วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สถานการณ์ด้านแรงงานในคูเวต


สถานการณ์ด้านแรงงานในคูเวต



สถานการณ์โดยรวม

สถิติปี 2552 ประชากรในคูเวตมีประมาณ 3,490,000 คน ประกอบด้วยชาวคูเวต 1,200,000 คน และชาวต่างชาติจาก 150 ประเทศมาอาศัยทำงานประมาณ 2,290,000 คน ที่เหลือ ประมาณ 30,000 คน เป็นชาวยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

จากการที่คูเวตต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากเกินไปคือเกินกว่าร้อยละ 60-70 ของแรงงานสัญชาติคูเวตเอง รัฐบาลคูเวตจึงมีนโยบายสนับสนุนชาวคูเวตให้ทำงานแทนแรงงานต่างชาติ (Kuwaitization Plan) มาตั้งแต่ปี 2543 โดยพยายามจำกัดแรงงานต่างชาติไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป รวมทั้งสร้างค่านิยมให้ชาวคูเวตทำงานกับภาคธุรกิจเอกชน จากเดิมที่ต้องการทำงานแต่เฉพาะกับภาคราชการ

นโยบายข้างต้นประสบผลสำเร็จระดับหนึ่ง กล่าวคือ แรงงานชาวคูเวตสามารถทดแทนแรงงานต่างชาติได้เฉพาะบางตำแหน่งงานไม่อาจทดแทนได้ทุกตำแหน่งงาน โดยเฉพาะงานประเภทช่างฝีมือ กึ่งฝีมือ หรืองานระดับล่าง ตามสถิจำนวนแรงงานชาวคูเวตเพิ่มขึ้น แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการ ประกอบกับชาวคูเวตเกือบครึ่ง (49%) ของจำนวน 1,200,000 คน อายุต่ำกว่า 20 ปี ความต้องการแรงงานต่างชาติจึงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ในช่วงปี 2551-2552 คูเวตได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของโลก(Hamburger Crisis) บ้าง แม้ไม่มากเท่าประเทศอื่น แต่ทำให้โครงการพัฒนาประเทศหลายโครงการหยุดชะงัก แรงงานต่างชาติถูกเลิกจ้างไม่น้อย สถิติการเดินทางหมุนเวียนของแรงงานต่างชาติที่เคยมีเฉลี่ยปีละ 109,000 คน ในระหว่างปี 2544-2552 ลดลงเหลือ 11,700 คน แรงงานไทยช่วงดังกล่าวก็ลดลงเช่นกัน จากเดิมเคยมีประมาณ 4,500 -5,000 คน เหลืออยู่เพียง 2,000 คนเศษ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมา อันถือเป็นช่วง rebound ของสถานการณ์ทางการเงินโลก รัฐบาลคูเวตประกาศใช้แผนพัฒนาประเทศ 5 ปี (Five-year Plan 2010-2014) ประกาศให้ปี 2010 เป็น Year of Economic พร้อมกับนำโครงการพัฒนาประเทศต่างๆที่หยุดชะงักมาดำเนินการใหม่ โดยตั้งเป้าหมายให้มีการใช้จ่ายเงินภาครัฐไม่ต่ำกว่า 49,000 ล้านคูเวตดีนาร์ (140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย ประกอบกับน้ำมันดิบซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของคูเวตมีราคาสูงขึ้น จึงคาดว่าความต้องการแรงงานต่างชาติสำหรับปี 2553 เป็นต้นไปจะมีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง



ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานไทย

แรงงานไทย ณ เดือนกันยายน 2553 มีจำนวน 3,930 คน โดยคำนวณจากแรงงานหมุนเวียนที่เดินทางมาในปี 2552 จำนวน 2,019 คน และเดินทางมาในปี 2553 จำนวน 1,611 คน รวมกับแรงงานที่ประกอบอาชีพถาวรในคูเวต 300 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เนื่องจากมีการเดินทางกลับประเทศไทยและเดินทางมาคูเวตใหม่ป็นประจำ

แรงงานไทยทำงานอยู่กับบริษัทนายจ้างในคูเวตประมาณ 80 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทฝีมือ (skilled) และกึ่งฝีมือ(semi-skilled) เช่น ช่างเชื่อมโลหะ ช่างประกอบท่อ ช่างปูน ช่างซ่อมรถยนต์ พนักงานขับรถบรรทุกหนัก ช่างประกอบถังบรรจุน้ำมัน ช่างไม้ ช่างเหล็ก ฯลฯ ซึ่งบริษัทนายจ้างเป็นผู้ได้สัมปทานงานสำคัญของรัฐบาล และงานที่เกี่ยวกับขุดเจาะและการผลิตน้ำมัน รวมถึงแรงงานประเภทบริการ เช่น พนักงานนวด ช่างทองรูปพรรณ พ่อครัว พนักงานสายการบิน พนักงานเสริมสวย และช่างซ่อมรถยนต์ประจำอู่ต่างๆ

ผลตอบแทนที่แรงงานไทยได้รับอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง อัตราค่าจ้างแรงงานไทยประเภทไร้ฝีมือ (helper) อยู่ที่ 80-90 คูเวตดีนาร์ต่อเดือน (1 คูเวตดีนาร์ เท่ากับ 110 บาท) ประเภทกึ่งฝีมือ 120-180 คูเวตดีนาร์ ประเภทฝีมืออยู่ระหว่าง 200-400 คูเวตดีนาร์ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานและความต้องการของนายจ้าง แรงงานระดับผู้คุมงานวิศวกรรมมีอัตราค่าจ้างสูงเกินกว่า 1,000 คูเวตดีนาร์ขึ้นไป

