วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (20 มิถุนายน 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (20 มิถุนายน 2554)


สถานะ ณ เวลา 10.30 น. วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 15,467 ราย สูญหาย 7,482 ราย (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 20 มิ.ย. 2554)

1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค (Aftershock)

ระหว่างวันที่ 11 - 20 มิ.ย. 2554 องค์กรอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้รายงานการเกิด Aftershock ระดับ3 - 5 ริกเตอร์ ในบริเวณต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งภาคกลางตอนใต้ของญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดฮอกไกโด อิวาเตะ อาคิตะ ฟุคุชิมะ มิยากิ ยามากาตะ โทจิกิ กิฟุ ชิมาเนะ อาโอโมริ ชิบะ และอิบารากิ โดยยังไม่มีรายงานสึนามิและความเสียหายจากการเกิด Aftershock ดังกล่าว

- ณ วันที่ 20 มิ.ย. 2554 มีรายงาน Aftershock ระดับ 3 ริกเตอร์ขึ้นไป (ตามเวลาประเทศไทย) ดังนี้

เวลา 10.46 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ชิบะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.6 ริกเตอร์

เวลา 06.55 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 3.6 ริกเตอร์

เวลา 06.17 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 3.7 ริกเตอร์

เวลา 03.58 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.5 ริกเตอร

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)

1.3.1 ณ วันที่ 20 มิ.ย. 2554 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียว (TEPCO) เริ่มดำเนินการบำบัดน้ำปนเปื้อนในเตาปฏิกรณ์หมายหมายเลข 2 และ 3 ซึ่งสถาพการณ์เป็นไปด้วยดี ในส่วนของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 มีการฉีดน้ำเข้าสู่ถังเก็บเชื้อเพลิงและบ่อ (well) ของเตาปฏิกรณ์เพื่อลดระดับความร้อนภายในเตา และเพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานในตัวอาคารได้

1.3.2 เมื่อเวลา 20.50 น. ของวันที่ 19 มิ.ย 2554 TEPCO เริ่มทำการเปิดประตู 2 ชั้นของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ซึ่งเปิดออกได้เต็มที่เมื่อเวลา 05.00 ของวันที่ 20 มิ.ย. 2554 เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายใน และระบายอากาศอย่างเต็มขั้น ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า การเปิดประตูดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณโดยรอบตัวอาคาร และไม่มีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น ซึ่งต่อมา TEPCO แถลงการณ์ต่อสื่อมวลชนญี่ปุ่นว่าภายในเดือน ก.ค. 2554 จะมีการประเมินความสำเร็จของการดำเนินการต่าง ๆ ภายในโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นที่ 1 พร้อมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาไปสู่ขั้นที่ 2 ตามแผนงานที่วางไว้

1.3.2 ระดับกัมมันตรังสี ณ ประตูตะวันตกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ 1 เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 18 เม.ย. 2554 อยู่ที่ 31.5 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. และลดลงเหลือ 28.9 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 เม.ย. 2554 ทั้งนี้ ระดับกัมมันตรังสีตามเมืองต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในระดับปกติและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยระดับกัมมันตรังสีที่โตเกียวอยู่ที่ 0.071 ไมโครซีเวิร์ต/ชม.

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การติดตามเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

สอท. ณ กรุงโตเกียว แจ้งรายงานการตรวจการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare) ของญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 17-19 มิ.ย. 2554 รวม 144 รายการ พบว่า บ๊วยจากเมืองโคริ จ.ฟุคุชิมะ มีระดับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีเกินกำหนด และได้สั่งห้ามจำหน่วยผลิตภัณท์ดังกล่าว นอกจากนั้น ยังมีคำสั่งห้ามจำหน่ายปลา Cherry Salmon Yamane (ยกเว้นปลาเพาะเลี้ยง) และปลา Ugui (Japanese dace) ที่จับในแม่น้ำมาโนะ จ.ฟุคุชิมะ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2554 เป็นต้นไป

2.2 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ Aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากวิบัติภัยดังกล่าว

2.1.2 ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นฉบับล่าสุด” ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2554 มีเนื้อหาดังนี้ “ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้ประกาศเตือนขอให้คนไทยติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงฯ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เกี่ยวกับการเดินทางไปญี่ปุ่นนั้น ขอเรียนว่า ในชั้นนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก Aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด” ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศอยู่ในระหว่างขอให้ สอท. ณ กรุงโตเกียว ประเมินสถานการณ์ล่าสุดเพื่อปรับปรุง “คำแนะนำในการเดินทางไปญี่ปุ่น” ในโอกาสแรกต่อไป

2.1.3 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้

(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก Aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ชม.)

(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

ยอดเงินบริจาคสะสมผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ของกระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 20 มิ.ย. 2554 ณ จำนวน 176 ล้านบาท (ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้โอนเงินงวดแรกจำนวน 125 ล้านบาท ให้ สอท. ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 เพื่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวนำไปมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไปแล้ว)

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 41,279 คน (ข้อมูล สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) และจำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 19,541คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน)

2.4.3 ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ มีจำนวน 159 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 43 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น