วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

การไปทำงานนวดแผนไทยในสโลวัก


การไปทำงานนวดแผนไทยในสโลวัก


ปัจจุบัน มีแนวโน้มที่หญิงไทยสนใจจะมาทำงานเป็นพนักงานนวดแผนโบราณในโรงแรม และสปาในประเทศสโลวัก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศยุโรปตะวันออกเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญเนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ หลายคนได้รับการชักชวนจากบรรดาหญิงไทยที่ปัจจุบันทำงานเป็นพนักงานนวดในสโลวักอยู่แล้ว บางส่วนทราบข่าวจากโรงเรียนสอนนวดแผนไทย อาทิ วัดโพธิ์ และโรงเรียนสอนนวดตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการทั่วไป โดยเมื่อกลุ่มหญิงไทยเหล่านี้เข้าไปเรียนในสถาบันดังกล่าว จะมีนายหน้าเข้าไปชักชวนให้เดินทางมาทำงานในสโลวัก โดยเสนอเงินเดือนเป็นสิ่งล่อใจ และมีบางส่วนที่ทราบข่าวจากการประกาศลงโฆษณา โดยมีตัวแทนของบริษัทผู้ประกอบการในสโลวักที่ทำงานอื่นในประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินเรื่องในการเดินทางให้

ในการเดินทางไปทำงานในสโลวักเพื่อเป็นพนักงานนวดนี้ แตกต่างจากการไปทำงานต่างประเทศของแรงงานไทยในประเทศอื่นๆ เช่น ไต้หวัน หรือ เกาหลีใต้ ที่ดำเนินการผ่านบริษัทจัดหางาน ที่คนงานอาจต้องจ่ายค่าบริการให้แก่บริษัทจัดหางานเหล่านั้นก่อนเดินทาง แต่ในกรณีของสโลวัก จะดำเนิน การในลักษณะการทำสัญญาจ้างงานโดยตรงระหว่างแรงงานไทยกับนายจ้างหรือบริษัผู้ประกอบการ ไม่ผ่านบริษัทจัดหางาน โดยนายจ้างหรือผู้ประกอบการในสโลวักจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าดำเนินการเอกสาร ฯลฯ และนายจ้างหรือผู้ประกอบการจะให้แรงงานไทยเหล่านี้ลงชื่อในสัญญาจ้างงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีข้อความที่เป็นมาตรฐาน ไม่ขัดกับกฎหมายแรงงานสโลวัก อาทิ กำหนดชั่วโมงการทำงาน ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นายจ้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับ นายจ้างรับผิดชอบเรื่องที่พัก อาหาร การเดินทาง บัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับเมืองไทยเมื่อทำงานครบ 1 ปี และแรงงานไทยเหล่านี้จะยอมลงนามในสัญญาฯ โดยไม่ต่อรองหรือเรียกร้องสิทธิประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าบางสัญญาฯ จะมีข้อความบางส่วนที่ไม่มีการแจกแจงรายละเอียด และมีนัยเป็นการเอาเปรียบแรงงาน โดยมีความหวังว่าจะได้มาทำงานต่างประเทศ ได้รับค่าตอบแทนสูง ตามที่ระบุในสัญญาจ้างงาน ซึ่งมีการระบุอัตราการจ้างงานแตกต่างกันไประหว่าง 500-700 ยูโรต่อเดือน ทั้งนี้ สัญญาจ้างงานส่วนใหญ่จะทำเป็นภาษาสโลวักโดยมีคำแปลภาษาอังกฤษกำกับ

แรงงานไทยหลายรายโชคดีที่นายจ้างยินยอมปฏิบัติตามสัญญาจ้างงาน แต่ก็มีหลายรายที่ถูกเอาเปรียบแรงงาน เท่าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้รับการร้องเรียน คือ นายจ้างใช้ให้ทำงานตั้งแต่วันแรกที่เดินทางถึงที่พัก ต้องทำงานเกินกว่าสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เงินเดือนได้รับไม่ตรงตามที่ระบุในสัญญา โดยนายจ้างอ้างว่าหักเป็นค่าใช้จ่ายที่นายจ้างได้จ่ายให้ล่วงหน้าเป็นค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน ค่าวีซ่า ค่าดำเนินเรื่องและค่าเอกสาร ค่าประกันสังคม ประกันสุขภาพ โดยนายจ้างไม่แจกแจงรายละเอียดการทำงาน การทำงานล่วงเวลา แต่เหมาจ่ายเป็นรายเดือน สำหรับเงินเดือนที่ได้รับ หญิงไทยเหล่านี้ต้องเจียดเป็นค่าอาหาร เนื่องจากไม่สามารถรับประทานอาหารที่นายจ้างจัดหาได้ และ อาหารที่ซื้อเป็นอาหารและเครื่องปรุงไทยที่มีราคาสูงมากตามอัตราค่าครองชีพ อาทิ ข้าวสาร 18 กิโลกรัม ราคา 40 ยูโร หรือประมาณ 1,720 บาท น้าปลาขวดละ 2 ยูโร จึงทำให้หญิงไทยเหล่านี้แทบไม่เหลือเงินเก็บเพื่อส่งกลับให้ครอบครัวในประเทศไทยเลย และไม่กล้าที่จะบอกครอบครัวทางเมืองไทยถึงความยาก ลำบากในการดำรงชีวิตในต่างแดน ทั้งสภาพอากาศที่หนาวเย็น อุปสรรคในด้านภาษา ปัญหากับนายจ้าง และเพื่อนร่วมงาน บางคนหาทางออกโดยการเสพสุราและของมึนเมา

