วันพุธที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (15 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (15 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 21.00 น. วันที่ 15 มีนาคม 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 3,373 คน บาดเจ็บ 1,990 คน สูญหาย 7,588 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 15 มี.ค. 2554 เวลา 20.00 น.)

1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นประกาศเตือนว่าภายใน 3 วันจากนี้ มีความเป็นไปได้ร้อยละ 40 ว่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อคขนาด 5 ริกเตอร์ขึ้นไปจนอาจทำให้เกิดสึนามิ โดยที่ผ่านมาเกิดอาฟเตอร์ช็อคแล้วประมาณ 200 ครั้ง และบางครั้งรุนแรงถึงระดับ 6 ริกเตอร์

1.3 ระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคม

- การไฟฟ้าโตเกียวจำเป็นต้องประกาศการตัดไฟประมาณ 3 ชั่วโมง สลับตามเขตต่าง ๆ ในโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียง (จ.ซางิ จ.โทจิงิ จ.กุนมะ จ.อิบารากิ จ.ไซตามะ จ.ชิบะ จ.คานากาว่า จ.ยามะนะชิ จ.ชิสุโอกะ) โดยแบ่งช่วงเวลาและเขตต่าง ๆ ออกเป็น 5 กลุ่มการตัดไฟ เนื่องจากการหยุดเดินเครื่องโรงงานไฟฟ้าหลายแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าลดลง

- ประชาชนประมาณ 1.4 ล้าน หลังคาเรือนไม่มีน้ำประปาใช้

- supermarket ต่าง ๆ ในกรุงโตเกียวเริ่มมีกำหนดโควตาในการซื้อน้ำดื่ม และประชาชนเริ่มกักตุนอาหาร โดยประชาชนในบางพื้นที่ อาทิ ใน จ. มิยากิมีปัญหาด้านขาดแคลนอาหาร ยารักษาโรคและเชื้อเพลิง

- จากมาตรการประหยัดไฟทำให้รถไฟบางสายในเขตปริมณฑลของกรุงโตเกียวหยุดหรือลดปริมาณการให้บริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเดินทางของประชาชนเป็นอย่างมาก

- ล่าสุด กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่นรายงานว่า อาคารบ้านเรือนที่เสียหายมียอดรวม 72,945 หลัง

- ไปรษณีย์ญี่ปุ่นแจ้งว่าไม่สามารถให้บริการได้ในเขตจังหวัดฮอกไกโด อาโอโมริ อิวาเทะ อาคิตะ ยามางาตะ มิยากิ ฟุคุชิม่า อิบารากิ

1.4 รายงานเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

- มีรายงานว่าวันที่ 15 มี.ค. 2554 ภายหลังจากเหตุกาณ์ระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 2 และเหตุเพลิงไหม้ที่ตัวอาคารของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ทำให้ฝุ่นกัมมันตรังสีกระจายลงทางทิศใต้ ตามทิศทางของลม และสามารถวัดระดับสารกัมมันตรังสีได้สูงกว่าปกติ 10 ถึง 100 เท่า ใน จ.โทจิกิ จ.อิบารากิ จ.ไซตามะ จ.ชิบะ โดยที่กรุงโตเกียวสามารถวัดระดับสารกัมมันตรังสีได้ 0.809 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. ซึ่งเป็นระดับเกินกว่าปกติเกือบ 20 เท่า แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพแต่อย่างใด

- IAEA แจ้งว่าระดับสารกัมมันตภาพรังสีที่วัดได้ ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะในช่วงบ่ายของวันที่ 15 มี.ค. 2554 ลดลงอย่างมากเปรียบเทียบกับค่าที่วัดได้ในช่วงเช้า (จาก 11,900 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. ณ เวลา 9.00 น. เหลือเพียง 600 ไมโครซีเวิร์ท/ ชม. ณ เวลา 15.00 น. เวลาท้องถิ่น)

- ภายหลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 ซึ่งเป็นที่เก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วจำนวนกว่า 400 แท่ง พบว่าระบบหล่อเย็นเชื้อเพลิงดังกล่าวชำรุด ทำให้น้ำอยู่ในสภาพเดือด และทำให้ระดับน้ำลดลงไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ การไฟฟ้าโตเกียวยังตรวจพบว่าอุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากระบบหล่อเย็นไม่ทำงานด้วย

- การไฟฟ้าโตเกียวได้ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 มีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ระเบิดที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 – 3 เนื่องจากเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วไม่ได้เก็บอยู่ในห้องบรรจุที่มีชั้นป้องกัน 2 ชั้น

1.5 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

- ทางการญี่ปุ่นได้ประกาศให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 20 กม. ซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 70,000 คน ห้ามเข้าในพื้นที่ และรัศมี 20 – 30 กม. อยู่ในตัวอาคารและปิดช่องทางมิให้สัมผัสกับอากาศภายนอก นอกจากนี้ การไฟฟ้าโตเกียวได้สั่งการให้พนักงานที่ปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้าจำนวน 50 คน จากจำนวน 800 คน อพยพออกจากโรงไฟฟ้า

- สอท. ประเทศต่าง ๆ ในโตเกียว ได้แก่ สอท. ปท. อาเซียน สอท. สหรัฐฯ สอท. ออสเตรเลีย สอท. ฝรั่งเศส และสอท. เยอรมนี ยังไม่มีการประกาศมาตรการให้คนชาติของตนอพยพออกจากญี่ปุ่น เนื่องด้วยเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะแต่อย่างใด

