วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2554
คำแนะนำในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแอฟริกาใต้
คำแนะนำในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแอฟริกาใต้
ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทัศนียภาพที่สวยงาม หลากหลาย และอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังมีเมืองใหญ่หลายเมืองที่มีศูนย์การค้า ร้านอาหาร และแหล่งจับจ่ายใช้สอยให้ท่านไปเยี่ยมเยือนได้ตลอดระยะเวลาการเดินทาง
เพื่อให้การเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้ของท่าน เป็นประสบการณ์ที่สนุกและประทับใจ ขอให้ท่านศึกษาข้อมูลในเอกสารนี้ให้ครบถ้วน และพึงปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงอันอาจเกิดขึ้นจากการเดินทางไปต่างประเทศทุกประเทศ ไม่เฉพาะแต่เพียงประเทศแอฟริกาใต้เท่านั้น
ข้อมูลด้านอาชญากรรม
1. ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่า นักท่องเที่ยวจากประเทศไทยประสบเหตุอาชญากรรมร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตในแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ดี เช่นเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศทั่วโลก นักท่องเที่ยวมักตกเป็นเป้าหมายหนึ่งของอาชญากรท้องถิ่น จึงเคยมีนักท่องเที่ยวไทยหลายรายถูกฉกชิงวิ่งราว ขโมยสัมภาระสิ่งของ และปล้นจี้ ท่านจึงควรใช้ความระแวดระวังอย่างสูงในระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศแอฟริกาใต้ (ประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราอาชญากรรมสูง โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ ได้จัดให้แอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีอัตราการฆาตกรรมโดยใช้อาวุธปืนสูงเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 32 ประเทศที่มีการสำรวจระหว่างปี ค.ศ. 1998 – 2000)
2. การจี้ปล้น ข่มขืน และปล้นโดยใช้อาวุธปืนเกิดขึ้นบ่อยครั้งในแอฟริกาใต้ (แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในชุมชนแออัดที่อยู่ห่างไปจากสถานที่ท่องเที่ยว) ในส่วนที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยว มีบางกรณีที่อาชญากรปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Tourist Police) เพื่อรีดไถและปล้นนักท่องเที่ยว หรือเรียกตรวจรถนักท่องเที่ยว รวมทั้งรถโดยสารขนาดใหญ่ของนักท่องเที่ยว เพื่อทำทีเป็นตรวจสอบหนังสือเดินทางและสัมภาระ ก่อนที่จะขโมยเงินสดและของของมีค่า หรือจี้ปล้นชิงรถยนต์ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปด้วย ทั้งนี้ มีรายงานว่า นักท่องเที่ยวบางรายถูกปล้นและทำร้ายร่างกายหลังจากถูกมอมยาในเครื่องดื่ม
3. ตามสถิติ พบว่า อัตราการก่อเหตุอาชญากรรมจะสูงขึ้นในยามวิกาล ในเขตใจกลางเมืองของเมืองใหญ่ต่างๆ และในย่านชุมชนแออัด โดยเขตที่มีความอันตรายสูงได้แก่ เขตใจกลางนครโจฮันเนสเบิร์ก (เขต Berea และเขต Hillbrow) เขตใจกลางกรุงพริทอเรีย (เขต Sunny Side และเขต Mamelodi) และตามชายหาดในเขตต่างๆ ของเมืองเดอร์บัน
4. ระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ และระหว่างเมืองใหญ่โดยทางถนนยังมีจำกัด และผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น มีรายงานการทำร้ายร่างกายและการปล้นชิงทรัพย์ในรถแท็กซี่ รถตู้ขนส่งมวลชน และรถไฟ (metros) เส้นทางระหว่างนครโจฮันเนสเบิร์ก-กรุงพริทอเรีย และในเมืองเคปทาวน์
ข้อควรปฏิบัติก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางถึงประเทศแอฟริกาใต้
1. ก่อนเดินทางออกจากประเทศไทย โปรดขอชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ที่จะมารับท่านที่ท่าอากาศยาน (รวมทั้งหมายเลขบัตรประจำตัว หากเป็นไปได้) เพื่อตรวจสอบผู้มารับเมื่อเดินทางถึงแอฟริกาใต้ และป้องกันการถูกมิจฉาชีพในคราบผู้ต้อนรับหลอกลวงไปชิงทรัพย์ ทั้งนี้ ไม่ควรรับความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้าที่เสนอจะพาไปยังที่พัก
