การทำงานในรัสเซีย
ก่อนจะทำงานในรัสเซียต้องผ่านขั้นตอนหลักๆ 3 ขั้น ดังนี้
1. ขออนุญาตทำงานกับทางการรัสเซีย
2. ขอวีซ่าประเภททำงาน
3. เซ็นสัญญาทำงาน
ขั้นที่ 1 ขออนุญาต
1. บริษัททำเรื่องขอจ้างงานบุคคลต่างด้าว แก่ศูนย์การจ้างงานรัสเซีย (Центр занятости) ในอำเภอหรือท้องที่ที่บริษัทผู้จ้างนั้นตั้งอยู่ โดยระบุสาเหตุที่จำเป็นต้องจ้างบุคคลต่างชาติ ตำแหน่ง รายละเอียดและเงื่อนไขการจ้างงาน เงินเดือน ซึ่งมีแบบฟอร์มให้ผู้จ้างนั้นกรอกอยู่แล้ว
2. ส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยบริหารท้องที่นั้นที่บริษัทตั้งอยู่ เพื่อขอคำพิจารณาการรับบุคคลต่างด้าวมาทำงานในท้องที่ดังกล่าว
3. หน่วยบริหารท้องที่นั้นส่งเรื่องต่อไปที่กรมจัดหางาน Департамент Федеральной государственной службы занятости населения (Department of Federal State service for population profession) เพื่อสรุปผลเป็นขั้นสุดท้าย อ้างอิงตามความเห็นของ ศูนย์การจ้างงานรัสเซีย (ข้อ 1.) และหน่วยบริหารท้องที่ (ข้อ 2.) ว่าเห็นสมควรอนุญาตบุคคลต่างด้าวนั้นมาทำงานหรือไม่ เพื่อคงสมดุลยภาพระหว่างแรงงานท้องถิ่นและแรงงานต่างด้าวทั่วทั้งประเทศรัสเซีย เมื่ออนุมัติแล้ว (ภายใน 3 วัน) หน่วยงานดังกล่าวจะส่งคำอนุมัติแก่บริษัทผู้จ้าง
4. บริษัทส่งเรื่องพร้อมคำอนุมัติการจ้างงานบุคคลต่างด้าวจากกรมจัดหางาน ไปยังกองตรวจคนเข้าเมืองФедеральная миграционная служба (Federal Migration Services) หรือ ФМС (FMS) หน่วยงานดังกล่าวจะออกเอกสาร 2 ฉบับ คือ
1. ใบอนุญาตจ้างงานแก่ผู้จ้าง เพื่ออนุญาตบุคคลต่างด้าวเข้ามาทำงานในรัสเซีย
2. ใบอนุญาตแก่ผู้รับจ้าง เป็นบัตรพลาสติก มีตราของ ФМС (FMS) ออกให้ 1 คน ต่อบัตร 1 ใบ บัตรนี้มีอายุ 1 ปีเท่านั้น บัตรใช้เพื่ออ้างอิง 1) การทำ Registration หรือการลงทะเบียนถิ่นพำนักชั่วคราวในท้องที่อาศัยของผู้รับจ้าง และ 2) การขอวีซ่าของผู้รับจ้างเพื่อเข้าประเทศรัสเซียด้วย ในวีซ่าจะระบุชื่อบริษัทผู้จ้างที่ตรงกับในบัตรพลาสติกนี้
5. กองอนุญาตเข้าเมืองกระทรวงมหาดไทย (Управление по делам миграции ГУВД г. Москвы) จะรับข้อมูลจากกองตรวจคนเข้าเมืองนี้ เพื่อทำใบเชิญในการขอวีซ่าเข้ารัสเซีย เป็นกระดาษสีเหลือง ระบุวันเดือนปีที่จะเดินทางเข้ารัสเซีย ชื่อบริษัทผู้จ้าง เลขหนังสือเดินทางผู้รับจ้าง ชื่อผู้รับจ้างเป็นภาษาอังกฤษและภาษารัสเซีย จุดผ่านเข้าเมือง (เช่น กรุงเทพฯ – มอสโก หรือ กรุงเทพฯ – เซนต์ปีเตอร์-สเบิร์ก) วันหมดอายุใบเชิญ และอื่นๆ
เอกสารที่ใช้ในการยื่นขอคำอนุญาตเชิญบุคคลต่างด้าวเข้ามาทำงาน
• สำเนาการจดทะเบียนบริษัท รับรองโดย Notary Public 2 ชุด
