วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
ชุมชนไทยในเกาหลี
ชุมชนไทยในเกาหลี
ชุมชนชาวไทยที่พำนักอย่างถาวรในประเทศเกาหลียังมีขนาดเล็ก (ไม่รวมแรงงานไทย) และพำนักอยู่กระจายทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นสตรีไทยแต่งงานกับชาวเกาหลี สถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีมีคนไทยในกลุ่มนี้ประมาณ 3,000 คน โดยส่วนใหญ่ติดต่อผ่านนายหน้าจัดหาคู่ ซึ่งเป็นวิธีการที่ถูกกฎหมายและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในระดับหนึ่ง หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวเกาหลีเหล่านี้ส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีและวัฒนธรรมเกาหลี รวมทั้งยังไม่สามารถฟัง พูกด อ่าน เขียนภาษาเกาหลีได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็พร้อมที่จะเสี่ยงด้วยหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม รวมทั้งได้รับข้อมูลเฉพาะด้านบวกจากสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ นักร้อง นักแสดง เป็นต้น และอีกส่วนหนึ่งใช้การแต่งงานเป็นช่องทางเพื่อเข้าไปทำงานในเกาหลี เมื่อแต่งงานแล้วมีจำนวนมากที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้จากข้อจำกัดด้านภาษา วัฒนธรรม รวมทั้งความผิดหวังจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากส่วนใหญ่ชายเกาหลีที่แต่งงานโดยผ่านวิธีการจับคู่กับต่างชาติ เป็นผู้ที่ไม่สามารถหาคู่ซึ่งเป็นชาวเกาหลีด้วยกัน มีการศึกษาต่ำ (มีจำนวนมากที่หญิงไทยจบการศึกษาสูงกว่า) มีอาชีพระดับปานกลาง มีฐานะปานกลางถึงต่ำ (มาตรฐานเกาหลี) สูงอายุ บางส่วนผ่านการหย่าร้างมาแล้ว
ชุมชนไทยเหล่านี้ยังไม่สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มได้อย่างเข้มแข็ง เนื่องจากข้อจำกัดด้านครอบครัวและส่วนใหญ่มิได้มีชีวิตที่สุขสบาย บางคนต้องทำงานหนักเพื่อช่วยหารายได้ให้แก่ครอบครัว บางคนสามีไม่ดูแลเอาใจใส่ด้วยดี แต่อย่างไรก็ดียังมีบางคนที่ไม่ประสบปัญหาและมีความตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนไทยในเกาหลีจึงรวมตัวเป็นกลุ่ม และจัดกิจกรรมต่างๆทั้งเพื่อช่วยเหลือชาวไทยด้วยกัน รวมทั้งส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้น แต่การรวมกลุ่มดังกล่าวยังไม่เข้มแข็งนัก เนื่องจากกิจกรรมที่ดำเนินการมีจำกัดและส่วนใหญ่มีกิจกรรมจำกัดอยู่ในเรื่องการส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมไทย
หญิงไทยที่สมรสกับชาวเกาหลีเหล่านี้ ส่วนหนึ่งได้ยื่นขอสละสัญชาติไทยโดยให้เหตุผลว่ามีความจำเป็นต้องได้สัญชาติเกาหลี เพื่อสามารถใช้ชีวิตเช่นเดียวกับชาวเกาหลีทั่วไป โดยเฉพาะเพื่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากหากไม่มีสัญชาติเกาหลีบางกิจกรรมไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องให้สามีเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว จึงทำให้สามีของหญิงไทยเหล่านี้ต้องการให้สละสัญชาติไทยเพื่อแบ่งเบาภาระต่างๆ (ปี 2551 ยื่นคำร้องขอสละสัญชาติ 70 ราย และตั้งแต่ปี 2547-2550 ยื่นขอสละสัญชาติประมาณปีละ 50 คน) ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นเรื่องการสละสัญชาติแก่หญิงกลุ่มนี้ทุกราย โดยให้คำนึงถึงข้อดีและข้อเสียในการสละสัญชาติ แต่ส่วนใหญ่ยืนยันที่จะสละสัญชาติโดยยืนยันว่า หากไม่สละสัญชาติก็ไม่สามารถดูแลบุตรได้อย่างเต็มที่ ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรค่อยตัดสินใจอีกครั้ง
การขยายตัวของชุมชนไทยในเกาหลียังไม่เร็วนัก ปัจจุบันนอกจากแรงงานไทยที่พำนักอยู่อย่างถูกกฎหมายจำนวนประมาณ 40,000 คนแล้วยังมีกลุ่มแรงงานไทยที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายอีกจำนวนประมาณ 13,000 คน กลุ่มชาวไทยที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายนี้กล่าวได้ว่าเป็นชุมชนไทยอีกกลุ่มหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้พำนักอยู่อย่างถาวรก็ตาม แต่หากยังไม่ถูกทางการเกาหลีส่งตัวออกนอกประเทศก็ยังคงพำนักอยู่ในเกาหลีไปเรื่อยๆ และระหว่างที่อยู่ในเกาหลีก็คบหาระหว่างชาวไทยด้วยกัน บางรายเมื่อมีบุตรก็ส่งกลับไปให้ญาติเลี้ยงดูในประเทศไทย ชาวไทยกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากพร้อมเสี่ยงที่จะหางานทำในเกาหลีซึ่งมีรายได้สูงกว่าในประเทศไทย
นอกจากนี้ จากแนวโน้มที่แรงงานไทยจะเข้าไปทำงานในเกาหลีเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งผลให้กลุ่มที่พำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากแรงงานไทยเมื่อทำงานแล้วและไม่พอใจก็พร้อมที่จะหลบหนีและมีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ในขณะที่กลุ่มที่หลบหนีเข้ามาทำงานก็มีอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการตรวจอย่างเข้มงวดก็ตาม อย่างไรก็ดี การทำงานโดยผิดกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายเกาหลีก็มีส่วนเกี่ยวพันเช่นกัน โดยนายจ้างได้ประโยชน์จากแรงงานที่ไม่ต้องรับผิดชอบเต็มที่ ในขณะที่ภาครัฐเกาหลีก็นิ่งเฉยเนื่องจากยังคงมีความต้องการแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานโดยเฉพาะงานประเภทที่แรงงานเกาหลีไม่ยอมทำ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
อืมมมม...แก้ปัญหายังไงดีนะ
ตอบลบ