วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2554

รัฐบาลไทยสนับสนุนภารกิจของ IOM ในการช่วยเหลือผู้อพยพจากลิเบีย

นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมอบสิ่งของสนุบสนุนภารกิจการอพยพผู้ลี้ภัยในลิเบียแก่ น.ส.โมนีก ฟิวสโนเอล หัวหน้าสำนักงาน IOM ประเทศไทย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังพิธีมอบสิ่งของสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของ IOM
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ในลิเบีย โดยของใช้จำเป็นต่าง ๆ จะถูกส่งไปยังเมือง Rasjdir บริเวณชายแดนตูนิเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์ความช่วยเหลือของ IOM ต่อไป
ภาพการส่งมอบสิ่งของให้ IOM ประจำตูนีเซียเพื่อช่วยเหลือผู้อพยพในลิเบีย

รัฐบาลไทยสนับสนุนภารกิจของ IOM ในการช่วยเหลือผู้อพยพจากลิเบีย




ตามที่นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) ณ นครเจนีวา ระหว่างการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 เพื่อขอให้ IOM ช่วยเหลือคนงานไทยในลิเบีย และแสดงความพร้อมของไทยในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของ IOM ในการอพยพคนชาติต่างๆ ออกจากลิเบีย นั้น

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2554 นายธีรกุล นิยม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานในพิธีมอบสิ่งของเพื่อแสดงการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของ IOM ในลิเบีย ซึ่งประกอบด้วยเครื่องเวชภัณฑ์จากสภากาชาดไทย และผ้าห่มจากกระทรวงมหาดไทย แก่ นส.Monique Filsnoel หัวหน้าสำนักงาน IOM ประจำประเทศไทย เพื่อนำไปช่วยเหลือและสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของ IOM ในลิเบียต่อไป ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติม ดังนี้

1. ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในลิเบีย จนมีการอพยพของคนต่างๆ จากลิเบีย ทำให้ IOM เข้าไปตั้งสำนักงานที่เมืองเบนกาซี และบริเวณชายแดนลิเบีย-อียิปต์ ลิเบีย-ไนเจอร์ และลิเบีย-ตูนิเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการอพยพคน โดยเฉพาะคนที่รัฐบาลประเทศตนไม่ได้ดำเนินการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ จากการที่กระทรวงการต่างประเทศได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือคนงานไทยจากลิเบียบริเวณชายแดนลิเบีย-อียิปต์และลิเบีย-ตูนิเซีย ก็ได้มีการประสานงานกับสำนักงาน IOM ด้วยเช่นกัน

2. สำหรับสถานการณ์ในลิเบียขณะนี้นั้น ไทยหวังว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงจนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการอพยพคนงานไทย อย่างไรก็ตาม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงตริโปลี ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อจะได้ดำเนินการอพยพคนงานไทยโดยเรือเช่าเหมาลำเที่ยวที่สองให้มีความปลอดภัยสูงสุดต่อไป พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้คนงานไทยที่อาจตกค้างสามารถเดินทางกลับโดยเรือดังกล่าวแล้ว

ที่มา: ข่าวสารนิเทศวันที่ 4 มีนาคม 2554 กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น