วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (14 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น


สถานะ ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 14 มีนาคม 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 1,596 คน สูญหาย 1,481 คน และได้รับบาดเจ็บจาก 16 จังหวัด รวม 1,923 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 14 มี.ค. 2554)

1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นประกาศเตือนว่าภายใน 3 วันจากนี้ มีความเป็นไปได้ร้อยละ 40 ว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคขนาด 5 ริกเตอร์ขึ้นไป โดยที่ผ่านมาเกิดอาฟเตอร์ช็อคแล้วประมาณ 200 ครั้ง และบางครั้งรุนแรงถึงระดับ 6 ริกเตอร์

1.3 ระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคม

- การไฟฟ้าโตเกียวจำเป็นต้องประกาศการตัดไฟประมาณ 3 ชั่วโมง สลับตามเขตต่าง ๆ ในโตเกียวและ 8 จังหวัดใกล้เคียง (จ.โทจิงิ จ.กุนมะ จ.อิบารากิ จ.ไซตามะ จ.ชิบะ จ.คานากาว่า จ.ยามะนะชิ จ.ชิสุโอกะ) โดยแบ่งช่วงเวลาและเขตต่าง ๆ ออกเป็น 5 กลุ่มการตัดไฟ เนื่องจากการหยุดเดินเครื่องโรงงานไฟฟ้าหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าลดลง

- supermarket ต่าง ๆ ในกรุงโตเกียวเริ่มมีกำหนดโควตาในการซื้อน้ำดื่ม และประชาชนเริ่มกักตุนอาหารแล้ว

- ประชาชนประมาณ 1.4 ล้าน หลังคาเรือนไม่มีน้ำประปาใช้

- จากมาตรการประหยัดไฟทำให้รถไฟบางสายในเขตปริมณฑลของกรุงโตเกียวหยุดหรือลดปริมาณการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนเป็นอย่างมาก

1.4 โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

- เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2554 เกิดเหตุการณ์ระเบิดเนื่องจากแก๊ซไฮโดรเจนที่บริเวณอาคารของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.ฟุคุชิมะเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บ 4 คน เสียชีวิต 1 คน

- ในช่วงสายของวันที่ 14 มี.ค. 2554 ได้เกิดเหตุการณ์ระเบิดในลักษณะเดียวกันที่บริเวณอาคารของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 3 ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.ฟุคุชิมะเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย ซึ่งภายหลังจากเหตุการณ์ระเบิดล่าสุด เลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นได้แถลงว่า ปริมาณสารกัมมันตรังสีที่แพร่สู่ชั้นบรรยากาศยังมีไม่มาก และแกนเชื้อเพลิงยังไม่ถูกทำลาย

- วันที่ 14 มี.ค. 2554 ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 2 มีสถานการณ์ย่ำแย่ลง โดยการไฟฟ้าโตเกียวได้พยายามลดอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ด้วยการสูบน้ำทะเลเข้าไปในหล่อเตาปฏิกรณ์พร้อมกับเติมสารโบรอนช่วยด้วย

- ในช่วงเย็นของวันที่ 14 มี.ค. 2554 มีรายงานว่าระดับน้ำในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 80 ทำให้แท่งเชื้อเพลิงถูกเผาทำลายไปแล้วบางส่วน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีในวงกว้าง

- ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศให้ประชาชนที่อาศัยในรัศมี 20 กม. ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.ฟุคุชิมะอพยพออกจากพื้นที่

2. การดำเนินงานของไทย

2.1 การดูแลและคุ้มครองคนไทยในญี่ปุ่น

- นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวมีผู้ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก สอท. โตเกียวให้ติดตามหาญาติ/เพื่อน/คนรู้จัก ซึ่งติดตามพบตัวแล้ว 412 ราย และกำลังติดตามอยู่จำนวน 99 ราย

