วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

กงสุลสัญจรที่ยะโฮร์บาห์รู รัฐยะโฮร์


กงสุลสัญจรที่ยะโฮร์บาห์รู รัฐยะโฮร์



สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รายงานว่า เมื่อวันที่ 23-24 เมษายน 2554 นายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูตที่ปรึกษา นายสมปอง เจริญสุข เลขานุการโท พร้อมด้วยลูกจ้างท้องถิ่นฝ่ายกงสุล จำนวน 2 คนได้เดินทางไปจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรแก่คนไทยที่เมืองยะโฮร์บาห์รู รัฐยะโฮร์และเมืองใกล้เคียง ดังนี้

เมื่อวันที่ 23 เมษายน เวลา 11.30 น. เดินทางถึงเมืองยะโฮร์บาห์รูและเปิดให้บริการ-คนไทยที่ร้านอาหารไทยคาราบาว จนถึงเวลา 17.30 น. และวันที่ 24 เมษายน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 14.30 น. มีผู้มารับบริการทำหนังสือเดินทาง 27 ราย แจ้งจดทะเบียนการเกิด 25 ราย แปลใบขับขี่รถยนต์พร้อมรับรองเอกสาร 15 ราย ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานกงสุล 100 ราย เก็บค่าธรรมเนียมการกงสุลได้รวม 3,765 เหรียญริงกิตมาเลเซีย หรือเท่ากับ 37,650 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญริงกิตมาเลเซียเท่ากับ 10 บาท)

วันที่ 23 เมษายน เวลา 19.30 – 21.00 น. นายสมพงษ์ฯ พบปะหารือกับกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครสถานเอกอัครราชทูตฯ ชี้แจง ประชาสัมพันธืเรื่องการจัดเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่กำลังจะมีขึ้น ขอความร่วมมือในการแจ้งข่าว รับใบลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง พร้อมกับได้พบปะกับเจ้าของร้านไทยต้มยำในย่านหวั่งโฮ้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนไทยอาศัยอยู่หนาแน่น ที่สุดในเมืองยะโฮร์บาห์รู มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนกว่า 300 ราย เจ้าของร้านยินดีให้ใช้บริเวณหน้าร้านเป็นสถานที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียงแต่ตั้งเต๊นท์เป็นที่ตั้งหน่วยเลือกตั้ง

การทำกิจกรรมกงสุลสัญจรในครั้งนี้สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยในเมืองยะโฮร์บาห์รูและเมืองใกล้เคียงได้จำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นหญิงที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกฉียงเหนือซึ่งสมรสกับชาวจีนมาเลเซีย โดยมีทั้งที่ชาวมาเลเซียมาพบและจดทะเบียนสมรสไปจากไทย บางคนไปทำงานนวดพบกับชาวมาเลเซียแล้วแต่งงานกัน ส่วนหนึ่งไปทำงานเป็นพนักงานนวดมีใบอนุญาตทำงานและที่เดินทางเข้า-ออกทุก 30 วัน ทำงานผิดกฎหมายและมาขอคำปรึกษาในการขอใบอนุญาตทำงาน

จากการให้คำปรึกษาคนไทยครั้งนี้พบว่าหญิงไทยที่สมรสกับชาวมาเลเซียประสบปัญหาครอบครัวจำนวนมาก ซึ่งมาขอคำแนะนำในการหย่า โดยทุกรายยืนยันว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอย่างมากจากครอบครัวสามี รวมทั้งถูกใช้งานเยี่ยงทาส แต่ต้องทนอยู่เนื่องจากที่ประเทศไทยไม่มีทรัพย์สินใดๆ และพวกตนไม่มีความรู้ที่จะประกอบอาชีพอื่น

ปัจจุบันทางการมาเลเซียระงับการออกใบอนุญาตทำงานประเภทนวดแล้ว ผู้ที่มีใบอนุญาตจะต่ออายุได้ไม่เกิน 5 ปี ดังนั้น ขณะนี้จึงมีพนักงานนวดที่ต่อใบอนุญาตได้อีกจำนวนไม่มากนัก ส่วนคนที่ครบ 5 ปีแล้วต้องเดินทางกลับประเทศไทย อีกทั้งค่าใบอนุญาตแพงมากโดยต้องจ่ายค่าต่อใบอนุญาตตั้งแต่ 50,000 บาท/ปี ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ความต้องการพนักงานนวดตามร้านต่างๆยังมีมาก เป็นเหตุให้หญิงไทยถูกหลอกไปทำงานประเภทเดินทางเข้า-ออกทุกๆ 30 วัน ด้วยความเต็มใจ บางคนนายจ้าง เพื่อน หรือนายหน้าหลอกว่าจะทำใบอนุญาตทำงานให้ ในที่สุดก็ถูกจับกุมดำเนินคดีไม่มีวันสิ้นสุด บางคนไม่เดินทางออกด้วยตนเอง แต่จ้างให้นายหน้านำหนังสือเดินทางไปประทับตราเข้า-ออกแทน ความจริงเป็นการประทับตราเข้า-ออกปลอม ซึ่งมักจะถูกเจ้าหน้าที่มาเลเซียจับกุมในวันที่เดินทางออกนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้จำนวนหญิงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในมาเลเซียไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง แม้ว่าจะได้มีการประชาสัมพันธ์ทั้งในมาเลเซียและในประเทศไทยแล้วก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น