วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

กระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหว/สึนามิและวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น

นายธานี ทองภักดี
อธิบดีกรมสารนิเทศ
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหว/สึนามิและวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น


เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 เวลา 12.00 น. นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายสิริพล เชื้ออินต๊ะ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และนายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหว/สึนามิ และวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ณ กระทรวงการต่างประเทศ สรุปได้ ดังนี้

1. การให้ความช่วยเหลือคนไทยและรัฐบาลญี่ปุ่น

1.1 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2554 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวได้ส่งรถไปรับคนไทยและครอบครัวจำนวน 22 คนในจังหวัดฟุคุชิมะ ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว และได้มาพักชั่วคราวที่วัดปากน้ำ กรุงโตเกียว โดยในจำนวนดังกล่าว มีคนไทยและครอบครัวจำนวน 11 คนขอเดินทางกลับประเทศไทยโดยสายการบินไทย ซึ่งคาดว่าจะเดินทางถึงประเทศไทยในคืนวันที่ 18 มีนาคม 2554

1.2 สำหรับคนไทยอื่นๆ นั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานเครือข่ายคนไทยในการติดต่อคนไทยต่อไป เพื่อจะได้ทราบสถานะและความปลอดภัยต่อไป และเพื่อความสะดวกในการติดตามและช่วยเหลือยามฉุกเฉิน ขอให้คนไทยในญี่ปุ่นแจ้งชื่อและที่อยู่กับสถานเอกอัคราชทูตฯ และสถานกงสุล ณ เมืองโอซากา โดยเร็ว

1.3 กระทรวงการต่างประเทศขอย้ำข้อแนะนำให้คนไทยที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของญี่ปุ่น หากไม่มีความจำเป็น ขอให้ย้ายออกในพื้นที่เป็นการชั่วคราวไปทางภาคใต้ของญี่ปุ่น หรือพิจารณาเดินทางกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

1.4 สายการบินไทยยืนยันสามารถรับผู้โดยสารจากญี่ปุ่นกลับประเทศไทยได้ทุกวัน โดยมีราคา พิเศษ 53,000 เยน หรือประมาณ 16,000 บาท (เที่ยวเดียว) และสำหรับ คนไทยที่ต้องการกลับด้วยเครื่องบินพิเศษของกองทัพอากาศที่นำความช่วยเหลือไปส่ง (จำนวน 3 เที่ยว) สามารถลงชื่อได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว

2. ปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ข้อมูลทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศและญี่ปุ่น ระบุว่า

2.1 ปริมาณรังสีที่วัดได้ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น ขณะนี้ลดลงกว่า 10เท่าจากเดิมที่เคยวัดเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา

2.2 ปริมาณรังสีในกรุงโตเกียวอยู่ในระดับปกติ

2.3 การระเบิดที่เกิดขึ้นเกิดจากไฮโดรเจน ไม่ใช่แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์

ทั้งนี้ ประเทศไทยซึ่งอยู่ไกลจากญี่ปุ่น มีโอกาสน้อยมากที่จะได้รับอันตรายจากสารกัมมันตภาพรังสี จึงไม่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด

3. ผลกระทบจากสารกัมมตภาพรังสีต่อคนไทย

3.1 ขณะนี้ ยังไม่พบคนไทยที่เจ็บป่วยจากแผ่นดินไหวหรือกัมมันตภาพรังสี

3.2  ขณะนี้ ยังไม่พบการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีในอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น

3.3 กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งหน่วยเพื่อให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับสารกัมมันตภาพรังสีแก่ผู้โดยสารที่กลับมาจากญี่ปุ่นที่ท่าอากาศยาน และได้เตรียมยาโปรแทสเซียม ไอโอไดน์ (สำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีสารกัมมันตภาพรังสีเท่านั้น)

3.4 กระทรวงสาธารณสุขจะเปิด call centre และจัดทำคู่มือเพื่อให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบของสารกัมมันตภาพรังสีแก่ประชาชนทั่วไป โดยรายละเอียดสามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข http://www.moph.go.th/

ที่มา: ข่าวสารนิเทศ วันที่ 18 มีนาคม 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น