สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
กงสุลสัญจรที่เมืองกูชิง รัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซีย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย รายงานว่า ระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2554 นายธนะดวงรัตน์ เอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซียและคณะประกอลด้วยนายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูต ที่ปรึกษา นายสิงหเดช ชูอำนาจ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานพร้อมด้วยลูกจ้างท้องถิ่นฝ่ายกงสุล 2 คน ได้เดินทางไปให้บริการกงสุลสัญจรแก่แรงงานไทยที่เมืองกูชิง รัฐซาราวัค ซึ่งตั้งอยู่ที่เกาะบอร์เนียวห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์โดยใช้เวลาบินประมาณ 1.40 ชั่วโมง
วันที่ 22 มกราคม 2554 เวลา 13.00 น. ได้พบปะอาสาสมัครของสถานเอกอัครราชทูต ฯ ในเมืองกูชิง (นางอำไพ จง, นางขวัญหล้า จุง และนางดอนน่า หว่อง) พร้อมคนไทยที่ประกอบอาชีพในเมืองดังกล่าว จากนั้นได้ไปเยี่ยมสถานที่จัดงานโอท็อปของชาวไทยจากจังหวัดภาคใต้ประมาณ 20 คน ซึ่งไปเปิดงานแสดงสินค้าที่ศูนย์การค้า Spring โดยความร่วมมือระหว่างทางการรัฐซาราวัค ซึ่งสินค้าไทยที่นำไปแสดงประเภทเครื่องประดับและสินค้าหัตถกรรมได้รับความสนใจ บางรายขายสินค้าหมดและสั่งเข้าไปไม่ทันตามกำหนด ซึ่งเอกอัครราชทูตได้แนะนำให้นักธุรกิจไทยที่ประสงค์จะไปแสดงสินค้าไทยที่มาเลเซใยติดต่อประสานกับสำนักงานฝ่ายพาณิชย์ประจำสถานเอกอัครราชทูตเพื่อให้คำแนะนำช่วยเหลือในโอกาสต่อไป
ต่อมาเวลา 17.30-22.00 น. เอกัครราชทูตได้เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการซาราวัค โดยมีดาโต๊ะโรเบิร์ต เหลียง บาลากาลิบัน ผู้อำนวยการสำนักตรวจคนเข้าเมืองรัฐซาราวัค พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซีย ซึ่งดูแลสถานะชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐ และเจ้าหน้าที่ตำรวจInterpol ทั้งนี้ได้มีการหารือปัญหาของแรงงานไทยในรัฐซาราวัคซึ่งมีจำนวนมากกว่า 200 คน โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้างซึ่งอยู่ในเขตเมืองกูชิงและเมืองศรี อามัน ซึ่งทางการตรวจคนเข้าเมืองของรัฐซาราวัครับปากจะดูแลคนไทยอย่างดี
วันที่ 23 มกราคม 2554 เวลา 09.00 น. ได้ตั้งศูนย์รับคำร้องทำหนังสือเดินทางสำหรับแรงงานไทยบริเวณอาคารที่ทำการก่อสร้างของบริษัท Global Upline Sdn. Bnd. ซึ่งมีแรงงานที่หนังสือเดินใกล้หมดอายุยื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางจำนวน 15 ราย นอกจากนั้นมีแรงงานไทยขอหารือปัญหาในการขอวีซ่า การจดทะเบียนสมรส และการรับรองใบขับขี่อีก จำนวน 8 คน
