ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานไทยออกจากลิเบียผ่านอียิปต์
จากเหตุการณ์ประท้วงขับไล่ผู้นำในลิเบียในห้วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ยิ่งวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยเช่นกัน ทำให้ทุกประเทศที่มีคนสัญชาติตนไปทำงานอยู่ที่นั่นก็ต้องเริ่มขยับนำแผนอพยพมากางบนโต๊ะแล้วแปลงเป็นภาคปฏิบัติเพื่อให้ทุกชีวิตกลับสู่ภูมิลำเนาด้วยความปลอดภัย
ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานแรกที่จะกระโดดลงสู่สนามเมื่อคนไทยได้รับความเดือดร้อนในต่างประเทศโดยไม่คำนึงว่าคนไทยคนนั้นจะเป็นใครมาจากไหน ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่ากระทรวงการต่างประเทศมีหน่วยงานอยู่ในต่างประเทศอยู่แล้ว คือ สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลใหญ่ ซึ่งภายใต้ชายคานี้หลายๆ แห่งมีข้าราชการจากหลายกระทรวงมาอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือคนไทยที่มาพำนักอยู่ ควบคู่ไปกับการเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศไทยและประเทศเจ้าภาพในภารกิจที่เกี่ยวกับต้นสังกัดของตน แต่ในยามที่ประชาชนคนไทยเดือดร้อน ทุกคนก็จะสวมเสื้อสีเดียวกันและปฏิบัติหน้าที่โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือให้คนไทย ทุกคนได้กลับไปหาครอบครัวด้วยความปลอดภัย (แม้ไม่มีเงินติดตัวซักบาทก็ไม่เป็นไร)
เหตุการณ์ประท้วงในลิเบียถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ไม่สามารถที่จะปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือคนไทยได้โดยได้ลำพัง กระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดส่งข้าราชการจากเมืองหลวงไปเสริมกำลังในหลาย ๆ จุดที่จะต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการอพยพคนไทยออกจากประเทศลิเบีย เช่น ที่ประเทศอิตาลี ตูนีเซีย อียิปต์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีคำสั่งให้ข้าราชการที่ประจำการอยู่ในประเทศใกล้เคียงไปสมทบอีกด้วย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ก็เป็นสำนักงานที่ได้รับมอบหมายให้ส่งข้าราชการไปช่วยภารกิจนี้ที่กรุงไคโร กงสุลใหญ่ในฐานะหัวหน้าสำนักงานของผมก็ได้มีคำสั่งให้ผมเดินทางไปในโอกาสแรกทันที ในขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็ปฏิบัติในลักษณะเดียวกัน
ผมเดินทางถึงสนามบินนานาชาติกรุงไคโรในตอนค่ำของวันที่ 2 มีนาคม 2554 มีเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร มาอำนวยความสะดวกและไปส่งโรงแรมที่พัก และวันรุ่งขึ้นผมก็เริ่มปฏิบัติภารกิจที่สนามบินกรุงไคโรร่วมกับทีมที่นี่ ภายใต้การนำของอัครราชทูตที่ปรึกษาสตรีของสถานเอกอัครราชทูตฯ (ทราบมาว่าอดหลับอดนอนมาหลายวันแล้ว) ซึ่งสนามบินกรุงไคโรเป็นจุดหนึ่งที่แรงงานไทยจะขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากที่เดินทางโดยรถยนต์เข้าประเทศอียิปต์ผ่านด่านเมืองซัลลูมซึ่งอยู่ห่างจากกรุงไคโรประมาณ 750 กม. และในขณะนั้นมีแรงงานไทยจำนวน 370 คน (ไม่รวมที่กำลังทยอยเดินทางเข้ามา) กำลังรอขึ้นเครื่องบินอยู่ ซึ่งจะต้องทยอยบินวันละ 50-100 คน เนื่องจากเป็นช่วงที่หลายๆ ประเทศแย่งกันจับจองเครื่องบินเพื่อส่งประชาชนของตนกลับภูมิลำเนา ดังนั้นการจับจองที่นั่งจึงเป็นเรื่องลำบากแสนสาหัส ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่สนามบินไคโรที่อนุญาตให้คนไทยเกือบ 400 คน ใช้พื้นที่ที่ผู้โดยสารจะรอขึ้นเครื่องบินเป็นแหล่งพักพิงชั่วคราว ซึ่งแน่นอนที่สุดย่อมกระทบต่อการจัดการของสนามบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการดูแลความสะอาดและการใช้ห้องน้ำซึ่งมีจำกัด อีกทั้งยังอนุญาตให้ทีมงานเราเข้าออกสนามบินเพื่อนำอาหารและสิ่งของ ที่จำเป็นไปให้แรงงานไทยได้อย่างสะดวกตลอดเวลาอีกด้วย
วันที่ 3 มีนาคม 2554 มีทีมจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงริยาด มาเสริมอีก 3 คน เป็นข้าราชการจากสถานเอกอัครราชทูตฯ 1 คน ข้าราชการจากกระทรวงแรงงาน 1 คน (อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน) และล่ามจากสำนักงานแรงงานริยาดอีก 1 คน ซึ่งเมื่อทีมนี้มาถึง เอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร ก็ได้เชิญเจ้าหน้าที่ทั้งหมดร่วมประชุมวางแผนเพื่อวางกำลังคนตามจุดต่างๆ ให้เหมาะสม รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านซัลลูม แทนชุดเดิมซึ่งได้เดินทางไปจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทยและปฏิบัติภารกิจท่ามกลางอากาศที่หนาวเหน็บ 3 องศาเซลเซียสมาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว และอัครราชทูตของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้นำลูกทีมอีก 6 คน ไปสานต่อภารกิจนี้ ซึ่งผมก็อยู่ในทีมนี้ด้วย พวกเรา 7 คน จึงเตรียมข้าวของที่จำเป็น โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำหรับรับมือกับอากาศที่โหดร้ายที่นั่น แล้วออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น (4 มี.ค. 54) ทันที ใช้เวลา 6 ชม. กว่าๆ เราก็เดินทางถึงเมือง Marsa Matrooh ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงไคโรประมาณ 500 กม. และเป็นเมืองที่ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร พร้อมทีมงานชุดก่อนหน้าเราใช้เป็นที่พัก แล้ววิ่งไปวิ่งมาระหว่างเมืองนี้กับชายแดนอียิปต์-ลิเบีย (ด่านซัลลูม) ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 250 กม. เนื่องจากในช่วงต้นๆ ของการอพยพคนออกจากลิเบีย เจ้าหน้าที่เราไม่สามารถหาที่พักที่ใกล้กว่านี้ได้เลย เพราะถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศอื่นๆ จับจองไปหมดแล้ว โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ อินเดีย และกลุ่มประเทศในแอฟริกา ซึ่งแต่ละประเทศมีคนงานหลายพันคนทะลักอออกมาทางด่านซัลลูม ยังไม่รวมเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านมนุษยชนที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ด้วย เช่น IOM, UNHCR เป็นต้น เจ้าหน้าที่เราเลยต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางไปมาและการช่วยเหลือแรงงานไทยที่หนีตายเข้ามาในประเทศอียิปต์ เริ่มตั้งแต่การออกซีไอให้เพราะจำนวนเกือบทั้งหมดไม่มีหนังสือเดินทางติดตัวมา การดูแลอาหารการกิน การจัดหาที่พิกพิงชั่วคราวให้ และสุดท้ายจัดรถให้สามารถเดินทางเข้ากรุงไคโรให้เร็วที่สุดเพื่อหนีอากาศที่แสนจะโหดร้าย ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น หากเป็นภาวะปกติก็คงทำได้ไม่ยากนัก แต่นี่เป็นห้วงเวลาที่คนหลักหมื่นหนีตายกันมาแล้วแย่งกันออกจากด่านเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางเดียวกันคือความปลอดภัยและได้กลับภูมิลำเนาในโอกาสแรก ดังนั้นการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่เราชุดก่อนเราจึงต้องต่อสู้กับหลายอย่างๆ ในเวลาเดียวกัน
เมื่อกลุ่มผมเดินทางมาถึงเมือง Marsa Matrooh ก็ได้ประชุมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เราจะมาแทนเพื่อส่งไม้ต่อให้เรา และลงมติกันว่ากลุ่มผมน่าจะลองไปหาที่พักในเมืองซัลลูมอีกครั้ง ซึ่งอยู่ห่างจากด่านแค่ 12 กม. เท่านั้น ซึ่งหากโชคดีหาที่พักได้ การปฏิบัติภารกิจก็จะมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นและไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางไปมาเป็นร้อยๆ กม. ดังนั้นหลังอาหารเช้าของวันที่ 5 มี.ค. 54 พวกเราเลยรีบบึ่งรถไปที่ด่านซัลลูมเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย 28 คน ซึ่งเพิ่งเดินทางมาถึง เมื่อพวกเราได้มาเห็นด่านซัลลูมกับตัวเอง ทุกคนต่างอุทานเป็นเสียงเดียวว่า โอ พระเจ้า ทำไมมันช่างวุ่นวายยังงี้....ผู้อพยพจากหลากหลายประเทศ หลากหลายสีผิวจำนวนหลักหมื่นกำลังแย่งขึ้นรถ แย่งอาหาร แย่งทุกอย่างเพราะ demand สูงกว่าปัจจัยที่มีอยู่มาก ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนอนขดในผ้าห่มผืนหนาบนช่องทางเดินรถยนต์ซึ่งปกติจะเป็นบริเวณที่รถราจะต้องวิ่งผ่านเพื่อข้ามไปยังฝั่งลิเบีย แต่ ณ วินาทีนี้ทุกซอกทุกมุมกลายเป็นที่หลับนอนของผู้อพยพไปหมดแล้วไม่เว้นแม้กระทั่งห้องเจ้าหน้าที่ด่าน เห็นได้ชัดว่าหลายๆ อย่างอยู่นอกเหนือการควบคุม จึงจำเป็นต้องปล่อยเลยตามเลย ทีมเราใช้เวลาเกือบ 5 ชม. ในการจัดการเรื่องกระบวนการเข้าเมืองของแรงงานไทย 28 คนดังกล่าว เมื่อเสร็จภารกิจตรงนั้นแล้ว เราจึงนำแรงงานไทยไปที่รถเพื่อแจกอาหารที่เราเตรียมมา ซึ่งการแจกอาหารเราก็ต้องกระทำกันอย่างระมัดระวังไม่ประเจิดประเจ้อเกินไป มิฉะนั้นแล้วแรงงานชาติอื่นๆ ก็จะกรูกันเข้ามาแย่งอาหารไป แน่นอนที่สุดในสถานการณ์อย่างนั้น ไม่มีใครคำนึงถึงความชอบธรรมกันแล้ว คิดอย่างเดียวคือจะทำยังไงจึงจะเอาตัวเองให้รอด อย่างไรก็ดีภารกิจในวันแรกของพวกเราก็ผ่านไปด้วยดี ส่วนหนึ่งก็เกิดจากประสบการณ์ของทีมงานก่อนหน้าเราที่เราได้รับการถ่ายทอดมาอย่างละเอียดยิบ ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้ครับ เราสามารถจัดส่งแรงงานไทยเข้ากรุงไคโรในวันเดียวกัน หลังจากนั้นพวกเราก็ขับรถลงไปที่ตัวเมืองซัลลูม ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ มีสภาพคล้ายๆ ต่างจังหวัดบ้านเรา เครื่องอุปโภคบริโภคมีจำกัด