วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

รัฐมนตรีว่าการฯ ให้สัมภาษณ์กรณีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในญี่ปุ่น


นายกษิต ภิรมย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

รัฐมนตรีว่าการฯ ให้สัมภาษณ์กรณีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในญี่ปุ่น


เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554เวลา 09.00 น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นผู้รับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นจากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และบริษัท พรานทะเล มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ณ กระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสี นั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้รายงานว่า สถานการณ์ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยทางการญี่ปุ่นกำลังเตรียมการอย่างเต็มที่ ซึ่งฝ่ายสหรัฐอเมริกาได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความช่วยเหลือฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่ากระทรวงการต่างประเทศยังไม่ประกาศอพยพคนไทยในญี่ปุ่นกลับประเทศไทย แต่หากผู้ใดประสงค์ที่จะเดินทางกลับ กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ได้เตรียมความพร้อมประสานกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และกองทัพอากาศแล้ว โดยในขณะนี้ ได้รับแจ้งว่า มีคนไทยในญี่ปุ่นจำนวนประมาณ 40-50 คน ได้แจ้งความประสงค์เดินทางกลับประเทศไทย นอกจากนี้ เรือรบหลวงสิมิลันมีกำหนดเดินทางไปญี่ปุ่นในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการนำคนไทยในญี่ปุ่นกลับประเทศไทย

2. ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาทเพื่อให้ความช่วยเหลือญี่ปุ่น นั้น ในเบื้องต้น ทางการไทยจะนำไปจัดซื้อของใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม และอาหารสำเร็จรูป โดยได้ดำเนินการประสานกับสภาหอการค้าไทยเพื่อขอความร่วมมือจากบริษัทและโรงงานต่าง ๆ ในการบริจาคสิ่งของและเตรียมความพร้อมในการจ้างงาน นอกจากนี้ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ได้มอบถุงยังชีพและที่นอนเพื่อมอบแก่ผู้ประสบภัยในญี่ปุ่นด้วย ทั้งนี้ นอกเหนือจากความช่วยเหลือฉุกเฉินดังกล่าวแล้ว ทางการไทยยังยินดีที่จะให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ แก่ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องตามที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการ โดยไทยยินดีจะให้ความช่วยเหลือในด้านการฟื้นฟูบูรณะประเทศ เนื่องจากไทยมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์

3. โดยที่ระบบการสื่อสารยังขัดข้องในบางส่วนของประเทศญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ประสานเครือข่ายคนไทยในญี่ปุ่น ตรวจสอบรายชื่อและแจ้งที่อยู่ของคนไทยในญี่ปุ่นที่สามารถติดต่อได้แล้ว โดยในขณะนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รวบรวมข้อมูลคนไทยในญี่ปุ่นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อาทิ สำนักงานแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในประเทศญี่ปุ่น

4. ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้ยืนยันเจตนารมย์ของประชาชนและรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการตอบแทนความช่วยเหลือที่ฝ่ายญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมถึงยังเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ ยังได้เชิญชวนประชาชนชาวไทยให้ร่วมกันบริจาคเงินผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาสามยอด ชื่อบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่น” หมายเลข 002-0-271-46-8 โดยกระทรวงการต่างประเทศจะรวบรวมเพื่อส่งมอบให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นต่อไป

อนึ่ง นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า มีกำหนดจะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นในคืนวันที่ 16 มีนาคม 2554 พร้อมกับผ้าห่มและเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเดินทางถึงประเทศญี่ปุ่นแล้วสิ่งของทั้งหมดจะถูกนำไปไว้ที่วัดปากน้ำ กรุงโตเกียว เพื่อรอการแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยต่อไป โดยนายชวนนท์ฯ และคณะจะเดินทางต่อไปยังจังหวัดฟุคุชิม่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่ด้วย

นายชวนนท์ฯ กล่าวด้วยว่า ได้มีการประชุมหารือกับนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกคนไทยเดินทางออกจากญี่ปุ่น โดยที่ประชุมเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา เนื่องจากได้ประสานกับบริษัทการบินไทยในการสำรองที่นั่งให้เพียงพอ ซึ่งในปัจจุบันเที่ยวบินจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทยยังมีที่ว่างอยู่ แต่อุปสรรคสำคัญอยู่ที่การเดินทางจากที่พำนักมายังสนามบิน ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับบัตรโดยสารเครื่องบินสำหรับคนไทยที่ไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายได้ นอกจากนี้ คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยก็สามารถเดินทางกลับด้วยเครื่องบิน C130 ซึ่งรัฐบาลได้ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อลำเลียงถุงพระราชทานจากมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก ด้วยเช่นกัน

16 มีนาคม 2554
 
ที่มา: ข่าวสารนิเทศ วันที่ 16 มีนาคม 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น