วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

มาดากัสการ์และอุตสาหกรรมอัญมณีของไทย


มาดากัสการ์และอุตสาหกรรมอัญมณีของไทย



1. นักธุรกิจ/พ่อค้าพลอยไทยในมาดากัสการ์

ปัจจุบันมีนักธุรกิจ/พ่อค้าพลอยไทยอาศัยอยู่ประมาณ 200-300 คน ที่เดินทางไป-มาระหว่างไทย-มาดากัสการ์ โดยจะหาซื้อวัตถุดิบพลอยในมาดากัสการ์คราวละ 2-3 เดือน หรือมากกว่านั้น ในจำนวนนี้ เป็นพ่อค้าพลอยที่อาศัยในมาดากัสการ์แบบถาวรประมาณ 100 คน บริษัทค้าพลอยไทยที่จดทะเบียนและเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมายในมาดากัสการ์ประมาณ 15 บริษัท

พ่อค้าพลอยไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอิลากาก้า เขต Fianaransoa (เฟียนารันต์ซู) ห่างจากกรุงอันตานานาริโวไปทางใต้ ประมาณ 780 ก.ม. ในปี 2540 เริ่มค้นพบพลอยที่หมู่บ้านอิลากาก้า ในขณะนั้นเป็นเพียงเนินราบและทุ่งหญ้าธรรมดา ปัจจุบันได้พัฒนาเป็นแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ (แสนกว่าคน) ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าและประปา ได้รับการปรับปรุงเป็นลำดับแม้จะยังไม่ดีนัก นอกจากนั้น ยังมีพ่อค้าพลอยไทยอาศัยอยู่ในส่วนอื่นอีก ได้แก่ เมืองสะการ่าห์ (ห่างจากอิลากากาไปทางใต้ประมาณ 80 กม.) และ Dieago-Suarez (เหนือสุดของประเทศ) และ Fort-Dauphin (ตอ.เฉียงใต้ของประเทศ)

2. มูลค่าและการจ้างงาน

สถิติกรมศุลกากรรายงานปริมาณนำเข้าวัตถุดิบพลอยเนื้ออ่อนและเนื้อแข็งจากมาดากัสการ์มายังประเทศไทยในปี 2549 คิดเป็นมูลค่า 75 ล้านบาท (CIF value) ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงน่าจะสูงกว่าตัวเลขทางการหลายเท่า โดยพลอยดิบส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังจังหวัดจันทบุรีก่อนที่จะถูกแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสานเพื่อทำการเจียระนัย ซึ่งสามารถสร้างงานให้แก่ชาวบ้านแถบจังหวัดภาคอีสาน เช่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และขอนแก่น คาดว่ามีแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอัญมณีมีจำนวนกว่า 1 ล้านคน

3. ปัญหาของอุตสาหกรรมอัญมณีในประเทศไทยและแนวทางแก้ไข

ราคาอัญมณีในประเทศไทยในปัจจุบันลดลงไปมากเนื่องจากปัจจุบันมีการตัดราคาขายแข่งขันกัน รวมถึงการผลิตพลอยเป็นปริมาณมากเกินไป จึงทำให้ราคาจำหน่ายพลอยสีในปัจจุบันลดต่ำลง ภาครัฐและภาคเอกชนมีเป้าหมายร่วมกันที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลก โดยเน้นประชาสัมพันธ์แก่ผู้ที่ค้นพบพลอยจากแหล่งใดๆ ในโลกให้นำมาขายในประเทศไทย

4. ปัญหาของการซื้อพลอยดิบในมาดากัสการ์และแนวทางแก้ไข

ข้อร้องเรียนหลักๆ ของพ่อค้าพลอยไทยที่ผ่านมา คือ 1) ความไม่แน่นอนของกฎ ระเบียบของมาดากัสการ์ ที่เกี่ยวกับการซื้อ/ขายและการส่งออกพลอย และ 2) ปัญหาความปลอดภัย โดยเฉพาะที่หมู่บ้านอิลากาก้า ซึ่งมีปัญหาการจี้ปล้นอยู่เนืองๆ เกี่ยวกับปัญหาข้อ 1 นั้น ปัจจุบันกรมเหมืองแร่ กระทรวงเหมืองแร่และพลังงานของมาดากัสการ์ได้ปรับปรุงกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้เป็นธรรมและสนับสนุนการลงทุนของพ่อค้าพลอยต่างชาติมากขึ้น ส่วนปัญหาในข้อ 2 นั้น จากการหารือกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรแห่งชาติมาดากัสการ์ (Gendamerie) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ชนบท ทราบว่า Gendamerie มีโครงการที่จะจัดตั้งหน่วยงานสาขาที่หมู่บ้านอิลากาก้า โดยมีกำลังพลเริ่มต้น 20 นาย และต้องการจะเพิ่มกำลังพลให้มากขึ้น ในชั้นนี้อยู่ในระหว่างรอการอนุมัติให้เพิ่มกำลังพล อย่างไรก็ดี การดำเนินการของ Gendamerie ยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร จึงต้องรอดูความคืบหน้าต่อไป

5. อุตสาหกรรมอัญมณีในมาดากัสการ์

รัฐบาลมาดากัสการ์กำลังจัดระเบียบเกี่ยวกับการค้าพลอยในมาดากัสการ์ โดยธนาคารโลกได้ให้เงินสนับสนุนในรูปเงินกู้พิเศษและการให้คำปรึกษา โดยมุ่งหวังให้ผลประโยชน์ตกกับมาดากัสการ์มากกว่าที่เป็นอยู่ ที่ผ่านมาก โดยได้ว่าจ้างนาย Tom Cushman พ่อค้าพลอยชาวสหรัฐฯ ให้เป็นที่ปรึกษาและขณะนี้ได้จัดตั้ง Institute of Gemology ขึ้นในกรุงอันตานานาริโว เพื่อเปิดหลักสูตรสอนเกี่ยวกับการดูลักษณะพลอยและวิธีเจียระไนพลอยแล้ว นอกจากนี้ เงินช่วยเหลือจากธนาคารโลกยังครอบคลุมถึงการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การจัดระเบียบการซื้อขายพลอยและการหาแนวทางการเพิ่มภาษีรายได้เข้ารัฐให้มากขึ้นด้วย

ที่มา: เว็บไซต์สถานกงสุลใหญ่ ณ กรุงอันตานานาริโว http://www.mfa.go.th/web/2194.php?id=1787 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น