2. หุ้มกระเป๋าเดินทางของท่านด้วยพลาสติก (มีบริการนี้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) และหลีกเลี่ยงการใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ และของมีค่าอื่นๆ ไว้ในกระเป๋าเดินทางที่จะนำลงใต้ท้องเครื่อง เนื่องจากมีรายงานการขโมยกระเป๋าเดินทางและการลักลอบเปิดกระเป๋าเดินทางเพื่อขโมยของที่ท่าอากาศยาน
3. หลีกเลี่ยงการพกเงินสดจำนวนมากไปประเทศแอฟริกาใต้ โปรดระลึกเสมอว่า ในทุกขณะตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน (รวมถึงในบริเวณท่าอากาศยาน) อาจมีมิจฉาชีพจับตาดูเพื่อต้องการทราบว่าท่านมีเงินสดติดตัวมากน้อยเพียงใด หากเป็นไปได้ พยายามใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต/บัตรเครดิต ซึ่งสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวางในการเบิกเงินสด (VISA, MASTERCARD, PLUS, CIRRUS, MAESTRO) ในร้านค้า ร้านอาหาร และธุรกิจเกือบ ทุกแห่ง โดยไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องใช้จ่ายเป็นจำนวนอย่างน้อยเท่าไร
4. หลีกเลี่ยงการแลกเงินหรือขึ้น Traveler’s Cheque ที่ท่าอากาศยาน ทั้งในบริเวณโถงผู้โดยสารขาเข้าและส่วนอื่นๆ ของอาคาร เพราะท่านอาจตกเป็นเป้าของอาชญากร การแลกเปลี่ยนเงินตราและเก็บเงินเข้ากระเป๋าควรกระทำด้วยความแนบเนียน ระมัดระวัง และรอบคอบ หากเป็นไปได้ควรซื้อ traveler’s cheque จากธนาคารในประเทศไทยในสกุลเงินหลักของโลก อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ หรือยูโร ทั้งนี้ ท่านสามารถแลกเงินหรือ Traveler’s Cheque ได้ที่ธนาคารหรือร้านแลกเงินในศูนย์การค้าหลักของเมือง (นครโจฮันเนสเบิร์ก ที่ Sandton City / กรุงพริทอเรีย ที่ Brooklyn Mall / เมืองเคปทาวน์ ที่ V&A Waterfront Mall / เมืองเดอร์บัน ที่ Gateway Mall)
5. เมื่อเดินทางโดยรถยนต์ ควรปิดล็อคประตูรถตลอดเวลา ไม่ควรเปิดหน้าต่าง และไม่วางสิ่งของมีค่าไว้ในที่ที่มองเห็นได้สะดวก ขโมยในคราบของผู้ขายของตามท้องถนนหรือขอทานจะมุ่งเป้าไปยังรถยนต์ที่ติดการจราจรอยู่บนทางออกถนนหลวงสายหลัก (highway off-ramp) หรือตามสี่แยกไฟแดง ทั้งนี้ มีรายงานว่า อาชญากรนำก้อนหิน ขยะ หรือสิ่งกีดขวางวางบนถนน รวมทั้งขับรถยนต์ชนท้ายรถเป้าหมาย เพื่อให้หยุดรถยนต์ก่อนจี้ปล้น หากประสบสถานการณ์ดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการออกจากรถ และควรเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น ทั้งนี้ มีอุบัติเหตุบนถนนหลวงสายหลัก (highway) บ่อยครั้ง
6. ระหว่างการเดินทาง ควรหมั่นสังเกตว่า มีรถยนต์/รถจักรยายนต์ติดตามท่านมาหรือไม่ โดยเฉพาะในช่วงก่อนจะขึ้นและลงรถ หากไม่มั่นใจหรือผิดสังเกต ให้แจ้งคนขับรถหรือผู้นำเที่ยวของท่านทันที
7. ไม่ควรละสายตาจากสัมภาระ โดยเฉพาะกระเป๋าหิ้ว เครื่องคอมพิวเตอร์พกพา และโทรศัพท์มือถือซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการฉกชิงและลักขโมย
8. การเข้าพักในโรงแรมควรปฏิบัติตามหลักสามัญสำนึกในการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เช่น ไม่เปิดประตูห้องทิ้งไว้ ล็อคประตูห้องตลอดเวลา และไม่เปิดประตูห้องให้ผู้มาเยือนโดยไม่แน่ใจว่าเป็นคนรู้จัก ควรหลีกเลี่ยงการวางของมีค่าในห้องพักโดยไม่มีการป้องกันที่ดี และควรหลีกเลี่ยงการเดินออกนอกโรงแรมโดยลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกาล
9. หากท่านประสงค์จะใช้บริการผู้นำเที่ยวโดยไม่ได้ติดต่อล่วงหน้ามาจากประเทศไทย ขอให้ใช้บริการ ผู้นำเที่ยวที่โรงแรมแนะนำ หรือเดินทางไปกับบริษัทนำเที่ยวที่มีชื่อเสียงและไว้ใจได้เท่านั้น โปรดหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเขตชุมชนแออัดซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวด้วยตนเอง
ข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในการเดินทางไปประเทศแอฟริกาใต้
การเดินทางบนท้องถนน
- ถนนในประเทศแอฟริกาใต้โดยรวมมีสภาพดี ขณะนี้ ทางหลวงสายหลักของแอฟริกาใต้มีการปรับปรุงซ่อมแซมทั่วทั้งประเทศ กอปรกับผู้ใช้ถนนมักจะขับขี่ด้วยความเร็วสูง ผู้ขับขี่จึงควรใช้ความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามวิกาล และในช่วงที่สภาพการจราจรหนาแน่น ซึ่งอาจมีการหยุดกระทันหันของรถคันหน้าได้ทุกเมื่อ