นอกจากนี้ โดยที่สถานที่ทำงานของพนักงานนวดเหล่านี้มักเป็นโรงแรมหรือสปาที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีน้าพุร้อนหรือโคลนร้อน ซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนที่มีชื่อเสียงของคนในยุโรป ดังนั้น พนักงานนวดที่ต้องแยกย้ายกันไปท างานในสาขาต่างๆ ของกลุ่มธุรกิจสปาเหล่านี้ หลายคนต้องอยู่คนเดียวในสถานที่ห่างไกลจากเมือง หาซื้อของลำบาก งานหนัก ไม่มีเพื่อนคุยผ่อนคลาย ทำให้เกิดความเครียดและกดดันสูง นอกจากนี้ การที่ต้องทำงานหนัก เนื่องจากมีพนักงานนวดน้อย ทำให้พนักงานบางคนเกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้อมือและแขน ซึ่งบางครั้งนายจ้างก็ดูแล แต่คนที่โชคไม่ดีก็ต้องทนทำงานต่อไป และโดยที่ผู้มาใช้บริการส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกที่มีรูปร่างใหญ่ และต้องการให้ลงน้าหนักนวดแรง ท าให้พนักงานนวดต้องใช้แรงมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าเหล่านี้มักเรียกร้องให้ทำตามที่ตนต้องการ และนายจ้างก็จะออกกฎอย่างเคร่งครัดให้พนักงานต้องทำตามความประสงค์ของลูกค้า

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนมาทำงาน สถานเอกอัครราชทูตฯ ขอแนะนำให้แรงงานไทยทุกคนศึกษาข้อมูลด้านล่าง ดังนี้

ข้อควรรู้สำหรับแรงงานไทยที่ประสงค์จะมาทำงานนวดแผนไทยในสโลวัก

1. ในการเดินทางออกมาทำงานที่สโลวัก เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่ประจำที่สนามบินสุวรรณภูมิจะตรวจสอบเอกสารของแรงงานไทยว่า มีสัญญาจ้างงานที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประทับตรารับรองแล้วหรือยัง หากยัง เจ้าหน้าที่จะไม่อนุญาตให้แรงงานไทยเดินทางออกนอกประเทศ ดังนั้น แรงงานไทยจะต้องดำเนินการเรื่องเอกสารให้สมบูรณ์ก่อน จึงจะสามารถเดินทางมาทำงานที่สโลวักได้อย่างถูกต้อง

2. แรงงานไทยต้องตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาจ้างงานให้ถี่ถ้วน (ดูแนวทางการรับรองสัญญาจ้างงานใน website ของสถานเอกอัครราชทูตฯ : http://www.thaiembassy.at/ ) โดยเฉพาะในประเด็นการทำงานและสิทธิประโยชน์ของตนเอง ได้แก่ เงินเดือน ชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ ค่าตอบ แทนการทำงานล่วงเวลา วันหยุดประจำสัปดาห์ เวลาหยุดพักระหว่างวัน ที่พัก อาหาร การจ่ายเงินประกันสังคม ประกันสุขภาพ วันหยุดประจำปี การยุติสัญญาจ้างงาน เงินชดเชยกรณีลูกจ้างละเมิดสัญญาจ้างงาน ฯลฯ ไม่ควรหลงเชื่อบุคคลที่มาชักชวนให้มาทำงานที่มักอ้างว่า ให้ลงนามในสัญญาฯ ไปก่อน เนื่องจากเมื่อเกิดการเอาเปรียบแรงงานและมีการฟ้องร้องขึ้น นายจ้างจะยึดเอาสัญญาจ้างงานที่แรงงานไทยได้ลงลายมือชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นหลักฐานประกอบในการต่อสู้คดี

