกาะน้อยใหญ่รวมทั้งสิ้น 1,546 เกาะ
ทิศตะวันออกหันหน้าสู่เกาะไต้หวันและติดช่องแคบไต้หวัน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับมณฑลเจ้อเจียง ทิศตะวันตกเฉียงเหนือคือเทือกเขาอู่อี๋ (武夷山)ซึ่งเป็นแนวกั้นระหว่างมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลเจียงซี ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับมณฑลกว่างตง
มณฑลฝูเจี้ยนตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์การคมนาคมทางทะเลที่สำคัญ เนื่องจากอยู่กึ่งกลางระหว่างทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เป็นทางออกของจีนสู่เอเชียอาคเนย์ เอเชียตะวันตก แอฟริกาตะวันออก กลุ่มประเทศแถบทวีปออสเตรเลีย นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ระหว่างเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง(长江三角洲)และเขตสามเหลี่ยมเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำจูเจียง(珠江三角洲) ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศจีนอีกด้วย
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มณฑล ฝูเจี้ยนได้ก้าวสู่การเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยมีกุญแจสำคัญอยู่ที่ไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากมณฑลฝูเจี้ยนเพียง 125-160 กม.
ภูมิอากาศ
ตั้งอยู่ในเขตโซนร้อน มีภูมิอากาศอบอุ่น อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปี 17 – 21 °C นับเป็นมณฑลที่มีปริมาณฝนมาก ช่วงเดือนมกราคมมีอุณหภูมิเฉลี่ย 2.2 - 11.6 °C ช่วงเดือนกรกฎาคมอุณหภูมิเฉลี่ย 28.9 - 38.6 °C ขณะที่ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,400 - 2,000 มิลลิเมตรต่อปี
ในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงของแต่ละปีมีพายุไต้ฝุ่นสลับกับมีฝนตก เนื่องจากมณฑลฝูเจี้ยนตั้งอยู่บนเส้นทางการเดินของพายุไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อน โดยส่วนมากจะผ่านฟิลิปปินส์และไต้หวันก่อนที่จะผ่านมายังมณฑลฝูเจี้ยน ในช่วงฤดูหนาวอากาศแห้งและมีลมกระโชกแรง ฤดูกาลท่องเที่ยวของมณฑลฝูเจี้ยนดีที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ รองลงมาคือช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน
ประชากร
ฝูเจี้ยนมีประชากร 36.04 ล้านคน แนวโน้มโครงสร้างประชากรอยู่ในภาวะสูงวัย ประชากรในพื้นที่มีอัตราการเกิดต่ำ โครงสร้างครอบครัวมีขนาดเล็กลง พื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คือ นครฝูโจว เมืองเซี่ยเหมินและเฉวียนโจว คิดเป็นร้อยละ 47.3 ของประชากรทั้งมณฑล
ประชากรฝูเจี้ยนส่วนใหญ่มีเชื้อสายฮั่น ที่เหลือเป็นชนกลุ่มน้อยกว่า 54 เชื้อสาย คิดเป็นจำนวนราว 583,800 คน หรือร้อยละ 1.71 ของประชากรทั้งหมด ชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุดคือ ชาวเสอ(畲族)
ทั้งนี้ มณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นบ้านเกิดของชาวไต้หวันและชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งมีจำนวนรวมกว่า 10,880,000 คน (สถิติเดือนมกราคม 2551)
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรป่าไม้และพืชพันธุ์
จากความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้มณฑลฝูเจี้ยนเป็นหนึ่งในสี่แหล่งทรัพยากรป่าไม้ที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่ที่เป็นป่าไม้ครอบคลุมกว่า 6 ล้านเฮคเตอร์หรือร้อยละ 62.9 มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ปริมาณสำรองของไม้มีมากถึง 4 แสนคิวบิกเมตร และมีปริมาณผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นอันดับสามของประเทศ มี wood plant 1 , 943 ชนิด timber tree 400 ชนิด และพันธุ์ไม้ไผ่ 140 ชนิด
ทรัพยากรทางทะเล
มีพื้นที่ทางทะเลที่กว้างขวาง มีชายหาดยาวกว่า 3,300 กม. ยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีเกาะใหญ่น้อยกว่า 1,400 เกาะ มีท่าเรือน้ำลึกที่มีศักยภาพในการรองรับเรือบรรทุกสินค้าที่มีระวางบรรทุก 10,000 ตัน กว่า 22 แห่ง อาณาเขตทางทะเลครอบคลุมระหว่างทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ เนื่องจากว่ามณฑลฝูเจี้ยนอยู่ในบริเวณเขตโซนร้อนและเป็นจุดที่กระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็นมาบรรจบกัน จึงเป็นผลให้ทะเลบริเวณดังกล่าวอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลมากมาย นอกจากนี้มณฑลฝูเจี้ยนยังเป็นแหล่งประมงที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศจีน มีปลาทะเลกว่า 500 สายพันธุ์ พื้นที่ที่สามารถทำประมงแนวชายฝั่ง 125,000 ตร.กม. โดยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หอยทะเล พืชทะเล และสัตว์น้ำทะเลอื่นๆ กว่า 2,700 ตร.กม.
