วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (29 มีนาคม 2554)
การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (29 มีนาคม 2554)
สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันอังคารที่ 29 มีนาคม 2554
1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น
1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 11,168 คน สูญหาย 16,407 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 29 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น. เวลาประเทศไทย)
1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1
สถาบันความปลอดภัยทางนิวเคลียร์เกาหลีใต้ (Korea Institute of Nuclear Safety: KINS) รายงานเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2554 ว่า ได้ตรวจพบการปนเปื้อนของสาร Xenon-133 ในอากาศจากการตรวจที่ จ.Gangwon ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ในระดับ 0.878 Bq/kg ซึ่งน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับระดับที่ชาวเกาหลีใต้ได้รับในชีวิตประจำวันและไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย สาเหตุการแพร่กระจายน่าจะมาจากอิทธิพลของลมตะวันตก
1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ
1.3.1 ณ วันที่ 29 มี.ค. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 8 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 10 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ
1.3.2 ประเทศต่าง ๆ จำนวน 21 ประเทศ ออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่นรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น
2. การดำเนินการของไทย
2.1 การประชุมประสานงานศูนย์ฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น ประจำวันที่ 29 มี.ค. 2554
2.1.1 สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี
2.1.1.1 ผู้แทน ปส. แจ้งดังนี้
- สถานการณ์เตาปฏิกรณ์ทั้งหมดได้ลดความรุนแรงลงแล้ว ทั้งในแง่อุณหภูมิและความดัน และไม่มีรายงานการตรวจพบสารกัมมันตรังสีรั่วไหลเพิ่มเติม โดยค่าที่ตรวจพบได้ลดระดับลงเรื่อย ๆ ในส่วนของ fall-out นั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตรวจสอบในรัศมี 30 กม. ทั้งพื้นดินและพื้นน้ำ ที่ผ่านมาได้ตรวจพบสารตกค้างบนพื้นดินสูง และมีความน่ากังวลเรื่องการปนเปื้อนในน้ำจืด ดิน และน้ำทะเล อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นได้อพยพพลเมืองออกหมดแล้ว
- ต่อข้อสอบถามของรอง อธ. สารนิเทศ (เจษฎาฯ) เรื่องการปิดบังและความคลาดเคลื่อนของข้อมูลต่าง ๆ ผู้แทน ปส. ชี้แจงว่า ได้ยึดข้อมูลของ IAEA เป็นหลัก เพราะข้อมูลของสำนักข่าวต่าง ๆ มีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ปส. ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบประจำและได้รับข้อมูลอย่างต่อเนื่องจากเกาหลีใต้ที่ ปส. มีความร่วมมืออยู่ด้วยอีกทางหนึ่ง
2.1.2 การเฝ้าระวังผลกระทบต่อไทย
2.1.2.1 ผู้แทน สธ. แจ้งดังนี้
- ได้ปรับรูปแบบการให้บริการที่ท่าอากาศยานโดยใช้การสอบถามทางเอกสารแทนบุคคลแล้ว เนื่องจากความกังวลและจำนวนผู้โดยสารลดลง ในส่วนของการตรวจสอบอาหาร ได้สุ่มตรวจตัวอย่างจากสินค้าบริโภคทุกชนิด โดยที่ผ่านมาได้สุ่มตรวจแล้ว 94 รายการ และผลการตรวจ 74 รายการที่มีประกาศออกมาแล้ว ยังไม่พบความผิดปรกติแต่อย่างใด ส่วนข่าวเกี่ยวกับการทำลายมันสำปะหลังเนื่องจากตรวจพบสารไอโอดีนนั้น เนื่องจากตัวเลขที่ตรวจพบนั้นไม่ถึง 100 Bq/kg จึงยังปลอดภัยอยู่ แต่ได้ทำลายตัวอย่างดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันเท่านั้น เนื่องจาก ปชช. มีความหวาดกลัวเรื่องนี้มาก
- คณะจิตแพทย์ 5 คน พร้อมนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ได้เดินทางกลับถึง ปทท. และได้รายงานเบื้องต้นว่า คนไทยที่ญี่ปุ่นมีความกังวลต่อประเด็นสถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสีมาก จึงมีแผนจะประสานงานกับ กต. เกี่ยวกับการส่งคณะจิตแพทย์ จำนวน 6 คน (จิตแพทย์ 2 คน พยาบาล 2 คนและ นักจิตวิทยา 2 คน) และนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ 1 คนไปญี่ปุ่นในโอกาสแรกต่อไป
2.1.2.2 ผู้แทน บ. การบินไทยฯ แจ้งดังนี้
- อัตราการโดยสารของเที่ยวบิน TG ในวันที่ 28 มี.ค. 2554 มีดังนี้
(1) เส้นทางกรุงเทพฯ – นาริตะ 2 เที่ยวบิน คือ
- TG676 (07.35 – 15.45) อยู่ที่ร้อยละ 47.44
- TG642 (23.50 – 08.10+1วัน) อยู่ที่ร้อยละ 71.98
(2) เส้นทางนาริตะ – กรุงเทพฯ 2 เที่ยวบิน คือ
- TG643 (12.00 – 16.30) อยู่ที่ร้อยละ 64.78
- TG677 (16.55 – 21.25) ร้อยละ 32.37 (น้อยที่สุด)
- สายการบิน Continental Delta SAS และ United ได้เริ่มอนุญาตให้ลูกเรือพักค้างแรมที่นาริตะได้แล้ว ส่วนสายการบินอื่น ๆ ได้เริ่มทำการบินเข้าท่าอากาศนาริตะบ้างแล้ว แต่ยังคงไม่อนุญาตให้ลูกเรือพักค้างแรม อาทิ สายการบิน Lufthansa ให้พักที่เมืองอินชอน Singapore Airlines พักที่นครโอซากา Swiss Air พักที่ฮ่องกง เป็นต้น
2.2 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น
2.2.1 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 29 มีนาคม 2554 ณ เวลา 14.00 น. อยู่ที่ประมาณ 120,072,823.42 บาท
2.2.2 วันที่ 29 มี.ค. 2554 กต. ได้ประสานงานจัดส่งไฟฉาย จำนวน 79 โหล และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 360 กล่อง ด้วยเที่ยวบิน TG642 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
2.3 สถิติคนไทย
2.3.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน
2.3.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน
2.3.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน
2.3.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 28 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 11,831 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)
3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 133 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น