ในโอกาสดังกล่าวนายสมพงษ์ กางทอง อัครราชทูตที่ปรึกษาได้สอบถามความเป็นอยู่ของแรงงานไทยทั้งหมดแล้วทารบว่ามาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อุดร ขอนแก่น หนองคาย สกลนคร) ปัจจุบันมีแรงงานก่อสร้างส่วนต่อขยายของสนามบินเมืองกุชิงประมาณ 80 คน โดยส่วนใหญ่อยู่มานานกว่า 4 ปีแล้ว บางส่วนเดินทางกลับไปทำหนังสือเดินทางที่ประเทศไทยแล้ว เนื่องจากแรงงานเหลือน้อยจำประกอบอาหารทานเอง มีรายได้เดือนละประมาณ 15,000- 20,000 บาท นอกจากนั้นยังได้พบกับนายเชวง ผ่องพุทธคุณ วิศวกรคุมงานก่อสร้างร้อยสายไฟฟ้า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่เมืองศรี อามันซึ่งมีแรงงานฝีมือประมาณ 50 คน จึงได้มอบแบบฟร์มลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเพื่อนำไปแจกจ่ายให้คนงานด้วย
คณะกงสุลสัญจรได้ให้การช่วยเหลือหญิงไทยตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งถูกชักชวนโดยนายหน้าเถื่อนไปทำงานนวดที่ร้าน Arixona Reflexology เมืองกูชิง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เดินทางเข้ามาเลเซียโดยยกเว้นวีซ่า 30 วัน โดยนายจ้างรับจะทำใบอนุญาตทำงานให้ แต่อยู่มากว่า 4 เดือนแล้วก็ยังไม่ทำให้ แต่นายจ้างหักรายได้จากที่ทำงานได้ร้อยละ 50 ไปเป็นจำนวน 2,400 ริงกิตแล้ว สัญญาจ้างก็ไม่มีการลงนาม จึงคิดว่าถูกหลอกมาทำงาน ประกอบกับมีบุตรสาวฝาแฝดอยู่ที่เมืองไทยอายุ 12 ปี กำลังเรียนหนังสือก็เป็นห่วงจึงขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่เจรจากับนายจ้างขอกลับประเทศไทย ซึ่งนายสมพงฯ อัครราชทูตที่ปรึกษาและนายสิงหเดชฯ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงานได้เจรจากับนายจ้างจนนายจ้างตกลงยินดีจะคืนหนังสือเดินทางให้แต่ต่อมากลับเปลี่ยนใจจะเรียกเงินจากแรงงานไทยอีก 3,000 ริงกิตเป็นค่ามัดจำการทำงานที่ได้จ่ายไป เจ้าหน้าที่ไทยจึงประสานให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเลเซียเข้าเจรจาช่วยเหลือแลบะดำเนินการกับนายจ้างตามกฎหมายของรัฐซาราวัคต่อไป ซึ่งที่สุดแรงงานไทยรายนี้ได้รับการช่วยเหลือจากทางการมาเลเซียและอาสาสมัครเครือข่ายสถานเอกอัครราชทูตในเมืองกุชิงส่งตัวกลับประเทศไทย
การจัดโครงการกงสุลสัญจรครั้งนี้เป็นการอำนวยความสะดวกแก่คนไทยที่พำนักอาศัยอยู่เกาะห่างไกลจากเมืองหลวง สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายหากต้องเดินทางไปรับบริการที่เมืองหลวง นอกจากนั้นยังเป็นการเยี่ยมเยียนคนไทยในที่ห่างไกล สร้างความรู้สึกที่ดีต่อหน่วยงานราชการไทยในต่างประเทศ รวมทั้งได้รับรู้ข้อเท็จจริงปัญหาที่คนไทยบางกลุ่มต้องอยู่อย่างลำบาก หลบซ่อนเพื่อหารายได้เลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวอย่างน่าเห็นใจยิ่ง
ปัญหาคนไทยด้วยกันหลอกคนไทยไปทำงานในมาเลเซียโดยเฉพาะทำงานเป็นพนักงานนวดไทยยังมีอยู่ทั่วประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันสถานเอกอัครราชทูตฯอาศัยเครือข่ายอาสาสมัครของสถานเอกอัครราชทูตให้ความช่วยเหลือหญิงไทยที่ทำงานไม่ถูกต้องและถูกเอาเปรียบแรงงานจากนายจ้าง อันนับเป็นภารกิจที่ยากลำบากโดยเฉพาะในรัฐที่อยู่ห่างไกลเช่นซาราวัค ซึ่งการจัดกิจกรรมกงสุลสัญจรจึงเป็นภารกิจที่จำเป็นและต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น