ทำให้พวกเราวาดภาพไปว่า หากไม่ใช่ช่วงอพยพแรงงานแล้ว เมืองนี้คงเงียบเหงาพิลึก เราแวะร้านอาหารซึ่งมีอยู่แค่ 2-3 ร้าน และอาหารที่เรารับประทานได้คล่องคอพอควรก็มีอยู่อย่างเดียวคือ ข้าวไก่ย่าง (ดำปี๋) กับผักสดกำใหญ่ๆ แล้วใช้ โค๊กกระป๋องไล่อาหารลงท้องไป มีความเหน็ดเหนื่อยเป็นทุนอยู่แล้วเราเลยทานกันอย่างเอร็ดอร่อย เมื่ออิ่มหนำสำราญแล้ว เราก็เริ่มออกตระเวนหาที่พัก แต่วันนั้นเราโชคไม่ดีนัก ผนวกกับเวลาก็เริ่มดึกเข้าไปทุกที เราเลยยังหาที่พักไม่ได้ จึงตัดสินใจขับรถระยะทาง 250 กม. กลับไปที่เมือง Marsa Matrooh อีกครั้งและค้างคืนที่นั่นอีกคืนหนึ่ง
วันที่ 6 มี.ค. 54 หลังอาหารเช้าที่โรงแรม San Giobanni Cleopatra เมือง Marsa Matrooh อันเป็นที่พักของทีมงาน เราก็บึ่งรถไปที่เมืองซัลลูมทันที ซึ่งในวันนั้นเรายังไม่ได้รับการประสานงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลีว่าจะมีแรงงานไทยเดินทางเข้ามา จึงตั้งใจแน่วแน่ว่าจะต้องหาที่พักให้จงได้เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติภารกิจ เนื่องจาก ณ เวลานั้น แรงงานไทยกลุ่มใหญ่ๆ ได้เดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว จะเหลือก็แต่กลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่อาจปรากฏตัวขึ้นมาในเวลาใดก็ได้ตลอด 24 ชม. หาความแน่นอนไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งเป็นแรงงานไทยที่ไม่สามารถติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี หรือกับใครๆ ได้แล้ว วันนั้นถือได้ว่าเป็นวันของเรา ตระเวนหาไม่นานนักเราก็ได้พบเซอร์วิสอพาร์ตเม้นที่อยู่ในสภาพดีพอควร ซึ่งจริงๆ แล้ววินาทีนั้นเราคำนึงอยู่อย่างเดียวคือ ขอให้มีเครื่องทำน้ำอุ่นเป็นพอ เพราะนั่นคือปัจจัยหลักในการใช้ชีวิตในเมืองที่หนาวจัดเช่นนี้ แล้วเราก็ได้ตามนั้น เมื่อเรื่องที่พักลงตัวและจัดการเรื่องกระเป๋าสัมภาระเข้าที่เข้าทางเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็บึ่งรถไปที่ด่าน เป็นการส่งท้าย เผื่อมีลูกค้าซักรายสองรายพลัดหลงเข้ามา แต่เราก็ไม่เจอแรงไทยแต่อย่างใด
การปฏิบัติภารกิจตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 54 เป็นต้นมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งภารกิจหลักก็คือ อำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานไทยที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย โดยเริ่มตั้งแต่ออกซีไอให้ในกรณีที่ไม่มีหนังสือเดินทาง แล้วดำเนินการเรื่องการเข้าเมือง ตามด้วยการเช่ารถเพื่อนำไปส่งที่กรุงไคโร ซึ่งหากจำนวนน้อยกว่า 10 คน ก็จะเช่ารถตู้ 12 ที่นั่งให้ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 1,500 ปอนด์อียิปต์ (1 ปอนด์ = 5.2 บาท) หากมีจำนวน 30 คน ขึ้นไปก็จะเช่ารถบัส 40 ที่นั่ง ราคาจะอยู่ที่ 3,000-5,000 ปอนด์แล้วแต่จังหวะ หากเป็นห้วงที่คนอพยพมีไม่มากนักเราก็สามารถต่อรองราคาได้ แต่หากมีการแย่งกันเช่ารถเขาก็จะบอกราคาขาดตัว หากเราพยายามต่อรองเขาก็จะสบัดหน้าเดินหนีเราไป คล้ายๆ จะบอกว่าอย่ามาเสียเวลา