3. ในการลงนามในสัญญาจ้างงาน นอกเหนือจากการลงลายมือชื่อในตอนท้ายของสัญญาฯ แรงงานไทยควรลงลายมือชื่อกำกับด้านล่างของสัญญาทุกหน้า เนื่องจากปัจจุบัน มีการตรวจพบว่า นายจ้างบางรายได้แก้ไขตัวเลขในสัญญาฯ บางข้อ อาทิ ระยะเวลาจ้างงานจาก 1 ปี เป็น 2 ปี

4. ในการลงนามในสัญญาจ้างงาน ขอให้แรงงานไทยเป็นผู้ลงนามเอง หากมีการตรวจพบว่า แรงงานไทยได้ให้ผู้อื่นปลอมลายมือชื่อลงนามในสัญญาจ้างงานให้ สถานเอกอัครราชทูตฯ จะถือว่า บุคคลผู้นั้นได้ยื่นเอกสารเท็จต่อเจ้าพนักงาน สถานเอกอัครราชทูตฯ จะไม่รับรองเอกสารการจ้างงานฯ ดังกล่าว และจะบันทึกรายชื่อทั้งบุคคลที่ปลอมแปลงลายมือชื่อ และบุคคลที่ยินยอมให้ผู้อื่นปลอมแปลงลายมือชื่อของตนแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

5. เตรียมความพร้อมในด้านภาษาพื้นฐาน (ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาท้องถิ่น) สุขภาพกาย และสุขภาพจิต เนื่องจากการมาทำงานในต่างแดน ต้องเผชิญความกดดันในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ การดำรงชีวิต อาหาร และอุปสรรคในด้านภาษา

6. ควรสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศที่กระทรวงแรงงาน เพื่อสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองจากเงินกองทุนฯ ตามบทบัญญัติระเบียบกระทรวง แรงงานว่าด้วยการบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปท างานในต่างประเทศ พ.ศ. 2549

7. กรณีเข้าทำงานแล้ว หากนายจ้างเรียกร้องให้ลงนามในสัญญาจ้างงานใหม่ แรงงานไทยจะต้องตรวจสอบรายละเอียดในสัญญาจ้างงานให้รอบคอบ และพึงระลึกเสมอว่า สัญญาฯ ที่นายจ้างให้ลงนามใหม่ส่วนใหญ่จะมีข้อความที่แตกต่างจากสัญญาฯ ฉบับเดิม และมีการเอาเปรียบแรงงาน ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะลงนามใดๆ ในสัญญาฯ อื่นๆ อีก โดยต้องยืนยันกับนายจ้างว่า สัญญาฯ ฉบับเดิมยังคงมีผลใช้บังคับอยู่

8. เมื่อเข้ามาทำงานในสโลวักแล้ว พึงระลึกไว้เสมอว่า หากวีซ่าการทำงานขาดหรือหมดอายุ หมายถึงว่า สิทธิในการพำนักในสโลวักได้สิ้นสุดลงเช่นกัน การที่แรงงานไทยจะเปลี่ยนงานจากบริษัทหนึ่งไปยังอีกบริษัทหนึ่ง โดยไม่แจ้งนายจ้างเก่า นายจ้างเก่ามีสิทธิที่จะยกเลิกวีซ่าเดิม ซึ่งหมายความว่า แรงงานไทยพำนักอยู่ในสโลวักอย่างผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิจับกุมในฐานะผู้พำนักอยู่ในประเทศอย่างผิดกฎหมาย (ปัจจุบัน นายจ้างหลายรายได้ใช้วิธีลัด โดยไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายสำหรับบัตรโดยสารเครื่องบิน และค่าดำเนินเอกสาร จึงเสนอเงินเดือนให้ในอัตราที่สูงกว่านายจ้างเก่า ซึ่งแรงงานไทยบางคนเลือกไปทำงานกับนายจ้างใหม่ด้วยแรงจูงใจดังกล่าว โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่นที่กำหนดให้แจ้งนายจ้างเก่าทราบล่วงหน้าก่อน 2 เดือน หรือตามระยะเวลาที่ระบุในสัญญาฯ ซึ่งทำให้เกิดการฟ้องร้องดำเนินคดี และนายจ้างเก่าแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้จับกุมแรงงานไทยดังกล่าว)

9. กรณีแรงงานไทยกระทำการใดๆ โดยพลการ โดยเฉพาะในข้อ 8 ข้างต้น ซึ่งเป็นการขัดกับสัญญาจ้างงานฯ และมาเรียกร้องให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ให้ความช่วยเหลือภายหลังนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการใดๆ ได้ ดังนั้น จึงควรหารือเจ้าหน้าที่สถานทูตฯ ในเบื้องต้นก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการฟ้องร้องจากนายจ้างที่จะเกิดตามมา


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา
กุมภาพันธ์ 2554

ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา การมาทำงานนวดแผนไทยในสโลวัก http://www.thaiembassy.at/images/stories/embassy/pdf/2011%20Thai%20Massage%20Slovak.pdf 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น