วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (26 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (26 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม 2554



1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 10,418 คน สูญหาย 17,072 คน บาดเจ็บ 2,777 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 26 มี.ค. 2554 เวลา 16.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.2.1 สำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม สังกัด ก.เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ญี่ปุ่นได้รายงานการตรวจพบสารกัมมันตรังสีชนิดไอโอดีน-131 ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานด้านความปลอดภัย 1,250 เท่า ปนเปื้อนในน้ำทะเล ซึ่งเป็นน้ำทะเลที่เก็บตัวอย่างมาเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 จากทะเลบริเวณทางใต้ของท่อปล่อยน้ำจากเตาปฏิกรณ์ที่ 1 – 4

1.2.2 วันนี้ (26 มี.ค. 2554) บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวยังคงเดินหน้าปฏิบัติการฉีดน้ำจืดแทนน้ำทะเล โดยได้เริ่มฉีดน้ำที่เตาที่ 2 เพิ่มเติมจากเตาที่ 1 และ 3 ที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนมาแล้วตั้งแต่เมื่อวาน (25 มี.ค. 2554) และต่อไปในวันที่ 27 มี.ค. 2554 จะเริ่มเปลี่ยนจากการฉีดน้ำทะเลเป็นน้ำจืดในเตาที่ 4 ต่อไปด้วย

1.2.3 ระดับกัมมันตภาพรังสีที่ตรวจวัดได้วันนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ๆ

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 26 มี.ค. 2554 ได้มี สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว รวมทั้งสิ้น 18 ประเทศ ประกาศปิดทำการชั่วคราว และสอท. ของอีก 11 ประเทศ ย้ายที่ทำการไปยังภาคตะวันตกของญี่ปุ่น อาทิ นครโอซากา เมืองโกเบ เมืองฮิโรชิมา และเมืองฟุคุโอกะ
1.3.2 ประเทศต่าง ๆจำนวน 20 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่น รวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น

1.3.3 หลายประเทศ อาทิ รัสเซีย ฮ่องกง สหรัฐฯ สิงคโปร์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ได้ประกาศมาตรการตรวจสอบ/ห้ามนำเข้าสินค้าบริโภคประเภทต่าง ๆ จากญี่ปุ่น อาทิ ออสเตรเลียประกาศกักสินค้าประเภทนม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักผลไม้สด สาหร่ายทะเล อาหารทะเลทั้งสดและแช่แข็ง ที่มีแหล่งผลิตในจังหวัดฟุคุชิมะ อิบารากิ โทจิกิ และกุนมะ สิงคโปร์ประกาศว่า จากการสุ่มตรวจ 161 ตัวอย่าง ได้ตรวจพบการปนเปื้อนรังสีใน 4 ตัวอย่างสินค้าอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น


2. การดำเนินการของไทย

2.1 การปรับยุทธศาสตร์การบินเส้นทางสุวรรณภูมิ – นาริตะ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 บ. การบินไทยฯ ได้จัดการประชุมภายในเพื่อทบทวนยุทธศาสตร์การบินเส้นทางสุวรรณภูมิ – นาริตะ สรุปผลได้ดังนี้

- ยกเลิกเที่ยวบิน TG640/BKK-NRT ระหว่าง 27 มี.ค. – 25 เม.ย. 2554 และเที่ยวบิน TG641/NRT – BKK ระหว่าง 28 มี.ค. – 26 เม.ย. 2554

- เที่ยวบิน TG642/BKK-NRT วันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ อาทิตย์ ระหว่าง 27 มี.ค. – 25 เม.ย. 2554 และ TG643/NRT-BKK วันจันทร์ อังคาร พุธ ศุกร์ อาทิตย์ ระหว่าง 28 มี.ค. – 26 เม.ย. 2554 เปลี่ยนแบบเครื่องบินจาก 747 เป็น 777 – 200

- เที่ยวบิน TG642/BKK-NRT วันพุธ วันศุกร์ ระหว่าง 30 มี.ค. – 22 เม.ย. 2554 และ TG671 วันพฤหัสบดี วันเสาร์ ระหว่าง 31 มี.ค. – 23 เม.ย. 2554 เปลี่ยนแบบเครื่องบินจาก 747 เป็น 777 – 200 และปรับเปลี่ยนเส้นทางบิน TG671/NRT – BKK เป็น NRT – HKT – BKK เวลาบิน NRT: 12.00 BKK: 16.30 ทั้งนี้ สาเหตุที่ได้ตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินและปรับขนาดเที่ยวบินสุวรรณภูมิ – นาริตะ และนาริตะ – สุวรรณภูมิ ดังกล่าว เนื่องจากจำนวนผู้ใช้บริการสายการบินมีน้อย (ณ วันที่ 25 มี.ค. 2554 จำนวนผู้ใช้บริการเที่ยวบินสุวรรณภูมิ – นาริตะ อยู่ที่ร้อยละ 34.14 จำนวนผู้ใช้บริการเที่ยวบินนาริตะ – สุวรรณภูมิ อยู่ที่ร้อยละ 52.71)

2.2 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- ปลัด กต. เป็นผู้แทน กต. รับมอบเงินบริจาค จำนวน 41.5 ล้านบาท จากนายวิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการ บริหาร ธ. ไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน ในงานระดมเงินบริจาคการกุศล "Together we share from Thailand to Japan" ที่สำนักงานใหญ่ ธ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นการระดมความสนับสนุนจากลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ 21.5 ล้านบาท และบริจาคโดย ธ.ไทยพาณิชย์ 20 ล้านบาท

- ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 25 มีนาคม 2554 อยู่ที109,094,096.42 บาท

2.3 สถิติคนไทย

- จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

- จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 567 คน

- จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

- จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 25 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 10,632 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 24 มี.ค. 2554 จำนวน 701 คน


3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 132 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 34 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น