• สำเนาการเสียภาษีนิติบุคคลประจำปี รับรองโดย Notary Public 2 ชุด
• สำเนาใบประกอบกิจการธุรกิจ รับรองโดย Notary Public 2 ชุด
• สำเนาใบอนุญาตจ้างบุคคลที่ 3 เพื่อประกอบอาชีพ จากกองรับรองการจดทะเบียนของรัฐ 1 ชุด
• สำเนารายได้สุทธิประจำปีของบริษัท (มากกว่า 6 เดือน) เซ็นโดยเจ้าของบริษัท และเจ้าหน้าที่การคลัง และประทับตราของบริษัทนั้น 1 ชุด
• โครงสร้างตำแหน่งงานของบริษัท 1 ชุด
• สำเนาสัญญาจ้างงานกับผู้รับจ้าง 1 ชุด
• สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของผู้รับจ้าง 1 ชุด
• ใบรับรองแพทย์ ตรวจผ่านโรค เอดส์ วัณโรค ซิฟิลิส ไทกอ ฯลฯ
ขั้นที่ 2 ขอวีซ่า
เมื่อจะทำงานในรัสเซีย ก็ต้องมี “วีซ่าเพื่อการทำงาน” เท่านั้น
ตามกฎหมายของรัสเซีย จะสามารถขอรับวีซ่าและเดินทางมาทำงานในรัสเซียได้ ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตทำงาน คือ “บัตรพลาสติกประจำตัวผู้รับจ้าง” ซึ่งก็คือ “Work-Permit” การขอใบอนุญาตดังกล่าว ผู้จ้างของคุณ (ไม่ว่าจะเป็นบริษัทรัสเซียหรือบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนถูกต้องรัสเซีย) เป็นผู้เตรียมเอกสารและดำเนินการกับหน่วยงานรัฐของรัสเซียเอง เมื่อได้รับใบอนุญาตมาทำงานแล้ว คุณจึงจะเดินทางมาทำงานได้
เอกสารสำคัญเพื่อขอวีซ่าทำงาน...
1. หนังสือเดินทาง มีอายุใช้งานไม่ต่ำกว่า 1 ปี 6 เดือน
2. บัตรพลาสติกประจำตัวผู้รับจ้าง หรือ Work-Permit ออกโดย Федеральная миграционная служба (Federal Migration Services) หรือ ФМС (FMS)
3. หนังสือเชิญ ออกโดยกระทรวงมหาดไทย
4. ใบรับรองการตรวจเอดส์และโรคอื่นๆ เฉพาะในกรณีที่เอกสารหนังสือเชิญ (ข้อ 3.) มีอายุเกินกว่า 3 เดือน ณ วันที่ยื่นเอกสารขอวีซ่านั้น
เอกสารในข้อ 2., ข้อ 3. ผู้จ้างเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินเอกสารทั้งหมดเพื่อขออนุญาตให้คุณมาทำงานอย่างถูกต้องในรัสเซีย ผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการด้วยตนเองได้
วีซ่าที่สามารถออกให้เพื่อเข้ามาทำงานนั้น เป็นประเภท Working Visa มีอายุไม่เกิน 1 ปี ส่วนใหญ่ออกให้ 3 เดือน เพื่อเข้ามาต่ออายุเป็นปีต่อปีในประเทศรัสเซีย ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสถานทูตรัสเซีย
การต่อวีซ่า เมื่อเข้ามาทำงานในรัสเซียโดยวีซ่าเพื่อการทำงานนั้นแล้ว สามารถต่อวีซ่าได้ปีต่อปี โดยไม่ต้องออกนอกประเทศ บริษัทผู้จ้างนั้นเป็นผู้ดำเนินการ
เมื่อเดินทางมาแล้ว ผู้รับจ้างแค่มอบหนังสือเดินทางและเอกสารการเข้าเมืองอื่นๆ (บัตร Migration Card และใบ Registration ลงทะเบียนพำนักในรัสเซีย) เพื่อให้ผู้จ้างดำเนินการรีจิสเตอร์ตามกฎหมาย ผู้รับจ้างดำเนินการเองมิได้
ขั้นที่ 3 สัญญาจ้างงาน
