วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(10 มิถุนายน 2554)
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(10 มิถุนายน 2554)
สถานะ ณ เวลา 10.30 น. วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน 2554
1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น
1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 15,401 ราย สูญหาย 8,146 ราย (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2554)
1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock)
ระหว่างวันที่ 1 – 10 มิ.ย. 2554 องค์กรอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้รายงานการเกิด Aftershock ในระดับ 3 - 5 ริกเตอร์ ในบริเวณต่าง ๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมทั้งภาคกลางตอนใต้ของญี่ปุ่น ได้แก่ อิวาเตะ อิบารากิ อาคิตะ ฟุคุชิมะ มิยากิ นีกาตะ โทยามะ กิฟุ และชิมาเนะ โดยยังไม่มีรายงานสึนามิและความเสียหายจากการเกิด Aftershock ดังกล่าว
ในวันนี้ (10 มิ.ย. 2554) คณะกรรมการศึกษาวิจัยด้านแผ่นดินไหวของญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า อาจเกิด Aftershock ขนาดใหญ่ระดับ 7 ริกเตอร์หรือมากกว่าและสึนามิจุดศูนย์กลางในทะเลฝั่งแปซิฟิกทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดแผ่นดินไหวที่จุดศูนย์กลางบริเวณแนวเชื่อมระหว่างจังหวัดมิยากิและฟุคุชิมะ บริเวณแนวเชื่อมระหว่างโตเกียวและ จ.ไซตามะ และบริเวณจังหวัดนากาโนะมีเพิ่มสูงขึ้น
1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)
1.3.1 วันนี้ (10 มิ.ย. 2554) บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) ได้เริ่มดำเนินการทดลองระบบกำจัดกัมมันตรังสีออกจากน้ำที่สะสมในอาคารเตาปฏิกรณ์ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีน้ำที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนในเตาปฏิกรณ์หมายเลขต่าง ๆ สะสมอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 105,000 ตัน โดยในแต่ละวันมีปริมาณน้ำที่มีกัมมันรังสีปนเปื้อนเพิ่มขึ้นวันละ 500 ตัน เนื่องจากต้องเติมน้ำลงไปในเตาปฏิกรณ์เพื่อควบคุมอุณหภูมิภายในเตา ทั้งนี้ TEPCO วางแผนจะนำน้ำเข้าสู่ระบบกำจัดกัมมันตรังสีวันละประมาณ 1,200 ตัน และมีแผนจะนำน้ำที่กำจัดสารกัมมันตรังสีแล้วดังกล่าวมาใช้ในการควบคุมอุณหภูมิภายในเตาปฏิกรณ์ต่อไป
1.3.2 ที่ผ่านมา TEPCO ยังคงพบว่าปริมาณกัมมันตรังสีในเตาปฏิกรณ์ต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูงและได้พยายามดำเนินการซ่อมแซมและติดตั้งระบบหล่อเย็น นอกจากนี้ ยังคงประสบปัญหาน้ำที่มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับสูงขังภายในอาคารเตาฏิกรณ์ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2554 พบว่าระดับกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 ที่ปนเปื้อนในน้ำทะเลบริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 มีปริมาณลดลงโดยปัจจุบันอยู่ในระดับเกินกว่ามาตรฐาน 24 เท่า จากที่เคยวัดได้ว่าเกินระดับมาตรฐาน 750 เท่า เมื่อเดือนเมษายน 2554
1.4 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ
1.4.1 ณ วันที่ 25 เม.ย. 2554 ได้มี สอท. ประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 2 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และ สอท. ของอีก 2 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ
1.4.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆจำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของแต่ละประเทศ
2. การดำเนินการของไทย
2.1 การติดตามระดับกัมมันตรังสี
สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานว่า ระดับกัมมันตรังสีที่ตำแหน่งระยะห่าง 30 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ วันที่ 9 มิ.ย. 2554 เวลา 18.00 น. อยู่ที่ระดับ 17.2 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. เท่ากับปริมาณที่วัดได้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 เวลา 10.00 น. ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่นยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ (ระดับกัมมันตรังสีที่ จ.อิวาเตะ อยู่ที่ 0.022 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. จ.อิบารากิ อยู่ที่ 0.095 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ที่โตเกียวอยู่ที่ 0.060 ไมโครซีเวิร์ท/ชม.)
การใช้บริการสายการบิน
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รายงานอัตราผู้ใช้บริการสายการบินเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2554 ดังนี้
กรุงเทพฯ – นาริตะ
เที่ยวบิน TG676 เวลา 07.35 – 15.45 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 64.10%
เที่ยวบิน TG642 เวลา 23.50 – 08.10 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 60.80%
นาริตะ – กรุงเทพฯ
เที่ยวบิน TG643 เวลา 12.00 – 16.30 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 74.40%
เที่ยวบิน TG677 เวลา 16.55 – 21.25 น. อัตราผู้ใช้บริการสายการบิน 56.73%
(ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติม)
2.2 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น
2.1.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ Aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากวิบัติภัยดังกล่าว
2.1.2 ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นฉบับล่าสุด” ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2554 มีเนื้อหาดังนี้ “ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศเตือนขอให้คนไทยติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เกี่ยวกับการเดินทางไปญี่ปุ่นนั้น ขอเรียนว่า ในชั้นนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจากอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock) อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด”
2.1.3 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้
(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด
(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ช.ม.)
(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp
2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น
ยอดเงินบริจาคสะสมผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ของกระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 31 พ.ค. 2554 ณ จำนวน 165 ล้านบาท (ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้โอนเงินงวดแรกจำนวน 125 ล้านบาท ให้ สอท. ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 เพื่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวนำไปมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)
2.4 สถิติคนไทย
2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูล สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน
2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) และจำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน)
2.4.3 ในชั้นนี้ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554
3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ มีจำนวน 159 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 43 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น