ทรัพยากรแร่ธาตุ
มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ซึ่งอุดมไปด้วยแหล่งแร่ธรรมชาติกว่า 118 แห่ง ได้แก่ แหล่งแร่พลังงาน 2 แห่ง แหล่งแร่โลหะ 31 แห่ง แหล่งแร่อโลหะ 82 แห่ง และแหล่งแร่ทางทะเล 1 แห่ง นอกจากนี้ มีแร่ธาติต่างๆ อีกมากมาย เช่น ทองคำ เงิน ตะกั่ว สังกะสี แมงกานีส ดินขาวเคโอะลิน หินซีเมนต์ แกรนิต อลูไนท์ พีรอฟีไลท์ ( Pyrophyllite) ซัลเฟอร์ เป็นต้น ที่สำคัญ มณฑลฝูเจี้ยนมีปริมาณสำรองแร่หินปูนมากกว่า 700 ล้านตัน ซึ่งสามารถใช้ผลิตปูนซีเมนต์ได้อีก 200 ปี มีปริมาณสำรองหินโซ่วซาน ( Shoushan Stone – หินเนื้ออ่อน มีชื่อเรียกตามแหล่งกำเนิด ) มากเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ปริมาณสำรองของแร่ทรายควอตซ์ ( Quartz Sand) มากและมีคุณภาพดีเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ(สำหรับใช้ในการผลิตแก้ว) ปริมาณสำรองดินขาวเคโอะลินมากเป็นอันดับสามของประเทศ และยังเป็นแหล่งสำรองเหล็กที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีน
ทรัพยากรน้ำ
มณฑลฝูเจี้ยนมีแหล่งน้ำและทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มีระบบชลประทานที่มีคุณภาพ มีแม่น้ำ 663 สาย ความยาวของแม่น้ำรวม 13,569 กม.ที่สำคัญคือมีแม่น้ำมากที่สุดในประเทศจีน ปัจจุบัน เป็นแหล่งสำรองพลังงานน้ำอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกของประเทศ คือมีแหล่งสำรองพลังงานน้ำมากถึง 1.04 ล้านกิโลวัตต์ และยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกถึง 7.05 ล้านกิโลวัตต์
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ประวัติศาสตร์
- สมัยจั้นกั๋วหรือรัฐสัประยุทธ์ ( 战国时期) มณฑลฝูเจี้ยนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนของชาวหมิ่นเยว่ (闽越国) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศ(ดินแดน)ที่มีกำลังทหารแข็งแรงที่สุดและมีความเจริญที่สุดในเขตภาคตะวันออกของจีน
- ราชวงศ์ฉิน ประเทศหมิ่นเยว่ (闽越国) กลายเป็นประเทศราชภายใต้อาณัติของราชวงศ์ฉิน โดยใช้ชื่อเป็นเขตหมิ่นจง (闽中郡)แทน โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่อู่อี๋ซาน(武夷山)
- ราชวงศ์ฮั่น ประเทศหมิ่นเยว่ถูกทำลาย ก่อนตั้ง เขตปกครองระดับอำเภอแห่งแรกของมณฑลฝูเจี้ยนขึ้นมาชื่อว่า เขตหุ้ยจี(会稽郡)หรือนครฝูโจวในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นราชวงศ์ฮั่นต้องการปกครองประเทศหมิ่นเยว่อย่างเบ็ดเสร็จจึงนำชาวฮั่นจำนวนมากอพยพเข้ามาอาศัยในมณฑลฝูเจ้ยน