ฉันมีลูกค้ารายอื่นรออยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วในสภาวะเช่นนั้นก็ถือว่าไม่แพงนักเมื่อคำนึงถึงระยะทาง 750 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชม. หลังจากนั้นเราก็จะให้แรงงานไทยได้กินข้าว (เมนูเด็ดยอดนิยมข้าวไก่ย่าง) ก่อนออกเดินทาง และอีกประการหนึ่งที่ขาดเสียมิได้คือ ทางการอียิปต์จะส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจติดรถไปด้วย 1 คน (แน่นอนที่สุดต้องมีค่าน้ำชงน้ำชาให้เขา) ทั้งนี้เนื่องจากการเข้าประเทศอียิปต์ของแรงงานอพยพในช่วงนี้เป็นการเข้าเมืองแบบไม่มีวีซ่าและเป็นการเข้าเมืองในลักษณะผ่านทาง เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ทางการอียิปต์จึงต้องการความมั่นใจว่าแรงงานเหล่านั้นมิได้มาปักหลัก ในประเทศตนให้เป็นภาระกับเขาในอนาคตต่อไป
งาน Reception วันชาติย่อมมีวันเลิกราฉันใด ภารกิจเราก็ฉันนั้น ผมเดินทางออกจากด่านซัลลูมไปกรุงไคโรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2554 และเดินทางกลับเมืองเจดดาห์ในวันรุ่งขึ้นทันที ซึ่งการที่ได้มีโอกาสมาร่วมภารกิจในครั้งนี้ ทำให้ผมได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง ประเทศไหนที่ส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือประชาชนของตน ก็จะได้รับการชื่นชมทั้งจากประเทศอียิปต์และคนของตน แต่หากประเทศไหนไม่มีเจ้าหน้าที่มาดูแลจะด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ ประเทศเจ้าภาพก็จะด่าเช้าด่าเย็น อีกทั้งแรงงานกลุ่มนั้นก็จะสาบแช่งรัฐบาลของตัวเองและพร้อมที่จะแปลงร่างเป็นหัวขโมยในทันทีเมื่อไรที่ดีกรีความหิวโหยขึ้นถึงขีดสุด จริงอยู่หน่วยงานด้านมนุษยชนก็อยู่ในพื้นที่และมีอาหารมาแจกเป็นระยะๆ แต่กับจำนวนหลักหมื่นที่ทะลักเข้ามาแบบไม่ขาดสายทำให้ความช่วยเหลือไม่ทั่วถึงเท่าไรนัก แรงงานไทยจึงถือว่าโชคดีที่รัฐบาลส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปในพื้นที่ทันทีที่เห็นว่าจำเป็นต้องอพยพคนออก ถึงแม้การดำเนินการในบางเรื่องจะล่าช้าไปบ้าง ซึ่งก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคนานาประการ กว่าภารกิจจะลุล่วงไป และสิ่งสุดท้ายที่ผมต้องพูดถึงในที่นี้คือ ความช่วยเหลือและความร่วมมืออย่างดียิ่งของเจ้าหน้าที่อียิปต์ ซึ่งหากปราศจากสิ่งนี้แล้วภารกิจของพวกเราก็คงจะกลายเป็น “Mission Impossible” อย่างแน่นอน จึงน่าจะเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับพวกเราว่า หากเราเป็นเจ้าหน้าที่ บางจังหวะเราก็คงต้องผ่อนปรนและยืดหยุ่นบ้าง ไม่ยึดติดกับเส้นตรงที่ขีดไว้แบบเหนียวหนึบจนเกินไป ตราบใดที่ความยืดหยุ่นนั้นไม่นำมาซึ่งความเสียหาย ต่อตัวเอง สังคม และประเทศชาติ
--------------------------
นายหาลิม แวนะไล
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์
ซาอุดีอาระเบีย
23 มีนาคม 2554
ที่มา: เว็บไซต์กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา http://sameaf.mfa.go.th/th/diplomatdiary/detail.php?ID=1829
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น