วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การปกป้องคุ้มครองและดูแลแรงงานไทย

นายจักร บุญ-หลง อธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ


การปกป้องคุ้มครองและดูแลแรงงานไทย

นายจักร บุญ-หลง อธิบดีกรมการกงสุลแถลงว่า ในปี 2553 แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศมีจำนวนประมาณ 469,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในต่างประเทศ โดยแรงงานไทยเหล่านี้เดินทางไปประกอบอาชีพในภาคบริการ ภาคการผลิต และภาคแรงงานฝีมือตามลำดับ

นายจักรกล่าวว่า แรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเรียงลำดับความมากน้อย ปริมาณของแรงงาน ดังนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก (ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน) ภูมิภาคตะวันออกกลาง (กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับและอิสราเอล ภิมภาคแอฟริกา (ลิเบีย แอลจีเรีย แอฟริกาใต้) ภูมิภาคยุโรป (สเปน โปรตุเกส สวีเดน) และภูมิภาคแปซิฟิกใต้ (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์)

ปัญหาที่แรงงานไทยในต่างประเทศประสบได้แก่การขาดความพร้อมในการเตรียมตัวไปทำงานในต่างประเทศ การขาดสุขลักษณะของแรงงานไทย การตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในประเด็นการถูกเอารัดเอาเปรียบโดยถูกเรียกเก็บค่าบริการอัตราสูงจากบริษัทจัดหางานผิดกฎหมาย การไปทำงานในภาคเกษตรในต่างประเทศที่มีความไม่แน่นอน การถูกนายจ้างต่างประเทศฉ้อโกงค่าจ้าง และความไม่ยืดหยุ่นของการใช้เงินกองทุนช่วยเหลือคนงานไปทำงานในต่างประเทศ

นายจักรแถลงด้วยว่า โดยที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานที่รับรู้ปัญหาต่างๆของแรงงานไทยที่ปลายทางเมื่อประสบกับความเดือดร้อนและเข้ามาร้องเรียนขอรับความช่วยเหลือ จึงมองเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างประสิทธิภาพในการปกป้องคุ้มครองดูแลแรงงานไทย โดยเฉพาะการให้ความรู้และการเตือนภัยตั้งแต่ต้นทางควบคู่ไปกับการคุ้มครองแรงงานไทยเมื่อไปอยู่ในต่างประเทศแล้ว โดยในปีงบประมาณ 2553 กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศและกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้หารือและตระหนักร่วมกันว่าการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสองกรมเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้อง คุ้มครองและดูแลแรงงานไทย โดยเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2553 หน่วยงานทั้งสองได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมเรื่องการปกป้องคุ้มครองและการส่งเสริมขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยสาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว กรมการกงสุลและกรมการจัดหางานเห็นพ้องที่จะร่วมมือดังนี้
1. ร่วมกันจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมแก่แรงงานไทยที่จะไปทำงานในต่างประเทศ ในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆของประเทศที่มีราษฎรเดินทางไปทำงานในต่างประเทศจำนวนมาก พร้อมไปกับการประชาสัมพันธ์เตือนภัยแก่แรงงานไทยทั้งในและต่างประเทศผ่านสื่อต่างๆอย่างกว้างขวาง

2. จัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงานจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย เพื่อให้การปกป้อง คุ้มครองและดูแลแรงงานไทยให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและฉับพลัน

3. ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือแรงงานไทยในต่างประเทศให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แรงงานไทยประสบในต่างประเทศ

4. บูรณาการความร่วมมือในทุกมิติที่เกี่ยวกับการปกป้อง คุ้มครองและดูแลแรงงานไทยืและส่งเสริมขยายตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศ โดยทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การทำงานเป็นหนึ่งเดียวและเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

นายจักรกล่าวในตอนท้ายว่า ในปีงบประมาณ 2554 กรมการกงสุลจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับการประชาสัมพันธ์เตือนภัยโดยจะใช้เครือข่ายสำนักงานหนังสือเดินทางของกรมในต่างจังหวัดและพันธมิตรเป็นกลไกในการทำงานด้านนี้ให้เข้มข้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น