- ราชวงศ์ซ่ง มณฑลฝูเจี้ยนมีเขตการปกครองรวม 8 เขต ดังนั้นจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ ปาหมิ่น”(八闽)การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของฝูเจี้ยนรุ่งเรืองอย่างมาก การค้าทางทะเลที่เจริญทำให้เมืองเฉวียนโจวกลายเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของโลกตะวันออก และเป็นจุดกำเนิดของเส้นทางสายไหมทางทะเล
- ราชวงศ์หยวน เมืองเฉวียนโจวได้พัฒนาเป็นเมืองท่าสากล มีการทำการค้ากับชาวอาหรับและเปอร์เซีย ทำให้ศาสนาอิสลามเข้าสู่จีนเป็นครั้งแรกผ่านเมืองท่าแห่งนี้ ซึ่งมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลืออยู่ถึงปัจจุบัน คือ มัสยิดที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดของจีน และศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกได้ผ่านเข้าสู่จีนทางเมืองเฉวียนโจวเช่นเดียวกัน
- ราชวงศ์หมิง ทางการได้ออกนโยบายห้ามกิจกรรมทางทะเล “Ocean Forbidden” เพื่อป้องกันปัญหาโจรสลัดปล้นระดมเรือสินค้า ทำให้กิจกรรมการลักลอบขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และเกิดกระแสการอพยพออกนอกประเทศของชาวจีนโพ้นทะเล
- ราชวงศ์ชิง ไต้หวันกลายเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลฝูเจี้ยน ก่อนที่จะถูกยึดครองโดยเนเธอร์แลนด์ ซึ่งภายหลังโคซิงกาหรือเจิ้งเฉิงกงได้กอบกู้กลับมา ต่อมามีชาวฮั่นจากเฉวียนโจวและจางโจวจำนวนมากอพยพไปยังไต้หวัน -ฝูโจว (福州) และเมืองเซี่ยเหมิน (厦门) กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองท่าที่สำคัญ 5 แห่งของประเทศซึ่งรวมถึงกว่างโจว (广州) หนิงโป (宁波) และเซี่ยงไฮ้ (上海 ) ที่ถูกกำหนดให้เปิดทำการค้ากับต่างชาติตามสนธิสัญญานานกิง (南京条约)
- ในยุคราชวงศ์หมิงและชิง อุตสาหกรรมผ้าไหม น้ำตาล ชา การต่อเรือ และการทำกระดาษของมณฑลฝูเจี้ยนมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการดำเนินนโยบาย “ห้ามประกอบการค้าระหว่างประเทศ” เศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อประเทศจีนเข้าสู่ยุคกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา
ประเพณีวัฒนธรรม
ศักการะเจ้าแม่มาจู่ ชากังฟู การแข่งเรือมังกร เทศกาลไหว้พระจันทร์ งิ้วท้องถิ่น เครื่องแต่งกายสาวชาวหุ้ยอัน ฯลฯ
การปกครอง
มณฑลฝูเจี้ยนประกอบด้วย 9 เมืองคือ ฝูโจว(福州)เซี่ยเหมิน(厦门)จางโจว(漳州)เฉวียนโจว(泉州)ผู่เถียน (莆田)ซานหมิง(三明)หนานผิง(南平)หลงเหยียน(龙岩)และหนิงเต๋อ(宁德)และมี 72 อำเภอ โดยมีฝูโจวเป็นเมืองหลวงของมณฑล
ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในจีน http://thaibizchina.thaiembassy.org/thaibizchina/th/china-info/country/fujian/index.php
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น