สัญญาการจ้างงาน คือ การตกลงหรือเห็นพ้องระหว่างทั้งสองฝ่าย ได้แก่ ผู้จ้าง และผู้รับจ้าง ผู้จ้างมีหน้าที่มอบหมายงานและจ่ายค่าตอบแทนการทำงานแก่ผู้รับจ้างตามที่ตกลงเงื่อนไขในสัญญา ส่วนผู้รับจ้างมีหน้าที่ปฏิบัติงานตามระเบียบและขั้นตอนในองค์กร หรือตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากผู้จ้าง
สัญญาที่ดี (ส่วนที่ 3 บทที่ 10 มาตราที่ 57 / часть 3, глава 10, статья 57, ТК РФ) ควรมีรายละเอียด ดังนี้
• ชื่อ นามสกุลจริงของผู้รับจ้างและผู้จ้าง
• เอกสารหลักฐานประกอบ แสดงความเป็นตัวตนของผู้รับจ้างและผู้จ้างนั้นๆ เช่น พาสปอร์ตสำหรับใช้ในประเทศสำหรับผู้จ้างชาวรัสเซีย หรือบัตรประชาชนสำหรับผู้รับจ้างชาวไทย รวมทั้งเอกสารอื่นๆ ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่า ผู้จ้างนั้นเป็นบุคคลที่ประกอบธุรกิจโดยชอบตามกฎหมาย และมีสิทธิจ้างบุคคลต่างชาติเข้ามาทำงาน)
• สถานที่ทำงานรับจ้าง
• วัน เวลาที่ลงนามในสัญญา
• วันที่สัญญาเริ่มมีผลบังคับใช้และยุติ
• ตำแหน่งหน้าที่ของผู้รับจ้างให้ปฏิบัติงาน ซึ่งระบุในกฎหมายว่าบุคคลต่างด้าวนั้นสามารถทำได้ พร้อมสิทธิและข้อจำกัดต่างๆ ตามหน้าที่นั้น
• สิทธิที่พึงได้ และ ข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ สำหรับผู้จ้าง
• สิทธิที่พึงได้ และ ข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติ สำหรับผู้รับจ้าง
• เงื่อนไขการปฏิบัติงาน และค่าชดเชยตามลักษณะงานนั้น
• เงื่อนไขชั่วโมงทำงาน วันทำงาน และวันหยุดประจำสัปดาห์
• เงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน ตามตำแหน่งงาน บำเหน็จรางวัล โบนัสประจำเดือนหรือปี และข้อเสนอรางวัลต่างๆ
• ประกันสังคม ตามลักษณะงานนั้น
• เงื่อนไขอื่นๆ เช่น ช่วงเวลาการทดลองงาน สัญญาการไม่แพร่งพรายความลับ เงื่อนไขการปฏิบัติงานหลังจากการฝึกสอนงาน (อาจมี หรือไม่มีก็ได้) ฯลฯ ทั้งนี้ เงื่อนไขนั้นๆจะต้องไม่เป็นการลด กีดกัน จำกัดสิทธิต่างๆที่ผู้รับจ้างมีสิทธิได้ตามสัญญานั้นๆ
สัญญาต้องมีลักษณะ (ส่วนที่ 3 บทที่ 11 มาตราที่ 67 / часть 3, глава 11, статья 67, ТК РФ)
1) จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร
2) จัดทำเป็น 2 ฉบับ รายละเอียดทุกส่วนครบถ้วนทั้งสองฉบับเหมือนๆ กัน ลงนามรับรองข้อตกลงในสัญญาโดยทั้งฝ่าย นายจ้างและผู้รับจ้าง ฉบับหนึ่งต้องให้แก่ผู้รับจ้าง อีกฉบับหนึ่งเก็บไว้โดยนายจ้างเอง
เมื่อเกิดการตกลงว่าจ้างงาน หากผู้รับจ้างตกลงทำงาน โดยไม่มีสัญญาลงนามไว้ก่อนนั้น การว่าจ้างงานนั้นก็ยังมีผล และผู้รับจ้างต้องทำงานตามนั้น และตามกฎหมาย ฝ่ายผู้จ้างเองจะต้องทำสัญญาที่ถูกต้องเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้รับจ้างภายในระยะเวลา 3 วัน นับจากวันที่ผู้รับจ้างเข้าทำงานจริง