2. การดำเนินงานของไทย

2.1 การดูแลและคุ้มครองคนไทยในญี่ปุ่น

- นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวมีผู้ติดต่อขอความช่วยเหลือจาก สอท. โตเกียวให้ติดตามหาญาติ/เพื่อน/คนรู้จัก ซึ่งติดตามพบตัวแล้ว 412 ราย และกำลังติดตามอยู่จำนวน 99 ราย

- สกญ. โอซากา มีผู้ติดต่อขอความช่วยเหลือรวม 30 ราย ติดตามญาติ จำนวน 8 ราย (พบแล้ว 6 ราย) สอบถามข้อมูลต่าง ๆ และขอเอกสารเพื่อใช้เดินทางกลับไทย 22 ราย

- เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2554 เวลา 21.30 น. คณะ จนท.สอท.พร้อมด้วยสื่อมวลชนจากช่อง 3 และเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ได้เดินทางถึงเมืองเซนได และได้พบกับกลุ่มคนไทยที่ร้านอาหารบ้านไทยลานนาแล้ว และได้เริ่มสำรวจหาคนไทยที่พำนักในจุดหลบภัยต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป

- นร.ไทยในเมืองนากาโอกะ จ.นีงาตะ จำนวน 39 คน ได้แจ้งความประสงค์ว่าต้องการเดินทางกลับไทยโดยด่วน โดย นร. 3 คน มีบัตรโดยสารการบินไทย (ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทาง) แล้ว และ นร. ที่เหลือจะเดินทางกลับโดยสายการบิน China Air ในวันที่ 15 มี.ค. 2554 ทั้งนี้ นร.ไทยเหล่านี้จะเดินทางออกจากเมืองนากาโอกะโดยรถไฟชินกันเซนมายังโตเกียวในวันที่ 14 มี.ค. โดย สอท. ได้ประสานกับวัดปากน้ำ ญี่ปุ่น ขอความอนุเคราะห์จัดที่พักและอาหารแก่ นร.ไทยแล้ว

- สอท. ณ กรุงมอสโก แจ้งว่า สามารถติดต่อคนไทย 2 คน (จาก 3 คน) ที่อาศัยอยู่ที่เกาะ Sakhalin ในเขตรัสเซียซึ่งทางการรัสเซียได้ประกาศเตือนเรื่องสึนามิแล้ว พบว่าปลอดภัยดี (อีก 1 คน เข้าใจว่าเดินทางกลับไทยไปแล้ว)

- เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2554 คณะปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยในเซนไดแจ้งว่า สามารถรวบรวมคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางเข้ากรุงโตเกียวได้ประมาณ 70 คน

- กระทรวงฯ ได้ออกคำเตือนขอให้คนไทยในญี่ปุ่นติดตามข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางการ ทั้งนี้ บุคคลใดไม่มีความจำเป็นต้องพำนักอยู่ต่อในญี่ปุ่น อาจจะพิจารณาเดินทางออกจากญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติ

2.2 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

- กระทรวงฯ ในนามรัฐบาลไทย ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นเงินจำนวน 5 ล้านบาท

- เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2554 ครม.อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นเงิน 200 ล้านบาท

- เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2554 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ (นายกสมาคมกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ทรงโปรดให้ รอง ศจ. ดร. นายแพทย์ พิชิต สุวรรณประกร รองประธานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก เป็นผู้แทนพระองค์มอบถุงพระราชทานแก่ รมว.กต. ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นต่าง ๆ อาทิ ผ้าห่มกันหนาว ข้าวสวยพร้อมรับประทาน อาหารแห้ง จำนวน 3,000 ถุง

- คืนวันที่ 14 มี.ค. 2554 คณะแพทย์ 2 คน พร้อมบุรุษพยาบาล 1 คน จะเดินทางไปดูแลและให้ความช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่น พร้อมด้วยผ้าห่ม 1,000 ผืน และอาหารแห้ง 200 กก.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

3.1 ความช่วยเหลือในการส่งบุคลากรด้านหน่วยกู้ภัย

- สหรัฐฯ ส่งหน่วยกู้ภัย แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ 144 คน และสุนัขดมกลิ่น 12 ตัว

- จีน (คณะ 15 คน) สหราชอาณาจักร (คณะ 63 คน สุนัข 2 ตัว) ฝรั่งเศส (คณะ 100 คน) เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ เม็กซิโก รัสเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ (คณะ 5 คน สุนัข 5 ตัว) ส่งหน่วยกู้ภัยแล้ว

- ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เสนอหน่วยกู้ภัย อินโดนีเซีย ติมอร์เลสเต เสนอส่งหน่วยแพทย์แต่ชั้นนี้ทางการญี่ปุ่นขอระงับไว้ก่อน

3.2 ความช่วยเหลือในการส่งบุคลากรด้านผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์

- สหรัฐฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จำนวน 2 คน เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

- อังกฤษ ฝรั่งเศส และสำนักงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ตัดสินใจส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ไปญี่ปุ่น นอกจากนี้ ฟินแลนด์ได้ประกาศให้ทำการศึกษาระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โดยเร่งด่วน

3.3 รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 102 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 14 แห่ง

*******************

15 มีนาคม 2554/เวลา 21.00 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น