ด้านสุขภาพ
- บริการด้านการแพทย์ในโรงพยาบาลเอกชนของประเทศแอฟริกาใต้มีมาตรฐานสูง แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ก่อนเดินทางออกจากประเทศไทย ควรซื้อประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุที่ครอบคลุมประเทศแอฟริกาใต้ติดตัวไป
- ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวของท่านเกี่ยวกับมาตรการป้องกันรักษาโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนก่อนออกเดินทาง และควรปรึกษากระทรวงสาธารณสุข สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โรงพยาบาลบำราษฎร์นราดูร เรื่องวัคซีนที่จำเป็นในการเดินทางไปแอฟริกาใต้ หรือภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- รัฐบาลแอฟริกาใต้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์ โดยมีการแถลงเป็นวาระแห่งชาติ และกำลังดำเนินการอย่างแข็งขันเพื่อให้นโยบายดังกล่าวสัมฤทธิผลทันที เนื่องจากที่ผ่านมาอัตราการติดเชื้อเอดส์ในประเทศแอฟริกาใต้มีสูง
- ยังคงมีการพบอหิวาตกโรคในบางพื้นที่ในประเทศแอฟริกาใต้ และมีการระบาดร้ายแรงของโรค เป็นครั้งคราว ท่านจึงควรดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีการกรองให้สะอาด หรือน้ำที่ต้มสุก และหากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำแข็งและอาหารที่ปรุงไม่สุก
- โรคมาลาเรียยังพบได้ในเขตห่างไกลในภาคเหนือและภาคตะวันออกของแอฟริกาใต้ รวมถึง อุทยานแห่งชาติครูเกอร์ (Kruger National Park) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวซาฟารีที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ แอฟริกาใต้ยังคงมีเขตแนวชายแดนระหว่างโมซัมบิกและซิมบับเว ระยะทาง 90 กิโลเมตร ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการติดโรคมาลาเรีย
ความไม่สงบทางการเมือง
สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศแอฟริกาใต้มีเสถียรภาพ แต่การประท้วงและการนัดหยุดงานเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว โปรดติดตามข่าวสารท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดหรือติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อรับข้อมูลดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีการชุมนุมประท้วงหรือนัดหยุดงาน เนื่องจากอาจเกิดเหตุการณ์รุนเรง ทั้งนี้ ยังไม่พบว่า มีคนไทยเคยได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการชุมนุมใดๆ ในแอฟริกาใต้
หากท่านประสบเหตุฉุกเฉินหรือต้องการความช่วยเหลือ โปรดติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย ได้ที่หมายเลขต่อไปนี้
หมายเลขฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ติดต่อ
1) นายอิสระ ปัทมะสุคนธ์ เจ้าหน้าที่กงสุล ที่หมายเลข 082 923 6179 (หากโทรจากประเทศไทย หรือนอกประเทศแอฟริกาใต้ โปรดกด +27 82 923 6179)
2) นายวัฒนา ฉัตรทอง ที่หมายเลข 082 570 3107 (หากโทรจากประเทศไทย หรือนอกประเทศแอฟริกาใต้ โปรดกด +27 82 570 3107)
3) นายกุฎาธาร นาควิโรจน์ ที่หมายเลข 082 709 7854 (หากโทรจากประเทศไทย หรือนอกประเทศแอฟริกาใต้ โปรดกด +27 82 709 7854)
4) นายพิษณุ โสภณ ที่หมายเลข 082 567 5569 (หากโทรจากประเทศไทย หรือนอกประเทศแอฟริกาใต้ โปรดกด +27 82 567 5569)
อีเมล์ฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ติดต่อ thaiembassy@thaiembassy.co.za
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย (ระหว่าง 09.00-12.00น. และ 13.30-17.00 น.) ที่หมายเลข 012 342 4600 ต่อ 27 หรือ 46 (หากโทรจากประเทศไทย หรือนอกประเทศแอฟริกาใต้ โปรดกด +27 12 342 4600 ต่อ 27 หรือ 46)
ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย http://www.thaiembassy.co.za/Content.aspx?Token=06c652ed18c3f82d2809cc90347ef2fa&MenuID=139
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น