หากนายจ้างไม่ยอมทำสัญญาจ้างงานที่ถูกต้อง ผู้รับจ้างมีสิทธิยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมได้กับหน่วยงานตรวจสอบแรงงานรัฐหรือศาลได้
การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในสัญญาจ้างงาน
ผู้จ้างจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้รับจ้างรับทราบรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงจากสัญญาจ้างงานเดิม ภายในระยะเวลา 2 เดือน ก่อนการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มมีผล (ส่วนที่ 3 บทที่ 12 มาตราที่ 73 / часть 3, глава 12, статья 73, ТК РФ)
การปรับลด/เพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือน ก็ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดสัญญาจ้างงาน เมื่อจะปรับหรือลด ควรทำสัญญาใหม่ พร้อมระบุอัตราใหม่ โดยยินยอมกันทั้งสองฝ่ายและลงนามรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง (มาตราที่ 72 ของกฎหมายแรงงานรัสเซีย / статья 72, ТК РФ)
กรณีที่ทั้งสองฝ่ายต้องการยกเลิกสัญญา
การยุบ แยก รวม เปลี่ยนชื่อบริษัท ฯลฯ มักนำไปสู่การปลด และการยุติสัญญาระหว่างผู้จ้างและผู้รับจ้าง ในกรณีนี้ ทั้งสองฝ่าย คือ ผู้จ้างและผู้รับจ้างต้องยินยอมต่อกันและกันแล้วเท่านั้น ตามหลักแล้ว ในกรณีที่ยกเลิกสัญญาก่อนกำหนด ตามปกติ ผู้จ้างมักเสนอค่าตอบแทนส่วนหนึ่งตามแต่ตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย เพื่อแลกกับการยุติสัญญาอันเป็นผลพวงจากการยุบ รวมบริษัทนั้นๆ เป็นต้น
การขยายบริษัท – รวมบริษัท – รวมหุ้น – แยกบริษัท – เปลี่ยนชื่อบริษัท และการเปลี่ยนแปลงใดๆอันมีผลให้เงื่อนไขในสัญญาเปลี่ยนไป ถือว่าเข้าข่ายที่สามรรถยกเลิกสัญญาเดิมได้ หากผู้รับจ้างไม่ประสงค์จะทำงานต่อกับบริษัทเดิม สัญญาเก่าถือเป็นอันยกเลิกได้ และไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป (มาตราที่ 77 ของบทที่ 6 ของกฎหมายแรงงานรัสเซีย / часть 6, статья 77, ТК РФ)
โดยสรุปแล้ว ก่อนตกลงใจจะทำงาน ควรศึกษารายละเอียดของสัญญาให้เข้าใจครบถ้วน และเมื่อพอใจแล้วจึงเซ็นสัญญา เมื่อเซ็นแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องตระหนักว่า ทุกสิ่งที่ระบุในสัญญา ล้วนเป็นพันธะทางกฎหมาย ทั้ง สิทธิ ที่พึงได้ตามกฎหมาย และ ข้อบังคับ ที่พึงปฏิบัติอย่างครบถ้วนของทั้งสองฝ่าย การละเมิดกรณีใดๆก็ตามที่ผิดไปจากในสัญญาโดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถือเป็นการกระทำผิดทางกฎหมายได้ และสามารถนำไปสู่บทลงโทษตามกฎหมายทั้งสิ้น
การจ่ายค่าแรงในรัสเซีย