- สกญ. โอซากา มีผู้ติดต่อขอความช่วยเหลือรวม 30 ราย ติดตามญาติ จำนวน 8 ราย (พบแล้ว 6 ราย) สอบถามข้อมูลต่าง ๆ และขอเอกสารเพื่อใช้เดินทางกลับไทย 22 ราย

- เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2554 เวลา 21.30 น. คณะ จนท.สอท.พร้อมด้วยสื่อมวลชนจากช่อง 3 และเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ได้เดินทางถึงเมืองเซนได และได้พบกับกลุ่มคนไทยที่ร้านอาหารบ้านไทยลานนาแล้ว และได้เริ่มสำรวจหาคนไทยที่พำนักในจุดหลบภัยต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

- นร.ไทยในเมืองนากาโอกะ จ.นีงาตะ จำนวน 39 คน ได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการเดินทางกลับไทยโดยด่วน โดย นร. 3 คน มีบัตรโดยสารการบินไทย (ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทาง) แล้ว และ นร. ที่เหลือจะเดินทางกลับโดยสายการบิน China Air ในวันที่ 15 มี.ค. 2554 ทั้งนี้ นร.ไทยเหล่านี้จะเดินทางออกจากเมืองนากาโอกะโดยรถไฟชินกันเซนมายังโตเกียวในวันที่ 14 มี.ค. โดย สอท. ได้ประสานกับวัดปากน้ำ ญี่ปุ่น ขอความอนุเคราะห์จัดที่พักและอาหารแก่ นร.ไทยแล้ว

- สอท. ณ กรุงมอสโก แจ้งว่า สามารถติดต่อคนไทย 2 คน (จาก 3 คน) ที่อาศัยอยู่ที่เกาะ Sakhalin ในเขตรัสเซียซึ่งทางการรัสเซียได้ประกาศเตือนเรื่องสึนามิแล้ว พบว่าปลอดภัยดี (อีก 1 คน เข้าใจว่าเดินทางกลับไทยไปแล้ว)

- ภายหลังจากเกิดเหตุระเบิดบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ.ฟุคุชิมะ ทำให้คนไทยที่อาศัยอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกับพื้นทีประสบภัยและในโตเกียวต้องการเดินทางกลับไทยโดยด่วน เพราะกลัวว่าจะได้รับอันตรายจากสารกัมมนาตรังสี แต่ไม่มี นส.เดินทาง หรือ นส.เดินทางหมดอายุแล้ว เดินทางมาขอทำ นส.เดินทางที่ สกญ. ณ นครโอซากา รวมทั้ง มีนักท่องเที่ยวไทยจำนวนหนึ่งเปลี่ยแผนการเดินทางกลับไทยเป็นออกจากสนามบินคันไซแทนสนามบินนาริตะ และขอให้สกญ. ช่วยประสานกับสายการบินให้

2.2 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- กระทรวงฯ ในนามรัฐบาลไทย ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท

- เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2554 ครม.อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นเงิน 200 ล้านบาท

- คืนวันที่ 14 มี.ค. 2554 คณะแพทย์ 2 คน พร้อมบุรุษพยาบาล 1 คน จะเดินทางไปดูแลและให้ความช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่น พร้อมด้วยผ้าห่ม 1,000 ผืน และอาหารแห้ง 200 กก.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

- สหรัฐฯ ส่งหน่วยกู้ภัย แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ 144 คน และสุนัขดมกลิ่ม 12 ตัว

- จีน (คณะ 15 คน) สหราชอาณาจักร (คณะ 63 คน สุนัข 2 ตัว) ฝรั่งเศส (คณะ 100 คน)
เกาหลีใต้ เยอรมนี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ (คณะ 5 คน สุนัข 5 ตัว) ส่งหน่วยกู้ภัยแล้ว

- มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เสนอหน่วยกู้ภัย อินโดนีเซีย ติมอร์เลสเต เสนอส่งหน่วยแพทย์ แต่ชั้นนี้ทางการญี่ปุ่นขอระงับไว้ก่อน

- รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 88 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 6 แห่ง

*******************

14 มีนาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น