วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (18 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (18 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 21.00 น. วันที่ 18 มีนาคม 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 6,911 คน สูญหาย 10,316 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 18 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น.)

1.2 ระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคม

1.2.1 มาตรการการตัดไฟฟ้าในกรุงโตเกียวและจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (19 มี.ค. 2554) อาจจะไม่มีการตัดไฟเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประชาชนมีแนวโน้มจะใช้ไฟอย่างประหยัดและคาดว่าอากาศจะอบอุ่นขึ้นจึงมีแนวโน้มว่าปริมาณอุปสงค์จะเพียงพอกับปริมาณอุปทาน อย่างไรก็ดี หากมีแนวโน้มว่าปริมาณอุปทานจะไม่เพียงพอก็จะประกาศตัดไฟตามแผนที่ได้เคยกำหนดไว้

1.2.2 เพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องขอให้บริษัทรถไฟฟ้าใต้ดินของเอกชนลดจำนวนเที่ยวในการวิ่งระหว่าง 17.00 – 20.00 น.

1.2.3 รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำข้าวในคลังออกมาใช้เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนข้าวในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น อันเป็นผลมาจากระบบขนส่งขัดข้อง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ขอให้ประชาชนอย่ากักตุนสินค้าเกินความจำเป็น โดยขอให้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อพื้นที่ประสบภัย

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ที่ 1

1.3.1 วันนี้ 18 มี.ค. 2554 หน่วยงานด้านความปลอดภัยอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้ยกระดับความรุนแรงของสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 เป็นระดับ 5 (จาก 7 ระดับ) ซึ่งนับเป็น “อุบัติเหตุที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง” (accident with wider consequences) ตามนิยามของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และเป็นระดับความรุนแรงเดียวกับกรณีของ Three Mile Island มลรัฐเพนซิลวาเนีย เมื่อปี 1979 ที่เป็นอุบัติเหตุแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หลอมละลาย แต่ระดับความรุนแรงยังคงต่ำกว่ากรณีของเชอร์โนบิล ที่ยูเครน (ระดับ 7)

1.3.2 การไฟฟ้าโตเกียวยังคงพยายามควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 อย่างต่อเนื่อง โดยได้ใช้รถดับเพลิงจำนวน 7 คัน ในการฉีดน้ำเข้าไปหล่อเย็นบริเวณที่เก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วของอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 เป็นระยะเวลา 40 นาทีอย่างต่อเนื่องในช่วงบ่าย โดยปริมาณน้ำทั้งหมดที่ใช้คิดเป็นปริมาณ 50 ตัน

1.3.3 การไฟฟ้าโตเกียวได้เริ่มเชื่อมต่อไฟฟ้าจากภายนอกเพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าตั้งแต่เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.) และคาดว่าการดำเนินการเชื่อมต่อดังกล่าวสำหรับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 จะเสร็จสิ้นในวันที่ 19 มี.ค. และสำหรับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4 จะเสร็จสิ้นในวันที่ 20 มี.ค. ซึ่งหากสามารถกอบกู้ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ได้ก็น่าจะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

1.3.4 นายยูคิโอะ อามาโนะ ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศได้เดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างกะทันหันในวันที่ 17 มี.ค. 2554 เพื่อติดตามสถานการณ์และหาทางในการให้ความช่วยเหลือแก่ญี่ปุ่น ล่าสุดภายหลังการหารือกับนายคันฯ นรม. ของญี่ปุ่น นายอามาโนะฯ ได้แสดงความพร้อมในการส่งทีมผู้เชี่ยวชาญของ IAEA เพื่อติดตามสถานการณ์ระดับรังสีในโตเกียวและในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเร็ววันนี้

1.3.5 ผลการวัดระดับกัมมันตรังสีในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นพบว่า มีระดับสูงกว่าปกติแต่ยังไม่ถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

1.4 มีบางประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) รวมทั้งการอพยพคนออกจากญี่ปุ่น


2. การดำเนินการของไทย

2.1 สถิติคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 42,685 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักใน 11 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 21,276 คน และในจำนวนนั้น สอท. ณ กรุงโตเกียว สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้แล้วประมาณ 15,781 คน

2.1.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง.ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.1.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 4,241 คน

2.2 การดูแลและคุ้มครองคนไทย

2.2.1 วันที่ 18 มี.ค. 2554 กระทรวงฯ ได้เชิญผู้แทน ทอ. ทร. และการบินไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อพิจารณาแผนอพยพคนไทยในญี่ปุ่นโดยมี รมต. สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน และมี ผช.รมว.กต. ปลัด กต. อธ.กรมการกงสุล อธ.สารนิเทศ รอง อธ. อช.ตอ. เข้าร่วม

2.2.2 วันที่ 18 มี.ค. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว และคณะของเลขานุการ รมว.กต. ได้รับคณะคนไทยจาก จ.ฟุคุชิม่า จำนวน 22 คน มาโตเกียว และในจำนวนนี้ 11 คน พร้อมด้วยคนไทยจากจังหวัดอื่น ๆ อีก 13 คน ได้เดินทางกลับไทยโดยเที่ยวบินที่ TG 677 ออกเดินทางเวลา 17.15 น. และจะถึงไทยเวลาประมาณ 22.00 น.

2.2.3 สอท. ณ กรุงโตเกียวได้ออกประกาศแจ้งให้คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับเมืองไทยโดยเครื่องบิน C130 ในวันที่ 20 – 21 มี.ค. 2554 ลงทะเบียนแจ้งชื่อกับ สอท. ณ กรุงโตเกียว

2.3 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 เวลา 09.00 น. นายศรัณย์ วิรุตมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการสถานี โทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 พร้อมนายสมเกียรติ เจริญภิญโญยิ่ง ผู้จัดการฝ่ายข่าว เป็นตัวแทนสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกบกช่อง 7 มอบเงินจำนวน 5 ล้านบาท แก่ รมว.กต. เพื่อสมทบเงินบริจาคของกระทรวงฯ โดยมีนายโนบูอากิ อิโต อัครราชทูต สอท.ญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน

2.3.2 เวลา 09.30 น. ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทยมอบของบริจาคตัวอย่างแก่อธิบดีกรมการกงสุล

2.3.3 เวลา 16.00 น. นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ มอบเงินจำนวน 5 ล้านบาท แก่ รมว.กต. เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น

2.3.4 เวลา 14.00 น. ผู้แทนพระองค์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้มอบสิ่งของบริจาค (ผ้าห่ม 300 ผืน) และเงินบริจาค 2,000,000 บาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น โดยมี รมว.กต. เป็นผู้แทนรับมอบ และมีนายเซจิ โคจิมะ ออท.ญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และข้าราชการผู้ใหญ่ของ กต. ร่วมเป็นสักขีพยาน

2.3.5 เวลา 22.00 น. เครื่องบิน C130 จำนวน 2 ลำ ออกเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อนำถุงยังชีพพระราชทานจากมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ อาทิ ผ้าห่มกันหนาว ข้าวสวยพร้อมรับประทาน อาหารแห้ง และถุงนอนไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น

2.3.6 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 31,709,991.03 บาท สถานะ ณ วันที่ 18 มี.ค. 2554 เวลา 18.00 น.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 116 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 28 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น