การจ่ายเงินค่าแรงในรัสเซีย ตามกฎหมาย ผู้จ้างจ่ายไม่ต่ำกว่าทุกครึ่งเดือน โดยจ่าย ณ วันที่ตกลงไว้ในสัญญาจ้างงาน กรณีที่จ่ายเป็นรายเดือนไม่ถือว่าผิด แต่ให้ระบุในสัญญาและลงนามตามเห็นชอบทั้งฝ่ายผู้จ้างและผู้รับจ้าง (มาตราที่ 136 บทที่ 6 / часть 6, статья 136, ТК РФ)
ผู้จ้างไม่มีสิทธิใดๆ ทั้งสิ้นที่จะไม่จ่ายเงินหรือจ่ายเงินล่าช้าแก่คุณ และไม่มีสิทธิอ้างปัญหาการดำเนินเอกสารของผู้รับจ้างไม่ครบ เพื่อจ่ายค่าแรงล่าช้าหรือไม่จ่ายค่าแรง กรณีนี้ ผู้รับจ้างสามารถฟ้องร้องได้
กรณีที่ผู้จ้างจ่ายเงินล่าช้ากว่า 15 วันขึ้นไป นับจากวันที่ควรได้รับ ผู้รับจ้างสามารถหยุดทำงาน หลังจากที่แจ้งเตือนผู้จ้างเรื่องการค้างจ่ายค่าแรงเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว (กฎหมายมาตราที่ 142 บทที่ 2 / часть 2, статья 236, ТК РФ) แต่ต้องกลับมาทำงานตามปกติในทันทีเมื่อผู้จ้างจ่ายเงินแล้ว หรือหลังจากวันที่ได้รับคำมั่นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้จ้างว่าจะจ่ายค่าตอบแทนแน่นอน
การค้างจ่ายค่าแรง คือ การที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากผลการทำงาน ตามสิทธิที่ควรได้ ทั้งเต็มมูลค่า หรือกึ่งหนึ่งของมูลค่าที่พึงได้ (มาตราที่ 145.1 / статья 145.1, ТК РФ) การค้างจ่ายค่าแรงเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้รับค่าตอบแทนเป็นระยะเวลามากกว่า 2 เดือนขึ้นไปนับแต่วันที่พึงได้รับนั้น
การยุติสัญญา
ปัญหาที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรัสเซีย คือ การขอยุติสัญญาก่อนกำหนด เนื่องจากไม่พอใจเงื่อนไขสัญญา หรืออยากให้ผู้จ้างแก้ไขสัญญาเป็นอย่างที่ต้องการ ซึ่งเมื่อผู้จ้างและผู้รับจ้างตกลงกันไม่ได้ ก็มักจบลงด้วยการยุติสัญญา
ในประเทศรัสเซีย สัญญาจ้างงานสามารถยุติและยกเลิกได้ (ประมวลกฎหมายแรงงาน บทที่ 13 มาตราที่ 77 / глава 13, статья 77, ТК РФ) ตามเหตุผล ดังนี้
1. เห็นชอบกันทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง (มาตราที่ 78 / глава 13, статья 78, ТК РФ)
2. สัญญาหมดอายุตามที่ระบุไว้ (ข้อที่ 2 มาตราที่ 58 / пункт 2, статья 58, ТК РФ)
3. การขอยุติสัญญาโดยการลาออก ตามความประสงค์ของผู้รับจ้าง (มาตราที่ 80 / статья 80, ТК РФ)
4. การขอยุติสัญญาโดยการไล่ออก ตามความประสงค์ของผู้จ้าง (มาตราที่ 81 / статья 81, ТК РФ)
5. การเปลี่ยนแปลงลักษณะงาน ตำแหน่ง หรือหน้าที่ตามความประสงค์ของผู้รับจ้าง หรือตามความสมัครใจของผู้รับจ้าง
6. การปฏิเสธที่จะทำงานต่อของผู้รับจ้าง จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบริหารงานในบริษัท (มาตราที่ 75 / статья 75, ТК РФ)