แรงงานไทยมีชื่อเสียงด้านการทำงานดีเป็นที่ต้องการของนายจ้างแม้จะมีค่าจ้างสูงกว่าแรงงานชาติอื่นๆ ในระดับหรือตำแหน่งเดียวกัน แต่มีจุดอ่อนที่เป็นคนอ่อนไหวโมโหง่าย ไม่ชอบให้ใครบังคับและชอบดื่มสุราสังสรรค์หลังเลิกงานจนทำให้ทะเลาะวิวาทกันในบางครั้ง แต่โดยภาพรวมแรงงานไทยมีสถานะดีกว่าแรงงานอินเดีย บังกลาเทศ ฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้จะไม่มีปัญหาทะเลาะกันแต่ปริมาณผลผลิตของงานด้อยกว่าแรงงานไทย ปัจจุบันแรงงานจากจีน เกาหลีเหนือ เวียดนาม พม่า เริ่มเข้าไปทำงานนคูเวตมากขึ้น นายจ้างอาจจะมีมุมมองใหม่ที่เปลี่ยนไปหากแรงงานไทยบางส่วนยังก่อปัญหา

ปัญหาของแรงงานไทยมีเรื่องเดียวคือการได้เงินค่าจ้างไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เสียไปก่อนเดินทาง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอัตราค่าจ้างต่ำเกินไปแต่เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่แรงงานไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ผู้จัดหางานในภาคเอกชนมากเกินไป เฉลี่ยคนละ 40,000 – 100,000 บาท โดยผู้เรียกรับเงินให้ข้อมูลอันเป็นเท็จว่าจะได้เงินค่าจ้างมากกว่าความเป็นจริงเพื่อหวังค่าบริการ ทำให้เกิดปัญหาร้องเรียนกันเป็นประจำ ส่วนเรื่องความเป็นอยู่หรือสภาพภูมิอากาศในคูเวตแม้จะธุรกันดารกว่าประเทศไทยก็ไม่เป็นปัญหากับแรงงานไทย ข้อมูลอีกประการหนึ่งที่แรงงานไทยไม่ทราบ คือการคิดค่าจ้างตามระบบของคูเวตที่แม้สัญญาจ้างระบุค่าจ้างเป็นรายเดือน แต่ในทางปฏิบัตินายจ้างจะคำนวณค่าจ้างเป็นรายวัน และจะหักเงินสองเท่าของค่าจ้างในกรณีฝ่าฝืนระเบียบ และขาดงานโดยไม่มีเหตุผลอันควร แม้จะเป็นกรณีเจ็บป่วยไปหาแพทย์เองโดยไม่แจ้งผู้คุมงานทราบก็ไม่ยกเว้น ทำให้แรงงานไทยหลายคนมีรายได้ไม่ตรงตามที่ตนเองคาดการณ์ไว้

ที่มา: สถานเอกอัครราชทูต ณ คูเวต

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ13 กันยายน 2556 เวลา 11:04

    อยากให้ทางสถานฑูตไทยในคูเวต หรือกรมแรงงานไทยช่วยเข้าตรวจสอบแรงงานไทยตามสถานที่ต่างๆ ที่มีคนไทยทำงานอยู่บ้าง เพราะบางสถานที่ก็ดี บางสถานที่ นายจ้างขี้โกงสุดๆ สร้างปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้โดยที่บางทีคนไทยก็ทำงานด้วยความสุจริตและไม่ได้สร้างปัญหาก็มี อย่างเช่น ซาลอน ชื่อ L&L EUROPEAN BEAUTY SALON สถานที่ตั้ง อยูที่ ตึก SADEEKA TOWER salmiya อยู่ตรงข้ามกับ SULTAN CENTRE เป็นซาลอนเจ้าของเป็นชาติ เซอร์เบีย มีคนไทยอยู่ 3 คน หญืง บางท่านก็ทำงานมานานมาก บางท่านก็แค่ สอง ปี ทนอยู่ เพราะกลัวปัญหาที่เจ้าจะสร้างปัญหาทันทีถ้ามีใครลาออกหรือไม่ต่อสัญญา ไม่จ่ายเงินตามที่แจ้งในสัญญา โกงการจ่ายเงินสะสมรายปี ไม่ให้ย้ายงานกรณีได้งานใหม่ ไม่ให้ ย้าย วีซ่าเข้าสามี สารพัดจะทำ บางรายก็ต้องไปร้องหน่วยงาน ชอูนให้ช่วย เรื่องวีซ่า ก็เป็นที่เรีบร้อย ร้องเรียนเรื่องเงิน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนในชั้นศาล อยากให้ทางหน่วยงานรัฐ เข้าไปดูแล ตรวจสอบถามความจริง และอยากให้ล๊อกประวัติของสถานที่แห่งนี้ไม่อยากให้คนไทยมาทำงานแล้วที่นี่ แต่คนไทยที่นี่ กลัว และไม่อยากมีเรื่อง และกลัวตกงาน ไม่มีงานทำ กลัวเอาเพื่อนมาทำงานไม่ได้ หลายประเด็น อยากให้เข้าไปคุ้มครอง สร้างความมั่นใจให้กับคนไทย ขอความกรุณา และขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

    ตอบลบ