7. การปฏิเสธที่จะทำงานต่อของผู้รับจ้าง จากการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและ/หรือเงื่อนไขในสัญญาจ้างงานเดิม (มาตราที่ 73 / статья 73, ТК РФ)
8. การปฏิเสธที่จะทำงานต่อของผู้รับจ้าง เพราะถูกสั่งย้ายงานตามสาเหตุทางสุขภาพของผู้รับจ้าง บนพื้นฐานของคำวินิจฉัยโรคแพทย์ (มาตราที่ 72 / статья 72, ТК РФ)
9. การปฏิเสธที่จะทำงานต่อของผู้รับจ้าง เนื่องจากการย้ายสถานที่ทำงานของผู้จ้าง (มาตราที่ 72 / статья 72, ТК РФ)
10. สถานการณ์สังคมและการเมือง ซึ่งอยู่นอกเหนือจากความประสงค์ของทั้งผู้จ้างและผู้รับจ้าง (มาตราที่ 83 / статья 83, ТК РФ)
11. การละเมิดกฎหมายแรงงานหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับสภาพการทำงาน อันเป็นผลให้ไม่สามารถปฏิบัติงานตามสัญญาต่อได้ (มาตราที่ 84 / статья 84, ТК РФ)
กรณีการยกเลิกกิจการของบริษัท ผู้รับจ้างจะต้องได้รับเงินชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมาย เป็นจำนวนเงินเทียบเท่าเงินเดือนเฉลี่ยต่อ 1 เดือน และจ่ายชดเชยแก่ผู้รับจ้าง เป็นระยะเวลารวมไม่เกิน 2 เดือน ในช่วงระหว่างที่ผู้รับจ้างนั้นหางานใหม่อยู่ นับจากวันที่ถูกยุติสัญญาด้วยเหตุผลดังกล่าว
การลาออก
สิทธิขอลาออกจากบริษัทเป็นของผู้รับจ้าง สัญญาจ้างงานยกเลิกและยุติได้เมื่อผู้รับจ้างแจ้งให้ผู้จ้างรับทราบก่อนล่วงหน้าเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์ล่วงหน้า หรือตามระยะเวลาที่อาจระบุในเงื่อนไขพิเศษในสัญญาที่ทำกับบริษัท ระยะเวลาสองสัปดาห์ดังกล่าวนั้น หากผู้จ้างอนุญาต ผู้รับจ้างก็มีสิทธิไม่ต้องทำงานต่อจนครบวันที่ขอลาออกได้ (ประมวลกฎหมายแรงงานรัสเซียมาตราที่ 80 / статья 80, ТК РФ)
นอกจากนี้ ถ้าผู้รับจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่เหลือได้ เพราะเหตุผลทางสุขภาพ เป็นต้น จะต้องแสดงหลักฐานได้จริงว่าไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามปกติ
การไล่ออก
ผู้รับจ้างพึงระลึกไว้เสมอว่า กฎหมายของรัสเซียก็เปิดโอกาสให้ผู้จ้างไล่พนักงานของตนออกจากงานได้ ตามเหตุผลต่างๆ (ประมวลกฎหมายแรงงานมาตราที่ 81 / статья 81, ТК РФ) ดังนี้
1. ยกเลิกกิจการโดยบริษัท หรือการเลิกกิจการโดยบุคคลธรรมดา
2. การลดจำนวนพนักงานในบริษัท
3. หมดสมรรถภาพการทำงาน ตามความเห็นของแพทย์ หรือไม่สามารถดำเนินงานได้ตามที่ระบุในสัญญา โดยมีสาเหตุจากคุณสมบัติของตัวผู้รับจ้างเอง และมีใบรับรองว่าเป็นจริง (เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ฯลฯ)
4. หมดประสิทธิภาพการทำงาน ตามการทดสอบความสามารถ
5. การเปลี่ยนเจ้าของกิจการ
6. การที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากผู้จ้าง โดยขาดเหตุผลที่น่าเคารพ และยังคงไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ต่อไป แม้ว่าจะได้รับการตัดเตือน ถูกปรับ ลงโทษตามสัญญา แล้วก็ตาม
7. การที่ผู้รับจ้างกระทำการ ดังนี้
o ผู้รับจ้างไม่มาปฏิบัติงานเกินระยะเวลาที่กำหนดให้โดยผู้จ้าง และ/หรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้จ้าง
o ผู้รับจ้างไม่อยู่ในสถานที่ปฏิบัติงานในเวลาที่ต้องปฏิบัติงาน โดยขาดเหตุผลที่น่าเคารพ เป็นระยะเวลามากกว่า 4 ชม. ติดต่อกัน
o การดื่มสุรา เสพสารเสพติดต่างๆ หรืออยู่ในอาการมึนเมาจากสุรา หรือสารเสพติดนั้นๆ ในเวลาปฏิบัติงานหรือในสถานที่ปฏิบัติงาน
o การแพร่งพรายความลับของผู้จ้าง ที่ผู้รับจ้างรู้มาจากการปฏิบัติงาน
o การยักยอก ขโมย ทรัพย์สินในที่ปฏิบัติงานหรือทรัพย์สินของผู้จ้าง ตลอดจนทำทรัพย์สินให้เสียหาย หรือจงใจทำลายทรัพย์สินนั้นๆ ในกรณีดังกล่าว ผู้จ้างสามารถดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องส่วนที่เสียหายได้ที่หน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องได้
8. การบกพร่องในหน้าที่อันเป็นผลจากการละเลย หรือการกระทำในขณะปฏิบัติงานที่ผิดของผู้รับจ้าง อันนำมาซึ่งความเสียหายแก่ผู้จ้าง 9. การทำอนาจาร หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับหลักศีลธรรม ตลอดจนสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ชื่อเสียงของบริษัทหรือตัวผู้จ้างเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับว่าผู้รับจ้างจะกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่
10. การตัดสินใจด้วยตนเองโดยพลการ หรือละเมิด ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือการตัดสินใจจากผู้จ้างหรือหัวหน้าผู้บริหารงาน ตลอดจนผู้อำนวยการ หรือรองผู้อำนวยการ หรือหัวหน้าสาขา หรือหัวหน้าสายงาน จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้จ้างอย่างรุนแรง แม้เพียงครั้งเดียว
11. การที่ตัวแทนผู้บริหารหรือตัวแทนของผู้จ้าง ที่มีอำนาจตามหน้าที่ละเมิดการเก็บรักษาทรัพย์สินของบริษัท หรือใช้ทรัพย์สินต่างๆในทางที่ไม่เหมาะสม
12. การปฏิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้จ้างซ้ำหลายครั้ง
13. การแจ้งเอกสารเท็จแก่ผู้จ้าง หรือปลอมแปลงเอกสารเพื่อทำสัญญาจ้างงาน
14. การทำให้ความลับของทางการรั่วไหล
15. การละเมิดข้อตกลงในสัญญาจ้างงาน
16. การละเมิดส่วนหนึ่งส่วนใดในประมวลกฎหมายแรงงานสหพันธรัฐรัสเซีย
ทั้งนี้ การยกเลิกสัญญาจ้างตามเหตุผลดังที่ได้กล่าวข้างต้นนั้น มีวิธีและรูปแบบการดำเนินการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องต่อกันระหว่างทั้งฝ่ายผู้จ้างกับผู้รับจ้างเอง
หากถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม ผู้รับจ้างนั้นมีสิทธิฟ้องศาลได้ภายในช่วงระยะเวลา 1 เดือนนับจากวันที่ถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม (ประมวลกฎหมายแรงงานรัสเซียมาตราที่ 392 บทที่ 1 / часть 1, статья 392, ТК РФ)
หากศาลปฏิเสธที่จะรับฟังคำร้องของผู้รับจ้างนั้นไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม สามารถยื่นเรื่องต่อสำนักงานตรวจสอบแรงงานรัฐ (Государственная инспекция труда) หรือสำนักงานอัยการรัฐได้
อนึ่ง แม้ว่าผู้รับจ้างที่มีสิทธิขอลาพักร้อน คือผู้รับจ้างที่ทำงานเกินกว่า 6 เดือนในปีแรกของสัญญาจ้างงาน กระนั้น ค่าชดเชยสำหรับจำนวนวันพักร้อนนี้ ผู้จ้างก็ต้องจ่ายแก่ผู้รับจ้างงาน แม้ว่าบุคคลนั้นจะยังทำงานได้ไม่เกิน 6 เดือนในปีแรกของสัญญาจ้างงาน
การทำงานล่วงเวลา
การทำงานล่วงเวลา คือ งานที่เกิดขึ้นและปฏิบัติโดยผู้รับจ้าง ตามความประสงค์ของผู้จ้าง ภายในช่วงเวลาที่เกินกว่าเวลาต่อเนื่องตามที่ระบุในสัญญาว่าเป็นเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะตามวัน หรือตามชั่วโมง หรือเป็นกะเวร การทำงานล่วงเวลายังรวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา ในวันที่ไม่ได้ระบุในสัญญาว่าเป็นวันทำงานปกติ (ประมวลกฎหมายแรงงานรัสเซียมาตราที่ 99 / статья 99, ТК РФ)
บุคคลที่ไม่สามารถทำงานล่วงเวลาได้ ตามประมวลกฎหมายแรงงานรัสเซีย:
• ผู้หญิงตั้งครรภ์
• บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี
• คนพิการ
• ผู้หญิง ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 3 ขวบ
การทำงานล่วงเวลา ทำได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ต่อระยะเวลา 48 ชั่วโมง และคิดเป็นจำนวนทั้งหมดไม่เกิน 120 ชั่วโมง ต่อ 1 ปี
การเดินทางออกจากรัสเซียเพื่อไปฝึกงานหรือทำงานตามที่ได้รับมอบภารกิจในต่างประเทศ
การเดินทางออกนอกประเทศในเขตปกครองของสหพันธรัฐรัสเซียตามที่บุคคลต่างด้าวผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ทำงาน เพื่อการฝึกงานหรือปฏิบัติภารกิจตามมอบหมาย จะต้องไม่เกินระยะเวลา 10 วัน ตราบที่สิทธิการทำงานในรัสเซียยังมีผลตามกฎหมาย และ/หรือ ในกรณีที่บุคคลต่างด้าวผู้นั้นได้รับอนุญาตให้พำนักชั่วคราวนั้น จะต้องไม่เกินระยะเวลา 40 วัน ภายในช่วงเวลา 12 เดือนติดต่อกันในปฏิทิน (รัฐกำหนดของสหพันธรัฐรัสเซีย ลงวันที่ 17 ก.พ. 2007 ฉบับที่ 97 / Постановление Правительства РФ от 17 февраля 2007 № 97
ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก http://th.thaiembassymoscow.com/info/?section=s2#การทำงานในรัสเซีย